‘พปชร.’ นิ่งในที่ตั้ง สัญญาณเกมยังไม่จบ

ก่อนพรรคก้าวไกลจะเซ็น เอ็มโอยู กับอีก 7 พรรคที่จะร่วมกันตั้งรัฐบาลไม่กี่ชั่วโมง กลับปรากฏข่าวลือเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของพรรคพลังประชารัฐ

ข่าวลือดังกล่าวเกี่ยวกับตัว บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค ในทำนองว่าจะวางมือทางการเมือง โดยเริ่มจากการสละสิทธิ์ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1 และเก้าอี้หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

และก่อนการประชุมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี จะมีการสลายพรรคพลังประชารัฐเพื่อเปิดทางให้ ส.ส.ได้ย้ายไปอยู่พรรคเพื่อไทย 

ข่าวลือนี้เกิดขึ้นทั้งที่พรรคพลังประชารัฐอยู่ในภาวะหยุดนิ่งมากว่าสัปดาห์ หลัง บิ๊กป้อม สั่งสมาชิกพรรคทุกคนรูดซิปปากอยู่ในที่ตั้ง ไม่ให้ทำตัวเป็นจระเข้ขวางคลอง หรือเคลื่อนไหวใดๆ จนกว่าคำสั่งจะเปลี่ยนแปลง

หลังปรากฏเป็นข่าว แกนนำพรรคพลังประชารัฐหลายคนไม่กล้าแสดงความเห็น หรือให้สัมภาษณ์ออกสื่อ เพราะไม่กล้าขัดคำสั่งของผู้ใหญ่ กระทั่งช่วงเย็นวันเดียวกัน เจ้าหน้าที่พรรคพลังประชารัฐได้รับมอบหมายจากผู้บริหารพรรคให้เชิญสื่อมวลชนมาร่วมสัมภาษณ์ประเด็น "ทิศทางการขับเคลื่อนพรรค พปชร.หลังการเลือกตั้ง ภายใต้การนำของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ" ในเวลา 13.00 น. วันที่ 23 พ.ค. ณ ที่ทำการพรรค

โดยวางตัวนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ในฐานะเลขาธิการพรรค และนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะรองหัวหน้าพรรค เป็นผู้ชี้แจงถึงประเด็นข่าวลือ ก่อนที่จากนั้นไม่กี่ชั่วโมง เจ้าหน้าที่พรรคจะแจ้งขอยกเลิกกำหนดการให้สัมภาษณ์ดังกล่าว 

กระทั่งเช้าวันต่อมา นายสันติ ออกมาสยบข่าวลือว่าเป็น เฟกนิวส์ จากผู้ไม่หวังดีกับพรรค

"ไอ้ข่าวพวกนี้น่าจะเป็นเฟกนิวส์ ที่มาสร้างกระแสลบแก่พรรคมากกว่า หัวหน้าพรรคก็ยืนยันกับผมตลอดว่าท่านจะทำงาน เป็นหัวหน้าพรรคอย่างเข้มแข็ง ไม่มีอะไรเลย"

อย่างไรก็ดี แม้พรรคพลังประชารัฐจะออกมาปฏิเสธ และแม้ทางพรรคเพื่อไทย โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค จะยืนยันครั้งที่ 501 แต่ความหวาดระแวงในเรื่องนี้กลับยังไม่เคยหายไป 

เพราะในวงการเมืองยังเชื่ออยู่บนสมมุติฐานที่ว่า พรรคเพื่อไทยทำงานกับพรรคพลังประชารัฐง่ายกว่าพรรคก้าวไกลและสบายใจกว่า โดยเฉพาะนโยบายของพรรคก้าวไกลที่ล่อแหลม ละเอียดอ่อน

และยิ่งชื่อของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล มีโอกาสถูกคว่ำมากขึ้นเท่าไหร่ พรรคการเมืองจากอีกขั้วยิ่งดูน่าสนใจมากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ  เพราะหากพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลเองแล้วดึงพรรคพลังประชารัฐมาเข้าร่วม เสียงในการโหวตนายกรัฐมนตรีจะสามารถทะลุ 376 เสียงได้ไม่ยาก เพราะได้ออปชันเรื่องเสียง ส.ว.เข้ามาสนับสนุน ต่างจากชื่อของนายพิธา

เช็กขุมกำลังเสียง ส.ว. 250 คน พบว่า ส.ว.สายของ บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กับ บิ๊กป้อม เมื่อรวมกันแล้วมีถึง 180 คนทีเดียว 

เพียงแต่การพลิกขั้วของพรรคเพื่อไทยไม่สามารถกระทำได้ง่าย โดยเฉพาะในภาวะน้ำเชี่ยวกราก กระแสสังคมกำลังจับตามองอย่างใกล้ชิดอย่างนี้                 

พรรคพลังประชารัฐเองรับรู้ถึงสถานการณ์ดังกล่าวดี ว่าฉากนี้ตัวเองไม่มีบทพูด จึงพยายามทำตัวให้นิ่งที่สุดเท่าที่จะนิ่งได้ โดยปล่อยให้กลไกเดินไปตามวิถีปกติ กระทั่ง สุดทาง ด้วยตัวมันเอง

สถานะคล้ายกับพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีข่าวลือทำนองเดียวกันออกมาก่อนหน้านี้ว่า ผู้มีอำนาจในพรรคปัจจุบันอยากจะเป็นรัฐบาล เพียงแต่ไม่ได้อยู่ในสถานะกำหนดชะตาชีวิต  

พรรคเหล่านี้จะมีบทบาทต่อเมื่อเกิดการพลิกขั้วเท่านั้น

โดยลึกๆ แกนนำพรรคพลังประชารัฐหลายคนต่างอยากเป็นรัฐบาลทั้งนั้น โดยเฉพาะในมุ้งที่หมดกระสุนไปเยอะกับการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ไม่ได้ประสงค์ที่กัดก้อนเกลือเพื่อกอดอุดมการณ์ 

ขณะที่นักการเมืองในพรรคพลังประชารัฐหลายคนมีความสัมพันธ์ที่ดีกับพรรคเพื่อไทย เพราะเคยมาจากเบ้าหลอมเดียวกัน เคมีตรงกันมากกว่าพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลเสียอีก 

และด้วยบริบทที่มันยากต่อการจะเข็น บิ๊กป้อม นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ด้วยปริมาณ ส.ส.เพียง 40 คน กับกระแสธารสังคมที่ต่อต้าน มันจึงมีการคิดสูตรเพื่อเปิดช่องให้สามารถมาร่วมกับพรรคเพื่อไทยด้วยแรงเสียดทานที่ไม่มากคือ การดึง บิ๊กป้อม ไปอยู่หลังฉาก เพื่อให้เห็นว่าพรรคพลังประชารัฐไม่ใช่พรรคของลุงแล้ว 

สำหรับตัว บิ๊กป้อม เองไม่ได้ซีเรียสกับเก้าอี้ ส.ส.บัญชีรายชื่อแต่อย่างใด และรู้ตัวดีว่าปริมาณ ส.ส.ที่มีอยู่และกระแสสังคมมันไม่ได้ทำให้เป็นตัวกำหนดเกม

เพียงแต่วันนี้มันยังเป็นแค่สูตรที่มีแกนนำบางคนคิดขึ้นมา ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะเอาอย่างนี้ เพราะต้องรอดูสถานการณ์ในห้วงที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังไม่ได้รับรองผลการเลือกตั้ง และยังไม่ได้มีการโหวตนายกรัฐมนตรีเกิดขึ้น ว่าจะมีเหตุการณ์อะไรอีกหรือไม่ 

และต่อให้วันนี้พรรคเพื่อไทยจะออกมาปฏิเสธข่าวลืออย่างไร นพ.ชลน่านจะพูดกี่ครั้งว่าไม่จับมือ หรือพรรคพลังประชารัฐจะมายุบรวม แต่สุดท้ายในทางการเมืองมันไม่มีน้ำหนัก เพราะเรื่องการตัดสินใจต้องฟังจาก ตัวจริง ของพรรคเท่านั้น      

และจริงๆ ความนิ่งของพรรคพลังประชารัฐในขณะนี้ มันเป็นสัญญาณหนึ่งทางการเมืองว่า การจัดตั้งรัฐบาลที่กำลังเดินหน้ากันอยู่ มันยังไม่นิ่ง และยังไม่จบ. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“กาสิโน”เผือกร้อน“กฤษฎีกา” สมดุลการเมือง-ผลกระทบสังคม

จับตาร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. .... หรือร่างกฎหมายกาสิโนในมือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หลัง ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอร่างกฎหมาย ว่าจะตรงปกและเป็นไปตามความต้องการของฝ่ายการเมืองหรือไม่ และอีกหนึ่งมติคือ ข้อห่วงใยผลกระทบทางสังคมและปัญหาอบายมุขตามมา

หวั่นเวชระเบียน'ทักษิณ'จุดชนวน รพ.ตำรวจอึมครึม คปท.ยกระดับ!

ขีดเส้น 15 ม.ค.นี้ คณะอนุกรรมการสอบสวนเฉพาะกิจ แพทยสภา ได้ส่งหนังสือถึง พล.ต.ท.นพ.นพศิลป์ เวชวิทารณ์ นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ จัดส่งเอกสารทำคำชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร เวชระเบียนการรักษาของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่เข้ารักษาตัวที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ กระทั่งออกจาก รพ.ตำรวจ โดยมี นพ.อมร ลีลารัศมี อดีตกรรมการแพทยสภา เป็นประธานอนุกรรมการสอบ

ลุยเปิดกาสิโนส่อสะดุด กฤษฎีกาโดดขวางเต็มสูบ

แนวคิดการทำให้ พนันออนไลน์ ขึ้นมาอยู่บนดิน ตามที่ทักษิณ ชินวัตร ผู้นำรัฐบาลเพื่อไทยตัวจริงส่งสัญญาณมา หลายคนยังมองโมเดลนี้ไม่ออกว่าจะทำได้อย่างไร เพราะน่าจะติดล็อกข้อกฎหมายหลายอย่าง รวมถึงต้องเจอแรงต้านในส่วนของภาคประชาสังคม

1ประเทศ2นายกฯ ระวังจบซ้ำรอยเดิม?

มีหลายส่วนในสังคม คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกอึดอัดกับท่าทีของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่พ้นโทษออกมาโดยไม่ติดคุกแม้แต่วันเดียว แต่ทำตัวเปรียบเหมือนเป็นเจ้าของรัฐบาล

เหลี่ยม"ทักษิณ"หาเสียงนายกอบจ. ก้ำกึ่ง สุ่มเสี่ยง ผิดกฎหมายเลือกตั้ง

การปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.ของ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯ กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง ทั้งสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายเลือกตั้ง และพาดพิงคู่ปรับทางการเมืองอย่างดุเดือด

'คุมขังนอกเรือนจำ'ความหวังใหม่ ระบบยุติธรรมหรือประตูสู่ความลำเอียง

ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในระบบยุติธรรม โดยในปี 2568 กรมราชทัณฑ์จะเริ่มใช้ ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ ซึ่งเป็นนโยบายใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อลดความแออัดในเรือนจำ