การลงนามเอ็มโอยูของ 8 พรรคร่วมรัฐบาล นำโดยพรรคก้าวไกล เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้สร้างความขุ่นเคืองให้แก่บรรดาด้อมส้ม และผู้นำทางจิตวิญญาณคือ นายปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้ช่วยหาเสียงพรรคก้าวไกล
โดยเฉพาะสองประเด็นใหญ่คือ การยอมรับข้อเสนอพรรคร่วมรัฐบาลให้บรรจุข้อความเหมือนมาตรา 6 ในรัฐธรรมนูญ...ผู้ใดจะละเมิดพระมหากษัตริย์มิได้ และตัดเรื่องผลักดันการนิรโทษกรรมที่เกี่ยวกับการแสดงออกทางการเมือง เท่ากับเป็นการรัดคอพรรคก้าวไกล ที่อาจจะไม่สามารถผลักดันการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในสภาได้
ในสายตาของนายปิยบุตรมองว่า การยอมถอยของพรรคก้าวไกลถือว่าพลาด และหากไม่อยากพลาดซ้ำสอง สิ่งที่จะยอมไม่ได้ก็คือ ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร เพราะมิเช่นนั้นฝันที่จะได้เห็น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี หรือพรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาล ผลักดันภารกิจส่วนตัวและส่วนรวมอาจแท้งก่อนคลอดก็เป็นได้
ท่ามกลางกระแสข่าวปั่นหนักว่า พรรคเพื่อไทยอาจแทงหลัง เพื่อพลิกสถานการณ์ให้ตัวเป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาลใช่หรือไม่
จึงเป็นเหตุให้นายปิยบุตร และด้อมส้ม ออกมากดดัน ปลุกเร้าพรรคสีส้ม อย่ายอมยกเก้าอี้ประธานสภาฯ ให้พรรคพรรคเพื่อไทยอย่างเด็ดขาด
เพราะมีความสำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจที่สำคัญที่ไม่ได้ถูกบรรจุในเอ็มโอยู แต่ทำในนามพรรคการเมือง เพื่อตอบโจทย์บรรดาด้อมส้ม คือนิรโทษกรรมคดีความผิดเกี่ยวกับการแสดงออกทางการเมือง และการแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112
สอดรับกับแกนนำของพรรคสีส้ม โดย น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ออกมาประกาศย้ำว่า ประธานสภาฯ ต้องเป็นของพรรคก้าวไกล ตามประเพณีที่พรรคครองเสียงอันดับหนึ่งในสภา
พรรคก้าวไกลยังออกแถลงการณ์ถึงความจำเป็นที่จะต้องได้ตำแหน่งประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ โดยอ้าง 3 วาระสำคัญของตัวเองเป็นการเฉพาะ คือ ข้อ 1 ผลักดันกฎหมายที่ก้าวหน้า จำนวน 45 ฉบับ ข้อ 2 ผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยเดินหน้าอย่างราบรื่น และ 3.ผลักดันหลักการรัฐสภาโปร่งใส และประชาชนมีส่วนร่วมให้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย
แต่ก็ถูกโต้จากคนในพรรคเพื่อไทย ผ่านนักการเมืองตัวตึงอย่าง นายอดิศร เพียงเกษ ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย หากตกลงกันไม่ได้ก็ขอให้ฟรีโหวตในสภา
พร้อมคำขู่ว่า "ถ้าพรรคก้าวไกลยังดื้อดัน สมมุติว่าพรรคเพื่อไทยไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาล พรรคก้าวไกลก็เดินไปไม่ได้อยู่ดี ผมไม่อยากให้เกิดภาพนี้ขึ้น” นายอดิศรกล่าว
เช่นเดียวกับนายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ออกมาระบุว่า เพื่อไทยสนับสนุนนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี จุดยืนนี้ไม่เปลี่ยน
ส่วนเรื่องประธานสภาฯ เป็นคนละกรณีกัน ซึ่งไม่มีในเอ็มโอยูด้วย พร้อมชงชื่อ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ขึ้นมาเป็นประธานสภาฯ
"หัวหน้าพรรคหนึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคหนึ่งเป็นประธานสภาฯ ก็ไม่เลวนะ ผมว่า" เลขาธิการพรรคเพื่อไทยกล่าว
นอกจากนี้ พรรคเพื่อไทยยังออกแถลงการณ์สอนมวยพรรคก้าวไกลว่า ประธานสภาฯ ควรเปิดทางผลักดันทุกนโยบายของพรรคร่วมรัฐบาลให้สำเร็จ สอดรับกับตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 116 และ 119 ที่ประธานสภาฯ ต้องวางตัวเป็นกลาง ไม่ใช่ผลักดันวาระของพรรคใดพรรคหนึ่งเท่านั้น หรือใช้มวลชนกดดัน
สำหรับความจำเป็นที่ทั้งสองพรรคอันดับหนึ่งและอันดับสอง ต้องการครอบครองตำแหน่งดังกล่าวไว้กับตัวเอง ประการแรกคือ ไม่ไว้ใจซึ่งกันและกัน
โดยเฉพาะในส่วนของพรรคก้าวไกล มองว่าตำแหน่งประธานสภาฯ สามารถควบคุมทิศทางและกำหนดกลไกต่างๆ ควบคุมการประชุมเพื่อให้ "พิธา" ได้เป็นนายกฯ สำเร็จ ไม่ต้องระแวงว่าจะถูกวางยา แทงหลัง หากเสียงโหวตสนับสนุนยังไม่ถึง 376 เสียง จากทั้งหมด 700 เสียง จากเวทีรัฐสภา ไปสู่การเปลี่ยนเกมได้ง่ายๆ เพื่อป้องกันพรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายเสนอแคนดิเดตของตัวเองขึ้นมาและจัดตั้งรัฐบาลแทน หากการแต่งตั้งนายกฯ ทำท่าจะไม่สำเร็จโดยเร็ว
อีกทั้งยังมีบทเรียนสำคัญคือ ผลักดันการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หากประธานสภาฯ เป็นคนนอกพรรค อาจจะไม่ยอมผลักดันและวินิจฉัยแบบประธานสภาฯ คนเดิมหรือไม่
กรณีนายชวน หลีกภัย ที่เคยปัดตกร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่พรรคก้าวไกลเคยเสนอเมื่อปี 2564 โดยไม่มีโอกาสได้ถูกบรรจุในวาระ หรืออภิปรายในสภา เพราะเห็นว่า ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 6 ที่ระบุว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้
พร้อมเหตุผลสนับสนุนจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 28-28/2555 และคำวินิจฉัยที่ 19/2564 ซึ่งสามารถตีความได้ว่า ไม่สามารถใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้
ดังนั้นหากยึดร่างเดิมของพรรคก้าวไกลที่เคยเสนอในปี 2564 คือ “ย้ายหมวด-ลดบทลงโทษคนธรรมดา-ยอมความได้-เพิ่มเหตุยกเว้นความผิดหากวิจารณ์โดยสุจริต และเป็นความจริง-ให้สำนักพระราชวังฟ้องแทน” เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรชุด 2566 อีกครั้ง หากไม่ต้องการเสี่ยงถูกทำแท้งอีกครั้ง จึงเป็นคำตอบว่าทำไมประธานสภาฯ คนที่ 26 จึงต้องเป็นของพรรคก้าวไกล
แตกต่างจากพรรคเพื่อไทย ทำไมต้องการตำแหน่งนี้ หากมองเพียงมิติเดียวก็คือเรื่องโควตาที่ตัวเองควรจะได้รับ เพราะมีเสียงน้อยกว่าไม่มาก รวมทั้งยังถือไพ่และโอกาสหากจะพลิกเกมให้ตัวเองขึ้นเป็นนายกฯ และจัดตั้งรัฐบาลแทนในกรณีที่เสียงสนับสนุน "พิธา" เป็นนายกฯ ไปไม่ถึง 376 เสียงเสียที หรือเกิดอุบัติเหตุเรื่องหุ้นสื่อ itv โดยไม่มีแคนดิเดตนายกฯ สืบทอดอำนาจต่อ
แต่เงื่อนไขสำคัญที่สุดคือการประกาศกลับบ้านของ ทักษิณ ชินวัตร จึงจำเป็นต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้มีอำนาจไว้เนื้อเชื่อใจ และได้เห็นว่าสามารถขัดขวางพรรคก้าวไกลไม่ให้เสนอกฎหมายนำไปสู่การแก้ไขหรือยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ได้
รวมทั้งการนิรโทษกรรมความผิดเกี่ยวกับการแสดงออกทางการเมือง ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ต้องหาคดีหมิ่นสถาบันทั้งสิ้น ซึ่งตำแหน่งประธานสภาฯ ถือว่ามีบทบาทสำคัญเพื่อกำหนดเกม ตัดตอนกฎหมายและวาระร้อนๆ ต่างๆ เหล่านี้ได้ทั้งสิ้น
ฉะนั้นการเลือกประธานสภาฯ จึงมีความสำคัญไม่แพ้ตำแหน่งนายกฯ หากพรรคก้าวไกลพลาดในตำแหน่งนี้ ก็อาจจะแพ้ทั้งกระดานการเมือง และเอ็มโอยูที่ประกาศกันไปอาจถูกฉีกโดยอัตโนมัติ สู่การพลิกไปที่สูตรการจัดตั้งรัฐบาลในรูปแบบอื่นๆ หรืออย่างที่ลือกันที่เมืองฮ่องกงใช่หรือไม่ คือพรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ที่รวมกันใช้เสียงเกิน 250 เสียงก็พอ และเชื่อว่าจะมีวุฒิสภา (สายบิ๊กป้อม) เข้ามาสนับสนุน โดยมีเสียงเกิน 376 เสียง
สอดรับกับการส่งสัญญาณที่สะท้อนออกมาจาก "นายใหญ่" หลังรีทวีตข้อความของนายดวงฤทธิ์ บุนนาค แกนนำกลุ่มแคร์ คิด เคลื่อน ไทย ว่า "ต้องทนให้เพื่อนถีบหน้าทุกวันจริงหรือ คอยแทงข้างหลัง แต่ก็ต้องช่วยมัน" #ความอดทนบางทีแม่งก็มีขีดจำกัด.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“กาสิโน”เผือกร้อน“กฤษฎีกา” สมดุลการเมือง-ผลกระทบสังคม
จับตาร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. .... หรือร่างกฎหมายกาสิโนในมือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หลัง ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอร่างกฎหมาย ว่าจะตรงปกและเป็นไปตามความต้องการของฝ่ายการเมืองหรือไม่ และอีกหนึ่งมติคือ ข้อห่วงใยผลกระทบทางสังคมและปัญหาอบายมุขตามมา
หวั่นเวชระเบียน'ทักษิณ'จุดชนวน รพ.ตำรวจอึมครึม คปท.ยกระดับ!
ขีดเส้น 15 ม.ค.นี้ คณะอนุกรรมการสอบสวนเฉพาะกิจ แพทยสภา ได้ส่งหนังสือถึง พล.ต.ท.นพ.นพศิลป์ เวชวิทารณ์ นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ จัดส่งเอกสารทำคำชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร เวชระเบียนการรักษาของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่เข้ารักษาตัวที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ กระทั่งออกจาก รพ.ตำรวจ โดยมี นพ.อมร ลีลารัศมี อดีตกรรมการแพทยสภา เป็นประธานอนุกรรมการสอบ
'นายกฯอิ๊งค์' ขอเคลียร์ปม 'พ.ร.บ.กาสิโน' หลังถก ครม.
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยก่อนการประชุมผู้สื่อข่าวสอบถามว่าจะมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติสถานบันเทิงครบวงจร หรือเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์
ข้องใจ! เงินให้กู้ยืมคู่สมรส ร้อง ป.ป.ช. สอบ 'นายกฯอิ๊งค์'
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร กรณีเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
ลุยเปิดกาสิโนส่อสะดุด กฤษฎีกาโดดขวางเต็มสูบ
แนวคิดการทำให้ พนันออนไลน์ ขึ้นมาอยู่บนดิน ตามที่ทักษิณ ชินวัตร ผู้นำรัฐบาลเพื่อไทยตัวจริงส่งสัญญาณมา หลายคนยังมองโมเดลนี้ไม่ออกว่าจะทำได้อย่างไร เพราะน่าจะติดล็อกข้อกฎหมายหลายอย่าง รวมถึงต้องเจอแรงต้านในส่วนของภาคประชาสังคม
ชีพจรลงเท้า นายกฯ ลุยบึงบอระเพ็ด เร่งแก้น้ำแล้ง น้ำท่วมพรุ่งนี้
นายกฯเร่งแก้น้ำแล้ง น้ำท่วม บ่ายพรุ่งนี้ลงพื้นที่บึงบอระเพ็ด