ก้าวไกล-ลดเพดาน 112 ปลดล็อกเงื่อนไขตั้งรัฐบาล

หลังโพลหลายสำนัก รวมถึงกระแสประชาชนในหลายพื้นที่สะท้อนออกมาว่า กระแส-คะแนนนิยมของ พรรคก้าวไกล มาแรงขึ้นเรื่อยๆ จนบางโพล คะแนนนิยมของพรรคก้าวไกลแซงหน้าเพื่อไทยไปแล้ว เช่นเดียวกับคะแนนนิยมในตัว พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ของโพลบางสำนักก็แซงหน้า อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร เช่นกัน

เรื่องดังกล่าวเห็นได้ชัดทำให้ฝ่ายเพื่อไทยออกอาการหวั่นไหวทางการเมืองพอสมควร เพราะหากกระแส พิธา-ก้าวไกล แรงขึ้นเรื่อยๆ ในช่วง 2 สัปดาห์เศษต่อจากนี้ไปจนถึงวันเลือกตั้ง 14 พ.ค. จนทำให้โหวตเตอร์ฝ่ายที่จะเลือกพรรคการเมืองฝ่ายค้านชุดที่แล้วจำนวนไม่น้อย อาจจะเลือกก้าวไกลมากขึ้น ทั้ง ส.ส.เขตและบัตรบัญชีรายชื่อ มันจะมีผลทำให้เพื่อไทยจะได้ ส.ส.เขต และได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ลดน้อยลง จนทำให้เพื่อไทยจะได้ ส.ส.น้อยลงกว่าที่ตั้งเป้าไว้หลายสิบเก้าอี้ จนสุดท้ายที่พยายามโหมโรงสร้างกระแส เพื่อไทยแลนด์สไลด์ อาจวืด ชกลมก็ได้ และอาจมีผลทำให้ ความพยายามที่จะกลับมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอาจสะดุดถึงขั้นฝันกลางวัน

อาการหวั่นไหวของเพื่อไทยดังกล่าว ดูได้จากล่าสุดที่ อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกฯ เพื่อไทย ถึงกับระบุตอนหนึ่งเมื่อ 26 เม.ย. ระหว่างงานที่พรรคเพื่อไทยจัดอบรมผู้สมัคร ส.ส.ทั่วประเทศ เพื่อปรับกลยุทธ์การหาเสียง ซึ่ง “แพทองธาร” ได้ร่วมเวทีด้วยผ่านระบบออนไลน์ โดยมีแกนนำพรรคเพื่อไทยและผู้สมัคร ส.ส.เพื่อไทยจำนวนมากร่วมอบรมสัมมนา ซึ่งแพทองธารกล่าวว่า ขณะนี้โพลของพรรคเพื่อไทยดีมาก ก็ทำให้ทุกคนมีกำลังใจ แต่ก็ไม่อยากให้ประมาท เพราะอีกกว่า 20 วัน อะไรก็เกิดขึ้นได้ จึงขอให้ทุกคนเร่งลงพื้นที่นำเสนอนโยบายกับพี่น้องประชาชน

“ไม่ต้องกังวลพรรคคู่แข่ง เนื่องจากเขาไม่มีศักยภาพเหมือนเรา จึงเล่นแต่ในโซเชียลมีเดีย ทำให้โพลบางสำนักขยับขึ้น ดังนั้นในช่วงใกล้โค้งสุดท้าย ผู้สมัครทุกคนก็ต้องเน้นใช้โซเชียลสื่อสารกับพี่น้องประชาชนให้มากยิ่งขึ้น เพื่อทำให้ทุกคนรู้ว่า พรรคเพื่อไทยมีศักยภาพเปลี่ยนแปลงคนทั้งประเทศได้”

โดยแม้แพทองธารไม่ได้ระบุว่าพรรคคู่แข่งดังกล่าวที่มีคะแนนนิยมเพิ่มขึ้นคือพรรคอะไร แต่ก็เป็นที่รู้กันทางการเมืองว่า พรรคดังกล่าวในความหมายของ อุ๊งอิ๊ง น่าจะตีความได้ไม่ผิดว่า น่าจะหมายถึง พรรคก้าวไกล นั่นเอง เพราะในทางการเมือง ยังไงพรรคปีกรัฐบาล ทั้งรวมไทยสร้างชาติ-พลังประชารัฐ-ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย ไม่ได้อยู่ในบริบทการแข่งขันกับเพื่อไทยอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นพรรคคนละขั้วการเมืองกัน เพราะทุกวันนี้คู่แข่งสำคัญของเพื่อไทยคือพรรคก้าวไกล

ก็น่าติดตามว่า หลังแกนนำเพื่อไทย โดยเฉพาะการที่  อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ลงมาหวด-กำชับผู้สมัคร ส.ส.เพื่อไทยให้เน้นการหาเสียงโซเชียลมีเดียมากขึ้น จะทำให้เรตติ้งคะแนนนิยมของเพื่อไทยกลับมาได้เหมือนเดิมหรือไม่ และระหว่างทางนับจากนี้ไปจนถึง 14 พ.ค.วันเลือกตั้ง เพื่อไทยกับก้าวไกลจะเกิดการกระทบกระทั่งกันทางการเมือง ในพื้นที่โซเชียลมีเดีย จนเลยออกมาพื้นที่จริงทางการเมือง จนมีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่าง 2 พรรคนี้หรือไม่ โดยเฉพาะหากก้าวไกลทำให้เป้าหมายแลนด์สไลด์ของทักษิณ-เพื่อไทยไปไม่ถึงฝั่งฝัน

“พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์-รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล”ให้ความเห็นถึงกระแสนิยมของพรรคก้าวไกลที่พุ่งสูงขึ้นในช่วงที่การเลือกตั้งใกล้จะมาถึงว่า ความนิยมที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวของพรรคก้าวไกลมาจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ 1.ความชัดเจนและความตรงไปตรงมาทางการเมืองของพรรคก้าวไกล อย่างเช่นการที่หัวหน้าพรรค พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พูดชัดว่าจะไม่จับมือกับลุงตู่ ลุงป้อม มีลุงไม่มีเรา ทำให้ประชาชนรู้สึกว่า ก้าวไกลชัดเจนตรงไปตรงมาในการที่บอกกับประชาชนก่อนเข้าคูหาเลือกตั้ง 2.นโยบายพรรค โดยประชาชนบอกว่านโยบายของก้าวไกลตอบโจทย์ และสามารถอธิบายเรื่องที่มาของงบประมาณที่จะนำมาใช้ได้อย่างชัดเจน ทำให้โหวตเตอร์ที่สนใจเรื่องนโยบาย ชื่นชอบนโยบายพรรคก้าวไกล 3.เพราะพรรคก้าวไกลยังไม่เคยเป็นรัฐบาล พรรคยังไม่เคยเข้าไปมีอำนาจในการบริหาร แต่ 4 ปีที่ผ่านมา พรรคพิสูจน์ผลงานให้เห็นแล้วในฐานะฝ่ายค้าน ทำให้ประชาชนเลยอยากลอง อยากเปลี่ยนอะไรใหม่ๆ หลายคนบอกว่า เลือกแต่คนเดิมๆ ไม่เห็นมีอะไรเปลี่ยนแปลง ลองเลือกอะไรใหม่ๆ บ้าง

 “ทั้งหมดคือ 3 เหตุผลที่มีฟีดแบ็กมาจากประชาชนถึงเหตุผลที่เขาจะเลือกพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งครั้งนี้”

 “พิจารณ์-รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล” ยังกล่าวถึงเป้าหมายการเลือกตั้งครั้งนี้ว่า พรรคก้าวไกลตั้งเป้าหมายว่า จะทำให้ได้ ส.ส.มากขึ้นกว่าตอนเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ตอนที่ยังเป็นพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งครั้งนั้นพรรคได้ ส.ส. 81 เสียง โดยความคาดหวังก็คือ เกิน 100 ที่นั่ง โดย ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ถึงตอนนี้คิดว่าพรรคก้าวไกลมีโอกาสจะได้เกิน 30 ที่นั่ง               

เมื่อถามถึงเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล ที่มีการมองกันว่าหลายพรรคการเมืองก็อยากดึงหรือมาร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล แต่การที่ก้าวไกลมีนโยบายแก้มาตรา 112 ตรงนี้มันเป็นล็อกทางการเมืองสำหรับพรรคก้าวไกลหรือไม่               “พิจารณ์” ให้ความเห็นส่วนตัวว่า เรื่องการแก้ไขมาตรา 112 ก็เป็นหนึ่งในหลายนโยบายของก้าวไกล ซึ่งคิดว่าก็ต้องพูดคุยกัน ว่าแต่ละพรรคการเมืองจะยอมรับอะไรกันได้มากน้อยแค่ไหน แต่หากดูการให้ความเห็นผ่านเวทีดีเบตอะไรต่างๆ คิดว่าก็ยังมีบางพรรคการเมืองที่ไม่ได้ปฏิเสธ ก็ยังพูดคุยกันได้ คือไม่ได้ถึงกับปฏิเสธนโยบายนี้เลย แต่แน่นอนว่าขั้วอนุรักษนิยมหรือขั้วพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลตอนนี้ เขาไม่เอาแน่ แต่ขั้วฝ่ายก้าวหน้าก็ดูจะพูดคุยกันได้ ซึ่งก็ต้องดูหลังเลือกตั้งว่าจะเป็นอย่างไร แต่ท้ายที่สุดแล้ว มันคงจะไม่ใช่เป็นเงื่อนไขหลักที่จะบอกว่า นโยบายนี้ถ้าไม่รับกัน แล้วพรรคก้าวไกลจะร่วมมือเป็นรัฐบาลร่วมกันไม่ได้ ก็คงไม่ใช่ คงต้องไปดูในภาพใหญ่ว่า จะมีนโยบายอะไรบ้างที่เป็นไปได้ แต่เชื่อว่าเพื่อนๆ ที่จะเข้าไปเป็น ส.ส.ของพรรคก้าวไกลหลังเลือกตั้ง ในฐานะอยู่ฝ่ายนิติบัญญัติ การแก้ไขกฎหมาย ก็คงเกิดขึ้นแน่นอน การพิจารณาแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาล ในฐานะการเป็น ส.ส.ก็คงเดินหน้าต่อไป แต่ในรูปแบบว่า จะร่วมรัฐบาล แล้วต้องเป็นนโยบายที่จะต้องนำขึ้นมาให้ยอมรับกันว่าจะร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาลหรือไม่ ผมคิดว่ามันคงไม่ต้องเป็นแบบนั้น ไม่ต้องถึงขนาดนั้น อยู่ที่การพูดคุยกันมากกว่า

“อยากยืนยันว่า แม้เรื่องนี้จะไม่อยู่ในคำแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา ที่จะมีก้าวไกลเข้าไปร่วม แต่ว่า การผลักดันให้มีการแก้ไข 112 ตัวร่าง พ.ร.บ.และรวมถึงกฎหมายอื่นๆ อีก 5 ฉบับ ที่เกี่ยวกับเรื่องสิทธิในการแสดงออก พรรคก้าวไกลจะผลักดันอยู่แล้วผ่าน ส.ส.ก้าวไกลในสภาฯ ในการเสนอร่างกฎหมาย

น่าติดตามว่า เลือกตั้งรอบนี้พรรคก้าวไกลจะได้ ส.ส.เข้าสภาฯ มากน้อยแค่ไหน หลังมีการสร้างกระแส ก้าวไกลทั้งแผ่นดิน ในโลกโซเชียลมีเดีย-ทวิตเตอร์ จนเป็นที่ฮือฮาในช่วงหลายวันที่ผ่านมา และหากก้าวไกลเข้าไปเป็นรัฐบาลจริง เรื่องแก้ 112 พรรคก้าวไกลจะจัดลำดับความสำคัญของนโยบายดังกล่าวไว้อย่างไร เพื่อให้ตัวเองได้เป็นรัฐบาล ขณะเดียวกันก็ไม่เสียคะแนนนิยมจากโหวตเตอร์ที่เลือกตั้งก้าวไกลในการเลือกตั้งรอบนี้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“พ่อเลี้ยง”เปลี่ยนสนามรบเป็นทุน “ดับไฟใต้-สันติภาพเมียนมา”

“ฉายารัฐบาลพ่อเลี้ยง” นับเป็นภาพการเมืองในฝ่ายบริหารที่ “วิญญูชน” พึงประจักษ์ได้ว่าเป็นอย่างไร โดยเฉพาะการขยับตัวและคำพูดของ “ทักษิณ ชินวัตร” วิทยากร-นักวิชาการของพรรคเพื่อไทย

47 เก้าอี้นายกฯอบจ. บ้านใหญ่ ลุ้นเข้าวิน-กินเรียบ!

คิกออฟ นับหนึ่งตั้งแต่จันทร์ที่ 23 ธ.ค.ที่เป็นวันแรกของการรับสมัครบุคคลที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งนายกฯ อบจ. 47 จังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงที่ลงสมัครเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั่วประเทศ 76 จังหวัด

‘แม้ว’ ไล่ทุบ- ‘ภูมิใจไทย’ ไม่หมู ‘แดง-น้ำเงิน’ ทนอยู่แบบตบจูบ

นาทีนี้ศึกฝ่ายค้าน-รัฐบาลยังไม่เดือดเท่ากับศึกรัฐบาลด้วยกันเอง แรงขึ้นเรื่อยๆ สำหรับการขบเหลี่ยมของพรรคอันดับ 1 และพรรคอันดับ 2

ขวากหนามแก้รัฐธรรมนูญ คนกันเอง...เล่นเกมต่อรอง

เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่เห็นชอบกับ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ฉบับคณะ กมธ.ร่วมกันพิจารณาเสร็จแล้ว

'ทักษิณ'พังการเมืองท้องถิ่น กระหายอำนาจ ไม่สนขัดแย้ง

“นายใหญ่” ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เจ้าของพรรคเพื่อไทย ต้องการฟื้นคืนชีพระบอบทักษิณโดยไม่สนใจบทเรียนในอดีต จนตัวเองและน้องสาวต้องหนีออกนอกประเทศ รวมถึงบริวารต้องติดคุกแทน

คดีป่วยทิพย์ชั้น14ในมือ‘ป.ป.ช.’ ‘รอด-ร่วง’สะเทือนการเมือง

เป็นอีกหนึ่งคดีที่ท้าทายสำหรับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หลังมีมติแต่งตั้ง องค์คณะไต่สวน ซึ่งประกอบด้วยกรรมการ ป.ป.ช.ทุกคน เพื่อตรวจสอบกรณีกล่าวหานายสหการณ์