ฉากโชว์หวานของ 8 พรรคร่วมรัฐบาล ที่พยายามจะผลักให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลได้เป็นนายกฯ ป้ายส้มได้สำเร็จ จะเป็นจริงหรือแค่ความฝันหรือไม่
เพราะวิบากกรรมของนายพิธามีอีกหลายด่านที่ต้องพิจารณา ไม่ว่าจะเป็นด่านแรกในเรื่องการชิงตำแหน่งประธานสภาฯ ที่พรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย ไม่มีใครยอมใครเพื่อหวังผลักดันวาระทางการเมืองของตัวเอง
ยังมีด้านของ ส.ว.ที่อาจตั้งป้อม จนไม่ได้รับเสียงเกิน 376 เสียง เพราะไม่เห็นด้วยในการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
รวมทั้งด่านหินสำคัญคือ คดีเรื่องหุ้นสื่อ ITV หรือการถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น ที่นายพิธาถือมาตั้งแต่ปี 2551 ถึง ปี 2566 เป็นระยะเวลา 15 ปี และท้ายรายชื่อและที่อยู่ผู้ถือหุ้นมิได้ระบุถือในนาม "ผู้จัดการมรดกแต่อย่างใด"
จึงเป็นเหตุให้ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ยื่นเรื่องให้ กกต.สอบว่านายพิธามีคุณสมบัติต้องห้ามสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) บัญญัติห้ามมิให้บุคคลที่เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ หรือไม่
โดยคำร้องของนายเรืองไกรมีหลายประเด็นที่ยื่นให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณาก่อนส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ประกอบไปด้วย 1.คุณสมบัติ ส.ส. 2.คุณสมบัติการเป็นแคนดิเดตนายกฯ 3.คุณสมบัติการเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่อาจกระทบต่อ ส.ส.ทุกคนของพรรคส้ม 4.คุณสมบัติการเป็น ส.ส.ตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งขณะนี้ กกต.ได้เริ่มสอบกรณีดังกล่าวแล้ว
นอกจากนี้ยังยื่นเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบว่าจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จหรือไม่ เนื่องจากไม่ปรากฏการถือครองหุ้นดังกล่าวในบัญชีทรัพสินกรณีเข้ารับตำแหน่ง ส.ส.ในปี 2562
แม้ก่อนหน้านี้ นายพิธาจะไม่กังวลใจ ขณะที่พรรคก้าวไกลได้เตรียมกฎหมายมาดูเรื่องนี้ พร้อมระบุว่า หากกระบวนการพิจารณาเป็นไปตามกฎหมายและบรรทัดฐานของศาลคงไม่มีปัญหาอะไร
สอดรับกับกระแสจากนักวิชาการ และนักการเมือง ออกมาช่วยหนุน ด้วยการยกหลักกฎหมาย รัฐธรรมนูญ และคำวินิจฉัยของศาล หรือแม้คำพิพากษาของศาลฎีกา มาอธิบายเพื่อเป็นคุณกับนายพิธา ไม่ทราบว่าสุดท้ายจะเป็นอย่างไร
เช่น การมองว่า บริษัท ไอทีวี ไม่ได้ประกอบกิจการทางด้านสื่อแล้ว รวมทั้งรายได้ที่เข้ามาไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสื่อ เพราะคงสถานะไว้เพื่อฟ้องร้องเท่านั้น อีกทั้งการถือหุ้นในสัดส่วนน้อย จึงไม่สามารถเข้าไปครอบงำ หรือกำหนดทิศทางของสื่อมวลชนได้
หรือคำวินิจฉัย เรื่องที่ 18-19/ 2563 กรณี น.ส.ภาดาท์ วรกานนท์ อดีต ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า แม้บริษัทที่ถือหุ้นมีวัตถุประสงค์เรื่องของสื่อ แต่เมื่อดูงบกำไรขาดทุน บริษัทไม่มีรายได้ใดๆ จากการให้บริการ และไม่เกี่ยวข้องกับสื่อ ดังนั้นข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า บริษัทนี้ไม่ได้ทำกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อ
อีกกรณี ศาลฎีกาคืนสิทธิ์ให้ นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ จากพรรคประชาธิปัตย์ ลงสมัคร ส.ส.นครนายก เพราะการถือหุ้นบริษัท AIS จำนวน 200 หุ้น และไปลงทุนกับบริษัทอื่นๆ ที่มีสภาพเป็นสื่อ ถือเป็นสัดส่วนที่น้อย ย่อมไม่มีอำนาจไปสั่งการให้เผยแพร่ข่าวสารที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนได้
ขณะที่อีกด้านหนึ่งกลับต่างออกไป เริ่มจากแม้นายพิธาจะอ้างว่าไม่ใช่หุ้นส่วนตัว เป็นผู้จัดการมรดกก็ตาม แต่ก็มีความเห็นของนักกฎหมายบางคน ออกมายืนยันว่าฟังไม่ขึ้น เพราะถือเป็นหนึ่งในทายาทโดยธรรม ที่ได้รับมรดกหุ้นจากบิดาเมื่อเสียชีวิตไปแล้ว และที่ผ่านมาการทำนิติกรรมต่างๆ หรือการรับประโยชน์หรือเสียประโยชน์ต่าง ก็ทำในนามนายพิธาใช่หรือไม่
รวมทั้งยังอ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอื่นๆ มาประกอบ แค่ถือหุ้นสื่อหรือไม่ และบริษัทยังประกอบกิจการหรือมีความสามารถที่จะกลับมาประกอบกิจการได้หรือไม่ โดยไม่มีการวางหลักว่าต้องถือมากหรือน้อย
เช่น คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 20/2563 กรณีตัดสิทธิ์ นายธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ พ้นจาก ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ในปี 2563 โดยระบุสาระสำคัญว่า "รัฐธรรมนูญ มาตรา 93 (3) เป็นบทบัญญัติว่าด้วยลักษณะต้องห้ามของ ส.ส.ที่ห้ามมิให้ใช้สิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.อันจะเป็นเหตุให้สมาชิกภาพของ ส.ส.ผู้นั้นสิ้นสุดลง เมื่อมีลักษณะต้องห้ามดังกล่าว"
นอกจากนี้ยังมีคำวินิจฉัยที่ 12-16/2553 วันที่ 3 พ.ย. ปี 2553 ที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินเรื่องการถือหุ้นไว้ในบริษัทมหาชน ที่เกี่ยวกับการเข้าไปรับสัมปทานจากรัฐ ซึ่งเป็นคุณสมบัติต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญของ ส.ส. แม้ไม่ใช่เรื่องถือหุ้นสื่อก็ตาม โดยวางหลักว่า
"การถือหุ้นเพียงหุ้นเดียว ก็ย่อมเป็นการถือหุ้นตามความหมายในรัฐธรรมนูญแล้ว แม้ผู้ถือหุ้นจะไม่มีอำนาจบริหารหรือครอบงำกิจการก็ตาม การที่รัฐธรรมนูญบัญญัติห้ามการถือหุ้นไว้ชัดเจนก็เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมทั้ง ส.ส.และ ส.ว.มีช่องทางที่จะใช้หรือถูกใช้ตำแหน่งหน้าที่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบในทางใดทางหนึ่ง"
ขณะที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ ถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 93 (3) ว่า ประเด็นนี้ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ชี้ขาด โดยในรัฐธรรมนูญเขียนไว้สั้นๆ เท่านั้น โดยไม่ได้บอกว่ากี่หุ้น และไม่ได้บอกว่าต้องเป็นสื่อขนาดไหน โอเปอเรตคือดำเนินการอยู่หรือไม่ แต่ถ้าดูคำวินิจฉัยเก่าๆ ของศาลรัฐธรรมนูญ ก็อาจเห็นทิศทางได้เหมือนกัน เพราะศาลรัฐธรรมนูญเคยตัดสินเรื่องนี้มาแล้วหลายดคี
เมื่อถามถึงกรณีที่ศาลฎีกาสั่งคืนสิทธิ์ให้นายชาญชัย กรณีถือหุ้นเอไอเอส ที่ไปลงทุนเกี่ยวกับบริษัทสื่อสามารถนำมาเทียบเคียงได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า เทียบได้ แต่ประเด็นก็ต่างกัน ถ้ากรณีนายชาญชัย บริษัทแม่ไปถือหุ้นในบริษัท เป็นโฮลดิ้ง คอมพานี แต่ก็ต้องเอามาดูด้วยกันหมด
เมื่อพิจารณาคำให้สัมภาษณ์ของนายวิษณุ จึงพบว่าการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่มีหลักประกันตายตัวใช่หรือไม่ เพราะอาจต้องพิจารณาสภาวะอื่นๆ นำมาประกอบด้วย เพื่อให้บ้านเมืองเดินไปได้อย่างสงบเรียบร้อยอย่างคำอย่างวินิจฉัยอื่นๆ ในก่อนหน้านี้
ฉะนั้น “นายกฯ ป้ายส้ม” อย่างนายพิธา จะรอดพ้นคดีหุ้นถือสื่อ ITV หรือไม่ และจะซ้ำรอย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กรณีถือหุ้นสื่อ บริษัท วีลัค มีเดียฯ ตกเก้าอี้ ส.ส.
รวมทั้งจะมีผลกระทบว่าที่ ส.ส.ของพรรคก้าวไกลเป็นลูกโซ่ตามคำร้องของนายเรืองไกรหรือไม่ คงต้องรอลุ้นที่ด่านสุดท้ายที่ศาลรัฐธรรมเป็นผู้ตัดสินเท่านั้น.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?
ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่
'เอ็ดดี้ อัษฎางค์' มีคำตอบให้! 'พิธา' ไม่เข้าใจทำไมกลายเป็นศัตรูเพื่อไทย
เอ็ดดี้-อัษฎางค์ ยมนาค อินฟลูเอ็นเซอร์การเมือง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ไม่เข้าใจทำไมกลายเป็นศัตรูกับเพื่อไทย อัษฎางค์ ยมนาค มีคำตอบให้
ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด
นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย
จับตาคลอดโผแต่งตั้ง“นายพลใหญ่” ตำรวจคนสนิทฝั่งรัฐบาลพรึบยกแผง
จับตาบ่ายวันนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายล็อตแรก “นายพลใหญ่” ระดับรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ-ผบช. ที่นายกฯ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2567 เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อ “พล.ต.อ.-พล.ต.ท.” วาระประจำปี 2567
ยากจะขวาง‘โต้ง’นั่งปธ.บอร์ดธปท. แนวต้านขอสกัดจนนาทีสุดท้าย!
แม้จะมีข่าวว่า กรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติเลือก เสี่ยโต้ง-นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ให้เป็นประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่
โค้งสุดท้ายศึกนายกอบจ.อุดรฯ เดิมพันสูง พท.VSปชน.แพ้ไม่ได้
นับจากวันจันทร์ที่ 18 พ.ย.ก็เหลืออีกเพียง 7 วันเท่านั้น ก็จะถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ศึกนายกฯ อบจ.อุดรธานี ทำให้ตอนนี้ถือว่าเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายที่จะได้รู้กันแล้วว่า