“ล้างคุก-ตั้งแท่นกม.” รอทักษิณ เช็กข้อมูลก่อนเหยียบไทย

ถึงวันนี้เส้นทางการเมืองของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ในการนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคงไม่สดใสเหมือนช่วงแรกๆ ทำให้ “ดีลรัก” กับ “เพื่อไทย” กับอีก 7 พรรค ต้องย้ำด้วยคำพูดผ่านสื่อบ่อยๆ แต่ดูเหมือนว่าเป็นเพียงการสร้างภาพยื้อกระแส “ด้อมส้ม” ไม่ให้ฟาดงวงฟาดงารายวัน

มีการมองข้ามช็อตไปว่า “เพื่อไทย” จะกลายเป็นแกนนำในเกมการเมือง หลังจาก “พิธา” ถูกปิดจ๊อบไปด้วยขบวนการเปิดแผล “หุ้นไอทีวี” จะด้วยสมการจับมือกับก้าวไกลเหมือนเดิม หรือดีลข้ามขั้วฝั่งสีน้ำเงิน แต่เพื่อไทยก็จะกลายเป็นพรรคที่มีอำนาจต่อรองมากขึ้น

ไม่มีจังหวะไหนที่ดีไปกว่านี้สำหรับ “ทักษิณ ชินวัตร” ในการเดินทางกลับประเทศไทย ตามที่ได้ประกาศไว้ครั้งล่าสุดว่า พร้อมใช้ชีวิตบั้นปลายในการเลี้ยงหลาน

หลังจากที่ผ่านมา คนในเครือข่ายชินวัตร และพรรคเพื่อไทย ได้เตรียมปูทางระดับโครงสร้างพื้นฐานไว้เรียบร้อยแล้ว เพื่อกลับมา “ติดคุก”

ที่เห็นเป็นรูปธรรมที่สุดคือ การตั้งแท่น “เฮาส์อาร์เลส” ของ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” อดีต รมว.ยุติธรรม ที่เคยเล่าแนวคิดควบคุมตัวนักโทษที่ไหนก็ได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นที่เรือนจำ โดยประกาศให้สถานที่ควบคุมนั้นเสมือนเป็นเรือนจำ 

เมื่อย้อนไปดูนโยบาย "เฮาส์อาร์เลสท์" ก็พบว่าก่อกำเนิดตั้งแต่แก้ไข พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ตั้งแต่ปี 2560 และมีการออกกฎกระทรวงหลายฉบับในปี 63 โดยเฉพาะกฎกระทรวง เรื่อง กำหนดสถานที่คุมขัง ลงนามโดย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม เมื่อวันที่ 25 ก.ย. ปี 63 ประกาศราชกิจจานุเบกษา ในวันที่ 12 ต.ค.63 ถือว่ามีผลบังคับใช้ แต่รัฐบาลปัจจุบันยังไม่ได้เริ่มประเดิมใช้   

โดยกำหนดนิยาม สถานที่คุมขัง ว่าเป็นสถานที่อื่นที่มิใช่เรือนจำ ซึ่งเป็นสถานที่ของทางราชการ หรือเป็นเอกชนที่เจ้าของหรือผู้ปกครองดูแลรักษาสถานที่อนุญาตหรือยินยอมเป็นหนังสือให้ใช้ประโยชน์ในการควบคุมผู้ต้องขัง

"ส่วนที่มีการกำหนดสถานที่อื่นที่ไม่ใช่เรือนจำนั้น ใช้สำหรับผู้ต้องโทษระยะสั้น ผู้ใกล้จะพ้นโทษ ผู้ป่วย แต่ไม่ใช่นักโทษเข้าใหม่แต่อย่างใด" นายสมศักดิ์กล่าวไว้เมื่อวันที่ 31 มี.ค. ปี 66  

โดยมีรายงานว่า การจะนำกฎกระทรวงมาใช้ได้ต้องส่งเรื่องให้รัฐบาลอนุมัติ และที่สำคัญคือต้องผ่านกระบวนการพิจารณาของศาลด้วย

ซึ่งนั่นเท่ากับว่า “ทักษิณ” ต้องกลับมาถูกคุมขังที่เรือนจำก่อนอยู่ดี ท่ามกลางกระแสข่าวว่ามีการ “รีโนเวต” เรือนจำอย่างคึกคัก ซึ่งไม่แน่ชัดว่าเป็นไปตามวงรอบ หรือมีการเตรียมรับ “นายใหญ่” ที่จะกลับมาในอนาคต

ที่สำคัญคือ การวางไทม์ไลน์ในพรรคที่ปิดกันให้แซ่ดถึงสูตร กลับเดือน 7 จัดตั้งรัฐบาลเดือน 8 วางตัว รมว.ยุติธรรม เป็นชื่อ พ.ต.ท.ทวี สอดส่อง หัวหน้าพรรคประชาชาติ ซึ่งเป็นคนที่ “น้องสาว” ไว้ใจ อีกทั้งเป็นคนที่ “บ้านจันทร์ฯ” สั่งได้

หรือแม้กระทั่งการวางแผนในการมาปักหลักอยู่ประเทศเพื่อนบ้าน แล้วใช้เที่ยวบินพาณิชย์กลับประเทศไทย โดยไม่ได้มีการประกาศวันที่จะกลับเป็นช่วงเวลายาวๆ

แต่กระนั้น “ข่าวกรอง” เป็นสิ่งที่สำคัญในช่วงที่ “ชินวัตร” เองก็เคยเจอข่าวลวง-ข่าวหลอก จากเหล่าบรรดา “นอมินี” ที่เชื่อว่ามีน้ำหนักจะเคลียร์ได้ แต่ในที่สุดก็ “ล้มทุกดีล” จนทำให้ “ทักษิณ” ต้องอยู่ต่างแดนถึง 17 ปี ห้วงเวลานี้ก็มีเดิมพันสูง และน่าจะเป็นช่วงที่ดีที่สุด

แต่นั่นก็ใช่ว่า การกลับมาอยู่ประเทศไทยขณะนี้สถานการณ์การเมืองจะราบรื่น เพราะบริบททางการเมืองในขณะนี้เปลี่ยนไปจากเดิมมาก

กล่าวคือ “ทักษิณ” ไม่ใช่ตัวละครที่เป็นขวัญใจมวลชนอีกต่อไป ดุลความนิยมเปลี่ยนไปอยู่ที่พรรค “ก้าวไกล” และคนรุ่นใหม่ ที่หวังให้เห็นการเปลี่ยนแปลง ล้มระบบ และแนวคิดนิยมแบบ  “ซูเอี๋ย-เกี้ยเซียะ” การเดินเกมของพรรคเพื่อไทยจึงเหมือนเป็นการทำเพื่อคนคนเดียว ไม่ใช่ส่วนรวม ซึ่งเป็นเรื่องที่ “ทักษิณ” ที่เล่นกับการตลาดมาตลอดย่อมรู้ดีว่า การยืนอยู่คนละฟากกับก้าวไกลมีความเสี่ยงสูง และอาจถูกกระแสเกลียดชังจากที่เคยเจอเมื่อยุคเสื้อเหลืองเฟื่องฟู

การเข้าสู่อำนาจของพรรคเพื่อไทย ในฐานะแกนนำยังต้องเจอกับวิบากกรรมนานัป

การ โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ ตลาดเงิน ตลาดทุน ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐสวัสดิการ การทุบนายทุนของพรรคก้าวไกล การจะมารับหน้าเสื่อร่วมเป็นรัฐบาลจัดการก็ยิ่งยาก เพราะฝ่ายตัวเองก็มีทุนระดับอภิมหากาฬจับมืออยู่ด้วย

ที่สำคัญคือ ความเป็นครอบครัวชินวัตร ที่วันนี้ยังมีชื่อ คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร เป็นมารดาของลูกๆ ทั้ง 3 คน โดยหนึ่งในนั้นเป็นแคนดิเดตนายกฯ คู่เทียบกับ “พิธา” อยู่ด้วย

จึงไม่แปลกที่ต้องห่วงอนาคตของบุตรสาว ที่ต้องมารับกับสถานการณ์ประเทศที่ไม่แน่นอน มีความเสี่ยงเกินไปที่จะมานั่งเก้าอี้นายกฯ ในช่วงนี้ และหากเกิดอุบัติเหตุเหนือความคาดหมาย ส่งผลให้มีการเผชิญหน้ากันอีกครั้ง ก็ไม่คุ้มที่ต้องมาอยู่ในสภาวการณ์เช่นนี้

จึงเป็นที่มาของเสียงค้านให้ “ทักษิณ” ดูให้ดี เช็กให้แม่นยำ อย่างเพิ่งใจร้อน กลับมาช่วงเดือน 7 ตามที่มีการยืนยันจากคนในครอบครัวที่ไม่เห็นด้วย เพราะมองเห็นอะไรบางอย่างที่ยังสุ่มเสี่ยง

อาจต้องมีการขยับปรับเวลาเล็กน้อย เพื่อให้การจัดตั้งรัฐบาลลงตัว เพราะการเมืองคงต้องดูวันต่อวัน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ดร.ณัฏฐ์' ชี้กรณี 'ทักษิณ-พท.' รอดคดีล้มล้างฯ ไม่ตัดอำนาจ 'กกต.' ไต่สวนยุบพรรคได้

ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม นักกฎหมายมหาชน กล่าวถึงกรณีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ยกคำร้องของนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร เพื่อให้พิจารณาวินิจฉัยว่าการกระทำของนายทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทยเป็นการ

'ชินวัตร' ตีปีกดันรัฐบาลครบเทอม วิบากกรรมไล่ล่า 'ชั้น14' หลอกหลอน

ดูจากมติเอกฉันท์ของศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49

'ทวี' ยันให้ข้อมูลความจริงที่ไม่มีกฎหมายห้าม ใครเห็นต่างก็หาหลักฐานมาหักล้าง ปมทักษิณชั้น 14

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ถึงการเข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร