การจัดตั้งรัฐบาลของ "พรรคก้าวไกล" กำลังเดินหน้าอยู่อย่างต่อเนื่อง เพื่อดันให้หัวหน้าพรรค "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทยให้ได้
ล่าสุดจนถึงช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา การเกิดขึ้นของรัฐบาลผสมดังกล่าว มีเสียงอยู่บนหน้าตักราวๆ 313 เสียง ประกอบด้วย ก้าวไกล 152 เสียง-เพื่อไทย 141 เสียง-ประชาชาติ 9 เสียง-ไทยสร้างไทย 6 เสียง-เสรีรวมไทย 1 เสียง-เป็นธรรม 1 เสียง-เพื่อไทรวมพลัง 2 เสียง และพลังสังคมใหม่ 1 เสียง
ส่วน "พรรคชาติพัฒนากล้า" ที่นำโดยสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ซึ่งมีข่าวว่าจะนำสองเสียงมาร่วมโหวตสนับสนุนพิธาเป็นนายกฯ ปรากฏว่ายังไม่ทันได้มีท่าทีใดๆ ออกมาอย่างเป็นทางการ "แฟนคลับ-ด้อมส้มของพรรคก้าวไกล" ในโซเชียลมีเดีย ก็ออกมาต่อต้านอย่างหนักตั้งแต่ช่วงเย็นจนถึงค่ำวันศุกร์ที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา จนสุดท้ายพรรคก้าวไกลต้องชิงดับกระแสคัดค้าน ด้วยการประกาศกลางดึกคืนวันเดียวกันว่า จะเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลโดยไม่มีพรรคชาติพัฒนากล้าอยู่ด้วยแต่อย่างใด
สิ่งที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นได้อย่างหนึ่งว่า ความเห็น-ความรู้สึกของ "แฟนคลับ-กองเชียร์” พรรคก้าวไกล ที่เรียกกันตอนนี้ว่า “ด้อมส้ม” มีส่วนสำคัญอย่างมากในการกำหนดทิศทางการเมืองของพรรคก้าวไกล
ทำให้หลังจากนี้ไป หาก "พิธา" ขึ้นเป็นนายกฯ ได้สำเร็จ ก็น่าติดตามไม่น้อยว่าการบริหารราชการแผ่นดินที่จะต้องมีทั้งเรื่อง "ถูกใจ-ไม่ถูกใจ" แฟนคลับ-โหวตเตอร์ของพรรคก้าวไกล โดยในส่วนของเรื่องที่ไม่ถูกใจ ไม่เห็นด้วย แล้วแฟนคลับพรรคก้าวไกลแสดงออกมาในลักษณะกดดันทางการเมือง จะทำให้ "พิธา" ทำอย่างไร จะรักษาบาลานซ์-จัดวางสมดุลการเมืองตรงนี้อย่างไร
เพราะแน่นอนว่า การบริหารราชการแผ่นดินแต่ละเรื่อง มันต้องมีกลไกซับซ้อน เส้นทางการทำงานของรัฐบาล โดยเฉพาะการทำตามนโยบายที่ก้าวไกลหาเสียงไว้ ซึ่งหลายเรื่องเป็นเรื่องร้อนๆ ทั้งสิ้น และเมื่อทำแล้วจะไปกระทบกับโครงสร้างหลักของประเทศหลายส่วน เช่น “กองทัพ-กระทรวงมหาดไทย-กลุ่มทุนขนาดใหญ่” ทำให้ก้าวไกลต้องปะทะกับหลายกลุ่ม โดยเฉพาะกับ "กลุ่มไม่เห็นด้วย-กลุ่มเสียผลประโยชน์"
รวมถึงยังต้องเจอกับกลไกระบบราชการต่างๆ ที่มีทั้งเรื่องข้อกฎหมาย ระเบียบการทางราชการ ความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบประมาณต่างๆ มาทำตามนโยบายของก้าวไกลที่ตึงตัวไปหมด จนทำให้การบริหารราชการแผ่นดินของ "พิธาและก้าวไกล" ย่อมไม่ง่ายเหมือนตอนเป็นฝ่ายค้านและตอนหาเสียง
แล้วไหน พิธา-ก้าวไกล ยังต้องคอยรักษาอารมณ์ความรู้สึกของแฟนคลับ โหวตเตอร์ ผู้สนับสนุนพรรค ที่หากเรื่องไหนไม่ได้ดั่งใจ ก็จะออกมาแสดงความรู้สึกผิดหวัง จนกระทั่งอาจก่นด่า ซึ่งเชื่อได้ว่ามันต้องเกิดกรณีแบบนี้เกิดขึ้นได้แน่นอน ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ในอนาคตข้างหน้า หากพิธาเป็นนายกฯ โดยที่พิธาและก้าวไกลก็ต้องกลัว "เสียคะแนนทางการเมือง" ถ้าออกมาเป็นแบบนี้ ก็อาจส่งผลทำให้การบริหารประเทศมีปัญหาเกิดขึ้นได้
จึงน่าติดตามว่ารัฐบาลก้าวไกลจะรักษาจุดสมดุลตรงนี้อย่างไร
อย่างไรก็ตาม เอาเฉพาะหน้ากันก่อน ตอนนี้ยังต้องติดตามการเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกล ว่าจะสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีหรือไม่
ซึ่งฉากสำคัญก็คือ การแถลงข้อตกลงร่วม หรือ MOU ในการจัดตั้งรัฐบาล เพื่อแสดงถึงแนวร่วมในการทำงานและวาระร่วมกันของทุกพรรค ที่นัดแถลงต่อสาธารณชนในวันที่ 22 พ.ค.นี้
โดยมีข่าวออกมาเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ระหว่างที่แกนนำแต่ละพรรคการเมืองกำลังพิจารณาเรื่องเอ็มโอยูการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งจะมีเรื่องของนโยบายกลางที่จะถูกนำไปเขียนไว้เป็นนโยบายรัฐบาล ที่จะแถลงต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภาก่อนเข้าบริหารประเทศ ที่ฝ่ายก้าวไกลนำนโยบายที่หาเสียงไว้ตอนเลือกตั้ง มาเป็นพิมพ์เขียวหลักให้แต่ละพรรคการเมืองไปพิจารณาว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย และมีข้อทักท้วงอย่างไร รวมถึงแต่ละพรรคต้องการเอานโยบายของพรรคตัวเองมาใส่ไว้ในเอ็มโอยูดังกล่าวอะไรบ้าง ซึ่งทั้งหมดต้องตกผลึกก่อนการแถลงข่าววันจันทร์ที่ 22 พ.ค.นี้
ทว่าก็มีข่าวว่า เบื้องต้นแกนนำพรรคการเมืองที่กำลังจัดตั้งรัฐบาลเวลานี้ บางส่วนเริ่มไม่โอเคกับการที่ก้าวไกลนำนโยบายพรรคของตัวเองมาเขียนไว้ในเอ็มโอยู เพื่อให้แต่ละพรรคการเมืองเอาด้วย เหมือนกับ "มัดมือชกทางการเมือง" ซึ่งทำให้แต่ละพรรคไม่ค่อยสบายใจ เพราะเกรงว่าจะเป็นข้อผูกมัดทางการเมือง อีกทั้งนโยบายก้าวไกลบางเรื่องก็ขัดกับแนวทางของพรรค โดยเฉพาะประเด็นอ่อนไหวเรื่อง "หลักการทางศาสนา"
มันก็เลยทำให้มีข่าวออกมาว่า ฝ่ายพรรคเพื่อไทยที่กำลังพิจารณาเอ็มโอยูดังกล่าว มองว่าเอกสารที่พรรคก้าวไกลยื่นมาให้พรรคร่วมนั้น เป็นการลงรายละเอียดโดยยึดหลักนโยบายของพรรคก้าวไกลเป็นหลัก เช่นที่บอกจะผลักดันให้มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมคดีการเมือง ที่มีข่าวว่าพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลไม่เห็นด้วย เพราะเป็นเรื่องล่อแหลมทางการเมือง เสี่ยงทำให้รัฐบาลตกเป็นเป้าได้ แต่หากก้าวไกลจะทำก็ขอให้ขับเคลื่อนในนามพรรคแทน ไม่ใช่ในนามรัฐบาล
นอกจากนี้ยังมีประเด็นการยกเลิกการผูกขาดอุตสาหกรรมผลิตสุรา ผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งประเด็นนี้พรรคประชาชาติ ที่มีวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นหัวหน้าพรรค ก็ไม่เห็นด้วย เพราะขัดกับหลักศาสนาอิสลามที่เป็นฐานเสียงหลักของพรรคประชาชาติซึ่งเป็นชาวไทย-มุสลิม โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
"จากประเด็นที่พรรคก้าวไกลเสนอมาในเอ็มโอยูนั้น ทุกพรรคเห็นว่าเป็นประเด็นที่ผูกมัด บีบให้ทุกพรรคยอมรับในเงื่อนไขของพรรคก้าวไกลมากเกินไป จึงอยากให้ปรับโดยเขียนเป็นหลักการกว้างๆ ไว้ก่อน แล้วค่อยนำนโยบายของแต่ละพรรคมาปรับใช้ในภายหลัง อย่างไรก็ตาม เนื้อหาไม่มีการพูดถึงการแก้กฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งประเด็นนี้ทุกพรรคเห็นด้วย เพราะไม่มีใครอยากให้นำประเด็นนี้มาผูกมัดในเอ็มโอยู" แหล่งข่าวจากพรรคการเมืองขั้วที่กำลังจัดตั้งรัฐบาลเวลานี้ให้ข้อมูล
ประเมินทิศทาง-ความคืบหน้าการทำเอ็มโอยูการเมืองจัดตั้งรัฐบาลดังกล่าว เป็นไปได้ว่าก้าวไกลอาจต้องยอม "ถอย" ในบางเรื่อง เพื่อให้การจัดตั้งรัฐบาลลุล่วงไปให้ได้ก่อน
เพราะแม้วันนี้ ก้าวไกลชนะเลือกตั้งมา แต่การมี 152 ที่นั่ง และเป็นการจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคอันดับสอง เพื่อไทย ที่ได้ 141 เสียง ทำให้ฝ่ายเพื่อไทยมีอำนาจการต่อรองทางการเมืองสูงระดับหนึ่ง เพราะหากเพื่อไทยไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาล ก้าวไกลก็ลำบาก เพราะพรรคก้าวไกลล็อกประตูตัวเองไว้แน่นหนาว่าไม่จับมือกับรวมไทยสร้างชาติ-พลังประชารัฐ ขณะที่พรรคอื่นๆ อย่าง ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ และชาติไทยพัฒนา ก็ตั้งการ์ดว่าไม่จับมือกับพรรคที่เสนอแก้มาตรา 112
มันจึงเป็นสถานการณ์ที่เอื้อให้เพื่อไทยสามารถต่อรอง กดดันพิธาและพรรคก้าวไกลได้ตลอดเวลา!
ทั้งตอนนี้ที่กำลังตั้งรัฐบาลกันอยู่ ที่หากก้าวไกลตั้งไม่ได้คือ พิธาไม่ได้รับเสียงโหวตเกิน 376 เสียง ให้เป็นนายกฯ หรือพิธาประสบอุบัติเหตุการเมือง จนต้องโดนแขวนหรือหลุดจากนายกฯ ในคำร้องคดีต่างๆ เช่น คดีหุ้นไอทีวี โดยที่พรรคก้าวไกลเสนอแคนดิเดตนายกฯ แค่คนเดียวคือพิธา
ซึ่งถ้าเกิดสถานการณ์ข้างต้นกับพิธาขึ้นจริง มันก็จะทำให้เพื่อไทยพลิกสถานการณ์ขึ้นมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแทนก้าวไกลได้ทันที หรือต่อให้พิธา-ก้าวไกลผ่านทุกขวากหนามไปได้ ทั้งได้เสียงโหวตเป็นนายกฯ และพิธารอด ไม่ประสบเหตุอะไร ในคำร้องคดีหุ้นสื่อ ไม่ว่าจะเป็นในชั้น กกต.หรือศาลรัฐธรรมนูญ หากคำร้องไปถึงขั้นนั้น แต่การทำงานร่วมกันของรัฐบาลในอนาคตระหว่างก้าวไกล-เพื่อไทย ในสภาพที่ทั้งสองพรรคเป็นพรรคที่มีฐานเสียงการเมืองในกลุ่มก้อนเดียวกัน ที่ต้องแข่งกันเองอยู่ในที ดูได้จากเลือกตั้งที่ผ่านมา เป้าหมายของเพื่อไทยที่ปักธงแลนด์สไลด์ แต่สุดท้ายวืด-ไปไม่ถึงฝั่งฝันก็เพราะพรรคก้าวไกล มันจึงทำให้สัมพันธภาพการเมืองระหว่างเพื่อไทยกับก้าวไกล เรียกได้ว่าขี่คอกันตลอดเวลา
เพราะเพื่อไทยก็ย่อมไม่อยากให้ก้าวไกลที่วันนี้กลายเป็นคู่แข่งหลักของเพื่อไทยไปแล้ว เติบโต-มีผลงานในการเป็นรัฐบาลมาก เพราะยิ่งหากพิธา-ก้าวไกลทำงานได้ดี เครดิตมันก็จะต้องไปอยู่ที่พิธาและก้าวไกล ในฐานะพรรคหลักของรัฐบาล ไม่ใช่เพื่อไทย มันจะยิ่งทำให้ก้าวไกลมีคะแนนนิยมมากขึ้นไปอีก ซึ่งเป็นสิ่งที่ทักษิณ ชินวัตร และเพื่อไทย ย่อมไม่ต้องการให้ก้าวไกลเติบใหญ่มากไปกว่านี้
แวดวงการเมืองจึงมองว่า หากในอนาคตเกิดเหตุอะไรขึ้น เช่น มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกลหรือตัวพิธา แล้วคนของก้าวไกลชี้แจงไม่ได้ สังคมคาใจ ก็อาจทำให้เพื่อไทยตั้งแง่ ถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลเพื่อล้างไพ่ใหม่ แล้วมาเล่นบทแกนนำตั้งรัฐบาลเอง ถ้าเจอเข้าไปแบบนี้ รัฐบาลก้าวไกลก็สั่นคลอนทันที
จึงไม่แปลกที่จะมีข่าวการต่อรองเรื่องการจัดสรรเก้าอี้-ตำแหน่งการเมืองในตอนนี้ ที่มีข่าวว่าเพื่อไทยต่อรองหนัก ขอโควตาเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจหลักๆ ไปดูแลหมด ยกเว้น ก.คลัง ไม่ว่าจะเป็นคมนาคม-พลังงาน-อุตสาหกรรม-เกษตรและสหกรณ์-พาณิชย์ แถมไม่พอ อาจจะต่อรองหนักถึงขั้นขอ “เก้าอี้ประธานสภาฯ” แต่ก็เชื่อว่าก้าวไกลคงไม่ยอมง่ายๆ จนกลายเป็นลูกไล่ของเพื่อไทยให้ขี่คอได้ทุกเรื่อง
การเกิดขึ้นของรัฐนาวา "พิธา-ก้าวไกล” คงต้องฝ่าหลายด่านการเมืองกว่าจะคลอดออกมาได้ ทั้งด่านสกัดจากฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง รวมถึงต้องระวังพวกพรรคการเมืองขั้วจัดตั้งรัฐบาลด้วยกันเอง ที่ทั้งต่อรองหนักและอาจพกมีดไว้เสียบหลังหากมีโอกาส!!!!.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“กาสิโน”เผือกร้อน“กฤษฎีกา” สมดุลการเมือง-ผลกระทบสังคม
จับตาร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. .... หรือร่างกฎหมายกาสิโนในมือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หลัง ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอร่างกฎหมาย ว่าจะตรงปกและเป็นไปตามความต้องการของฝ่ายการเมืองหรือไม่ และอีกหนึ่งมติคือ ข้อห่วงใยผลกระทบทางสังคมและปัญหาอบายมุขตามมา
หวั่นเวชระเบียน'ทักษิณ'จุดชนวน รพ.ตำรวจอึมครึม คปท.ยกระดับ!
ขีดเส้น 15 ม.ค.นี้ คณะอนุกรรมการสอบสวนเฉพาะกิจ แพทยสภา ได้ส่งหนังสือถึง พล.ต.ท.นพ.นพศิลป์ เวชวิทารณ์ นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ จัดส่งเอกสารทำคำชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร เวชระเบียนการรักษาของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่เข้ารักษาตัวที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ กระทั่งออกจาก รพ.ตำรวจ โดยมี นพ.อมร ลีลารัศมี อดีตกรรมการแพทยสภา เป็นประธานอนุกรรมการสอบ
'นายกฯอิ๊งค์' ขอเคลียร์ปม 'พ.ร.บ.กาสิโน' หลังถก ครม.
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยก่อนการประชุมผู้สื่อข่าวสอบถามว่าจะมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติสถานบันเทิงครบวงจร หรือเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์
ข้องใจ! เงินให้กู้ยืมคู่สมรส ร้อง ป.ป.ช. สอบ 'นายกฯอิ๊งค์'
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร กรณีเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
ลุยเปิดกาสิโนส่อสะดุด กฤษฎีกาโดดขวางเต็มสูบ
แนวคิดการทำให้ พนันออนไลน์ ขึ้นมาอยู่บนดิน ตามที่ทักษิณ ชินวัตร ผู้นำรัฐบาลเพื่อไทยตัวจริงส่งสัญญาณมา หลายคนยังมองโมเดลนี้ไม่ออกว่าจะทำได้อย่างไร เพราะน่าจะติดล็อกข้อกฎหมายหลายอย่าง รวมถึงต้องเจอแรงต้านในส่วนของภาคประชาสังคม
ชีพจรลงเท้า นายกฯ ลุยบึงบอระเพ็ด เร่งแก้น้ำแล้ง น้ำท่วมพรุ่งนี้
นายกฯเร่งแก้น้ำแล้ง น้ำท่วม บ่ายพรุ่งนี้ลงพื้นที่บึงบอระเพ็ด