ยังคงต้องติดตามการเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลของ พรรคก้าวไกล ต่อไปหลังจากนี้ว่าจะมีความคืบหน้าอย่างไร และจะทำได้สำเร็จ จนทำให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เดินเข้าตึกไทยคู่ฟ้า ในฐานะนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทยได้หรือไม่?
โดยพบว่าฝ่ายก้าวไกลเริ่มขยับในการ
เปิดดีล-ปิดดีล การจัดตั้งรัฐบาลไปได้หลายขยัก เพื่อหวังจะให้จบโดยเร็ว ทำให้ไม่แน่ภายในสัปดาห์นี้อาจได้เห็นหัวหน้าพรรค-แกนนำพรรคการเมือง 6 พรรคคือ ก้าวไกล-เพื่อไทย-ประชาชาติ-เสรีรวมไทย-ไทยสร้างไทย-เป็นธรรม นั่งแถลงข่าวการจับมือตั้งรัฐบาลร่วมกันก็ได้
เพราะก้าวไกล เลขาธิการพรรค ชัยธวัช ตุลาธน ก็เริ่มขยับเตรียมเดินสายเปิดดีลการตั้งรัฐบาลกับแกนนำพรรคข้างต้นแล้ว ที่เบื้องต้นฝ่ายขั้วตั้งรัฐบาล ตอนนี้มีเสียงอยู่ในหน้าตัก 310 เสียง ทำให้ขาดอีกประมาณ 66 เสียงก็จะถึง 376 เสียง ที่จะทำให้พิธาเป็นนายกฯ ซึ่งแกนนำก้าวไกลยืนกรานว่ายังไม่มีแนวคิดการดึงพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบัน เช่น ภูมิใจไทย หรือชาติไทยพัฒนา เข้าร่วมรัฐบาลแต่อย่างใด
โดยการขยับของ พรรคก้าวไกล ในการเดินหน้าเปิดดีลตั้งรัฐบาล ตอนนี้ก็มีการเริ่มพูดถึงเรื่อง เก้าอี้ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ที่จะต้องโหวตเลือกประธานสภาฯ ก่อนจะโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี
เชื่อได้ว่า ยังไงพรรคก้าวไกลต้องให้ประธานสภาฯ ที่จะเป็นประธานรัฐสภาด้วย ต้องเป็นคนของพรรคก้าวไกล
พบว่าตอนนี้เริ่มมีการจับตามองคนในพรรคที่พอมีประสบการณ์การเมือง และมีความรู้และประสบการณ์ด้านกฎหมายกันแล้ว 1-2 ชื่อ เช่น ณัฐวุฒิ บัวประทุม แกนนำพรรคก้าวไกล ว่าที่ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ก้าวไกล ในวัย 46 ปี ที่จะเข้าไปเป็น ส.ส.สมัยที่ 2 กับดีกรีปริญญาตรีด้านกฎหมายจากธรรมศาสตร์-ปริญญาโทกฎหมายจากรามคำแหง โดยก่อนหน้านี้เคยเป็นหัวหน้างานกฎหมาย มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก
ส่วนอีกคนก็คือ ธีรชัย พันธุมาศ ว่าที่ ส.ส.เขต กรุงเทพมหานคร กับโปร์ไฟล์ปริญญาตรีและปริญญาโท จากคณะนิติศาสตร์ รามคำแหง และเนติบัณฑิตไทย สำนักเนติบัณฑิตยสภา ในวัย 59 ปี ซึ่งบทบาทในสภาฯ สมัยที่ผ่านมาถือว่าโดดเด่นไม่ใช่น้อย เช่น การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ธรรมนัส พรหมเผ่า เรื่องคดีความในอดีต หรือการอภิปรายเรื่องนาฬิกาเพื่อน ของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ รวมถึงบทบาทในกรรมาธิการ ป.ป.ช.ของสภาฯ
สำหรับธีรชัยพบว่า ก่อนหน้านี้เริ่มต้นถนนการเมืองด้วยการเป็นหนึ่งในคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พรรคไทยรักไทย ตั้งแต่ยุคปี 2545 โดยอยู่ในทีมของ วิชิต ปลั่งศรีสกุล อดีตหัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมายไทยรักไทย และสามารถ แก้วมีชัย อดีตรองประธานสภาฯ ก่อนที่ต่อมาธีรชัยจะมาอยู่กับพรรคอนาคตใหม่ ตอนเลือกตั้งปี 2562 จึงทำให้รู้จักกับคนของเพื่อไทยจำนวนไม่น้อย
โดยตอนที่ธีรชัยเลือกจะไปลงสมัคร ส.ส.เขต กทม.ของก้าวไกล ในช่วงที่กระแสแลนด์สไลด์ของเพื่อไทยกำลังแรง แทนที่จะลงปาร์ตี้่ลิสต์เหมือนตอนปี 2562 ซึ่งหากลงก็น่าจะได้อยู่ในลำดับต้นๆ ก็ทำให้ ปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้นำทางความคิดของพรรคก้าวไกล ถึงกับโพสต์ในทวิตเตอร์ส่วนตัวชื่นชมนายธีรชัยเป็นอย่างมาก
ส่วนว่าสุดท้ายพรรคก้าวไกลจะดันใครชิงประธานสภาฯ ก็ต้องรอดูกันต่อไป และไม่แน่ อาจจะมีชื่ออื่นๆ โผล่เข้ามาอีก
กระนั้นต้องยอมรับว่า ด้วยความที่ ว่าที่ ส.ส.ก้าวไกลส่วนใหญ่เป็นนักการเมืองหน้าใหม่ และยิ่งว่าที่ ส.ส.ชุดนี้หลายคนเพิ่งเป็น ส.ส.สมัยแรก ทำให้ยังไงก็คาดว่า ก้าวไกลคงต้องเอาคนที่มีประสบการณ์ในสภาฯ อย่างน้อย 1 สมัย มานั่งเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อคุมงานในสภาฯ เพราะต้องไม่ลืมว่า ก้าวไกลมีนโยบายเรื่องการผลักดันกฎหมายสำคัญหลายเรื่อง เช่น การเสนอร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งแม้ก่อนหน้านี้ ส.ส.ก้าวไกลเคยเสนอไปแล้วตอนสภาฯ ชุดที่แล้ว แต่ถูกฝ่ายกฎหมายของสภาฯ ทำความเห็นว่าแก้ไม่ได้ ขัดรัฐธรรมนูญ จนชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ไม่บรรจุร่างไว้ในระเบียบวาระการประชุม แต่ก็ไม่แน่ เมื่อขั้วอำนาจการเมืองเปลี่ยนไป ฝ่ายกฎหมายของสภาฯ อาจมีความเห็นไม่เหมือนเดิมก็ได้!
รวมถึงเรื่องอื่นๆ เช่น การเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคดีการชุมนุมทางการเมือง-การผลักดันให้มีการทำประชามติเพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ-การปฏิรูปกองทัพ ที่อาจต้องมีการเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงกลาโหม ที่อาจไปแตะเรื่องบอร์ดสภากลาโหม หรือ 7 อรหันต์แต่งตั้งบิ๊กกองทัพ-การเสนอกฎหมายยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค และการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรงทุกจังหวัดที่มีความพร้อม เป็นต้น ซึ่งแต่ละเรื่องเป็นเรื่องร้อนๆ ทางการเมืองทั้งนั้น
ดังนั้นก้าวไกลต้องเอาคนมาเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อคุมการขับเคลื่อนของพรรคในสภาฯ ที่ไว้ใจได้ว่าเอาอยู่
และแน่นอนว่า ในดีลการเจรจาการจัดตั้งรัฐบาล ก็ต้องมีการพูดถึงเรื่องการแบ่งโควตารัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ของขั้วก้าวไกล-เพื่อไทย-ประชาชาติ-ไทยสร้างไทย-เสรีรวมไทย ซึ่งแม้หน้าฉาก แกนนำพรรคเหล่านี้จะบอกว่า ยังไม่คุยกันเรื่องนี้ แต่ยังไงในวงระดับแกนนำพรรคระดับท็อปตัวจริง มันต้องมีการคุยกันเรื่องนี้แน่นอน
มองได้ว่า ในส่วนของพรรคก้าวไกล ที่ยังไม่มีประสบการณ์ทางการเมืองในการเจรจาจัดตั้งรัฐบาล และแกนนำพรรคหลายคนยังอ่อนพรรษาการเมืองอยู่ คงต้อง รัดกุม พอสมควรในการเจรจา โดยเฉพาะการเจรจากับเพื่อไทย ที่คงโชว์ความเขี้ยวทางการเมืองออกมาให้เห็นในการเจรจาต่อรอง จนแกนนำก้าวไกลอาจต้องผงะ
โดยหากดูแกนนำพรรคก้าวไกลเวลานี้จะพบว่า บรรดา ตัวตึงพรรคส้ม หลายคนอายุยังไม่ถึง 35 ปีด้วยซ้ำ ทำให้ไม่สามารถเป็นรัฐมนตรีได้
ไม่ว่าจะเป็น ไอติม พริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ รังสิมันต์ โรม 2 ว่าที่ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ก้าวไกล ที่ทั้ง 2 คนอายุยังแค่ 30-31 ปี ทำให้เป็นรัฐมนตรีในรอบนี้ยังไม่ได้ เพราะคนจะเป็นรัฐมนตรีต้องอายุ 35 ปีขึ้นไป แต่ก็น่าจะมีบทบาทหลักในสภาฯ เช่น เป็นประธานคณะกรรมาธิการสามัญ ชุดสำคัญๆ ของสภาฯ
ส่วนคนที่ดูแล้วน่าจะมีโอกาสได้เป็นรัฐมนตรี หากก้าวไกลตั้งรัฐบาลสำเร็จ ก็มีเช่น ศิริกัญญา ตันสกุล หัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล ที่เชี่ยวชาญเรื่องเศรษฐกิจมหภาค และมีบทบาทสำคัญในพรรคมาตลอดตั้งแต่ยุคอนาคตใหม่ โดยเฉพาะการทำนโยบายพรรค จนบางกระแสถึงขั้นมองไปว่า อาจจะลุ้นเป็น รมว.คลังก็ได้ แม้อายุแค่ 42 ปีก็ตาม
ขณะที่คนนอก ที่ไม่ได้เป็น ส.ส.ของก้าวไกลรอบนี้ บางคนก็อาจมีชื่อได้ลุ้นเป็นรัฐมนตรี เช่น เดชรัต สุขกำเนิด อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่มาช่วยงานพรรคก้าวไกลได้ 2 ปีกว่าในตำแหน่งผู้อำนวยการ Think Forward Center พรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นคีย์แมนพรรคตัวจริงในการคิดและวางนโยบายพรรคก้าวไกลในการหาเสียง ก็อาจมีชื่อลุ้นเป็นรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกลอีกคนหนึ่ง
แต่ทั้งหมดจะเกิดขึ้นได้ พรรคก้าวไกลต้องตั้งรัฐบาลให้ได้เสียก่อน ซึ่งถึงตอนนี้มันก็ยังไม่ชัวร์ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า ฝันของพิธา-ก้าวไกล ในการเดินเข้าสู่ตึกไทยคู่ฟ้าและทำเนียบรัฐบาล จะเป็นฝันที่เป็นจริงหรือฝันกลางวัน!!!!.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
47 เก้าอี้นายกฯอบจ. บ้านใหญ่ ลุ้นเข้าวิน-กินเรียบ!
คิกออฟ นับหนึ่งตั้งแต่จันทร์ที่ 23 ธ.ค.ที่เป็นวันแรกของการรับสมัครบุคคลที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งนายกฯ อบจ. 47 จังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงที่ลงสมัครเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั่วประเทศ 76 จังหวัด
‘แม้ว’ ไล่ทุบ- ‘ภูมิใจไทย’ ไม่หมู ‘แดง-น้ำเงิน’ ทนอยู่แบบตบจูบ
นาทีนี้ศึกฝ่ายค้าน-รัฐบาลยังไม่เดือดเท่ากับศึกรัฐบาลด้วยกันเอง แรงขึ้นเรื่อยๆ สำหรับการขบเหลี่ยมของพรรคอันดับ 1 และพรรคอันดับ 2
ขวากหนามแก้รัฐธรรมนูญ คนกันเอง...เล่นเกมต่อรอง
เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่เห็นชอบกับ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ฉบับคณะ กมธ.ร่วมกันพิจารณาเสร็จแล้ว
'ทักษิณ'พังการเมืองท้องถิ่น กระหายอำนาจ ไม่สนขัดแย้ง
“นายใหญ่” ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เจ้าของพรรคเพื่อไทย ต้องการฟื้นคืนชีพระบอบทักษิณโดยไม่สนใจบทเรียนในอดีต จนตัวเองและน้องสาวต้องหนีออกนอกประเทศ รวมถึงบริวารต้องติดคุกแทน
คดีป่วยทิพย์ชั้น14ในมือ‘ป.ป.ช.’ ‘รอด-ร่วง’สะเทือนการเมือง
เป็นอีกหนึ่งคดีที่ท้าทายสำหรับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หลังมีมติแต่งตั้ง องค์คณะไต่สวน ซึ่งประกอบด้วยกรรมการ ป.ป.ช.ทุกคน เพื่อตรวจสอบกรณีกล่าวหานายสหการณ์
นับถอยหลัง 2567 5 ฉากร้อนการเมืองไทย
นับถอยหลังต่อจากนี้ ก็เหลือเวลาอีกแค่ 2 สัปดาห์ ก็เข้าสู่ช่วง “นับถอยหลังอำลา 2567 ต้อนรับปีใหม่ 2568” กันแล้ว