การบอกกลับบ้านเกือบ 20 ครั้ง ของ “ทักษิณ ชินวัตร” เจ้าของเพื่อไทย และอีกสถานะคือนักโทษหนีคดี ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 พ.ค. ขออนุญาตกลับมาก่อนวันเกิดภายในเดือน ก.ค.นี้ หลังใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศ 17 ปี แต่สาระสำคัญมากสุดคือทวิตเตอร์ครั้งสุดท้ายที่ระบุว่า
"ไม่ต้องกังวลว่าผมจะเป็นภาระพรรคเพื่อไทย ผมจะเข้าสู่กระบวนการกฎหมาย และวันที่ผมกลับยังเป็นช่วงรัฐบาลรักษาการของ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ ทั้งหมดคือการตัดสินใจของผมเอง ด้วยความรักผูกพันกับครอบครัว/แผ่นดินเกิดและเจ้านายของเรา”
หากอ่านและตีความทุกตัวอักษร ถือว่ามีนัยสำคัญและส่งผลทั้งบวกและลบให้ตัวเขาและพรรคเพื่อไทย
โดย “ทักษิณ” เชื่อว่าจะชิงมวลชนกลับมาในอีกไม่กี่วันก่อนเลือกตั้ง 14 พ.ค. เพื่อชนะแลนด์สไลด์ หลังกระแสพรรคก้าวไกล และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค มาแรงแซงทางโค้ง ผ่านโพลหลายสำนัก ต่างๆ
ขณะที่ "อุ๊งอิ๊ง" แพทองธาร ชินวัตร ระยะหลังขายไม่ออก แม้จะเปิดสารคดีเส้นทางสู่การเมือง ต่อด้วยการเปิดใจให้สัมภาษณ์พิเศษของ 2 แคนดิเดต "เสี่ยนิด" เศรษฐา ทวีสิน ก็ไม่ได้สร้างกระแสให้เพื่อไทยกลับมาปัง เหมือนในช่วงก่อนหน้านี้
ฉะนั้นการประกาศกลับบ้านของ "ตัวพ่อพรรคแดง" สุดท้ายจะเสียของ จะสู้ความสดของ พรรคก้าวไกลได้หรือไม่ เพราะที่ผ่านมามีความชัดเจน โดยเฉพาะการสร้างวาทกรรม "มีเราไม่มีลุง มีลุงไม่มีเรา" ขณะที่พรรคสีแดงถูกมองว่าเป็นพรรคสู้ไปกราบไป ซึ่งคนรุ่นใหม่เขารู้ทัน คงต้องดูที่ผลเลือกตั้งอีกครั้งว่าผลจะเป็นอย่างไร อีกทั้งการเคลื่อนไหวครั้งนี้ยังเป็นดาบสองคม เพราะช่วยปลุกฝ่ายอนุรักษนิยมที่ดูเงียบเฉา และมีจำนวนมาก ให้ออกมาช่วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้กลับมาต้านระบอบทักษิณอีกครั้ง
ดังที่ ธนกร วังบุญคงชนะ รมต.ประจำสำนักนายกฯ ออกมายอมรับว่า การกลับบ้านของ ทักษิณเป็นผลบวกกับพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ขณะที่พรรคที่ได้รับผลกระทบอาจเป็นพรรคประชาธิปัตย์ ที่จุดยืนยังไม่ชัดเจนจะจับมือกับพรรคเพื่อไทยหรือไม่ โดยเฉพาะเสียงจากชาวใต้
ส่วนคำพูดของ "ทักษิณ" แม้ถูกบางฝ่ายตีความว่ามีปัญหาและมิบังควร แต่หากมองอีกนัยหนึ่งคือ ส่งสัญญาณบอกว่าไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล และพร้อมถีบให้พรรคส้มเป็นฝ่ายค้านใช่หรือไม่
สำหรับสาเหตุว่าทำไม ต้องกลับมาในช่วงวันเกิด 26 ก.ค. ไม่กลับก่อนเลือกตั้ง เนื่องจากปลอดภัยกว่า และเวลานั้น กกต.จะรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.ภายใต้กรอบเวลา 60 วันเสร็จเรียบร้อย หรือไม่เกินวันที่ 14 ก.ค.
หากผลการเลือกตั้งออกมามีแนวโน้มว่าพรรคเพื่อไทยจะได้เป็นรัฐบาล ก็ถือว่าเป็นคุณกับ "ทักษิณ" ก็อาจจะกลับมา แม้จะอ้างว่าอยู่ในช่วงรักษาการรัฐบาลประยุทธ์ ก็ยอมรับว่าคงไม่มีกำลังอะไรเหลือแล้ว และ คงหมดกำลังและรอกลับไปเลี้ยงหลาน
แต่หากสุดท้ายเพื่อไทยไม่ได้ตามเป้าหมาย หรือฝ่ายรัฐบาลเดิมรวมเสียง ส.ส.ได้เกิน 250 เสียง นายใหญ่คงอยู่ดูไบต่อไป ดีลต่างๆ ที่เชื่อว่าสำเร็จแล้วอาจจะจบลง หรือจริงๆ แล้วอาจจะไม่มีอะไรเลย
ที่สำคัญยังถูก “วิษณุ เครืองาม” รองนายกฯ ยังออกมาดักทางว่า “ทักษิณจะต้องกลับมาติดคุกเท่านั้น เพราะมีคดีความต่างๆ ที่ตัดสินคดีจบลงไปแล้ว
พร้อมเปิดประเด็นว่า "อย่างที่ รมว.ยุติธรรมคนที่แล้วเคยให้ข่าวว่ามีแนวคิด "เฮาส์อาร์เลสท์" ประกาศควบคุมตัวนักโทษที่ไหนก็ได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นที่เรือนจำ โดยประกาศให้เสมือนเป็นเรือนจำ ซึ่งเรื่องนี้เป็นแค่นโยบายสมัยของท่าน ยังไม่มีการดำเนินการอะไรเป็นรูปธรรม ผู้ต้องโทษจึงต้องเข้าสู่สถานควบคุมของทางราชการ ควบคุมตัวที่บ้านไม่ได้"
ทั้งนี้ เมื่อย้อนไปดูนโยบาย "เฮาส์อาร์เลสท์" ก็พบว่าก่อกำหนดตั้งแต่แก้ไข พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ตั้งแต่ปี 2560 และมีการออกกฎกระทรวงหลายฉบับในปี 63 โดยเฉพาะกฎกระทรวง เรื่อง กำหนดสถานที่คุมขัง ลงนามโดย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม เมื่อวันที่ 25 ก.ย.ปี 63 ประกาศราชกิจจานุเบกษา ในวันที่ 12 ต.ค.63 ถือว่ามีผลบังคับใช้ แต่รัฐบาลปัจจุบันยังไม่ได้เริ่มประเดิมใช้
โดยกำหนดนิยาม "สถานที่คุมขัง" ว่าเป็นสถานที่อื่นที่มิใช่เรือนจำ ซึ่งเป็นสถานที่ของทางราชการ หรือเป็นเอกชนที่เจ้าของหรือผู้ปกครองดูแลรักษาสถานที่อนุญาตหรือยินยอมเป็นหนังสือให้ใช้ประโยชน์ในการควบคุมผู้ต้องขัง
สำหรับสถานที่หมายถึงสถานที่ทำการหรือสถานประกอบการเอกชน มูลนิธิ สถานสงเคราะห์ หรือสถานที่ใช้สำหรับการสังคมสงเคราะห์ ไม่ว่าจะเป็นของราชการหรือเอกชน รวมถึงโรงพยาบาล ฯลฯ
ขณะนี้นายสมศักดิ์ที่ย้ายไปเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย เคยชี้แจงหลังถูกนักวิชาการกล่าวหาว่า ในสมัยเป็น รมว.ยุติธรรม เคยออกกฎกระทรวงเพื่อช่วยทักษิณไม่ต้องติดคุกในเรือนจำว่า ข้อเท็จจริง พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ ปี 60 เริ่มร่างเมื่อปี 58 ตนยังไม่ได้ดำรงตำแหน่ง รมว.ยุติธรรม ซึ่งตนเข้ามาเมื่อปี 62
ส่วนการออกกฎกระทรวงใหม่ ก็เป็นขั้นตอนสืบเนื่องจากการออก พ.ร.บ.เมื่อประกาศใช้ ปี 60 ส่วนราชการเจ้าของกฎหมายก็ต้องยกร่างกฎกระทรวงใหม่ ซึ่งใช้เวลาทั้งหมด 3 ปี จากกรมราชทัณฑ์ไปกระทรวง ยธ.ส่งเข้า ครม.ส่งไปให้กฤษฎีกาตรวจร่าง แล้วถึงส่งคืนมาให้ รมว.ยุติธรรม ลงนามในปี 63
"ส่วนที่มีการกำหนดสถานที่อื่นที่ไม่ใช่เรือนจำนั้น ใช้สำหรับผู้ต้องโทษระยะสั้น ผู้ใกล้จะพ้นโทษ ผู้ป่วย แต่ไม่ใช่นักโทษเข้าใหม่แต่อย่างใด" นายสมศักดิ์กล่าวไว้เมื่อวันที่ 31 มี.ค. ปี 66
ต้องจับตาดูว่าพรรคเพื่อไทยจะชนะเลือกตั้ง และเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ ควบคู่จะกล้าปรับเงื่อนไขต่างๆ เพื่อผลักดันนโยบาย "เฮาส์อาร์เลสท์" เพื่อนำ "ทักษิณ" กลับบ้านโดยไม่ต้องติดคุก สอดรับกับที่ตัวเขาทวีตว่า "ผมจะเข้าสู่กระบวนการกฎหมาย"
หรือไม่.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“พ่อเลี้ยง”เปลี่ยนสนามรบเป็นทุน “ดับไฟใต้-สันติภาพเมียนมา”
“ฉายารัฐบาลพ่อเลี้ยง” นับเป็นภาพการเมืองในฝ่ายบริหารที่ “วิญญูชน” พึงประจักษ์ได้ว่าเป็นอย่างไร โดยเฉพาะการขยับตัวและคำพูดของ “ทักษิณ ชินวัตร” วิทยากร-นักวิชาการของพรรคเพื่อไทย
47 เก้าอี้นายกฯอบจ. บ้านใหญ่ ลุ้นเข้าวิน-กินเรียบ!
คิกออฟ นับหนึ่งตั้งแต่จันทร์ที่ 23 ธ.ค.ที่เป็นวันแรกของการรับสมัครบุคคลที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งนายกฯ อบจ. 47 จังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงที่ลงสมัครเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั่วประเทศ 76 จังหวัด
‘แม้ว’ ไล่ทุบ- ‘ภูมิใจไทย’ ไม่หมู ‘แดง-น้ำเงิน’ ทนอยู่แบบตบจูบ
นาทีนี้ศึกฝ่ายค้าน-รัฐบาลยังไม่เดือดเท่ากับศึกรัฐบาลด้วยกันเอง แรงขึ้นเรื่อยๆ สำหรับการขบเหลี่ยมของพรรคอันดับ 1 และพรรคอันดับ 2
ขวากหนามแก้รัฐธรรมนูญ คนกันเอง...เล่นเกมต่อรอง
เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่เห็นชอบกับ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ฉบับคณะ กมธ.ร่วมกันพิจารณาเสร็จแล้ว
'ทักษิณ'พังการเมืองท้องถิ่น กระหายอำนาจ ไม่สนขัดแย้ง
“นายใหญ่” ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เจ้าของพรรคเพื่อไทย ต้องการฟื้นคืนชีพระบอบทักษิณโดยไม่สนใจบทเรียนในอดีต จนตัวเองและน้องสาวต้องหนีออกนอกประเทศ รวมถึงบริวารต้องติดคุกแทน
คดีป่วยทิพย์ชั้น14ในมือ‘ป.ป.ช.’ ‘รอด-ร่วง’สะเทือนการเมือง
เป็นอีกหนึ่งคดีที่ท้าทายสำหรับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หลังมีมติแต่งตั้ง องค์คณะไต่สวน ซึ่งประกอบด้วยกรรมการ ป.ป.ช.ทุกคน เพื่อตรวจสอบกรณีกล่าวหานายสหการณ์