การลงพื้นที่หาเสียง-ขึ้นเวทีปราศรัยในพื้นที่ภาคใต้ ตรัง-พัทลุง-สงขลา ของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรครวมไทยสร้างชาติ เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา 29-30 เม.ย. ไม่ได้เหนือความคาดหมายกับกระแสตอบรับจากประชาชนในพื้นที่ทั้ง 3 จังหวัด ซึ่งให้การต้อนรับพลเอกประยุทธ์เป็นอย่างดี เพราะอย่างที่รู้กัน ฐานเสียงหลักของรวมไทยสร้างชาติที่หวังผลได้จริงๆ ก็คือ ภาคใต้ และตามด้วยกรุงเทพมหานคร ที่มีโอกาสได้ลุ้นทั้ง ส.ส.เขต และคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ แบบเป็นกอบเป็นกำ และข่าวว่า 3 พ.ค. พล.อ. ประยุทธ์จะลงพื้นที่และเปิดปราศรัยใหญ่ที่สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นอีกหนึ่งจังหวัดในภาคใต้ที่รวมไทยสร้างชาติตั้งเป้าว่าต้องปักธง ส.ส.ที่จังหวัดนี้ให้ได้ ที่ก็ต้องสู้กับแชมป์เก่าประชาธิปัตย์อย่างดุเดือด
ดูแล้วหลังจากนี้ คีย์แมนของพรรคการเมืองที่หวังที่นั่ง ส.ส.เขตภาคใต้ ที่มีด้วยกัน 60 ที่นั่ง และคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งมีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 7,186,241 คน คงต้องมีการปรับยุทธศาสตร์หาเสียง ด้วยการลงไปเน้นย้ำในพื้นที่เลือกตั้งภาคใต้ให้หนักขึ้น เพื่อทำให้กระแสลุงตู่ที่เกิดขึ้นในภาคใต้ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาคลายลงเมื่อไปถึงวันเลือกตั้ง 14 พ.ค.
แลเห็นเด่นชัด พื้นที่เลือกตั้งภาคใต้รอบนี้ หลายพรรคต่างทุ่มสรรพกำลังลงมาหาเสียงในพื้นที่อย่างหนัก ทำให้ศึกเลือกตั้งสนามภาคใต้แข่งกันแบบสูสีเข้มข้น
ไม่ว่าจะเป็น ประชาธิปัตย์ ที่ต้องการกลับมาทวงคืนความยิ่งใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้อีกครั้ง บนเดิมพันการเมืองของพรรค ที่ต้องได้ ส.ส.หลังเลือกตั้งรวมกันหมด ไม่น้อยกว่าการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 คือ ต้องมากกว่า 52 ที่นั่ง รวมถึง ภูมิใจไทย ที่เลือกตั้งรอบที่แล้วทำเซอร์ไพรส์ เพราะกวาดที่นั่ง ส.ส.เขตภาคใต้ ไป 8 ที่นั่ง ส่วนครั้งนี้ข่าวว่า ขุนพลภาคใต้ภูมิใจไทยตั้งเป้าว่า ส.ส.เขตอย่างต่ำต้องไม่ต่ำกว่า 12 ที่นั่ง ทำให้ภาคใต้เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ซึ่งภูมิใจไทยก็เน้นเป็นพิเศษ
และยังมี พลังประชารัฐ (พปชร.) ที่แม้เลือกตั้งรอบนี้ อดีต ส.ส.ภาคใต้ของ พปชร.หลายคนจะย้ายออกไปพรรครวมไทยสร้างชาติ แต่บิ๊กป้อม-พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ยังเชื่อว่าคนภาคใต้น่าจะยังสนับสนุน พปชร.อยู่ จึงทำให้พรรคให้ความสำคัญกับพื้นที่ภาคใต้ไม่ใช่น้อย อย่างเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา พลเอกประวิตรและแกนนำพรรคก็ขนทัพหลวงไปหาเสียงที่นครศรีธรรมราช
สำหรับจังหวัดซึ่งพรรค พปชร.ตั้งเป้าว่าจะต้องมี ส.ส.เขตให้ได้ นอกจากที่นครศรีธรรมราชแล้ว ก็ยังมีอีกหลายแห่ง เช่น สงขลา ที่ครั้งที่แล้วได้ ส.ส.เขตไปถึง 4 เก้าอี้ แต่ทั้งหมดตอนนี้ไม่มีใครอยู่ พปชร.สักคนเดียว เพราะอดีต ส.ส.เขต 3 คนคือ ศาสตราศรีปาน-พยม พรหมเพชร-ร.ต.อ.อรุณ สวัสดี ย้ายไปรวมไทยสร้างชาติ ส่วนวันชัย ปริญญาศิริ ไปเป็นนายกเทศมนตรีนครสงขลา ทำให้ พปชร.ในสงขลายวบไปพอควร และยังมี ภูเก็ต ซึ่งครั้งที่แล้วล็อกถล่ม เพราะ พปชร.ชนะยกจังหวัด ได้มา 2 เก้าอี้ คือ สุทา ประทีป ณ ถลาง-นัทธี ถิ่นสาคู โดยรอบนี้ทั้ง 2 คนก็ยังอยู่ รวมถึงหวังลุ้นอีกบางเขตใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น ยะลาเขต 1 ที่ส่งอดีต ส.ส.ยะลาคนเดิม อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ทนายความ แต่ก็ต้องสู้กับคนของพรรคประชาชาติ ที่หวังกวาด ส.ส. 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ได้เกินครึ่ง จากที่เคยเป็นแชมป์ตอนปี 2562 ที่ตอนนั้นได้มา 6 ที่นั่ง
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การที่พลังประชารัฐไม่มี ลุงตู่-พลเอกประยุทธ์ ทำให้พลังประชารัฐไม่มีจุดขายสำคัญในภาคใต้ อันเป็นการบ้านที่แกนนำพรรคสายภาคใต้ เช่น อนุมัติ อาหมัด-นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ต้องวางแผนหาเสียงในช่วงโค้งสุดท้าย เพื่อทำให้พรรคมีกระแสตอบรับมากกว่านี้ในภาคใต้
ขณะเดียวกัน อดีตพรรคฝ่ายค้านทั้งเพื่อไทยและก้าวไกลก็หวังเข้ามาแชร์เก้าอี้ ส.ส.เขตและคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ในภาคใต้ เห็นได้จากที่แกนนำพรรคลงพื้นที่หาเสียงและเปิดเวทีปราศรัยที่ภาคใต้หลายรอบ
โดยเฉพาะเพื่อไทยดูจะคึกคักเป็นพิเศษ หลังก่อนหน้านี้เมื่อ 26 มีนาคมที่ผ่านมา นิด้าโพลเผยผลสำรวจประชาชนเรื่อง “คนนครศรีธรรมราชเลือกพรรคไหน” ปรากฏว่า แม้ตัวบุคคลอันดับ 1 ที่จะเลือก จะไม่ผิดความคาดหมายคือ พล.อ.ประยุทธ์ แต่ที่ผิดคาดพอควรก็คือ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตรจากเพื่อไทยมาอันดับ 2 ด้วยผลสำรวจ ร้อยละ 21.07 โดยอุ๊งอิ๊งมีคะแนนนิยมเหนือกว่า จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่มาเป็นอันดับ 5 เสียอีก รวมถึง ส.ส.เขต อันดับ 1 ที่คนจะเลือกคิดเป็นร้อยละ 22.29 ระบุว่าเป็นพรรคประชาธิปัตย์ อันดับ 2 ร้อยละ 21.68 ระบุว่าเป็นพรรคเพื่อไทย
และที่ผิดคาดมากสุดคือ ส.ส.บัญชีรายชื่อ อันดับ 1 ร้อยละ 22.44 ระบุว่าเป็นพรรคเพื่อไทย อันดับ 2 ร้อยละ 21.68 ระบุว่าเป็นพรรคประชาธิปัตย์ อันดับ 3 เป็นพรรครวมไทยสร้างชาติ
เลยไม่แปลกที่จะทำให้แกนนำเพื่อไทยที่รับผิดชอบภาคใต้ รวมถึงแคนดิเดตนายกฯ ของเพื่อไทย เศรษฐา ทวีสิน ดูจะมั่นใจลึกๆ ว่า รอบนี้เพื่อไทยอาจจะได้ ส.ส.เขตที่ภาคใต้บ้าง เพราะหากเพื่อไทยปักธงในภาคใต้ได้ จะทำให้เพื่อไทยเกทับได้ว่า มี ส.ส.ทุกภาค หลังเคยมี ส.ส.ภาคใต้ล่าสุด ก็เมื่อตอนเลือกตั้งปี 2548 ที่ กฤษ ศรีฟ้า-ไทยรักไทย เอาชนะประชาธิปัตย์ได้ที่พังงา บ้านเกิดของจุรินทร์ หัวหน้าพรรค ปชป. จากผลพวงเรื่องการช่วยเหลือประชาชนจำนวนมากที่ประสบภัยคลื่นสึนามิ จนทักษิณหน้าบานอย่างมาก ที่ยุคนั้นเอาชนะประชาธิปัตย์ในภาคใต้ได้
ทว่าหลังจากนั้น ทักษิณ-เพื่อไทย ก็ไม่เคยมี ส.ส.ภาคใต้อีกเลย จนเกิดวาทกรรม คนใต้ไม่เอาทักษิณ-เพื่อไทย ดังนั้นหากรอบนี้แค่ปักธง ส.ส.เขตภาคใต้ได้สักคนเดียว เพื่อไทยคงคุยโวว่ามี ส.ส.ทั่วประเทศครบทุกภาค
ส่วน พรรคก้าวไกล ก็เช่นกัน รอบนี้ก็หวังลุ้นลึกๆ ว่าจะสามารถปักธง มี ส.ส.เขตในภาคใต้ หลังเลือกตั้งปี 2562 ในยุคพรรคอนาคตใหม่ ปรากฏว่ามี ส.ส.เขตทุกภาค ยกเว้นแค่ภาคใต้ที่เดียว ทำให้ก้าวไกลก็วางแผนหาเสียงที่ให้ความสำคัญกับพื้นที่ภาคใต้พอสมควร โดยเฉพาะในพื้นที่เขต 1 อำเภอเมือง ของ 14 จังหวัดภาคใต้ ที่แม้อาจไม่ได้ ส.ส.เขต แต่ก้าวไกลก็หวังคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ไว้ระดับหลักล้านจากโหวตเตอร์ในภาคใต้ที่มี 7 ล้านกว่าเสียง
โดยมีการมองกันว่า พื้นที่ซึ่งดูจะเป็นจุดอ่อนของก้าวไกลในภาคใต้ ก็น่าจะเป็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยะลา-ปัตตานี-นราธิวาส
ซึ่งแม้จะเป็นพื้นที่ซึ่งโหวตเตอร์มีความตื่นตัวทางการเมืองสูง และก้าวไกลมั่นใจในผลงานที่ผ่านมาสมัยเป็นฝ่ายค้าน เช่น การเป็นพรรคที่ร่วมผลักดัน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 จนผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาได้สำเร็จ ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ค่อนข้างมาก รวมถึงนโยบายบางเรื่องที่โดนใจโหวตเตอร์ในพื้นที่ เช่น นโยบายให้ยกเลิกกฎอัยการศึกในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
อย่างไรก็ตาม มีการมองกันว่า การที่ พิธา-ก้าวไกล ยืนยันว่า การที่พรรคก้าวไกลจะเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคการเมืองขั้วใด การจัดตั้งรัฐบาลดังกล่าวจะต้องรับนโยบายของพรรคไว้เป็นนโยบายรัฐบาลด้วย เช่น สมรสเท่าเทียม กลุ่มคนหลากหลายทางเพศ รวมถึง สุราก้าวหน้า ที่เป็นเรื่องค่อนข้างละเอียดอ่อนกับกลุ่มคนไทยมุสลิมที่มีจำนวนมากใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงอีกหลายพื้นที่ในภาคใต้ จึงอาจทำให้ก้าวไกลอาจหืดขึ้นคอพอสมควรในการปักธง ส.ส.เขตภาคใต้รอบนี้ แม้อาจจะมีลุ้นบางเขตบางจังหวัด เช่น ภูเก็ต เป็นต้น
สมรภูมิรบศึกเลือกตั้งพื้นที่ภาคใต้จึงเข้มข้น เร้าใจ ตั้งแต่ออกสตาร์ท ไปจนถึงตอนนับคะแนนเสียงหลังปิดหีบเลือกตั้ง 14 พ.ค.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'นายแบกเพื่อไทย' ตบปาก 'นายกฯว่าว' โทษฐาน แนะ 'นายกฯอิ๊งค์' ใช้เวทีสภาฯ ลบคำครหาเรื่องโพย พึ่งพ่อ
นายอิราวัต อารีกิจ หรือ หมออั้ม นักเคลื่อนไหวทางการเมืองผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความว่า พิธา แนะนายกฯอิ๊ง ให้ใช้เวทีสภาฯ แส
“พ่อเลี้ยง”เปลี่ยนสนามรบเป็นทุน “ดับไฟใต้-สันติภาพเมียนมา”
“ฉายารัฐบาลพ่อเลี้ยง” นับเป็นภาพการเมืองในฝ่ายบริหารที่ “วิญญูชน” พึงประจักษ์ได้ว่าเป็นอย่างไร โดยเฉพาะการขยับตัวและคำพูดของ “ทักษิณ ชินวัตร” วิทยากร-นักวิชาการของพรรคเพื่อไทย
'ทักษิณ' เกทับ! เลือกตั้งครั้งหน้า กวาด สส.เชียงใหม่ ครบ 10 ที่นั่ง
นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงให้ นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร หรือสว.ก๊อง ผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงใหม่
47 เก้าอี้นายกฯอบจ. บ้านใหญ่ ลุ้นเข้าวิน-กินเรียบ!
คิกออฟ นับหนึ่งตั้งแต่จันทร์ที่ 23 ธ.ค.ที่เป็นวันแรกของการรับสมัครบุคคลที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งนายกฯ อบจ. 47 จังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงที่ลงสมัครเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั่วประเทศ 76 จังหวัด
พรรคส้มดาวกระจาย สู้ศึกอบจ. ‘พิธา’ ชน ‘ทักษิณ’ ตรง ‘ประตูท่าแพ-ตลาดวโรรส’ จันทร์นี้
พรรคประชาชน(ปชน.)เตรียมตัวส่งผู้สมัครนายก อบจ.ตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ในวันที่ 23 ธ.ค. โดยส่งระดับแกนนำและผู้ช่วยหาเสียงที่เป็นผู้นำจิตวิญญาณลงประกบตามพื้นที่ต่างๆ
‘แม้ว’ ไล่ทุบ- ‘ภูมิใจไทย’ ไม่หมู ‘แดง-น้ำเงิน’ ทนอยู่แบบตบจูบ
นาทีนี้ศึกฝ่ายค้าน-รัฐบาลยังไม่เดือดเท่ากับศึกรัฐบาลด้วยกันเอง แรงขึ้นเรื่อยๆ สำหรับการขบเหลี่ยมของพรรคอันดับ 1 และพรรคอันดับ 2