ก้าวไกลผงาดพรึ่บทั่วปท. ตั้งรัฐบาล"ยืดเยื้อ-ต่อรองหนัก"

หลังลุ้นผลการนับคะแนนเสียงเลือกตั้งกันมาตลอดทั้งคืนวันที่ 14 พ.ค. จนตอนนี้เริ่มเห็นทิศทางการเมือง-การจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งกันบ้างแล้ว หลังเห็นผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการที่ออกมา เมื่อช่วงหัวค่ำวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้รู้ถึงจำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคการเมืองจะมีที่นั่งในสภาฯ ภายใต้สิ่งที่หลายคนคงคาดไม่ถึงก็คือ ปรากฏการณ์ ก้าวไกลทั้งแผ่นดิน ที่แรงจริงทั่วประเทศ โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ไม่ใช่แค่ในโพลและโซเชียลมีเดีย 

 ซึ่งแม้ตามกฎหมาย จำนวน ส.ส.ทั้งระบบเขตและปาร์ตี้ลิสต์ ที่แต่ละพรรคมีดังกล่าว โดยเฉพาะ ส.ส.ระบบเขต จะต้องรอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดำเนินการตรวจสอบและประกาศผลการเลือกตั้งเสียก่อน ซึ่งตามกฎหมายบัญญัติว่า กกต.ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว แต่ต้องไม่ช้ากว่า 60 วันนับแต่วันเลือกตั้ง

 กระนั้นคาดว่า ถึงต่อให้ กกต.อาจไม่รับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.บางเขต-มีการแจกใบต่างๆ เช่น ใบเหลืองกับคนที่ชนะการเลือกตั้งบางคน แต่ก็เชื่อว่า คงมีจำนวนไม่มากถึงกับทำให้จำนวน ส.ส.ของแต่ละขั้วเปลี่ยนแปลงกันมาก จนมีผลต่อการจัดตั้งรัฐบาล เพราะถ้าหาก กกต.แจกใบเหลืองใบแดงกับผู้สมัครบางขั้ว เช่น ขั้วฝั่งพรรคเพื่อไทย-ก้าวไกล มากจนผิดปกติ โดยไม่ให้กับอีกฝั่งคือฝั่งพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบันเลย หรือมีการให้บ้าง แต่สัดส่วนน้อยกว่าฝั่งเพื่อไทย-ก้าวไกล แบบนี้ กกต.ก็ต้องถูกมองว่ามีเจตนาทางการเมืองที่ไม่ดี

ประเมินไว้ว่าเรื่องของการแจกใบต่างๆ ของ กกต.ในช่วงรอประกาศผลรับรองการเลือกตั้ง ไม่น่าจะมีผลทำให้ถึงขั้นเปลี่ยนแปลงการจัดตั้งรัฐบาลได้ เพราะ กกต.ก็คงไม่อยากเสี่ยงโดนวิจารณ์ว่าช่วยเหลือขั้วการเมืองบางปีกให้จัดตั้งรัฐบาลได้ ยิ่งหากขั้วการเมืองที่รวมเสียงกันแล้ว เกินระดับ 280 เสียงขึ้นไป ถึงต่อให้มีด่านของ กกต.ในการรับรองผลการเลือกตั้ง แต่ก็น่าจะการันตีการจัดตั้งรัฐบาลได้ชัวร์แล้วระดับหนึ่ง ส่วนว่าจะตั้งสำเร็จหรือไม่ ก็ต้องลุ้นกันอีกหลายชั้น

เพราะดูแล้ว การจัดตั้งรัฐบาลรอบนี้ แนวโน้มจะเป็นการจัดตั้งรัฐบาลที่

"ยืดเยื้อ-ต่อรองสูง"

จนทำให้ระหว่างทางการจัดตั้งรัฐบาล อาจประสบปัญหาในเรื่อง ดีลการเจรจา ที่อาจไม่ลงตัวจนเกิดสูตรตั้งรัฐบาลแบบหลายคนคาดไม่ถึง โดยเฉพาะหากพรรคที่มาร่วมจัดตั้งรัฐบาลไม่ยอมลดเพดานของตัวเองลง ก็อาจทำให้ดีลการเจรจาติดล็อกหลายชั้น จนต้องมีการ เปิดโต๊ะเจรจา กันหลายรอบ ทั้งในที่แจ้งและที่ลับทางการเมือง

ซึ่งเรื่องการเจรจาทางการเมืองเพื่อจัดตั้งรัฐบาล-การโหวตนายกฯ นับจากนี้เป็นต้นไป เชื่อว่าคงเข้มข้น และคงต่อรอง พลิกไปพลิกมากันหลายตลบ จึงเป็นหน้าที่ของมือล็อบบี้ของแต่ละพรรค ต้องเล่นบท ดีลเมกเกอร์ทางการเมือง ในการเจรจาเพื่อทำให้พรรคของตัวเองได้ประโยชน์มากที่สุดบนโต๊ะเจรจาตั้งรัฐบาล โดยคาดกันว่าตั้งแต่เมื่อกลางดึกคืนวันอาทิตย์ที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา แกนนำพรรคการเมืองบางพรรคโทรศัพท์มือถือ อาจดังตลอดเวลา และบางราย คงต้องคุยกันเองภายในพรรคและคุยต่างพรรค ชนิดว่ากว่าจะวางสายได้ ก็จวนเจียนพระอาทิตย์ขึ้นแล้วก็ได้

สำหรับเรื่องการตั้่งรัฐบาล-การโหวตนายกฯ หลังจากนี้ ก็จะเดินไปตามสเต็ปทางการเมือง และขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญ เช่น ต้องมีการตกลงกันให้ได้ก่อนว่า "เก้าอี้ประธานสภาฯ จะเป็นของพรรคการเมืองใดในปีกที่จัดตั้งรัฐบาล"

ซึ่งก็ไม่แน่เสมอไปที่พรรคที่มีเสียง ส.ส.เยอะสุดในฝ่ายจัดตั้งรัฐบาล จะได้โควตาเก้าอี้ประธานสภาฯ ไป

เพราะมีตัวอย่างให้เห็นมาแล้ว กับการเลือกตั้งปี 2562 ที่ พลังประชารัฐ พรรคแกนนำรัฐบาลต้องให้โควตาเก้าอี้กับพรรคประชาธิปัตย์ จนได้ ชวน หลีกภัย มาเป็นประธานสภาฯ เพื่อแลกกับการให้ประชาธิปัตย์ร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐ และพอโหวตเลือกประธานสภาฯ ได้แล้ว ก็น่าจะทำให้พอเห็นทิศทางแล้วว่า การโหวตเลือกนายกฯ และการตั้งรัฐบาลจะมีโฉมหน้าออกมาอย่างไร

โดยในฉากทัศน์การเมืองว่าด้วยเรื่องการตั้งรัฐบาล-การโหวตนายกฯ จุดหนึ่งที่ต้องจับตาก็คือบทบาทของ

สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 เสียง

ที่มีอำนาจพิเศษในการโหวตเลือกนายกฯ จนถึง พ.ค. ปี 2567 ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ที่บัญญัติกระบวนการโหวตเลือกนายกฯ ไว้ว่า

"ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และมติที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้ง 2 สภาในระหว่างเวลาตามวรรคหนึ่ง...”

โดยท่าทีของ ส.ว.นั้น ตอนนี้ เรียกว่าอยู่ในช่วง รอดูสถานการณ์ คือรอดูว่าการจัดตั้งรัฐบาลจะออกมาอย่างไร จะมีอะไรพลิกผันหรือไม่ และฝ่ายที่รวมเสียง ส.ส.ได้มากที่สุด เสนอชื่อใครเป็นแคนดิเดตนายกฯ มาให้ที่ประชุมรัฐสภาโหวต

ที่จะพบว่า ส.ว.ที่ทั้งหมดถูกคัดเลือกชื่อและถูกผลักดันให้ได้เป็น ส.ว.ในช่วงก่อน คสช.จะสลายตัวไป พยายามที่จะบอกว่า จะไม่ฝืนกระแสประชาชนและผลเลือกตั้ง คือหากขั้วการเมืองไหนรวมเสียงได้เกินกึ่งหนึ่ง คือเกิน 250 เสียงของสภาฯ ยิ่งหากเกินระดับ 280-300 เสียง ไปแล้ว ทาง ส.ว.ก็พร้อมจะสนับสนุนให้การจัดตั้งรัฐบาลดำเนินไปได้ด้วยดี ไม่เอาแน่กับเรื่องการทำให้เกิดรัฐบาลเสียงข้างน้อยด้วยการใช้เสียง ส.ว.โหวตเห็นชอบนายกฯ จากขั้วที่รวมเสียงไม่ถึง 250 เสียง แล้วพอได้ตัวนายกฯ แล้ว ค่อยให้ไปดึงเสียง ส.ส.จากพรรคอื่นๆ รวมถึงพวก "งูเห่า" มาเติมภายหลัง จนตั้งรัฐบาล 250 เสียงได้ โดยใช้เสียง ส.ว.มาเป็นสะพานก่อน ส.ว.หลายคนบอกว่า จะไม่ทำเช่นนั้น เพราะเดินไปได้ยากสำหรับรัฐบาลเสียงข้างน้อย และที่สำคัญ ส.ว.ส่วนใหญ่คงมองว่า หากไปร่วมทำคลอดรัฐบาลเสียงข้างน้อย จะทำให้ ส.ว.ที่ใกล้จะหมดวาระแล้ว จะโดนกระแสสังคมวิจารณ์ในทางลบอย่างหนักได้ อาจไม่คุ้มกับชื่อเสียงของตัวเอง

ทว่า ในสุ้มเสียงของ ส.ว.หลายคนที่เริ่มสื่อสารออกมาเรื่องการโหวตเลือกนายกฯ ก็จะพบอย่างหนึ่งว่า ส.ว.หลายคนก็บอกว่า แม้จะพร้อมโหวตให้ฝ่ายที่มีเสียงข้างมากในสภาฯ จัดตั้งรัฐบาลได้ แต่ก็ขอดูรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ ที่เสนอมาด้วยว่า มีความเหมาะสมหรือไม่ ไม่ใช่ว่าเสนอใครมาก็ได้

อย่างเช่นท่าทีของ พลเอกเลิศรัตน์ รัตนวานิช หรือเสธ.อู้ ส.ว.สายอดีตทหารเก่า บอกว่า การโหวตเลือกนายกฯ จะดูที่จำนวนเสียง ส.ส.ของฝ่ายที่ตั้งรัฐบาลที่เสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ที่ต้องมีเสียงข้างมาก และดูจากเรื่องความเหมาะสมของคนที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ ซึ่งเรื่องความเหมาะสมของคนจะมาเป็นนายกฯ มันดูกันไม่ยาก ก็ต้องไปพิจารณากันที่หน้างานตอนโหวตว่าชื่อที่เสนอเข้ามา สมควรจะเข้าไปเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ เพราะการเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่ว่าใครก็เป็นได้ ซึ่งหลักนี้ก็เป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว แต่คิดว่าส่วนใหญ่คนที่เขาจะส่งชื่อมาให้โหวตเป็นนายกฯ ก็คงต้องมีความเหมาะสมอยู่แล้ว แต่ ส.ว.เราก็ต้องย้ำประเด็นนี้ไว้ ผมก็จะขอใช้วิจารณญาณ ซึ่งรับรองว่าไม่ผิดหวัง และคิดว่าคงไม่มีเรื่องการล็อบบี้เกิดขึ้น เพราะทุกคนก็รู้อยู่แล้วว่า ควรจะโหวตอย่างไรเมื่อถึงเวลานั้น

ส่วนว่าหากชื่อที่เสนอมาไม่เหมาะสม แล้ว ส.ว.จะเลือกใช้วิธีงดออกเสียงหรือไม่นั้น พลเอกเลิศรัตน์ ย้ำว่า การงดออกเสียงก็เป็นการแสดงออกอย่างหนึ่งว่าเราไม่เห็นด้วยกับการเสนอมาของพรรคการเมือง ก็เป็นวิธีการหนึ่ง เพราะคนที่จะเป็นนายกฯ ได้ต้องได้เสียงเกิน 376 เสียง ถึงจะเป็นนายกฯ ได้

นี่คือท่าทีของหนึ่งใน ส.ว.ต่อการโหวตนายกฯ ในช่วงที่การเมืองกลับมาพีกอีกครั้ง บนการลุ้นกันแบบวันต่อวันว่า การจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้จะจบเร็วหรือยืดเยื้อ?.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“กาสิโน”เผือกร้อน“กฤษฎีกา” สมดุลการเมือง-ผลกระทบสังคม

จับตาร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. .... หรือร่างกฎหมายกาสิโนในมือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หลัง ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอร่างกฎหมาย ว่าจะตรงปกและเป็นไปตามความต้องการของฝ่ายการเมืองหรือไม่ และอีกหนึ่งมติคือ ข้อห่วงใยผลกระทบทางสังคมและปัญหาอบายมุขตามมา

หวั่นเวชระเบียน'ทักษิณ'จุดชนวน รพ.ตำรวจอึมครึม คปท.ยกระดับ!

ขีดเส้น 15 ม.ค.นี้ คณะอนุกรรมการสอบสวนเฉพาะกิจ แพทยสภา ได้ส่งหนังสือถึง พล.ต.ท.นพ.นพศิลป์ เวชวิทารณ์ นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ จัดส่งเอกสารทำคำชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร เวชระเบียนการรักษาของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่เข้ารักษาตัวที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ กระทั่งออกจาก รพ.ตำรวจ โดยมี นพ.อมร ลีลารัศมี อดีตกรรมการแพทยสภา เป็นประธานอนุกรรมการสอบ

ลุยเปิดกาสิโนส่อสะดุด กฤษฎีกาโดดขวางเต็มสูบ

แนวคิดการทำให้ พนันออนไลน์ ขึ้นมาอยู่บนดิน ตามที่ทักษิณ ชินวัตร ผู้นำรัฐบาลเพื่อไทยตัวจริงส่งสัญญาณมา หลายคนยังมองโมเดลนี้ไม่ออกว่าจะทำได้อย่างไร เพราะน่าจะติดล็อกข้อกฎหมายหลายอย่าง รวมถึงต้องเจอแรงต้านในส่วนของภาคประชาสังคม

1ประเทศ2นายกฯ ระวังจบซ้ำรอยเดิม?

มีหลายส่วนในสังคม คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกอึดอัดกับท่าทีของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่พ้นโทษออกมาโดยไม่ติดคุกแม้แต่วันเดียว แต่ทำตัวเปรียบเหมือนเป็นเจ้าของรัฐบาล

เหลี่ยม"ทักษิณ"หาเสียงนายกอบจ. ก้ำกึ่ง สุ่มเสี่ยง ผิดกฎหมายเลือกตั้ง

การปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.ของ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯ กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง ทั้งสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายเลือกตั้ง และพาดพิงคู่ปรับทางการเมืองอย่างดุเดือด