เลือกตั้ง 66 ปชป.ลำบาก ฐานเสียงปันใจให้ “ลุงตู่”

หน้าตาการเมืองไทยสำคัญที่สุดอยู่ที่ “ผลการเลือก” ของแต่ละพรรคการเมือง จากนั้นจะต้องว่ากันที่ “เกมจัดตั้งรัฐบาล” ซึ่งสำคัญกว่า ต้องจับตาว่าจะมีใครปาดหน้าพรรคที่มีคะแนนเป็นอันดับ 1 อีกหรือไม่ และอีกประการต้องติดตามคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะแขวนไม่ประกาศรับรองกี่เขต หรือจะมีประกาศยุบพรรคการเมืองบ้างหรือไม่ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ทำให้การเมืองปั่นป่วนได้ แม้การเลือกตั้งจะผ่านพ้นไปแล้วก็ตาม

โฟกัส “5 วัน” สุดท้ายก่อนวันตัดสิน อาทิตย์ที่ 14 พ.ค.นี้ ผลโพลสำรวจคะแนนนิยมของประชาชนพอเป็นกรอบกว้างๆ ให้เห็นว่าขณะนี้ฝ่ายก้าวหน้า ทั้งเพื่อไทย และก้าวไกล นำห่างฝ่ายอนุรักษนิยมพอสมควร แต่ต้องละไว้ในฐานที่เข้าใจว่า โพลคือการออกไปเก็บข้อมูลแบบสุ่มตัวอย่างเพียงไม่กี่พัน กี่หมื่นความเห็นของประชาชนเท่านั้น

ทว่า พรรคเพื่อไทยและก้าวไกลต่างมั่นอกมั่นใจจนขณะนี้กล้าเปิดเผยแล้วว่าเงื่อนไขการเป็นรัฐบาลของตัวเองมีอะไรบ้าง สำหรับ “อิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตเพื่อไทย ระบุว่า พรรคที่มาร่วมกันนั้นต้องมีนโยบายตรงกัน นายกรัฐมนตรีมาจากพรรคเพื่อไทย และรัฐมนตรีกระทรวงสำคัญต้องมาจากพรรคเพื่อไทย

ขณะที่ก้าวไกล “ชัยธวัช ตุลาธน” เลขาธิการพรรค เปิดเผยว่า ข้อตกลงร่วมกันในการจัดตั้งรัฐบาลขึ้นอยู่กับจำนวน ส.ส.ของพรรค ทั้งการลงประชามติถามประชาชนว่าต้องการจะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงหรือไม่ จะปฏิรูปกองทัพโดยเริ่มต้นจากการยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหาร สุราก้าวหน้า และสมรสเท่าเทียม ยกเลิกประกาศคำสั่ง คสช.ที่ไปลดอำนาจของท้องถิ่น แก้กฎหมายเพิ่มส่วนแบ่งของภาษีสำคัญให้กับท้องถิ่น และจัดทำประชามติถามประชาชนว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ

ทั้งหมดที่ว่ามาเป็นความเคลื่อนไหวของ 2 ม้าตัวเต็งในการเลือกตั้งปี 66

ส่วนกลุ่มอนุรักษนิยมแต้มยังเป็นรองทุกประตู โดยในฝ่ายเดียวกันนั้น “พรรครวมไทยสร้างชาติ” ดูเป็นความหวังมากที่สุด ด้วยจุดยืนของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ชัดเจนไม่เอาระบอบทักษิณ จึงทำให้ได้รับความนิยมขึ้นมาแทนที่ “ประชาธิปัตย์” ที่แต่ก่อนยืนซดกับระบอบดังกล่าวอยู่พรรคเดียว

บัดนี้ภายใต้การนำในยุค “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” ออกแนวสงบปากสงบคำ อ้างมารยาททางการเมือง “ไม่ขอวิจารณ์” จึงทำให้ระยะหลังความนิยม “พรรค” รวมถึง “ตัวหัวหน้า” ไม่มีกระแสเป็นที่พูดถึงเหมือนเดิม ซึ่งแตกต่างจาก พล.อ.ประยุทธ์เป็นอย่างมาก ส่งผลให้การหาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ยุคนี้เหนื่อยยากแสนเข็ญเป็นพิเศษ

โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้โดน “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์เจาะพรุน เผลอๆ พี่น้องปักษ์ใต้จะกาให้ “รวมไทยสร้างชาติ” ทั้ง 2 ใบแบบไม่สนตัวผู้สมัครจะหน้าเก่า หน้าใหม่ มีผลงานหรือไม่มีผลงาน เพราะอย่างน้อยก็อุ่นใจ “พล.อ.ประยุทธ์” เอาอยู่!!

ยิ่งตอนนี้ “โทนี่” ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ประกาศเป็นมั่นเหมาะ “ไม่ต้องกังวลว่าผมจะเป็นภาระพรรคเพื่อไทย ผมจะเข้าสู่กระบวนการกฎหมาย และวันที่ผมกลับยังเป็นช่วงรัฐบาลรักษาการของ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ ทั้งหมดคือการตัดสินใจของผมเองด้วยความรักผูกพันกับครอบครัว/แผ่นดินเกิดและเจ้านายของเรา”

รุ่นเก๋าคนใต้หลายคนไม่ปลื้ม “ทักษิณ” เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เจอแบบนี้เข้าไปมีสะพรึง คิดเอาเองแล้วกันเขาจะฝากผีฝากไข้กับใคร? ระหว่าง “พล.อ.ประยุทธ์” กับ “นายจุรินทร์”

สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานคร แม้กระแสประชาธิปัตย์ไม่มี แต่เชื่อว่าจะไม่มีอะไรแย่กว่าการเลือกตั้งคราวที่แล้วที่สูญพันธุ์ไม่ได้แม้แต่เก้าอี้เดียว อย่างน้อยที่สุดมีการประเมินกันว่าน่าจะได้ ส.ส.จาก 3 เขตเลือกตั้งด้วยความสามารถของตัวบุคคลในพื้นที่ล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับกระแสพรรค เพราะอย่างไรเสียเรื่องกระแสนิยมนั้นสู้เพื่อไทยและก้าวไกลไม่ได้เลย

เรียกว่า “ประชาธิปัตย์” หืดขึ้นคอ นาทีนี้ป้องกันแชมป์ยังร้อนๆ หนาวๆ ความหวังที่ว่าจะได้ที่นั่งเพิ่มคงต้องอาศัยความสามัคคีและผนึกกำลังอย่างเหนียวแน่น เพราะต้องสู้ทั้งกับกระแส กระสุนที่จะอัดแน่นๆ ช่วงโค้งสุดท้าย

การปรับยุทธศาสตร์ใน 5 วันอันตราย เพียงแค่มีภาพ “หัวหน้าจุรินทร์” ทำหน้าพริ้มอบอุ่นหัวใจที่ได้อยู่ในอ้อมกอดของ “พล.อ.ประยุทธ์”, การตอกย้ำจุดยืน “4 ทำ 3 ไม่”, การขอให้ชาวบ้านเชื่อมั่นประชาธิปัตย์พาชาติรอด หรือแม้แต่การยืนยันเลือกประชาธิปัตย์ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐยังคงอยู่แน่นอนนั้น ขณะเดียวกันปล่อยให้ลูกหม้อของพรรคคอยอัด “พล.อ.ประยุทธ์” อยู่ข้างหลัง คงยังไม่เพียงพอที่จะทำให้พรรคกลับมารุ่งเรืองเหมือนตอนได้ ส.ส.เป็นร้อยๆ คน

หลังทราบผลการเลือกตั้ง 14 พ.ค. ช็อตต่อไปสำหรับประชาธิปัตย์คือ เลือกหัวหน้าพรรครอบใหม่ เนื่องจาก “จุรินทร์” ครบวาระ 4 ปี คงต้องจับตาไปที่ตัวหัวหน้าและทีมกรรมการบริหารพรรค ยังจะเป็นชุดเดิมหรือจะปรับเปลี่ยนอย่างไร.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?

ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่

ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด

นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย

จับตาคลอดโผแต่งตั้ง“นายพลใหญ่” ตำรวจคนสนิทฝั่งรัฐบาลพรึบยกแผง

จับตาบ่ายวันนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายล็อตแรก “นายพลใหญ่” ระดับรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ-ผบช. ที่นายกฯ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2567 เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อ “พล.ต.อ.-พล.ต.ท.” วาระประจำปี 2567

ยากจะขวาง‘โต้ง’นั่งปธ.บอร์ดธปท. แนวต้านขอสกัดจนนาทีสุดท้าย!

แม้จะมีข่าวว่า กรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติเลือก เสี่ยโต้ง-นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ให้เป็นประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่

โค้งสุดท้ายศึกนายกอบจ.อุดรฯ เดิมพันสูง พท.VSปชน.แพ้ไม่ได้

นับจากวันจันทร์ที่ 18 พ.ย.ก็เหลืออีกเพียง 7 วันเท่านั้น ก็จะถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ศึกนายกฯ อบจ.อุดรธานี ทำให้ตอนนี้ถือว่าเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายที่จะได้รู้กันแล้วว่า

‘แม้ว’ ย่ามใจไม่เลี้ยงหลาน ทำตัวเป็น ‘ส่วนหนึ่งของปัญหา’

แม้แต่ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" ประธานคณะก้าวหน้า และอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ยังตั้งคำถามต่อ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี