‘ดีลลับ-รัฐบาลแห่งชาติ’สกัด‘ก้าวไกล’ วิกฤตรอบใหม่รอปะทุ!

การจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรคร่วม 312 เสียง นำโดย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ดูหน้าฉากเหมือนจะมีความคืบหน้า ท่ามกลาง ดีลลับ การจัดตั้งรัฐบาลสลับขั้ว

ล่าสุด 8 พรรคร่วมตั้งคณะกรรมการประสานงานช่วงเปลี่ยนผ่าน 9 ราย มีนายพิธาเป็นประธานคณะกรรมการการประสานงานฯ โดยจะมีการประชุมครั้งถัดไปวันที่ 6 มิ.ย.นี้ ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) เป็นเจ้าภาพ

ขณะเดียวกัน ปรากฏภาพ นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย และ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) อยู่ในเฟรมเดียวกันที่สนามคิงเพาเวอร์ สเตเดียม ในเกมนัดสุดท้ายของเลสเตอร์ ซิตี เมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ 28 พ.ค.ที่ผ่านมา

ประกอบกับมีกระแสข่าวเรื่อง ดีลลับลังกาวี ผลักให้พรรคก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้าน และให้พรรคเพื่อไทยถอยไปเป็นรัฐบาลขั้วใหม่กับพรรคภูมิใจไทย, พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.), พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) เพื่อให้ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ กลับบ้านในเดือน ก.ค.นี้

โดยมีกระแสข่าวว่า นายทักษิณ มาที่เกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซีย พบปะกับแกนนำนักการเมืองบางพรรค และอดีตนายทหารคนหนึ่ง หารือเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลสลับขั้ว จากนั้นได้บินไปประเทศสิงคโปร์ โดยมี ส.ส.เพื่อไทยคนใกล้ชิดไปสมทบ

ก่อนการเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยคาดหวังไว้อย่างสูงว่าจะชนะแบบ แลนด์สไลด์ แต่เมื่อผลเลือกตั้งออกมาได้สร้างความผิดหวังให้เพื่อไทยและทักษิณอย่างมาก ทำให้โอกาสที่ทักษิณจะกลับบ้านในเดือน ก.ค.ตาม ดีลลับดูไบ เป็นไปได้ยากขึ้น

เมื่อก้าวไกลได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และในฐานะที่เพื่อไทยเป็นฝ่ายประชาธิปไตย ก็ต้องร่วมจัดตั้งรัฐบาลด้วยกัน แม้ในใจไม่อยากร่วมก็ตาม แต่หากตั้งแง่ก็จะขาดความชอบธรรมทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค พท. ยืนยันเป็นครั้งที่ 502 ว่าจะไม่มีการทิ้งก้าวไกล ในการแถลงข่าวตั้งคณะกรรมการประสานงานช่วงเปลี่ยนผ่าน นายชลน่าน โชว์หวาน กอด ประกบมือกับนายพิธาเป็นรูปหัวใจ แล้วกล่าวว่า “เน้นย้ำไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราจะอยู่ด้วยกันตลอดไป เพื่อตั้งรัฐบาลของพี่น้องประชาชนให้ได้”

แต่ก็ไม่สามารถสยบข่าวดีลลับ สลับขั้วได้!

มีการมองเกมการเมืองในกระดานนี้ตรงกันว่า เพื่อไทยก็ต้องปล่อยให้ก้าวไกลเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลให้สุดทางก่อน หากทำไม่สำเร็จ เพื่อไทยในฐานะพรรคอันดับ 2 ก็อ้างความชอบธรรมในการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้

โดยโฟกัสไปที่สถานะ นายพิธา แคนดิเดตนายกฯ ที่ถูกยื่นร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กรณีถือหุ้นสื่อ itv หรือบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น เป็นคุณสมบัติต้องห้ามสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) บัญญัติห้ามมิให้บุคคลที่เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ หรือไม่

กรณีถือหุ้นสื่อของนายพิธาจะทำให้ตกสวรรค์หรือไม่ เป็นเรื่องที่มีประเด็นถกเถียงหลายมุมมอง แต่หากยึดบรรทัดฐานคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่คดี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ถือหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย นายพิธาก็คงรอดยาก

ที่น่าสนใจ คดีของ นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์  ผู้สมัคร ส.ส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ ที่ศาลฎีกาเห็นชอบคืนสิทธิสมัครเลือกตั้งให้ผู้ร้อง เนื่องจากมองว่าการถือหุ้นจำนวนเล็กน้อยไม่มีอำนาจครอบงำกิจการ

ทั้งนี้ตามหลักกฎหมายจะยึด บรรทัดฐานใหม่ แต่ก็อยู่กับคณะตุลาการจะยึดคำวินิจฉัยใดเป็นบรรทัดฐานก็ได้เช่นกัน คดีของพิธาจึงต้องรอลุ้นคำวินิจฉัยกันต่อไปว่าจะฝ่าด่านแรกไปได้หรือไม่

ที่สำคัญคือด่าน วุฒิสมาชิก (ส.ว.) ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ต้องใช้คะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดของทั้งสองสภา หรือ 376 คน ขณะที่ 8 พรรคร่วมมี 312 เสียง ต้องอาศัยเสียง ส.ว.อีก 64 เสียง

ส่วนที่มีกระแสข่าวว่า มี ส.ว.พร้อมโหวตให้แล้ว 20 เสียงนั้น เอาเข้าจริงไม่ถึง 20 เสียงด้วยซ้ำ ด่านนี้จึงแทบเป็นไปไม่ได้

ซึ่ง ส.ว.ชุดนี้มาจากการคัดเลือกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้า คสช. จึงมีสายสัมพันธ์แน่นกับกลุ่มอำนาจเก่า

โดยเฉพาะแนวทางของพรรคก้าวไกลจะแก้ไข ม.112-ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ปฏิรูปกองทัพ กลุ่ม ส.ว.จึงตั้งป้อมสกัดก้าวไกลอย่างเต็มที่

ขณะที่ นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. บอกว่า "หากนายพิธาเป็นนายกฯ บ้านเมืองจะลุกเป็นไฟ และขณะนี้กระแสจงรักภักดีสถาบันพร้อมมากที่จะเข้ากรุง และจะนำไปสู่การนองเลือดของคนไทยด้วยกันคือ ไทยฆ่าไทย"

ส่วน นายจเด็จ อินสว่าง ส.ว. ก็ออกมาปลุกผี รัฐบาลแห่งชาติ ว่า “สิ่งที่ตอบโจทย์การเมืองได้ตอนนี้คือ รัฐบาลแห่งชาติ ให้แต่ละพรรคนำข้อดีของตนเองร่วมทำงานเพื่อบ้านเมือง สร้างความแข็งแกร่งของสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ โดยโมเดลของผมคือให้ทุกพรรคนำส่วนที่ดีมาทำงานร่วมกัน ประสานประโยชน์ พุ่งเป้าไปที่ความมั่นคงของชาติ" และบอกว่า รัฐบาลแห่งชาติไม่จำเป็นต้องให้เกิดความขัดแย้งก่อน รัฐธรรมนูญไม่ได้ห้าม แต่ถึงแม้ว่าจะห้ามก็งดใช้ได้ เชื่อว่ามีหนทางทำได้ อยู่ที่จะทำหรือไม่

สำหรับ รัฐบาลแห่งชาติ หรือรัฐบาลที่รวมทุกฝ่าย โดยไม่มีฝ่ายค้าน จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อบ้านเมืองเกิดวิกฤตรุนแรง แม้สถานการณ์ขณะนี้ยังไม่ไปถึงจุดนั้น แต่แนวคิดของ ส.ว.ทั้ง 2 คนก็เป็นการสะท้อนอารมณ์ร่วมของ ฝ่ายอนุรักษนิยม ได้เป็นอย่างดี และทำให้กระตุ้นอารมณ์ของผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลเกิดปฏิกิริยาต่อต้านกลับทันที  

โดย นายอานนท์ นำภา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน และแกนนำกลุ่ม 3 นิ้ว ผู้ต้องหาคดี 112 โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า "ครั้งนี้พวกกูไม่ยอม! 'เลือกตั้ง' ไม่ใช่พิธีกรรม แต่เป็น 'มติประชาชน' ถ้าฝืนมติประชาชนก็เตรียมรับมือการลุกฮือของประชาชนได้เลย"

ด้าน นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน ก็ประเมินสถานการณ์การจัดตั้งรัฐบาล 312 เสียง ว่าจะถึงทางตัน เหตุตัวแปรอุปสรรคสำคัญ ส.ว.ไม่หนุนก้าวไกล ส่วนพิธาจะถูกดองคุณสมบัติ ขณะที่เพื่อไทยเร่งฮุบประธานสภาฯ จ้องหาโอกาสย้ายขั้วไปฝั่ง 188 เสียง ดึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เป็นนายกฯ แลก ส.ว.ผ่าน 376 เสียง และเชื่อว่าประชาชนจะลุกฮือ วุ่นวายเป็นไฟลามทุ่ง ยากเอาอยู่ หวั่นจบด้วยทหารยึดอำนาจ!

และหากก้าวไกลไม่ได้รับเสียงโหวตถึง 376 เสียง แม้เป็นไปตามกระบวนการรัฐสภา แต่ฝ่ายสนับสนุนก้าวไกลก็มองว่าเป็นขบวนการสกัดกั้นไม่ให้ก้าวไกลได้เป็นรัฐบาล ทั้งที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน ได้คะแนนสูงสุด และเป็นฉันทามติของประชาชนแล้ว

หรือกรณีนายพิธาถือหุ้นสื่อ ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขาดคุณสมบัติต้องห้ามสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ถูกเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง พ้นสภาพ ส.ส. ฝ่ายกองหนุนก็ไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรม หาว่าเป็น นิติสงคราม กลั่นแกล้งกันตามเคย

การที่นายพิธาเรียกตัวเองว่า ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย ทั้งที่ยังไม่ได้รับการโหวตจากเสียงข้างมากในรัฐสภา รวมทั้งการเดินสายพบภาคเอกชนและสมาคมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จึงเป็นการสร้างภาพกดดันอีกฝ่าย และตอกย้ำความเชื่อ ความหวัง ของผู้สนับสนุนว่า นายพิธาต้องได้เป็นนายกฯ ก้าวไกลเป็นแกนนำรัฐบาลแน่นอน

แต่สถานการณ์ข้างหน้าที่่ไม่มีความแน่นอน ซึ่งแกนนำพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย ก็ประเมินไม่ต่างกันว่าโอกาสที่ ส.ว.จะยกมือให้ถึง 64 คน เป็นไปได้ยาก 

เมื่อจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ ก็จะสร้างความผิดหวังกับผู้สนับสนุน โดยเฉพาะ ด้อมส้ม ให้ออกมาชุมนุมบนท้องถนนอีก

ส่วนการชุมนุมจะพัฒนาไปไกลถึงขนาด คนไทยฆ่าคนไทย อย่างที่ ส.ว.กิตติศักดิ์ ประเมินไว้จนเกิดรัฐบาลแห่งชาติหรือไม่ ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยหลายอย่าง ทั้งแกนนำพรรคก้าวไกล-ด้อมส้ม แนวร่วมต่างๆ จะตั้งเพดานสูงขนาดไหน ส่วนฝ่ายความมั่นคงจะรับมืออย่างไร?

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าประชาชนที่เลือกพรรคก้าวไกลถึง 14.4 ล้านเสียง มาจากความเบื่อหน่ายรัฐบาลที่บริหารแบบเดิมๆ ไม่ปฏิรูปโครงสร้างประเทศให้ก้าวทันโลกที่เปลี่ยนแปลงไป สังคมไทยจึงเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ ความอยุติธรรมมากมาย 

เมื่อพรรคก้าวไกลชูธง เลือกก้าวไกล ประเทศไทยจะไม่เหมือนเดิม พร้อมกับนโยบายปฏิรูปโครงสร้างแทบทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง กระบวนการยุติธรรม ฯลฯ จึงตอบโจทย์ประชาชนได้ตรงจุด

ไม่เพียงแต่คนรุ่นใหม่เท่านั้นที่เลือกก้าวไกล ชนชั้นกลางในเมืองใหญ่ที่ไม่หวังพึ่งระบบอุปถัมภ์ ก็เลือกก้าวไกลจำนวนมาก หรือภาคใต้ ฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ ก็เลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อันดับหนึ่งถึง 7 จังหวัด สะท้อนว่าเสียงเหล่านี้ไม่ต้องการการเมืองแบบเดิมๆ และต้องการ การเปลี่ยนแปลง นั่นเอง

ดังนั้น หากสกัดพรรคก้าวไกลไม่ให้เป็นรัฐบาลได้สำเร็จ กลุ่มอำนาจเดิมเป็นรัฐบาล แล้วก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประเทศชาติให้ดีขึ้น ไม่ตอบโจทย์ประชาชนส่วนใหญ่ ก็ยิ่งจะเกิดวิกฤตที่ใหญ่กว่าเดิม

เว้นแต่กลุ่ม อนุรักษนิยม ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว แล้วลงมือแก้โจทย์ทั้งหมดด้วยตัวเอง!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อิ๊งค์' ยิ้มร่ารับฉายา 'รัฐบาลพ่อเลี้ยง' แซวตัวเอง 'แพทองแพด' แฮปปี้ไม่เกลียดใคร

'นายกฯอิ๊งค์' ยิ้มแย้ม ไม่โกรธฉายา 'รัฐบาลพ่อเลี้ยง' ขอมองมุมดี พ่อมีประสบการณ์เพียบช่วยหนุน หยอกสื่อกลับ 'แพทองแพด' ไม่ใช่แพทองโพย บอกไม่ค่อยเกลียดใครมันเหนื่อย แฮปปี้เข้าไว้

47 เก้าอี้นายกฯอบจ. บ้านใหญ่ ลุ้นเข้าวิน-กินเรียบ!

คิกออฟ นับหนึ่งตั้งแต่จันทร์ที่ 23 ธ.ค.ที่เป็นวันแรกของการรับสมัครบุคคลที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งนายกฯ อบจ. 47 จังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงที่ลงสมัครเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั่วประเทศ 76 จังหวัด

‘แม้ว’ ไล่ทุบ- ‘ภูมิใจไทย’ ไม่หมู ‘แดง-น้ำเงิน’ ทนอยู่แบบตบจูบ

นาทีนี้ศึกฝ่ายค้าน-รัฐบาลยังไม่เดือดเท่ากับศึกรัฐบาลด้วยกันเอง แรงขึ้นเรื่อยๆ สำหรับการขบเหลี่ยมของพรรคอันดับ 1 และพรรคอันดับ 2

'นายกฯอิ๊งค์' ขึ้นแท่นนักการเมืองแห่งปี 'ผู้นำค้านเท้ง' ร่อแร่รั้งอันดับ 9

เปิดผลโพลนักการเมืองแห่งปี 67 'แพทองธาร ชินวัตร' ประชาชนชื่นชอบกว่า 15% ขณะที่่ผู้นำค้าน 'ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ' ร่อแร่ร่วงอันดับ 9 ได้แค่ 5%

ขวากหนามแก้รัฐธรรมนูญ คนกันเอง...เล่นเกมต่อรอง

เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่เห็นชอบกับ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ฉบับคณะ กมธ.ร่วมกันพิจารณาเสร็จแล้ว