สนามการเมืองฝุ่นตลบ “พรรคก้าวไกล” ที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนมากที่สุด ได้จัดตั้งรัฐบาลก่อนเป็นพรรคแรก และดูเหมือนหนทางการเป็นนายกรัฐมนตรีของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล จะไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะเจอตอใหญ่อย่าง “สมาชิกวุฒิสภา” (ส.ว.) เข้าให้ ซึ่งตอนนี้เสียงแตกออกเป็น 2 ฝ่าย
ฝ่ายหนึ่งออกตัวชัดเจนไม่โหวต “พิธา” เป็นนายกฯ คนที่ 30 แน่นอน อย่าง “ส.ว.จเด็จ อินสว่าง” บอกว่า “เพราะนายพิธามีจุดด้อยในเรื่องปัญหาทัศนคติการเมือง ที่จะยกเลิกมาตรา 112 ตนรับไม่ได้ เพราะปฏิญาณตนจะจงรักภักดี ถ้าเลือกนายพิธาไปก็ไม่รู้จะเสียของหรือไม่”
หรือ ส.ว.หลายสมัยอย่าง “อาจารย์เสรี สุวรรณภานนท์” กล่าวว่า “การยกเลิกหรือแก้ไขเรื่องสำคัญอย่างมาตรา 112 ไม่สามารถโหวตให้นายพิธาเป็นนายกฯ ได้แน่ ไม่ใช่แค่เฉพาะนายพิธา แม้แต่เสนอชื่อคนพรรคอื่นเป็นนายกรัฐมนตรี ถ้ามีนโยบายแตะต้องมาตรา 112 ก็ไม่โหวตให้เช่นกัน การจะเข้ามาบริหารประเทศต้องไม่มีเรื่องกระทบความมั่นคงสถาบัน
การบอกว่า แก้ไขแต่ไม่ยกเลิก เป็นแค่การเล่นคำ เท่าที่ฟังเสียง ส.ว.ส่วนใหญ่ก็ไม่เอาด้วยกับการแก้ไขมาตรา 112 ถ้าปล่อยให้แก้ไขมาตรา 112 คนที่ไม่เห็นด้วยก็ต้องต่อต้าน เกิดความขัดแย้งวุ่นวายอีก เขาควรทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ สร้างความสามัคคี เพราะคะแนนที่ได้มา ไม่ใช่คะแนนทั้งประเทศ พรรคก้าวไกลได้คะแนน 14 ล้านเสียง ก็ไม่ใช่ฉันทามติอะไร เพราะพรรคอื่นๆ ก็ได้คะแนนหลักล้าน เป็นเสียงจากประชาชนเช่นกัน”
จะเห็นว่า ส.ว.พุ่งเป้าไปที่การแก้ไขลดโทษประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยวางเป็นเงื่อนไขสำคัญ ถ้าแตะเรื่องนี้ก็จะไม่ขานสนับสนุน “พิธา” เป็นนายกฯ เด็ดขาด เพราะกังวลว่าบ้านเมืองจะลุกเป็นไฟ
อย่างไรก็ตาม หากฟังในเวทีปราศรัยใหญ่ปิดท้ายเลือกตั้งใหญ่ของก้าวไกล “อมรัตน์ โชคตมิปต์กุล” กรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ประกาศชัดเจนว่าจะทำให้มาตรา 112 เป็นไปตามหลักสากล โดยต้องการแก้ไขมาตราดังกล่าวด้วยการลดโทษอาญาจำคุกให้เหลือ 0-1 ปี!!!
จากเดิม ที่ห้ามหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี
เวลาเดียวกัน ส.ว.อีกฝ่ายให้น้ำหนักไปยังระบอบประชาธิปไตย ยึดเสียงข้างมาก ผู้ใดได้ ส.ส.มากที่สุด รวมกันได้เกินกึ่งหนึ่งก็สมควรได้ตั้งรัฐบาล และได้เป็นนายกรัฐมนตรี เช่น “วันชัย สอนศิริ” กล่าวโดยหลักการว่า หากใครสามารถรวมเสียงได้มากกว่า 250 เสียง ต้องเคารพเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน แต่ต้องลุ้นว่าฝ่ายใดรวมเสียงได้
หรือ “วุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์” ระบุไว้ในจดหมายเปิดผนึกตอนหนึ่งว่า
“พรรคการเมืองที่มีจำนวน ส.ส.มากที่สุด ย่อมได้สิทธิ์ในการจัดตั้งรัฐบาล และหัวหน้าพรรค หรือผู้มีรายชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในบัญชีพรรคการเมืองที่มีจำนวน ส.ส.มากที่สุด ย่อมมีความเหมาะสมที่สุดที่จะได้รับการสนับสนุนให้ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี ผมในฐานะ ส.ว.เคยมีประสบการณ์ปฏิบัติงานสำคัญ รับใช้ชาติบ้านเมืองมาตลอดช่วงชีวิตของการรับราชการ เคยต้องขมขื่นกับความแตกแยกขัดแย้งในบ้านเมือง ขอถือโอกาสนี้แสดงเจตนารมณ์ ภายใต้สิทธิ ส.ว.ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 สนับสนุนให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในบัญชีพรรคการเมืองที่มีจำนวน ส.ส.มากที่สุด ได้ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีเพื่อจรรโลงไว้ซึ่งความสมานฉันท์ในบ้านเมือง และธำรงไว้ซึ่งหลักการตามระบอบประชาธิปไตย ตลอดจนสอดคล้องกับฉันทามติของมหาชน ที่ไปใช้สิทธิ์ออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.”
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า สัญญาณตลาดหุ้นไทยยังคงติดลบ ไม่ขึ้นเหมือนที่หลายคนคาดการณ์ไว้ว่า ภายหลังเลือกตั้งตลาดหุ้นจะเขียวขานรับ ซึ่งน่าจะเกิดความกังวลจากปัญหาการโหวตนายกฯ ส่งผลให้การฟอร์มทีมคณะรัฐมนตรีบริหารราชการล้มเหลว เท่ากับเศรษฐกิจชะลอ
ประกอบกับว่าถ้าได้ “พิธา” เป็นนายกฯ ซึ่งเป็นกลุ่มขั้วอำนาจใหม่ที่กลุ่มทุนใหญ่ผูกขาดไม่คุ้นเคย เหมือนที่สนิทกับขั้วอำนาจเก่าก็อาจจะทำให้บรรดาทุนนั้นๆ บริหารธุรกิจยากลำบากขึ้น
ทั้งยังต้องใช้เวลาผูกมิตรไมตรีกับขั้วใหม่ เพราะ “ก้าวไกล” ประกาศด้วยท่าทีที่แข็งกร้าวซ้ำหลายรอบ
โดยเฉพาะ “ปิยบุตร แสงกนกกุล” ที่ระบุไว้ว่า "พรรคการเมืองแบบก้าวไกลเป็นพรรคการเมืองของมวลชน เมื่อเข้าไปมีอำนาจจะกล้าหาญในการบริหารจัดการเรื่องยากๆ กล้าแก้ปัญหาที่ต้นตอ เพราะไม่มีกลุ่มทุนผูกขาด ไม่มีนายพลผู้มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลัง มีแต่พี่น้องประชาชน ดังนั้นหนี้บุญคุณสำหรับพรรคก้าวไกลมีคนเดียวคือประชาชน เมื่อถึงเวลามีอำนาจ ไม่ต้องเกรงใจใคร เกรงใจประชาชนอย่างเดียว"
ปัจจัยทั้งการเสนอแก้ไขที่เหมือนยกเลิกมาตรา 112 และความแข็งกร้าวไม่เกรงใจใครของพรรคก้าวไกล คือสิ่งที่ “ผู้ใหญ่” กลัวจะเกิดความวุ่นวายในสังคม
ฉะนั้น ก่อนโหวตเลือกนายกฯ ครั้งนี้ ส.ว.และพรรคการเมืองต่างๆ จะต้อง “ชั่งใจ” ให้ดี ว่าทางใดจะทำให้เกิดการเผชิญหน้าน้อยที่สุด และทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ชนักติดหลัง-หอกดาบ ที่ค้างอยู่ของ"ทักษิณ"
แน่นอนว่า ทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย ย่อมต้องถอนหายใจโล่งอก ที่ไม่ต้องตกอยู่ในสถานะ ผู้ถูกร้อง ที่ศาลรัฐธรรมนูญ หลังศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง-ไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัยในคดีที่ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือ "คดีล้มล้างการปกครอง" ที่ศาล รธน.มีมติยกคำร้องไปเมื่อ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา
'ชินวัตร' ตีปีกดันรัฐบาลครบเทอม วิบากกรรมไล่ล่า 'ชั้น14' หลอกหลอน
ดูจากมติเอกฉันท์ของศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49
แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?
ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่
'เอ็ดดี้ อัษฎางค์' มีคำตอบให้! 'พิธา' ไม่เข้าใจทำไมกลายเป็นศัตรูเพื่อไทย
เอ็ดดี้-อัษฎางค์ ยมนาค อินฟลูเอ็นเซอร์การเมือง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ไม่เข้าใจทำไมกลายเป็นศัตรูกับเพื่อไทย อัษฎางค์ ยมนาค มีคำตอบให้
ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด
นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย
จับตาคลอดโผแต่งตั้ง“นายพลใหญ่” ตำรวจคนสนิทฝั่งรัฐบาลพรึบยกแผง
จับตาบ่ายวันนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายล็อตแรก “นายพลใหญ่” ระดับรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ-ผบช. ที่นายกฯ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2567 เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อ “พล.ต.อ.-พล.ต.ท.” วาระประจำปี 2567