เดิมพันสูง"บ้านใหญ่"แพ้ไม่ได้ มี-ไม่มี-"ล้มช้าง-ล็อกถล่ม"?

ผลเลือกตั้ง 14 พ.ค.ซึ่งคาดหมายกันว่า น่าจะรู้ผลการนับคะแนนในหลายจังหวัดทั่วประเทศแบบไม่เป็นทางการ ประมาณไม่เกิน 4 ทุ่มคืนวันดังกล่าว แต่บางจังหวัดที่ไม่ใช่จังหวัดขนาดใหญ่มากนัก ก็น่าจะรู้ผลเร็วกว่านั้นพอสมควร โดยหนึ่งในบริบทการเมืองที่หลายคนรอติดตามก็คือ จะเป็นศึกเลือกตั้งที่จะมีการ

ล้มช้าง-ล็อกถล่ม ของแต่ละจังหวัดหรือไม่?

ที่ก็คือบรรดาตัวเต็ง-ตัวตึงทั้งหลาย ในแต่ละจังหวัดจะสอบตกหรือไม่นั่นเอง

โดยเฉพาะพวก บ้านใหญ่-ตระกูลดังการเมือง ในแต่ละจังหวัด ที่ต้องดูว่า จะยังได้รับแรงสนับสนุนจากประชาชนในพื้นที่ ให้คนในเครือข่ายบ้านใหญ่ชนะเลือกตั้ง หรือจะเลือกคนอื่น-พรรคอื่น  

จะพบว่า หากสแกนรายจังหวัดจริงๆ เกือบทุกจังหวัดมีเครือข่ายบ้านใหญ่อยู่ด้วยกันทั้งสิ้น เพียงแต่จะมีบทบาทในพื้นที่มากน้อยแค่ไหน แต่บ้านใหญ่ที่ดังๆ ไม่ใช่แค่ในจังหวัด แต่ดังในระดับชาติ พบว่ามีบ้านใหญ่หลายหลังเช่นกัน

ยกตัวอย่างเช่น สมุทรปราการ ที่ทุกคนต้องนึกถึง บ้านใหญ่ม้าทองคำ-อัศวเหม ที่ยังปักหลักอยู่ที่พลังประชารัฐ กับบิ๊กป้อม-พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ

      รอบนี้บ้านใหญ่อัศวเหม ถูกจับตามองว่าจะได้รับผลกระทบจากการไม่มีเสาหลัก ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม มากน้อยแค่ไหน และแบ็กอัพที่มีอยู่ในการเมืองท้องถิ่นในจังหวัดสมุทรปราการ โดยเฉพาะ สะใภ้บ้านใหญ่ ทั้ง 2 คน คือ นันทิดา อัศวเหม นายกฯ อบจ.สมุทรปราการ และประภาพร อัศวเหม นายกเทศมนตรีนครสมุทรปราการ จะช่วยทำให้กลุ่มบ้านใหญ่อัศวเหมประสบความสำเร็จในศึกเลือกตั้งเหมือนตอนปี 2562 ได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่ไม่ใช่แค่สมุทรปราการกำลังรอติดตาม แต่คอการเมืองทั่วประเทศก็รอดูเช่นกัน

      สำหรับคนในตระกูลอัศวเหมที่ลงเลือกตั้งระบบเขต มีทั้งสิ้น 3 คนคือ อัครวัฒน์-วรพร- ต่อศักดิ์ และปาร์ตี้ลิสต์ 1 คน คือ พิม อัศวเหม อันดับ 8 ส่วนอีกคนคือ ชนม์ทิดา อัศวเหม ลูกสาวชนม์สวัสดิ์ ไปลงปาร์ตี้ลิสต์ภูมิใจไทย ด้วยเหตุผลส่วนตัว

ศึกนี้ กลุ่มปากน้ำ-บ้านใหญ่อัศวเหมมีภารกิจสำคัญต้องทำให้ลูกทีมทั้งหมดสู้เพื่อเอาชนะให้ได้มากที่สุดจาก 8 เก้าอี้ ซึ่งเดิมทีมองกันว่า คู่ต่อกรหลักน่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย ที่คุมทีมโดย ประชา ประสพดี อดีต รมช.มหาดไทย และสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ อดีต รมช.พาณิชย์ และบางเขตสู้กับรวมไทยสร้างชาติ โดยเฉพาะเขต 7 ที่่ส่ง ไพลิน เทียนสุวรรณ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พปชร.ที่ย้ายไปรวมไทยสร้างชาติ ที่พลเอกประยุทธ์ นายกฯ ลงพื้นที่หาเสียงให้เป็นการเฉพาะ เมื่อวันศุกร์ที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา

แต่ปรากฏว่า ช่วงหลังกระแส พรรคก้าวไกล มาแรงมากหลายจังหวัด รวมถึงที่สมุทรปราการด้วย จนเริ่มมีการพูดกันเยอะว่า ก้าวไกลอาจเจาะได้บางเขต เลยทำให้บ้านใหญ่อัศวเหมตอนนี้ต้องแบกน้ำหนักสู้รอบทิศ และน่าจะปรับกำลังปรับกลยุทธ์สู้อยู่ในช่วงโค้งสุดท้าย

นอกจากนี้บ้านใหญ่อีกหลายจังหวัดก็กำลังถูกจับตามองว่าจะได้รับผลกระทบจาก กระแสก้าวไกล มาแรงในช่วงนี้หรือไม่

 อย่างที่ ชลบุรี เดิมทีก็เป็นการสู้กันแบบ รบแตกหัก-ศึกแห่งศักดิ์ศรี ระหว่าง บ้านใหญ่คุณปลื้ม ของสนธยา คุณปลื้ม จากเพื่อไทย กับ บ้านใหม่เมืองชลฯ สุชาติ ชมกลิ่น จากรวมไทยสร้างชาติ แต่หลังกระแสก้าวไกลมาแรงในโซนภาคตะวันออก 

เลยมองกันว่า ไม่แน่ คะแนนที่จะไปลงที่ก้าวไกล ซึ่งหากคะแนนของก้าวไกลชนะไม่ขาด ก็จะไปตัดคะแนนของบ้านใหญ่คุณปลื้ม จนไปเข้าทางฝ่ายสุชาติ-รวมไทยสร้างชาติ เลยทำให้ ตอนนี้บ้านใหญ่คุณปลื้ม นอกจากต้องสู้กับกลุ่มสุชาติแล้ว ยังต้องพะวงหนักกับกระแสของก้าวไกลในชลบุรี เลยกลายเป็นว่าแค่สู้กับกลุ่มสุชาติก็หนักแล้ว ยังต้องมาคอยต้านกระแสก้าวไกลที่จะมาตัดคะแนนกลุ่มตัวเองอีก

      ส่วนที่ โคราช-นครราชสีมา ผู้คนก็จับจ้องกันว่า บ้านใหญ่-รัตนเศรษฐ ของวิรัช รัตนเศรษฐ แกนนำพลังประชารัฐ ที่รอบนี้คนในเครือข่ายลงเลือกตั้งกันถึง 7 คน

 แยกเป็นปาร์ตี้ลิสต์ ที่ก็อยู่อันดับต้นๆ คือ อธิรัฐ รมช.คมนาคม อันดับที่ 4 ส่วนวิรัช อันดับที่ 9 ส่วนระบบเขต ส่งลง 5 คน คือ ทัศนียา ภรรยาวิรัช-ทวิรัฐ ลูกชาย-อรัชมน ภรรยา อธิรัฐ-ทัศนาพร เกษเมธีการุณ น้องภรรยาวิรัช-ตติรัฐ ลูกชายอีกคนของวิรัช

คาดกันว่าหากวิรัชพาลูกทีมคนในบ้านใหญ่ของตัวเองเข้าสภาฯ ได้ทั้งหมด แล้วพลังประชารัฐเป็นพรรคร่วมรัฐบาล โควตารัฐมนตรียังไงบิ๊กป้อมจัดให้บ้านใหญ่รัตนเศรษฐแน่นอน แต่ศึกนี้ก็ไม่ง่าย เพราะต้องสู้หนักกับทั้งเพื่อไทย-ภูมิใจไทย

นอกจากนี้ก็ยังมีอีกหลาย บ้านใหญ่ให้ต้องติดตามกันว่า รอบนี้จะผงาดหรือกลายเป็นช้างล้ม ไม่ว่าจะเป็นเช่นที่นครปฐม ซึ่งรอบนี้ บ้านใหญ่-สะสมทรัพย์ ยังคงส่งชุดใหญ่ลงทำศึกในเสื้อพรรคชาติไทยพัฒนา ทั้ง เผดิมชัย-อนุชา-พาณุวัฒณ์ ส่วนที่ อุทัยธานี บ้านใหญ่ตระกูลไทยเศรษฐ์ยังคงเป็น 2 คนเดิม คือ ชาดา กับเจเศรษฐ์ หลานชาย ซึ่งหากภูมิใจไทยได้เป็นรัฐบาล คาดว่ารอบนี้ ชาดาคงขอเป็นรัฐมนตรีเองแล้ว หลังให้น้องสาว มนัญญา เป็น รมช.เกษตรฯ มา 4 ปีเต็ม 

ส่วนที่ สระแก้ว ก็น่าติดตามว่า บ้านใหญ่เทียนทอง ของ ขวัญเรือน เทียนทอง ที่ลาออกจากนายกฯ อบจ.สระแก้ว มาลงสมัคร ส.ส.แล้วให้ลูกชาย ฐานิสร์ ไปลงนายกฯ อบจ.สระแก้วแทน และชนะเลือกตั้งแบบถล่มทลาย รอบนี้บ้านใหญ่เทียนทองยุคเจ๊ขวัญเรือน ที่ลง ส.ส.ครั้งแรกในชีวิต หลังอยู่เบื้องหลังกลุ่มเทียนทอง-วังน้ำเย็นที่สระแก้วมาหลายสิบปี โดยลงพร้อมลูกสาว ตรีนุช-รมว.ศึกษาธิการ 

รอดูกัน เจ๊ขวัญเรือน จะทำให้พลังประชารัฐชนะยกจังหวัดแบบปี 2562 ได้อีกหรือไม่ ส่วนการแข่งกับเสนาะ เทียนทอง คนตระกูลเดียวกันนั้น รอบนี้เทียนทองสายเสนาะไม่หวังอะไรแล้ว ขอลุ้นแค่เขตเดียวคือเขต 3 ที่ส่ง สรวงศ์ อดีต รมช.สาธารณสุข ลูกเสนาะ ได้กลับไปเป็น ส.ส.อีกรอบ แต่ข่าวว่า เจ๊ขวัญเรือนไม่ยอม ยังไง พปชร.ต้องชนะยกจังหวัด ไม่มีทางอ่อนข้อให้เสนาะเด็ดขาด แม้จะเป็นเครือญาติกันก็ตาม!

 และอีกจังหวัดติดกันกับสระแก้ว คือ ปราจีนบุรี ก็น่าติดตามว่า บ้านใหญ่วิลาวัลย์ ของโกทร-สุนทร วิลาวัลย์ นายกฯ อบจ.ปราจีนบุรี ซึ่งปีที่แล้วเจอวิบากกรรมหนักทั้งตัวเองและลูกสาว กนกวรรณ อดีต รมช.ศึกษาธิการ ในคดีบุกรุกที่ป่าสงวนฯ ถึงตอนนี้ต้องดูกันว่า บารมีของสุนทร บ้านใหญ่วิลาวัลย์ในจังหวัดปราจีนบุรี จะทำให้ภูมิใจไทยชนะเลือกตั้งยกจังหวัดกวาด 3 เก้าอี้แบบปี 2562 จนอนุทินให้โควตารัฐมนตรีกับกลุ่มปราจีนบุรีมาแล้ว ส่วนครั้งนี้จะทำได้อีกหรือไม่ รอติดตาม

ข้างต้นคือการยกตัวอย่าง บ้านใหญ่การเมือง ในบางจังหวัดมาให้เห็นเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงยังมีบ้านใหญ่อีกหลายจังหวัดที่น่าติดตามไม่แพ้กันว่า ศึกเลือกตั้งนี้รอบนี้จะสามารถชนะเลือกตั้งหรือไม่ ขณะเดียวกัน ว่าไปแล้วบ้านใหญ่การเมืองก็ไม่ได้มีแค่ที่ต่างจังหวัด อย่างใน กรุงเทพมหานคร ก็มีบางโซนเช่นกัน อย่างฝั่งธนบุรี แถวๆ บางขุนเทียน-จอมทอง-บางบอน เป็นที่รู้กันว่า ตระกูล ม่วงศิริ ที่อยู่ในแวดวงการเมืองระดับชาติและท้องถิ่นมาหลายสิบปี ถือว่าเป็นบ้านใหญ่การเมืองของฝั่งธนบุรีได้เช่นกัน โดยตอนนี้ บ้านใหญ่ม่วงศิริ ปักหลักอยู่ที่ประชาธิปัตย์

ซึ่งล่าสุด คนของม่วงศิริชนะเลือกตั้ง ส.ก.กรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2565 สองคนคือ สารัช ม่วงศิริ ส.ก.บางขุนเทียน และณรงค์ศักดิ์ ม่วงศิริ ส.ก.บางบอน ส่วนเลือกตั้ง ส.ส.รอบนี้ ก็ส่งคนในตระกูลลงสมัคร ส.ส.เขต กทม.ประชาธิปัตย์ พร้อมกัน 3 คนรวดคือ สุวัฒน์-สากล-วณิชชา ที่ก็เป็นตัวความหวังของ ปชป.ในฝั่งธนบุรีพอสมควร

ส่วนว่า บ้านใหญ่-บ้านไหน จะผงาดหรือกลายเป็นช้างล้มในศึกเลือกตั้งรอบนี้ ดึกๆ วันที่ 14 พ.ค.มารอดูกัน. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ติดสลักกม.ประชามติ รธน.ใหม่ส่อลากยาว

สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ได้ข้อสรุปหลักเกณฑ์ที่จะใช้สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรียบร้อย โดยให้ยึดเสียงข้างมาก 2 ชั้น กล่าวคือ 1.ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด และ 2.ต้องได้เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ์

ชนักติดหลัง-หอกดาบ ที่ค้างอยู่ของ"ทักษิณ"

แน่นอนว่า ทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย ย่อมต้องถอนหายใจโล่งอก ที่ไม่ต้องตกอยู่ในสถานะ ผู้ถูกร้อง ที่ศาลรัฐธรรมนูญ หลังศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง-ไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัยในคดีที่ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือ "คดีล้มล้างการปกครอง" ที่ศาล รธน.มีมติยกคำร้องไปเมื่อ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา

'ชินวัตร' ตีปีกดันรัฐบาลครบเทอม วิบากกรรมไล่ล่า 'ชั้น14' หลอกหลอน

ดูจากมติเอกฉันท์ของศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49

แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?

ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่

ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด

นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย

จับตาคลอดโผแต่งตั้ง“นายพลใหญ่” ตำรวจคนสนิทฝั่งรัฐบาลพรึบยกแผง

จับตาบ่ายวันนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายล็อตแรก “นายพลใหญ่” ระดับรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ-ผบช. ที่นายกฯ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2567 เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อ “พล.ต.อ.-พล.ต.ท.” วาระประจำปี 2567