เอื้อมไม่ถึง “เอฟ35” ลุ้นเครื่องบินรบในมือ “ก้าวไกล”?

กองทัพอากาศออกมาชี้แจงกรณีที่ นายโรเบิร์ต เอฟ. โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย หารือกับ พล.อ.อ.อลงกรณ์ วัณณรถ ผู้บัญชาการทหารอากาศของไทย ในโครงการเครื่องบินขับไล่โจมตีแบบ F-35A ที่กองทัพอากาศได้ส่งหนังสือ Letter of Request for P&A (Price and Availability) ให้กับ JUSMAGTHAI เพื่อดำเนินการตามกระบวนการจัดหาโดยวิธี Foreign Military Sales (FMS) จากรัฐบาลสหรัฐ

สรุปคือ “สหรัฐ” ยังไม่ขายเครื่องบิน “รุ่นเทพ” นี้ให้ไทยในระยะเวลาอันใกล้ด้วยเหตุผล 5 ประการ 1.เงื่อนไขภายใต้ข้อจำกัดด้านเวลาหลายประการ 2.แผนการผลิตและคำสั่งซื้อ จะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 10 ปี จึงจะสามารถนำส่งให้กับผู้ซื้อรายใหม่ 3.เครื่องถูกออกแบบด้วยแนวความคิดใหม่ด้านเทคนิคและด้านปฏิบัติการ มีคุณลักษณะพิเศษในการซ่อนพรางจากการตรวจจับด้วยสัญญาณเรดาร์ (Stealth) จึงต้องวางแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ระบบการฝึก และระบบรักษาความปลอดภัยตามเงื่อนไขของสหรัฐ

4.การเตรียมการเพื่อปรับเปลี่ยนระบบส่งกำลังบำรุง ระบบคลังพัสดุ และระบบบริหารจัดการแตกต่างจาก F-16 และไม่สามารถใช้ร่วมกับระบบของยุทโธปกรณ์อื่น 5.ช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ ทอ.ควรพิจารณาเครื่องบินขับไล่โจมตียุคที่ 4.5 เช่น F-16 หรือ F-15 ซึ่งจะใช้เวลาในการจัดหาได้เร็วกว่า

โครงการดังกล่าวริเริ่มจากแนวคิดของ พล.อ.อ.นภาเดช ธูปเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศคนก่อน โดยเชื่อว่าเป็นเครื่องบินในเจนเนอเรชั่นที่ 5 ที่ ทอ. “เอื้อมถึง” เนื่องจาก สถานการณ์ขณะนั้นมีการลดราคาลง อีกทั้งเป็นจังหวะที่มีล็อตการผลิตอยู่พอดี ทำให้ ทอ.อาจจะเจรจาพ่วงไปด้วย  หรือมีข่าวในทำนองว่ามีบางประเทศยกเลิกคำสั่งซื้อ ไทยก็จะได้สิทธิ์ซื้อแทน แต่ในโครงการการจัดหาเครื่องบินรบนั้น “ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด” เพราะต้องมีขั้นตอนต่างๆ มากมาย 

  ที่สำคัญคือ ฝั่งของไทยเองนั้นติดปัญหาเรื่องขั้นตอนด้านงบประมาณ อีกทั้งความพร้อมด้านต่างๆ ที่จะรองรับการเข้าประจำการของเครื่องบินเจนเนอเรชั่นนี้ สำคัญคือกระแสสังคมเริ่มต่อต้านการซื้ออาวุธ เนื่องจากสภาพปัญหาเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ประชาชนยากลำบากในการใช้ชีวิต ส่งผลให้แผนของ ทอ.ไม่ลื่นไหลตามที่ตั้งใจไว้นัก แค่ตั้งงบฯ หัวเชื้อ 369 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2566 ยังถูกคณะกรรมาธิการฯ งบประมาณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนของพรรคก้าวไกลซักฟอกอย่างหนัก ทำให้ต้องผนวกเรื่องการคืนงบฯ ถ้าสภาคองเกรสสหรัฐไม่อนุมัติ 

จากไทม์ไลน์เดิมจะต้องมีความชัดเจนในช่วงต้นปีที่ผ่านมา แต่ยังไม่มีคำตอบจากสหรัฐ จนกระทั่ง ทอ.ได้ทำหนังสือเพื่อสอบถามความคืบหน้าเป็นระยะๆ เพื่อจะได้เห็นทิศทางที่ชัดเจน แล้วไปกำหนดแผนในการจัดทำงบประมาณปี 2567 นั่นจึงเป็นเหตุให้ทูตสหรัฐได้ใช้โอกาสนี้ชี้แจงถึงเหตุผลที่ยังไม่สามารถขายให้ไทยได้ เพื่อให้ไทยเดินหน้าในการทำแผนสำรองต่อไป พร้อมยืนยันในความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐที่มีมาอย่างยาวนาน

และจากรายละเอียด “สมุดปกขาว” พ.ศ.2563 หรือ RTAF White Paper 2020 ระบุไว้ว่า ในปี 2566 ปีงบประมาณ 66 โครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตี (ระยะที่ 1) ทดแทน F-16 จำนวน 1 ฝูงบิน และปีงบประมาณ 68 โครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตี (ระยะที่ 2) แต่สถานการณ์โรคอุบัติใหม่ อีกทั้งความต้องการเทคโนโลยีก้าวกระโดดตามแนวคิดของผู้บัญชาการทหารอากาศคนก่อนทำให้ไม่เป็นไปตามเป้า

แต่ในปีงบประมาณ 2567 ทอ.ก็ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อซื้อเครื่องบินขับไล่โจมตีทดแทน F-16 ฝูงบิน 103 ไว้อยู่ดี โดยต้องเริ่มปัดฝุ่นเครื่องบินรุ่นที่เหมาะสมกับภัยคุกคาม สถานะด้านงบประมาณที่มี 

หากดูตัวเลือกของสหรัฐที่เสนอให้ไทย ยังเสนอเครื่องบินในเจนเนอเรชั่นที่ 4.5 คือ F-15 กับ F-16 ผลิตโดย 2 บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างโบอิ้ง กับล็อคฮีด มาร์ติน แต่ระบบที่ ทอ.ไทยคุ้นเคยยังเป็นเครื่องบิน F-16 ซึ่งหากจะจัดหาก็น่าจะเป็นบล็อก 70 ซึ่งมีการปรับปรุงเครื่องยนต์ใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่ารุ่นก่อนหน้านี้ รวมไปถึงตัวเลือกอื่นๆ ที่สูสีอย่าง Gripen E ซึ่งบริษัท SAAB ประเทศสวีเดนก็เคยเสนอให้ ทอ.พิจารณาก่อนหน้านี้ และยังเป็นตัวเลือกที่ดีในช่วงที่การเผชิญหน้าของมหาอำนาจยังคุกรุ่น

แต่นั่น ทอ.ต้องปรับแผนในการจัดหาเครื่องบินให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน อีกทั้งมีการตั้งคณะกรรมการคัดเลือกแบบ ที่คาดว่าเป็น 1 ใน 5 เสือ ทอ.เพื่อเดินหน้าพิจารณาเลือกแบบต่อไป ควบคู่ไปกับการที่งบประมาณจะถูกส่งผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา

ส่วนงบฯ ที่ตั้งไว้ในปี 2566 กรอบวงเงิน 369 ล้านบาท โดยมีเงื่อนไขห้ามมิให้มีการเปลี่ยนแปลงงบประมาณ และถ้าสภาคองเกรสไม่อนุมัติขายให้ จะคืนงบประมาณตามที่ได้ตกลงกันไว้ หรือมีการเจรจาต่อรองเพื่อเปลี่ยนแปลงงบประมาณในการจัดหาอากาศยานแบบอื่นที่ใช้ในภารกิจช่วยเหลือประชาชน คงต้องรอดูต่อไป

นอกจากนั้นยังต้องดูปัจจัยทางด้านการเมือง ว่าการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกลจะไปได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่ แล้วใครจะมานั่งเป็น รมว.กลาโหม หากในที่สุดพรรคก้าวไกลเข้ามาเป็นรัฐบาล จะบริหารจัดการ “งบฯ ทหาร” อย่างไรให้เป็นไปตามที่ประกาศไว้

แน่นอนว่า การจัดหา “เครื่องบินรบ-เรือรบ” วงเงินงบประมาณสูง ยังไม่จำเป็นในขณะนี้ เพราะภัยคุกคามขนาดใหญ่ยังไม่ได้ประชิด แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องดุลอำนาจและการเปรียบเทียบกำลังรบ มีผลต่อศักยภาพการต่อรองในเรื่องอื่นๆ ของประเทศ เมื่อใครที่มาเป็นรัฐบาลก็จะได้รับฟังชุดความคิด ความจำเป็นจากฝ่ายประจำ

แต่นั่นไม่ใช่เป้าหมายแรกของพรรคก้าวไกล ในการปฏิรูปกองทัพ และการจัดระเบียบงบประมาณทั้งหมด เพราะเกินกว่าครึ่งหนึ่งของงบกองทัพ นั่นก็คือ งบฯ ประจำ ในหมวดเงินเดือน ค่าตอบแทน อันเกิดจากจำนวนกำลังพล และนายพลที่ล้นเกิน ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง รวมถึงเป้าหมายในการยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร การดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของกำลังพลชั้นผู้น้อยให้ดีขึ้น

สิ่งที่ไม่ง่ายสำหรับ ก้าวไกล คือ การเปลี่ยนสถานะจากการนั่งวิจารณ์ กำหนดนโยบายหาเสียง มาเป็นฝ่ายบริหารและปฏิบัติเอง ข้อมูลจากเอกสารวิชาการ การค้นคว้า วิจัย สื่อที่เชี่ยวชาญด้านกองทัพเท่านั้นคงยังไม่เพียงพอ แต่การจะไปจับเข่าคุยกับกองทัพในขณะนี้ก็ยังไม่ถึงเวลา เพราะยังไม่แน่ว่าจะได้เป็นรัฐบาลหรือไม่

แต่ก็มีรายงานว่า ได้มีการเตรียมพร้อมในการหา “คลังสมอง” ด้านการทหารมาเป็นที่ปรึกษาไว้บ้างแล้ว อย่างน้อยถ้ามีโอกาสต้องเข้าไปพูดคุย ทำงานกับผู้นำเหล่าทัพก็จะมีข้อมูลมากพอ สามารถถกเถียงโต้แย้งได้

รวมไปถึงผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ ที่ต้องอาศัยความรู้เฉพาะด้าน พ่วงด้วยการวิเคราะห์ในแง่มุมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เกมมหาอำนาจ เข้ามาพิจารณาร่วมกันด้วย

ส่วนในที่สุดจะมีส่วนกำหนดทิศทางกองทัพ กำหนดกรอบ จัดหาเครื่องบินรบ เรือดำน้ำ เรือรบ อย่างที่ตั้งใจไว้หรือไม่ คงต้องรอให้ผ่านด่านตั้งรัฐบาลให้ได้เรียบร้อยก่อน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชนักติดหลัง-หอกดาบ ที่ค้างอยู่ของ"ทักษิณ"

แน่นอนว่า ทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย ย่อมต้องถอนหายใจโล่งอก ที่ไม่ต้องตกอยู่ในสถานะ ผู้ถูกร้อง ที่ศาลรัฐธรรมนูญ หลังศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง-ไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัยในคดีที่ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือ "คดีล้มล้างการปกครอง" ที่ศาล รธน.มีมติยกคำร้องไปเมื่อ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา

'ชินวัตร' ตีปีกดันรัฐบาลครบเทอม วิบากกรรมไล่ล่า 'ชั้น14' หลอกหลอน

ดูจากมติเอกฉันท์ของศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49

แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?

ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่

'เอ็ดดี้ อัษฎางค์' มีคำตอบให้! 'พิธา' ไม่เข้าใจทำไมกลายเป็นศัตรูเพื่อไทย

เอ็ดดี้-อัษฎางค์ ยมนาค อินฟลูเอ็นเซอร์การเมือง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ไม่เข้าใจทำไมกลายเป็นศัตรูกับเพื่อไทย อัษฎางค์ ยมนาค มีคำตอบให้

ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด

นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย

จับตาคลอดโผแต่งตั้ง“นายพลใหญ่” ตำรวจคนสนิทฝั่งรัฐบาลพรึบยกแผง

จับตาบ่ายวันนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายล็อตแรก “นายพลใหญ่” ระดับรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ-ผบช. ที่นายกฯ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2567 เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อ “พล.ต.อ.-พล.ต.ท.” วาระประจำปี 2567