"พิธา" หลังพิง 14 ล้านเสียง ดิ้นสู้คลายหุ้น ก่อนโหวตนายกฯ

ชัดเจนแล้วว่า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล ได้คลายหุ้นไอทีวี 42,000 หุ้น จากการครอบครองของตัวเองไปเรียบร้อย หลังมีกระแสข่าวดังกล่าวออกมาในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา

การออกสเต็ปดังกล่าวของพิธา มันคือ การดิ้นสู้ทางคดีและทางการเมือง ของพิธา ก่อนที่จะไปเข้าให้ถ้อยคำในเรื่องนี้่ต่อเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่จะเรียกพิธาไปชี้แจงการถือครองหุ้นดังกล่าว หลัง เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ร้องว่า พิธาถือหุ้นดังกล่าวก่อนยื่นสมัครรับเลือกตั้ง และก่อนพรรคก้าวไกลส่งชื่อพิธาเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี รวมถึงเป็นการเตรียมพร้อมของพิธาในการสู้คดีในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ เพราะคงเชื่อว่า เรื่องนี้ กกต.จะส่งคำร้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

พิธา-หัวหน้าพรรคก้าวไกล ย้ำว่า การคลายหุ้นดังกล่าวไม่ใช่ขาย แต่โอนให้ทายาท หลายคนก็ออกมาบอกว่า มีความพยายามสกัดกั้นผมออกจากการเมือง ผมได้ยินอย่างนี้ แน่นอนว่าต้องกังวล เพราะอดีตกับอนาคตไม่เหมือนกัน อย่างที่บอกว่าอดีตก็คืออดีต แต่ในอนาคตมีความไม่แน่นอนอยู่ ดังนั้นต้องมีความแน่นอน เพื่อให้ตั้งรัฐบาลให้ได้

อย่างไรก็ตาม ความคิดของพิธาในเรื่องนี้ ถ้าจะดูให้ละเอียด ก็ต้องดูสิ่งที่หัวหน้าพรรคก้าวไกลโพสต์ไว้ในเฟซบุ๊กของตัวเองก่อนที่จะให้สัมภาษณ์กับสื่อ ซึ่งเนื้อหาในสิ่งที่พิธาถ่ายทอดไว้ สรุปสาระสำคัญได้ว่า เป็นการโอนหุ้นเพื่อป้องกันปัญหาจากกระบวนการฟื้นคืนชีพความเป็นสื่อมวลชนให้กับบริษัท ITV ที่มีบางฝ่ายพยายามเล่นงาน หลังพบข้อพิรุธ-ไม่ใช่เป็นการโอนหุ้นเพราะหลีกหนีความผิด-ไม่มีใครหรืออำนาจไหนมาสกัดกั้นฉันทานุมัติของพี่น้องประชาชน ที่ได้แสดงออกไปเมื่อการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม ถึงกว่า 14 ล้านเสียง ได้อีกแล้ว-มั่นใจไม่มีลักษณะต้องห้ามในการสมัครรับเลือกตั้ง และไม่มีลักษณะต้องห้ามในการเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี

"ผมมีความมั่นใจว่า ก่อนที่ผมจะดำเนินการโอนหุ้น ITV นั้น บริษัท ITV ไม่ได้ประกอบกิจการสื่อมวลชนใดๆ การโอนหุ้นให้แก่ทายาทอื่นจึงเกิดขึ้น ไม่ใช่เป็นการโอนหุ้นเพราะหลีกหนีความผิดแต่อย่างใด

กระบวนการถัดจากนี้ ผมขอยืนยันทุกท่านว่า ผมมีความพร้อมอย่างเต็มที่ในการชี้แจงต่อ กกต. ไม่มีความเป็นห่วงหรือกังวลใดๆ ต่อกรณีนี้ และจะไม่เสียสมาธิในการทำงานเด็ดขาด

หลังจากนี้ผมจะเดินหน้าทำงานเตรียมการเปลี่ยนผ่านอำนาจ จัดตั้งรัฐบาลก้าวไกลที่มีพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีให้สำเร็จจงได้ในที่สุด

ไม่มีใครหรืออำนาจไหน มาสกัดกั้นฉันทานุมัติของพี่น้องประชาชน ที่ได้แสดงออกไปเมื่อการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม ถึงกว่า 14 ล้านเสียง ได้อีกแล้ว

ขอให้ทุกท่านสบายใจ และเดินหน้าเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ไปด้วยกันครับ"

การตัดสินใจดังกล่าวของพิธา แน่นอนว่า ต้องเกิดจากการได้ปรึกษาหารือกับฝ่ายกฎหมายของพรรคและทนายความ มือกฎหมายส่วนตัว จนเป็นที่มาของการโอนหุ้นดังกล่าว เพราะคงมองว่าเมื่อโอนไปแล้ว จะมีผลดีต่อการสู้คดีในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อสร้างเหลี่ยมในการสู้คดี ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งมาตรา 98 (3) ที่เป็นบทบัญญัติเรื่องห้ามลงสมัครรับเลือกตั้งโดยถือหุ้นสื่อก่อนลงเลือกตั้ง รวมถึงเพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการก้าวขึ้นสู่การเป็นนายกฯ เพราะคงมองว่า มาตราที่เกี่ยวข้องกับการเป็นนายกฯ คือ มาตรา 159 และ 160 ยังมีปัญหาให้ตีความได้อยู่ แม้จะเสี่ยงถูกมองว่า ถ้ามั่นใจว่าหุ้นไอทีวีไม่ใช่หุ้นสื่อ แล้วมาโอนหุ้นในช่วงนี้ ก่อนวันโหวตนายกฯ เพื่ออะไร-การโอนหุ้นแบบนี้ ก็แสดงว่าเริ่มไม่มั่นใจแล้วใช่หรือไม่ ถึงได้ปลดล็อกปัญหาด้วยการโอนหุ้น เพื่อจะได้เป็นประเด็นต่อสู้ทางข้อกฎหมายต่อไป

วิเคราะห์ไว้ว่า พิธาและก้าวไกลคงประเมิน Worst case scenario สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดของคำตัดสินศาลรัฐธรรมนูญว่า อย่างมากอาจแค่หลุดจาก ส.ส. แต่ยังสามารถลุ้นเป็นนายกรัฐมนตรีได้ หรือแม้แต่เป็นรัฐมนตรีได้ โดยใช้แง่มุมข้อกฎหมายบางมุมมาต่อสู้

รวมถึงแม้กระทั่งพิธาก็ยังสามารถกลับมาเป็น ส.ส.ในสภาฯ ชุดนี้อีกก็ยังได้ เพราะหากพิธาไม่รอด ก็แค่หลุดจาก ส.ส. แต่ไม่โดนตัดสิทธิ์ทางการเมือง เพราะบทลงโทษของการถือหุ้นสื่อก่อนวันลงสมัครรับเลือกตั้ง ไม่ได้มีการให้ตัดสิทธิ์ทางการเมือง ดังนั้นหากอนาคตมีการเลือกตั้งซ่อมเกิดขึ้น พิธายังสามารถไปลงเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขตก็ยังได้ เพราะคนในพรรคย่อมเปิดทางให้อยู่แล้ว และยังกลับมาลุ้นเป็นนายกฯ ได้อีกในสมัยนี้ หากโอกาสมาถึง

เรียกได้ว่ายังมีแง่มุมข้อกฎหมายหลายอย่างที่เปิดทางให้พิธายังสามารถอยู่ในวงจรแผงอำนาจได้แบบที่หลายคนคาดไม่ถึง จึงน่าจะเป็นที่มาของการที่พิธา หลังได้ปรึกษากับนักกฎหมายหลายคนแล้ว คงมองว่า โอนหุ้นไปตอนนี้ย่อมมีผลดีในอนาคต

เพียงแต่จะเห็นได้ว่า “พิธา” นำเรื่อง 14 ล้านเสียง ที่ประชาชนเลือกก้าวไกลตอนเลือกตั้ง พ่วงเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรงในช่วงนี้แล้ว  เหมือนกับเป็นการส่งสัญญาณไปยังบางฝ่ายที่จะสกัดกั้นตัวเองไม่ให้เป็นนายกฯ ว่า มี 14 ล้านเสียงเป็นแบ็กอัพ เป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็กคอยหนุนหลังตัวเองอยู่ให้จัดตั้งรัฐบาลให้สำเร็จ

มองได้ว่า “พิธา” ต้องการสื่อไปถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง-ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและสมาชิกวุฒิสภา ที่จะลงมติโหวตนายกรัฐมนตรีนั่นเอง

ขณะที่ฝ่าย สมาชิกวุฒิสภา ก็เริ่มเห็นท่าทีแล้วว่า ต้องการสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเองในการโหวตนายกฯ โดยเฉพาะกลุ่ม ส.ว.ที่จะไม่หนุนพิธา อยู่แล้ว แต่ก็ต้องการหาสิ่งที่จะเป็นน้ำหนักมาทำให้การตัดสินใจของตัวเองมีความชอบธรรม ไม่โดนบรรดาด้อมส้มถล่มหนักว่าไม่เลือกนายกฯ จากพรรคที่ได้ 14 ล้านเสียง

จึงได้เริ่มเห็นท่าทีของ ส.ว.อย่าง เสรี สุวรรณภานนท์ ที่เรียกร้องให้ กกต.ส่งคำร้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยเร็ว โดยเฉพาะให้ส่งไปถึงศาลก่อนวันที่จะมีการเรียกประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อโหวตนายกฯ

ท่าทีดังกล่าว เพราะ ส.ว.ที่คงไม่ใช่มีแค่เสรีคนเดียว แต่มี ส.ว.อีกจำนวนมากที่ต้องการให้เป็นแบบนี้ เพราะ ส.ว.กลุ่มดังกล่าวเชื่อว่า เมื่อ กกต.ส่งไป ทางศาลรัฐธรรมนูญจะต้องรับคำร้อง และน่าจะมีคำสั่งให้พิธาหยุดพักการปฏิบัติหน้าที่จากการเป็น ส.ส.ไว้ก่อน แบบเดียวกับที่เกิดขึ้นกับธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

 และถึงแม้ต่อมา 8 พรรคการเมืองจัดตั้งรัฐบาล 312 เสียง จะมีมติยืนยันเสนอชื่อพิธาเป็นนายกฯ ต่อไป เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนไว้ว่านายกฯ ต้องเป็น ส.ส.ทำให้พิธายังสามารถเป็นนายกฯ ได้ แต่การที่พิธาถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ มันก็จะทำให้ ส.ว.กลุ่มที่จะไม่โหวตให้พิธา หรือพวกยังลังเลรอดูหน้างาน ก็จะมีเหตุผลมาอ้างได้ว่า พิธาน่าจะมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติทางรัฐธรรมนูญ ทาง ส.ว.จะใช้เหตุผลนี้มา งดออกเสียง ไม่โหวตให้พิธา ส่วนพวกไม่เอาพิธา-ก้าวไกลอยู่แล้ว ก็จะ โหวตไม่เห็นชอบ วัดกันไปเลย 

ส่วนครั้นจะให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินคดีพิธาให้จบก่อนรัฐสภาโหวตเลือกนายกฯ คาดการณ์ว่าน่าจะทำได้ยาก เพราะหากทำแบบนั้น ศาลรัฐธรรมนูญก็จะถูกมองว่า เร่งรัดคดี มากเกินเหตุ เพราะคดีหุ้นสื่อก่อนหน้านี้ เช่น คดีหุ้นสื่อธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, คดีหุ้นสื่อ 64 ส.ส.สมัยที่แล้ว จะพบว่าศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะตัดสินแล้วเสร็จ ดังนั้นน่าจะยากที่ศาลจะวินิจฉัยคดีพิธาเสร็จก่อนโหวตนายกฯ แต่แค่การที่ศาลสั่งให้พิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ ก็น่าจะทำให้กลุ่ม ส.ว.พึงพอใจแล้วที่จะใช้เรื่องนี้มาเป็นประเด็นในการไม่โหวตให้พิธา

เส้นทางการขึ้นสู่เก้าอี้นายกฯ คนที่ 30 ของพิธาแต่ละก้าว จึงเต็มไปด้วยขวากหนามอย่างแท้จริง. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อนาคตไกล เตือนเด็กรามฯอย่าตกเป็นเครื่องมือฝ่ายการเมือง ฉะ 'ชัยธวัช-พิธา' ขว้างงูไม่พ้นคอ

"อนาคตไกล" ชี้คำแถลงคัดค้านยุบพรรคก้าวไกล ของสภานักศึกษา ม.รามคำแหง เป็นเพียงสัญลักษณ์การเมืองนักศึกษาในรั้วราม เตือน

'ชัยธวัช' สรุปคำแถลงข้อต่อสู้คดียุบพรรคก้าวไกล

นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อและประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ร่วมแถลงชี้แจงเนื้อหา และสรุปข้อต่อสู้ในเอกสารคำแถลงปิดคดียุบพรรคก้าวไกล

ลอกภาพวาดแวนโก๊ะ! 'พิธา' นักก๊อปปี้ส่งภาพประมูลจบที่ 2.6 หมื่นบาท รายได้เข้าสวัสดิการสภาฯ

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จัดงานตลาดนัดผาสุก ระหว่างวันที่ 30 ก.ค.- 2 ส.ค. โดยเป็นการนำสินค้าอุปโภค บริโภค สินค้า OTOP จากทั่วประเทศมาออกบูธ เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น บริเวณรอบสระมรกต

'ศิริกัญญา' เอาใจช่วย 'เศรษฐา' ไม่หลุดนายกฯ หวัง 'ก้าวไกล' รอดยุบพรรค

'ศิริกัญญา' เชียร์ 'เศรษฐา' รอดคดี ไม่เห็นด้วยองค์การอิสระแทรกแซง ยังหวังก้าวไกลไม่ถูกยุบ ขอรอผล 7 ส.ค. ก่อน รับคุยหลายพรรคไม่ใช่แค่ถิ่นกาขาวฯ

'เศรษฐา' ไม่ขอคิดไกล! อย่าโยง 3 คดีใหญ่ ทำ ครม. ไขว้เขว

'เศรษฐา' ลั่นยังไม่คิดปรับ ครม. ตอนนี้ รับ 3 ปีที่เหลืออาจมีการปรับเปลี่ยน ขออย่าโยง 3 คดีใหญ่เดือน ส.ค. หวั่น รมต.ไขว้เขว ขออย่าคิดไกล ปมข่าววางคนเสียบนายกฯ