ก่อนประเทศจะได้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ก่อนจะลุ้นว่า “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล จะก้าวสู่ยอดถือธงนำประเทศ ช็อตแรกที่ต้องลุ้นระทึกก่อนคือ ตำแหน่ง “ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานรัฐสภา” ว่าจะตกเป็นของพรรคใดในฝ่ายรัฐบาล
ตามธรรมเนียมปฏิบัติ พรรคอันดับ 1 ต้องได้เก้าอี้นั้นไป พูดง่ายๆ ต้องเป็นของ “ก้าวไกล” เหมือนที่ “ปิยบุตร แสงกนกกุล” เลขาธิการคณะก้าวหน้า ว่าไว้ถูกต้องแล้ว แต่ในทางปฏิบัติไม่เสมอไปที่พรรคอันดับ 1 จะคว้าตำแหน่งดังกล่าวไปครอง
ข้อตกลงร่วมกันเอ็มโอยูกับพรรคร่วมรัฐบาล หลายเรื่องพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลถอยไม่รู้จะถอยอย่างไรแล้ว โดยเฉพาะกับการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ไม่อยู่ในเอ็มโอยู เพื่อให้พรรคร่วมรัฐบาลสบายใจ คลายกังวล แต่ก็เรียกว่าก้าวไกลสูญเสียความเป็นตัวตนไปแล้วหนึ่งข้อ ซึ่งไม่ทราบว่าสร้างความผิดหวังให้กับผู้สนับสนุนมากน้อยเพียงใด
ในมุมมองของ “ปิยบุตร” ระบุว่า เข้าใจดีว่าในรัฐบาลผสมที่ก้าวไกลขาดพรรคเพื่อไทยไม่ได้นั้น การเจรจาต่อรองเป็นเรื่องปกติ
แต่เกิดคำถามว่า พรรคก้าวไกลจะต้องถอยจนถึงเมื่อไร ต้องยินยอมถึงขนาดไหน เพื่อให้ทุกพรรคพอใจและตั้งรัฐบาลได้? และไปต่อได้? อย่างไรก็ตาม “ปิยบุตร” สรุปเอาไว้ว่า ทีเด็ดทีขาดตำแหน่ง “ประธานสภาฯ และประธานรัฐสภา” ต้องเป็นของก้าวไกลเท่านั้น เพราะพรรคยอมเรื่องอื่นมามากแล้ว
คำถามจึงอยู่ที่ว่า ทำไมจะต้องทุบโต๊ะเอาเก้าอี้ “ประธานสภาฯ” ให้ได้
ปิยบุตรยิงชัดแบบไม่อ้อมค้อมว่า นอกจากนโยบายของพรรคก้าวไกลที่ใช้รณรงค์หาเสียงจนได้คะแนนมากกว่า 14 ล้านเสียง หลายเรื่องต้องผลักดันผ่านสภา ต้องตราเป็นพระราชบัญญัติ จึงจำเป็นต้องมี ส.ส.ของพรรคตนเองทำหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อคุมวาระและญัตติ โดยเฉพาะกรณีการนิรโทษกรรมในคดีความผิดเกี่ยวกับการแสดงออกทางการเมือง และการแก้ไข ป.อาญา มาตรา 112 ที่ไม่ได้อยู่ในข้อตกลงร่วมกัน ซึ่ง ส.ส.ของพรรคจะต้องใช้กลไกสภาขับเคลื่อนเอง หากไม่ได้ตำแหน่งประธานสภาฯ มา ก็อาจประสบปัญหาอุปสรรคได้
แปลกันตามตัวอักษร “ประธานสภาฯ” สำคัญมากกับก้าวไกล เพราะจะได้เดินหน้าแก้ไขมาตรา 112 ได้ เพราะอำนาจในการบรรจุเป็นระเบียบวาระการประชุมสภาฯ นั้น คือ ประธานสภาฯ!!! และแม้ได้เก้าอี้มาไว้ให้อุ่นใจแล้ว การแก้ไขเรื่องนี้ก็ยังหินอยู่ดี
สืบเนื่องเมื่อวันที่ 23 พ.ค. “ราเมศ รัตนเชวง” อดีตเลขานุการประธานรัฐสภา (ชวน หลีกภัย) สมัยที่ผ่านมา แถลงถึงประเด็นดังกล่าวว่า ความจริง “พรรคก้าวไกล” นำโดยพิธา พร้อมคณะร่วมลงชื่อ ขอแก้ไข โดย “ยกเลิก” มาตรา 112 มาแล้ว
นอกจากนี้ “ราเมศ” ยังลำดับเวลาว่า สภาฯ ชุดก่อน หลังจากก้าวไกลเสนอแล้วครั้งหนึ่ง ยังมีความพยายามเสนอเข้ามาอีกในวันที่ 25 มี.ค.2564 และวันที่ 7 เม.ย.2564 เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบพบว่าไม่ปรากฏข้อความประสงค์ชัดว่าเสนอฉบับใด จึงแจ้งไปยังนายพิธาอีกครั้ง
ต่อมาวันที่ 21 เม.ย.2564 นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาฯ ได้แจ้งให้นายพิธาทราบเพื่อให้แก้ไขข้อบกพร่อง และวันที่ 23 เม.ย.2564 เจ้าหน้าที่ได้แจ้งนายพิธาว่าร่างนี้อาจขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
แต่นายพิธาก็ยังยืนยันเสนอเข้ามาอีก จนวันที่ 22 ธ.ค.2564 รองเลขาธิการสภาฯ แจ้งไปยังนายพิธาว่า กรณีการกำหนดความผิดลักษณะที่ยอมความได้ อาจไม่สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 28-29/ 2555 และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 19/2564 ที่ว่ามาตรา 112 ไม่ลักษณะที่ขัดหรือแย้ง และไม่มีลักษณะที่เลือกปฏิบัติต่อประชาชน
ความหวังในการเมืองคือ ศิลปะของการทำสิ่งที่คนเชื่อว่าเป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ ตามที่เลขาธิการคณะก้าวหน้ากล่าวไว้ หวังที่จะให้ “ประธานสภาฯ” ที่จะมาจากพรรคก้าวไกล บรรจุระเบียบวาระยกเลิกมาตรา 112 เพื่อให้เข้าสู่การพิจารณาของ ส.ส.คงเป็นไปได้ยากมาก และแม้ได้เข้าสู่ที่ประชุมจริงๆ คงมีหวังใครสักคนฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ อย่างไร แน่นอน เพราะประเด็นนี้ประธานชวนเคยวินิจฉัยไว้แล้ว อีกทั้งก็มีความเห็นจากฝ่ายกฎหมายของสภา ที่สำคัญมีคำวินิจฉัยของศาลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้แล้ว
ฉะนั้น คนที่จะขึ้นมาเป็น “ประธานสภาฯ” คนที่ 26 ต่อจากนี้ คิดให้ดี เพราะ “เผือกร้อน” กำลังรอท่านอยู่.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ลุยเปิดกาสิโนส่อสะดุด กฤษฎีกาโดดขวางเต็มสูบ
แนวคิดการทำให้ พนันออนไลน์ ขึ้นมาอยู่บนดิน ตามที่ทักษิณ ชินวัตร ผู้นำรัฐบาลเพื่อไทยตัวจริงส่งสัญญาณมา หลายคนยังมองโมเดลนี้ไม่ออกว่าจะทำได้อย่างไร เพราะน่าจะติดล็อกข้อกฎหมายหลายอย่าง รวมถึงต้องเจอแรงต้านในส่วนของภาคประชาสังคม
1ประเทศ2นายกฯ ระวังจบซ้ำรอยเดิม?
มีหลายส่วนในสังคม คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกอึดอัดกับท่าทีของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่พ้นโทษออกมาโดยไม่ติดคุกแม้แต่วันเดียว แต่ทำตัวเปรียบเหมือนเป็นเจ้าของรัฐบาล
'พิธา' ให้สัมภาษณ์งานแต่งข้ามขั้ว ครม.ครอบครัวสำคัญที่สุดในชีวิต
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล เดินทางเข้าร่วมงานพิธีสมรสระหว่างนายธนาธร โล่ห์สุนทร สส.ลำปางพรรคเพื่อไทย และนางสาวรภัสสรณ์ นิยะโมสถ สส.ลำปาง พรรคประชาชน
ชื่นมื่น! 'ทักษิณ-พิธา' ร่วมงานแต่ง สส.ลำปาง เพื่อไทย-ประชาชน
นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เดินทางมาร่วมพิธีฉลองมงคลสมรสระหว่างนายธนาธร โล่ห์สุนทร
เหลี่ยม"ทักษิณ"หาเสียงนายกอบจ. ก้ำกึ่ง สุ่มเสี่ยง ผิดกฎหมายเลือกตั้ง
การปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.ของ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯ กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง ทั้งสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายเลือกตั้ง และพาดพิงคู่ปรับทางการเมืองอย่างดุเดือด
'คุมขังนอกเรือนจำ'ความหวังใหม่ ระบบยุติธรรมหรือประตูสู่ความลำเอียง
ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในระบบยุติธรรม โดยในปี 2568 กรมราชทัณฑ์จะเริ่มใช้ ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ ซึ่งเป็นนโยบายใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อลดความแออัดในเรือนจำ