ว่าไปไม่ใช่เรื่องแปลกที่แกนนำพรรค รวมไทยสร้างชาติ (รทสช.)อาทิ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค, เอกนัฏ พร้อมพันธุ์, ธนกร วังบุญคงชนะ จะพร้อมใจกันออกมาประสานเสียงในโทนเดียวกันว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่เป็นจุดขายสำคัญของพรรค รทสช.ตอนเลือกตั้ง จนทำให้พรรคได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์มา 4,766,408 คะแนน ที่มาเป็นอันดับสาม รองจากก้าวไกลและเพื่อไทย จะยังคงอยู่กับพรรครวมไทยสร้างชาติต่อไป แม้ว่าหลังจากนี้ รวมไทยสร้างชาติจะไม่ได้เป็นพรรครัฐบาล ต้องเตรียมไปรับบทฝ่ายค้านในสภาก็ตาม
การที่แกนนำพรรค รทสช.ออกมาประสานเสียงดังกล่าว ก็เพราะรู้ดีว่า เมื่อพรรค รทสช.มีโอกาสสูงที่จะต้องไปเป็นฝ่ายค้าน ประชาชนรวมถึงแวดวงการเมือง ย่อมคิดไปในทางเดียวกันว่า หากสุดท้าย พรรคก้าวไกลหรือเพื่อไทย ไม่ว่าจะเป็นพรรคไหนตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ โดยที่การตั้งรัฐบาลของทั้งสองพรรค ยังไงก็ย่อมไม่มีพรรค รทสช.ร่วมอยู่ด้วย จนสุดท้าย การเมืองกลับเข้าสู่โหมดปกติ มีรัฐบาลชุดใหม่-มีการเปิดสภา ก็จะทำให้พลเอกประยุทธ์ ที่ไม่ได้มีตำแหน่งการเมืองอะไร ไม่ได้เป็น ส.ส.ของ รทสช. ก็ย่อมจะห่างเหินจากพรรค รทสช.และคนในพรรคเป็นธรรมดา
ถึงแม้พลเอกประยุทธ์จะมีตำแหน่งใน รทสช. เป็นประธานคณะกรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์พรรครวมไทยสร้างชาติ แต่ก็เป็นตำแหน่งลอยๆ ทางการเมือง ที่เมื่อการเมืองกลับสู่โหมดปกติ เรื่องการวางยุทธศาสตร์หรือแผนงานต่างๆ ของพรรค ยิ่งเป็นเรื่องที่ห่างไกลทางการเมืองอย่างมาก เพราะลักษณะงานดังกล่าวจะใช้ในช่วงเลือกตั้งเป็นหลัก
ดังนั้น มันก็ย่อมทำให้พลเอกประยุทธ์กับพรรค รทสช.และ ส.ส.ของพรรค ต้องมีระยะห่างกันแน่นอน
ผนวกกับมีการมองกันว่า พลเอกประยุทธ์อาจคิดหันหลังให้กับการเมือง จนเฟดตัวเองออกจากการเมืองและพรรค รทสช.ไปเรื่อยๆ จนสุดท้าย ก็ไม่แน่ อาจจะไปรับตำแหน่งบางอย่าง ตามที่มีกระแสข่าวร่ำลือกันก่อนหน้านี้
จนทำให้พรรค รทสช.กับพลเอกประยุทธ์ ก็อาจถึงคราวต้องค่อยๆ ห่างกัน สุดท้าย แต่ละฝ่ายก็ต้องเลือกทางเดินของตัวเองต่อไป
แน่นอนว่า แกนนำพรรค รทสช.ต่างก็รู้ดีว่า ประชาชนและแวดวงการเมืองย่อมมองสถานการณ์ของพลเอกประยุทธ์กับพรรค รทสช. ว่าอาจเดินไปในลักษณะข้างต้น
จึงเป็นธรรมดาที่แกนนำพรรครทสช. จะพากันออกมาประสานเสียงว่า บิ๊กตู่ยังอยู่กับ รทสช.ต่อไป
ทั้งหมดเป็นเพราะแกนนำพรรค รทสช.ต้องพยายามสร้างความมั่นใจกับโหวตเตอร์และกองเชียร์พรรคว่า บิ๊กตู่ ยังทำงานการเมืองต่อกับพรรค รทสช. แม้จะเป็นฝ่ายค้านนั่นเอง
กระนั้น ในความเป็นจริงทางการเมือง เสียงยืนยันดังกล่าวก็ใช่จะเป็นหลักประกันได้ตลอดไป เพราะไม่แน่อีกเช่นกัน ที่ในอนาคต บิ๊กตู่อาจคิดเฟดตัวเองออกจากการเมือง ขอแค่เป็นแบ็กอัพสนับสนุนพรรค รทสช.อยู่ข้างหลัง ซึ่งหากสถานการณ์ไปถึงจุดนั้น แกนนำ รทสช.แต่ละคนต้องตัดสินใจกันแล้วว่าจะมูฟออนจาก รทสช.เพื่อไปอยู่กับพรรคอื่น หรือจะอยู่กับพรรค รทสช. ที่ไม่มีพลเอกประยุทธ์ต่อไป
อย่างไรก็ตาม ประเมินไว้ว่าหลังจัดตั้งรัฐบาลเสร็จ โดยที่รวมไทยสร้างชาติ เป็นพรรคฝายค้าน ในระยะแรก พลเอกประยุทธ์ก็น่าจะยังปักหลัก เป็นต้นไม้ใหญ่ให้กับคนในพรรค รทสช.ต่อไป เพื่อเป็นกำลังใจให้คนในพรรค ทำหน้าที่ฝ่ายค้านให้ดีที่สุด ตั้งแต่เวทีแรกคือ "เวทีแถลงนโยบายรัฐบาลต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภา" ไปจนถึงการตรวจสอบรัฐบาลเรื่องอื่นๆ
ที่ก็น่าติดตามไม่น้อยกับบทบาทของพรรค รทสช.ในฐานะฝ่ายค้าน เพราะจุดหนึ่งต้องไม่ลืมว่า พลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ-หัวหน้า คสช. คุมอำนาจรัฐ-กลไกรัฐทุกหน่วยงานมา 9 ปีเต็ม เรียกได้ว่า ทุกหน่วยงานภาครัฐ ยังไงก็ต้องมีข้าราชการ-เจ้าหน้าที่รัฐ ที่เป็นคนของพลเอกประยุทธ์และเครือข่ายพลเอกประยุทธ์อยู่ทุกหน่วย หรือแม้ว่าจะไม่ได้เป็นคนของเครือข่ายพลเอกประยุทธ์ แต่ก็ย่อมจะมีคนที่เชียร์ลุงตู่-ไม่ชอบพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ที่ต้องมีอยู่ในหน่วยงานรัฐแต่ละแห่งไม่มากก็น้อย โดยคนกลุ่มนี้มองได้ว่า ต่างพร้อมจะคอยเป็นหูเป็นตาให้กับพลเอกประยุทธ์ ในการส่งซิกหรือให้ข้อมูลการบริหารงานของรัฐบาลมาให้กับพลเอกประยุทธ์และเครือข่าย เพื่อส่งต่อให้พรรครวมไทยสร้างชาติ โดยเฉพาะหากพบการบริหารงานของรัฐบาลที่ผิดปกติ เพื่อให้พรรค รทสช.นำไปตรวจสอบรัฐบาล โดยเฉพาะการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ
ซึ่งตรงนี้ จะทำให้พลเอกประยุทธ์และรวมไทยสร้างชาติจะได้ข้อมูลที่ลึกและแม่นยำกว่าพรรคฝ่ายค้านอื่นๆ โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับวงการทหาร-ตำรวจ-มหาดไทย ที่เครือข่าย 3 ป.คุมมาตลอด 9 ปีเต็ม
โดยหากพรรค รทสช.ทำหน้าที่ฝ่ายค้านตรวจสอบรัฐบาลได้เป็นอย่างดี ทั้งในห้องประชุมสภาและการตรวจสอบผ่านกลไกนิติบัญญัติอื่นๆ เช่น คณะกรรมาธิการสามัญของสภาชุดต่างๆ รวมถึงบทบาทในสภาด้านอื่นๆ เช่น การเป็นพรรคหัวหอกในการคัดค้านร่างกฎหมายที่พรรคก้าวไกลจะเสนอเข้าสภา เช่น ร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112-ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคดีชุมนุมทางการเมือง
มองไปข้างหน้าทางการเมืองไว้ว่า หาก ส.ส.พรรค รทสช.ทำหน้าที่อภิปราย-ท้วงติง นำเสนออย่างมีหลักการมีเหตุมีผลในที่ประชุมสภา มันก็จะทำให้บทบาทของพรรค รทสช.ในสภาโดดเด่นขึ้นมา จนไม่แน่ อาจจะขึ้นมาเป็นพรรคฝ่ายค้านหลักในปีกพรรคอนุรักษนิยมก็ได้ ยิ่งหากรัฐบาลก้าวไกลหรือรัฐบาลพรรคเพื่อไทยบริหารประเทศไปแล้วมีปัญหาเกิดขึ้นกลางทาง จนกระแสของพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยดร็อปลง มันก็จะทำให้ พรรค รทสช. ก็อาจจะมีโอกาสที่จะได้คะแนนนิยมเพิ่มขึ้น ถ้าทำหน้าที่ฝ่ายค้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เพราะต้องไม่ลืมว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้พรรคก้าวไกลเติบโตได้อย่างรวดเร็วในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ก็เพราะประชาชนพอใจผลงานของ ส.ส.ก้าวไกลในการเป็นฝ่ายค้านในสภาชุดที่แล้ว
ดังนั้น หากแกนนำ รทสช.ตั้งหลักยืนยันว่าจะทำพรรคต่อไป แม้ต่อให้พรรค รทสช.ไม่มีพลเอกประยุทธ์เป็นเสาหลักของพรรคแล้ว สิ่งสำคัญที่พรรค รทสช.ต้องทำให้ได้ก็คือ การเป็นฝ่ายค้านที่มีประสิทธิภาพในการตรวจสอบรัฐบาลก้าวไกลหรือรัฐบาลเพื่อไทย ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ส่วนการเมืองภายในพรรค รทสช. ต่อจากนี้ ประเมินไว้ว่า หลังสถานการณ์การเมืองเข้าสู่โหมดปกติ และเป็นแค่ช่วงเริ่มต้นของสภาชุดใหม่ องคาพยพในพรรค รทสช.คงไม่มีอะไรเคลื่อนไหวมากนัก
กระนั้น คาดไว้ว่า หลังเปิดสภาไปได้สัก 1-2 เดือน เมื่อการเมืองเริ่มนิ่ง คาดว่าคงได้เวลาที่แกนนำพรรค รทสช.อาจต้องมานั่งเปิดใจ คุยกันอย่างจริงจังแล้วว่า จะนำพาพรรค รทสช.ต่อไปอย่างไร จะต้องมีการปรับทัพ-เขย่ากันภายในพรรคอย่างจริงจังสักรอบหรือไม่ เพราะจากผลเลือกตั้งที่ออกมา ที่พรรคได้ ส.ส.ต่ำกว่าเป้าหมายพอสมควร ทั้งที่พรรค รทสช.เป็นพรรคฝ่ายรัฐบาล ปฏิเสธไม่ได้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้น มีผลต่อคนในพรรคพอสมควร ยามเมื่อการเลือกตั้งรอบหน้ามาถึง โดยโจทย์สำคัญที่แกนนำพรรค-ส.ส.ของพรรค ต้องคุยกันให้ตกผลึกก็คือ การขับเคลื่อนของพรรค หลังจากนี้จะเดินต่อไปอย่างไร โดยเฉพาะใน SCENARIO ถ้าพรรค รทสช.ไม่มีพลเอกประยุทธ์ แล้วพรรคจะทำอย่างไร
จริงอยู่ว่า ช่วงนี้เร็วเกินไปที่คนในพรรค รทสช.จะคุยเรื่องนี้ แต่ก็เชื่อว่าในใจลึกๆ ของคนในพรรครทสช. ยังไงก็ต้องคิดถึงเรื่องนี้ ตั้งแต่ตอนนี้แล้ว เพียงแต่ว่าแต่ละคนเลือกที่จะไม่พูดออกมาทางสาธารณชนเท่านั้นเอง.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'รัฐบาลพ่อเลี้ยง' ฉายารัฐบาลปี67 นายกฯ'แพทองโพย' อนุทิน'ภูมิใจขวาง' วาทะแห่งปี'สามีเป็นคนใต้'
สื่อทำเนียบฯ ตั้งฉายาปี 67 'รัฐบาล(พ่อ)เลี้ยง' ส่วนฉายานายกฯ 'แพทองโพย' 7 รมต.ติดโผ 'บิ๊กอ้วน-อนุทิน-ทวี' พ่วง 3 รมต.โลกลืม
47 เก้าอี้นายกฯอบจ. บ้านใหญ่ ลุ้นเข้าวิน-กินเรียบ!
คิกออฟ นับหนึ่งตั้งแต่จันทร์ที่ 23 ธ.ค.ที่เป็นวันแรกของการรับสมัครบุคคลที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งนายกฯ อบจ. 47 จังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงที่ลงสมัครเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั่วประเทศ 76 จังหวัด
‘แม้ว’ ไล่ทุบ- ‘ภูมิใจไทย’ ไม่หมู ‘แดง-น้ำเงิน’ ทนอยู่แบบตบจูบ
นาทีนี้ศึกฝ่ายค้าน-รัฐบาลยังไม่เดือดเท่ากับศึกรัฐบาลด้วยกันเอง แรงขึ้นเรื่อยๆ สำหรับการขบเหลี่ยมของพรรคอันดับ 1 และพรรคอันดับ 2
ขวากหนามแก้รัฐธรรมนูญ คนกันเอง...เล่นเกมต่อรอง
เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่เห็นชอบกับ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ฉบับคณะ กมธ.ร่วมกันพิจารณาเสร็จแล้ว
'เอกนัฏ' มั่นใจไม่กระทบเอกภาพรัฐบาล ปมโหวตต่างกฎหมายประชามติ
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ(รทสช.) ให้สัมภาษณ์กรณีพรรคร่วมรัฐบาลโหวตแตกต่างร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติว่า สส.พรรครทสช.
โฆษก รทสช. แจงเหตุ 25 สส. ล่องหนโหวตร่างพรบ.ประชามติ
นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี ในฐานะโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวถึงกรณีข่าวว่าสส.ของพรรครวมไทยสร้างชาติ จำนวน 25 คน ไม่ได้ลงมติในร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ว่า จากการประชุมพรรคเมื่อวันที่ 17 ธ.ค.ที่ผ่าน ท