คอการเมืองพยากรณ์ “การจัดตั้งรัฐบาล” กันยกใหญ่ หลายคนเชื่อ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล จะไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี จะไม่มีรัฐบาลที่จัดตั้งโดย “พรรคก้าวไกล”!!!
สาเหตุส่วนหนึ่งมาจาก สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ข้องใจและกังวลใจที่ “พิธา” ยังมีแนวคิดยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ทั้งยังไม่เชื่อมือว่าที่นายกฯ หน้าละอ่อนผู้นี้จะบริหารชาติบ้านเมืองให้รอดพ้นจากปากเหยี่ยวในสถานการณ์โลกที่กำลังฮึ่มๆ อยู่ในตอนนี้
ที่สำคัญ “พิธา” ยังมีปัญหาเรื่องร้องเรียนสารพัดให้ตรวจสอบคุณสมบัติความเป็นนายกฯ และ ส.ส.กรณีถือหุ้นสื่อ ไอทีวี
โดยเรื่องนี้ “วิษณุ เครืองาม” รักษาการรองนายกรัฐมนตรี ออกมาเคลื่อนไหว ขยายความว่า ถ้ามีคนร้องให้พิจารณากรณีพิธารับรองสมาชิกพรรคอีกประเด็น แล้วปรากฏว่าศาลวินิจฉัยขัดกับรัฐธรรมนูญจริง "ต้องเลือกตั้งซ่อมใหม่ทั้งหมด อย่างในอดีตที่คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภรรยาของนายทักษิณ ชินวัตร ไปกาลงคะแนน และมีคนไปถ่ายไว้ ซึ่งเกิดเหตุเพียงคูหาเดียว แต่ทำให้การเลือกตั้งครั้งนั้นโมฆะทั้งประเทศ ฉะนั้น กรณีนี้ก็เช่นเดียวกัน หากมีการเลือกตั้งซ่อมต้องเลือกตั้งใหม่ทั้งประเทศ"
ทั้งหมดคืออุปสรรคทำให้การจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรคดูทุลักทุเล จึงไม่แปลกที่จะได้ยินข่าวลือเป็นระยะ ว่าบรรดาตัวพ่อของพรรคการเมืองต่างๆ นัดสุมหัวเปิดโต๊ะเจรจาดีลลับแถวๆประเทศเพื่อนบ้าน รอสวมบทเป็น “ตาอยู่” ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล แล้วปล่อยให้ “ก้าวไกล” “รวมไทยสร้างชาติ” เป็นฝ่ายค้านในสภาฯ
ล่าสุด “จเด็จ อินสว่าง” ส.ว.ออกมาปลุกผี “รัฐบาลแห่งชาติ”!!!
จเด็จ บอกว่า “สิ่งที่ตอบโจทย์การเมืองได้ตอนนี้ คือ รัฐบาลแห่งชาติ ให้แต่ละพรรคนำข้อดีของตนเองร่วมทำงานเพื่อบ้านเมือง สร้างความแข็งแกร่งของสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ โดยโมเดลของตนคือ ให้ทุกพรรคนำส่วนที่ดีมาทำงานร่วมกัน ประสานประโยชน์ พุ่งเป้าไปที่ความมั่นคงของชาติ"
อีกทั้งยังเห็นอีกว่า รัฐบาลแห่งชาติไม่จำเป็นต้องให้เกิดความขัดแย้งก่อน รัฐธรรมนูญไม่ได้ห้าม แต่ถึงแม้ว่าจะห้ามก็งดใช้ได้ เชื่อว่ามีหนทางทำได้ อยู่ที่จะทำหรือไม่
แต่งานนี้ ส.ว.จเด็จ โดนสวนกลับทันที โดย นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว.ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา กล่าวถึงข้อเสนอของนายจเด็จ ว่า เป็นความหวังดีที่จะแก้ปัญหาเรื่องความแยกแตก เพื่อก่อให้เกิดความปรองดอง แต่เชื่อว่ารัฐบาลแห่งชาติเกิดขึ้นได้ยาก เพราะผลการเลือกตั้งออกมาแล้วว่าพรรคไหนได้คะแนนเท่าไร่ที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้ เพราะฉะนั้นคนกลุ่มนี้จะไม่ยอม การตั้งรัฐบาลแห่งชาติ คือหาทางอื่นไม่ได้แล้ว แต่ตอนนี้ยังมีเส้นทางของตัวเองอยู่เยอะ
อย่างไรก็ตาม ในการประชุม กมธ.การพัฒนาการเมือง ซึ่งตนเป็นประธาน จะมีการประชุมในวันที่ 6 มิ.ย.นี้ก็จะทำเรื่องนี้มาพูดคุยกันด้วย
ด้าน น.ต.ศิธา ทิวารี แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคไทยสร้างไทย โพสต์เฟซบุ๊กว่า “สมาชิกวุฒิสภาเสนอให้งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา เพื่อตั้ง #รัฐบาลแห่งชาติ ผมว่างดใช้รัฐธรรมนูญมาตราเดียว ไม่ต้องให้ #ส.ว. 250 คน มาเลือกนายกฯ เราก็ได้ #รัฐบาลแห่งประชาชนแล้วครับ #ส.ว.มีไว้ทำไม”
ตามด้วย ภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ระบุว่า "ปกติการเสนอรัฐบาลแห่งชาติไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยในประเทศต่างๆ และรัฐบาลแห่งชาติต้องเกิดวิกฤตที่รุนแรงภายในประเทศ เช่น เป็นภาวะสงคราม ที่ประเทศต้องการความเป็นเอกภาพร่วมกันในการแก้ไขวิกฤตรุนแรงนั้นๆ แต่วันนี้ประเทศไทยยังไม่ได้เกิดวิกฤตขั้นนั้น ระบอบประชาธิปไตยยังมีช่องทางเดินต่อไปได้ตามรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งครั้งนี้ฝ่ายประชาธิปไตยได้เสียงเกินกว่า 300 เสียง ซึ่งเราต้องคำนึงถึงเจตจำนงและความคาดหวังของประชาชนด้วย ดังนั้นเราต้องช่วยกันผลักดันเจตจำนงและความคาดหวังของประชาชนให้สำเร็จ"
เช่นเดียวกัน นายรังสิมันต์ โรม ว่าที่ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า จะตั้งรัฐบาลแห่งชาติไปทำไม หากเชื่อตามนั้นต้องไปยกเว้นรัฐธรรมนูญบางมาตรา ซึ่งประเทศไทยไม่ได้อยู่ในสภาพที่ต้องใช้เงื่อนไขนั้น ผมยังเชื่อว่ายังสามารถเดินหน้าตั้งรัฐบาลได้ วันนี้ประเทศไม่ได้เจอวิกฤตที่ทำให้ไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ ยอมรับว่าเงื่อนไขรัฐธรรมนูญบางมาตรายังเป็นอุปสรรค แต่สิ่งที่ต้องทำคือจัดตั้งรัฐบาลตามมติมหาชน เมื่อตั้งได้ค่อยถอดสลักอุปสรรคต่างๆ
ขณะที่นักกฎหมายมหาชน “ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม” โต้ว่า หากเป็นห่วงบ้านเมืองต้องย้อนกลับไปถามว่า หน้าที่ของ ส.ว.มีอะไรบ้าง การไปจุ้นจัดตั้งรัฐบาลระหว่างรัฐบาลประชาชนกับรัฐบาลแห่งชาติ เป็นหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภาหรือไม่ อย่างไร ไม่เข้าท่า เกินขอบเขตอำนาจหน้าที่ ควรเคารพเสียงของประชาชน แม้รัฐธรรมนูญให้เอกสิทธิ์โหวตนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 272 แต่เป็นเพียงดุลพินิจเด็ดขาดในสภาเท่านั้น
สรุปว่า ความปรารถนาดีของ “ส.ว.จเด็จ” เวลานี้ไม่มีใครต้องการ เพราะผิดที่ ผิดเวลา และยังไม่เกิดความขัดแย้งรุนแรงถึงขั้นวิกฤตขึ้นในประเทศ กระบวนการประชาธิปไตยยังเดินหน้าได้ ต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ “รัฐบาลประชาชน” ท้ายที่สุด ถ้า “พิธา” และก้าวไกล จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ ก็ยังมี “เพื่อไทย” และทุกพรรคที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันจับมือจัดตั้งรัฐบาลได้อยู่ดี
ประเทศชาติจะวุ่นวายก็ต่อเมื่อกระทำอะไรที่ลุแก่อำนาจ ค้านสายตาประชาชนจนรู้สึกว่าเขาโดนโกงความยุติธรรม นำสู่การชุมนุมประท้วงรุนแรง ประชาชนเกิดการบาดเจ็บล้มตายเหมือนกับม็อบที่ผ่านๆ มา
ซึ่งคราวนี้ก็จะเข้าเงื่อนไขสู่วังวนอุบาทว์ หรือถึงเวลานั้นอาจเกิด “รัฐบาลแห่งชาติ”!!!.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
47 เก้าอี้นายกฯอบจ. บ้านใหญ่ ลุ้นเข้าวิน-กินเรียบ!
คิกออฟ นับหนึ่งตั้งแต่จันทร์ที่ 23 ธ.ค.ที่เป็นวันแรกของการรับสมัครบุคคลที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งนายกฯ อบจ. 47 จังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงที่ลงสมัครเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั่วประเทศ 76 จังหวัด
พรรคส้มดาวกระจาย สู้ศึกอบจ. ‘พิธา’ ชน ‘ทักษิณ’ ตรง ‘ประตูท่าแพ-ตลาดวโรรส’ จันทร์นี้
พรรคประชาชน(ปชน.)เตรียมตัวส่งผู้สมัครนายก อบจ.ตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ในวันที่ 23 ธ.ค. โดยส่งระดับแกนนำและผู้ช่วยหาเสียงที่เป็นผู้นำจิตวิญญาณลงประกบตามพื้นที่ต่างๆ
‘แม้ว’ ไล่ทุบ- ‘ภูมิใจไทย’ ไม่หมู ‘แดง-น้ำเงิน’ ทนอยู่แบบตบจูบ
นาทีนี้ศึกฝ่ายค้าน-รัฐบาลยังไม่เดือดเท่ากับศึกรัฐบาลด้วยกันเอง แรงขึ้นเรื่อยๆ สำหรับการขบเหลี่ยมของพรรคอันดับ 1 และพรรคอันดับ 2
ขวากหนามแก้รัฐธรรมนูญ คนกันเอง...เล่นเกมต่อรอง
เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่เห็นชอบกับ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ฉบับคณะ กมธ.ร่วมกันพิจารณาเสร็จแล้ว
'ทักษิณ'พังการเมืองท้องถิ่น กระหายอำนาจ ไม่สนขัดแย้ง
“นายใหญ่” ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เจ้าของพรรคเพื่อไทย ต้องการฟื้นคืนชีพระบอบทักษิณโดยไม่สนใจบทเรียนในอดีต จนตัวเองและน้องสาวต้องหนีออกนอกประเทศ รวมถึงบริวารต้องติดคุกแทน
คดีป่วยทิพย์ชั้น14ในมือ‘ป.ป.ช.’ ‘รอด-ร่วง’สะเทือนการเมือง
เป็นอีกหนึ่งคดีที่ท้าทายสำหรับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หลังมีมติแต่งตั้ง องค์คณะไต่สวน ซึ่งประกอบด้วยกรรมการ ป.ป.ช.ทุกคน เพื่อตรวจสอบกรณีกล่าวหานายสหการณ์