โค้งสุดท้าย พรรคเพื่อไทยออกอาการแกว่งอย่างชัดเจน เพราะอาจไม่ได้แลนด์สไลด์ หลังพรรคก้าวไกลกระแสดีวันดีคืน ประกอบกับสำนักโพลหลายแห่งก็ยกให้ "ทิม" พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค มีเรตติ้งสูงกว่า "อุ๊งอิ๊ง" น.ส.แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย ที่ลดบทบาท เพราะมีภารกิจคลอดลูกชายไปเมื่อวันที่ 1 พ.ค.
เมื่อกระแสทรงๆ จึงเหนื่อยไปถึง “นายใหญ่” ทักษิณ ชินวัตร ต้องออกมาเรียกคะแนนสงสาร ว่าจะกลับบ้านที่ไทยมาเลี้ยงหลานในเร็วๆนี้
สอดรับกับ "อุ๊งอิ๊ง" ต้องรีบลุกออกจากเตียงโรงพยาบาล พาลูกชายออกมาแถลงข่าว พร้อมประกาศช่วยพรรคหาเสียง12 พ.ค. ที่อิมแพ็คอารีนา เมืองทองธานี หวังโกยแต้มที่ไหลไปจากพรรคสีส้มให้กลับคืนมา
สาเหตุที่ "ทักษิณ" และ "อุ๊งอุิ๊ง" ต้องออกโรงช่วยหาเสียงเนื่องจากที่ผ่านมา "เสี่ยนิด" เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ อีกคนของพรรคเพื่อไทย ไม่สามารถเรียกกระแสได้ รวมทั้งเนื้อหาการปราศรัยยังมีปัญหา หลังกล่าวหาโจมตีพรรคภูมิใจไทยว่าสนับสนุนโยบายเสรี จนเกิดการมอมเมาเยาวชน แถมยังระบุว่าเลือกพรรคสีน้ำเงินจะได้ "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ อีกรอบ
ล่าสุดพรรคภูมิใจไทยไฟเขียวให้ลูกพรรคฟ้องร้องได้ นำร่องโดย สหายแสง-นายศุภชัย โพธิ์สุ อดีตรองประธานสภาฯ คนที่ 2 และผู้สมัคร ส.ส.นครพนม แจ้งความต่อ กกต. เพราะการปราศรัยของ "เศรษฐา" อีกทั้งคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยไม่ยอมควบคุม จึงเข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้งตาม พ.ร.ป.ว่าด้วย ส.ส.มาตรา 73 (5) และ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 101 โทษหนักถึงขั้นตัดสิทธิ์รับสมัครเลือกตั้งหัวหน้าพรรค คณะกรรมการบริหารพรรค และนำไปสู่การยุบพรรคการเมืองได้
นอกจากนี้การประกาศจุดยืนต่างๆ ของ เสี่ยนิด ยังสุ่มเสี่ยงให้เส้นทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยแคบลง เพราะก่อนหน้านี้ก็ประกาศไม่เอา “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หวังสยบกระแสดีลลับระหว่างบ้านป่ารอยต่อฯ กับดูไบ ที่ทำให้คะแนนตัวเองเสียหาย มาให้แก่พรรคเพื่อไทย
หรือไม่ร่วมงานกับพรรคสนับสนุนกัญชา และเลือก ภท. ได้ “บิ๊กตู่” นั่นหมายถึงพรรคภูมิใจไทย เพราะทราบดีว่าคะแนนนิยมในตัวผู้สมัครเขตในพื้นที่อีสานใต้ อาทิ จ.บุรีรัมย์ จ.สุรินทร์ จ.ศรีสะเกษ และ จ.นครพนม สู้พรรคสีน้ำเงินไม่ได้
จึงต้องประดิษฐ์วาทกรรมเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือคู่แข่ง ทั้งที่ก่อนหน้านี้พรรคภูมิใจไทยส่งสัญญาณที่เป็นมิตร สนับสนุนพรรคการเมืองที่ได้รับอันดับหนึ่งจัดตั้งรัฐบาล และขอให้ลืมความบาดหมางในอดีตระหว่าง ทักษิณ และ เนวิน ชิดชอบ ที่เนิ่นนานมาแล้ว
ดังนั้นการจะตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งต้องดูที่ตัวเลข การไปประกาศอะไรก่อน จึงไม่เป็นผลดีกับตัวเองและพรรค เพราะผู้ตัดสินใจตัวจริงของพรรคเพื่อไทย คือ ทักษิณ ไม่ใช่ เศรษฐา
ดังที่ก่อนหน้านี้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า แกนนำพรรคพลังประชารัฐ ออกมาเตือนว่า ต้องถามว่าคนที่ออกมาพูดเป็นคนที่มีอำนาจตัดสินใจหรือไม่
"บางคนเวลาไมค์จ่อปากก็พูดเอามัน ลืมไปว่า อ้าว ผมไม่ได้มีอำนาจในการตัดสินใจ เรื่องของพรรคเป็นเรื่องของกรรมการบริหารพรรคในการตัดสินใจ"
รวมทั้ง "เสี่ยหนู" อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ออกมาสอนมวยเช่นกัน "ถึงเวลาจริงๆ ก็รู้กันอยู่ว่าใครเคาะได้ ใครได้แต่พูด ตรงนี้คนการเมืองเขารู้ดี ผมไม่ขอพูด....ถ้าจำเป็นต้องพูดคุย ทุกพรรคการเมืองเราจะรู้ว่าคนนี้ตัวจริง คนนี้ตัวไม่จริง"
สมมุติว่าหลังเลือกตั้ง หากพรรคเพื่อไทยไม่ได้แลนด์สไลด์ หรือเสียงไม่ถึง 250 เสียง ตามที่ระยะหลังโพลต่างๆ ออกมาขานรับตัวเลขนี้
อย่างที่ทราบกันดีว่าเป้าหมายหลักของพรรคเพื่อไทยจำเป็นต้องเป็นรัฐบาลก่อนเป็นอันดับแรก หลังห่างหายจากอำนาจไปมากกว่า 8 ปี ฉะนั้นรอบนี้หากไม่ได้กลับเข้ามาสู่อำนาจ มีหวังพรรคแตก งูเห่าสีแดงไหลออกหมดพรรคแน่นอน
ขณะที่ตำแหน่งนายกฯ ถือเป็นเรื่องยากเพราะต้องใช้เสียงมากถึง 376 เสียง หากรวบรวมเสียงไม่ได้ ก็เป็นช่องทางให้พรรคการเมืองอื่นๆ เข้ามาต่อรอง
หากอยากได้เสียงของพรรคพลังประชารัฐ ที่หมายถึงเสียงของ ส.ว.บางส่วนด้วย ก็ต้องยกตำแหน่งเก้าอี้นายกฯ ให้แก่ บิ๊กป้อม เท่านั้น ส่วนเงื่อนไขพรรคภูมิใจไทยอาจแตกต่างไป พร้อมให้เก้าอี้นายกฯ แก่ อุ๊งอิ๊ง แลกกับรับผิดชอบกระทรวงคมนาคมและสาธารณสุขเช่นเดิม
ส่วนจะร่วมรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์ แม้แกนนำสีฟ้ายุคนี้มีกระแสข่าวว่ายอมเข้าร่วม แต่หากเกิดขึ้นจริง ถามแฟนพันธุ์แท้ ปชป. จะรับได้หรือไม่ หลังที่ผ่านมาต่อสู้เรื่องทุจริต และเผด็จการรัฐสภากับระบอบทักษิณมาอย่างยาวนาน
หรือสุดท้ายจะยอมจับมือกับพรรคก้าวไกล แม้ฝ่ายโหนประชาธิปไตยอยากเห็น แต่ในทางการเมืองคงทำงานร่วมกันลำบาก อีกทั้งการแก้ไขมาตรา 112 ของพรรคสีส้ม คงไม่มีพรรคการเมืองอยากเข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วย
กลับมาที่ เศรษฐา หากหลังวันที่ 14 พ.ค. เงื่อนไขการเมืองไม่เป็นไปตามที่ประกาศไว้ ตัวเองจะทำอย่างไร จะยอมเสียสัจจะอยู่ในอำนาจต่อไป ซึ่งก็มีหลายคนทำมาแล้ว ไม่เชื่อลองไปถามนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ที่เคยประกาศไม่เป็นรัฐมนตรี แต่สุดท้ายเป็น รมว.อุตสาหกรรมถึง 4 ปี
หรือจะเลือกรักษาคำพูดของตัวเอง ออกจากพรรคเพื่อไทยและกลับไปทำธุรกิจขายบ้าน อย่างน้อยไม่มีอำนาจแต่ยังมีความน่าเชื่อถือ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“กาสิโน”เผือกร้อน“กฤษฎีกา” สมดุลการเมือง-ผลกระทบสังคม
จับตาร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. .... หรือร่างกฎหมายกาสิโนในมือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หลัง ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอร่างกฎหมาย ว่าจะตรงปกและเป็นไปตามความต้องการของฝ่ายการเมืองหรือไม่ และอีกหนึ่งมติคือ ข้อห่วงใยผลกระทบทางสังคมและปัญหาอบายมุขตามมา
อ.แก้วสรร ออกบทความ ‘ความรับผิดชอบ’ ในคดีชั้น 14
นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระ เผยแพร่บทความเรื่อง “ความรับผิดชอบ”ในคดีชั้น ๑๔ โดยมีเนื้อหา ดังนี้
เปิดแนวรบใหม่! 'ทักษิณ' เหน็บ 'นิด้าโพล' อยู่ตรงข้าม เจาะจงเรื่อยๆ เจาะจงมากเลย
เมื่อเวลา 21.30 น. วันที่ 13 ม.ค. ที่โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพมหานคร นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีผลโพลร
หวั่นเวชระเบียน'ทักษิณ'จุดชนวน รพ.ตำรวจอึมครึม คปท.ยกระดับ!
ขีดเส้น 15 ม.ค.นี้ คณะอนุกรรมการสอบสวนเฉพาะกิจ แพทยสภา ได้ส่งหนังสือถึง พล.ต.ท.นพ.นพศิลป์ เวชวิทารณ์ นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ จัดส่งเอกสารทำคำชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร เวชระเบียนการรักษาของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่เข้ารักษาตัวที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ กระทั่งออกจาก รพ.ตำรวจ โดยมี นพ.อมร ลีลารัศมี อดีตกรรมการแพทยสภา เป็นประธานอนุกรรมการสอบ
ป.ป.ช. ตั้งที่ปรึกษาองค์คณะไต่สวน คดีเอื้อทักษิณนอนชั้น 14 ให้แจ้งคืบหน้าทุก 1 เดือน
นายสาโรจน์ พึงรำพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่า ในวันนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะองค์คณะในการไต่สวนข้อเท็จจริง ซึ่งมีนายเอกวิทย์ วัชชวัลคุ กรรมการ ป.ป.ช. เ
'รมว.ยธ.' แนะ 'รพ.ตำรวจ' โชว์โปร่งใส ส่งเวชระเบียน 'ทักษิณ' ให้ ป.ป.ช.
'รมว.ยธ.' แนะ รพ.ตำรวจ ส่งเวชระเบียนรักษา 'ทักษิณ' ให้ ป.ป.ช. สร้างความโปร่งใสมีธรรมาภิบาล อ้างกรมราชทัณฑ์ให้ความร่วมมือตลอด