ในที่สุด “เรือหลวงช้าง” จาก Hudong-Zhonghua Shipbuilding (อู่ต่อเรือหูตงจงหัว) เมืองเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ก็เข้าเทียบท่าเรือจุกเสม็ด อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ไปเมื่อวานนี้ และเตรียมเข้าประจำการในกองเรือยกพลขึ้นบกและยุทธบริการ กองเรือยุทธการ ท่ามกลางการต้อนรับของผู้บังคับบัญชาของกองทัพเรือ กำลังพล และประชาชน หลังจากกองทัพเรือว่างเว้นการรับเรือขนาดใหญเข้าประจำการมาพักใหญ่ นับแต่เรือหลวงภูมิพล ซึ่งเป็นเรือฟริเกตที่ต่อจากประเทศเกาหลี เมื่อต้นปี 2562 แต่ ณ วันนี้ “เรือหลวงช้าง” จะเป็นเรืออเนกประสงค์ยกพลขึ้นบก ซึ่งเป็นเรือที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของกองทัพเรือ
ด้วยความยาว 213 เมตร กว้าง 28 เมตร ระวางขับน้ำ 25,000 ตัน ความเร็วสูงสุดที่ระวางขับน้ำสูงสุด 25 นอต กินน้ำลึก 6.8 เมตร มีระยะปฏิบัติการไม่น้อยกว่า 10,000 ไมล์ทะเล โดยตัวเรือมีความคงทนทะเลจนถึงสภาวะทะเลระดับ 6 (Sea State 6) ปฏิบัติการต่อเนื่องทางทะเลได้ 45 วัน มีกำลังพลประจำเรือ 196 นาย สัญญาบัตร 26 นาย ประทวน 135 นาย พลทหาร 35 นาย สามารถบรรทุกกำลังรบยกพลขึ้นบกพร้อมอุปกรณ์ 650 นาย (ตามข้อมูลของ ทร.)
ทั้งนี้ กองทัพเรือไทยทำสัญญาต่อเรือเมื่อเดือน พ.ย.2562 บริษัท China Shipbuilding Trading จำกัด โดยมี พล.ร.อ.ช่อฉัตร กระเทศ ประธานที่ปรึกษากองทัพเรือ ในฐานะประธานคณะกรรมการ ลงนามกับจีน วงเงินงบประมาณ 6,100 ล้านบาท ใช้เวลาต่อ 4 ปี
เรือดังกล่าวถือได้ว่าเป็น “เรือเปล่า” ติดเพียงเรดาร์เดินเรือ สร้างและพัฒนาแบบจากเรือประเภท LPD Type 071 เมื่อเข้าประจำการก็ต้องติดตั้งระบบควบคุมบังคับบัญชา ระบบอำนวยการรบ ติดอาวุธปืน ซึ่งกองทัพเรือได้จัดตั้งงบประมาณในปี 2567 วงเงิน 950 ล้านบาท ขณะที่โครงการต่อไปค่อยๆ ทยอยจัดหาเรือระบายพล และระบบในการสนับสนุนภารกิจพี่เลี้ยงเรือดำน้ำ มึงยังพอมีเวลา ขณะที่ยานเบาะอากาศมีราคาค่อนข้างสูง จึงยังไม่มีการจัดหาในตอนนี้
สำหรับขีดความสามารถในการบรรทุก รองรับยานหุ้มเกาะ AAV (ยานสะเทินน้ำสะเทินบก)ได้ 9 คัน หรือ MBT (รถถัง) 11 คัน บริเวณดาดฟ้ายานพาหนะ 1 และสามารถบรรทุกยานหุ้มเกราะ AAV 8 คัน หรือ MBT (รถถังหลัก) 9 คัน ที่ดาดฟ้ายานพาหนะ 2 ขณะที่อู่ลอยในเรือ สามารถจอดเรือ LCM (เรือระบายพลขนาดกลาง) ได้ 6 ลำ หรือ LCVP (เรือระบายพลขนาดเล็ก) 9 ลำ หรือ AAV 40 คัน หรือ LCAC (ยานเบาะอากาศ) 2 ลำ
ขณะที่ดาดฟ้าสามารถรองรับเฮลิคอปเตอร์ได้ทุกแบบ เช่น BELL-212, EC-645T2, S-70B, SUPER LYNX 300 จำนวน 3 ลำ มีจุดลงจอด 3 จุด และโรงเก็บ ฮ. ได้เพิ่มอีก 2 ลำ ซึ่งขณะนี้ ทร.ยังต้องจัดหาอากาศยานเพิ่มเติม เนื่องจากที่มีประจำการอยู่มีอายุใช้งานนานแล้ว
สำหรับการเตรียมความพร้อมก่อนส่งมอบเรือ ทร.ได้ส่งกำลังพลชุดแรกไปที่เมืองเซี่ยงไฮ้ เมื่อวันที่ 14 พ.ย.65 ไปศึกษาระบบด้านช่างกล เครื่องจักร ระบบอู่ลอย เครื่องจักรช่วย เป็นนายทหารสัญญาบัตร และกำลังพลในส่วนของช่างกล ประมาณ 4-5 เดือน ชุดที่ 2 จะเป็นกำลังพลในส่วนเดินเรือ อาวุธ สื่อสาร พลาธิการ ที่เดินทางไปเมื่อวันที่ 5 ธ.ค.65 เพื่อเรียนรู้ระบบเดินเรือ สื่อสาร การปฏิบัติการในระวางบรรทุก การอู่ลอย การจมเรือ การใช้เครื่องมือด้านลิฟต์ ขนย้ายระบบ RoRo การใช้แรมพ์ ข้าง และท้าย การปฏิบัติการของโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ การเติมน้ำมันอากาศยาน การใช้อุปกรณ์สนับสนุนเรือดำน้ำ และในส่วนพลทหาร จำนวน 34 นาย และนายแพทย์ 2 นาย จะเดินทางเป็นชุดสุดท้าย ประมาณ มี.ค.66 เพื่อไปร่วมออกทดลองความคุ้นเคยกับเรือ ก่อนพิธีรับมอบในต้นเดือน เม.ย.66 และเดินทางกลับภายหลังรับมอบต่อไปตามที่ ทร.กำหนด
เรือหลวงช้าง มีชื่อเรือภาษาอังกฤษว่า H.T.M.S.CHANG หมายเลขเรือ ช 792 นามเรียกขาน HSXZ มีผู้บังคับการเรือคนแรกชื่อ น.อ.ธีรสาร คงมั่น เดิมเคยตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์เรื่องความเหมาะสมในการจัดหาเรือขนาดใหญ่
สถานการณ์ที่ ทร.ขาดแคลนงบประมาณ และมีคำถามตามมาว่าในการออกปฏิบัติการแต่ละครั้งต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย
ขนาดไหน แต่ผู้บัญชาการทหารเรือยืนยันว่า อยู่ที่การเดินเรือด้วยความเร็วมัธยัสถ์ฐาน หรือต่ำกว่านั้นก็จะทำให้ค่าใช้จ่ายนั้นเกือบจะเท่าเรือหลวงจักรีนฤเบศรและเรือหลวงอ่างทอง
แต่เมื่อมีการจัดซื้อมาแล้ว ทร.ต้องใช้อย่างคุ้มค่าและเหมาะสมกับ “ภัยคุกคาม” ที่หลากหลาย แม้ในที่สุดจะต้องจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมในการติดตั้งระบบควบคุมบังคับบัญชา การติดระบบอาวุธ และอุปกรณ์เพื่อใช้ในทางยุทธการ ต่ในเบื้องต้นสามารถใช้ในงานด้านการช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมและบรรเทาสาธารณภัย ทำให้เรือดังกล่าวมีห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ 11 ห้อง เป็นหอผู้ป่วย 3 ห้อง ส่วนรักษา 8 ห้อง เช่น ห้องเอกซเรย์ ห้องทันตกรรม ห้องศัลยกรรม ห้องตรวจโรค ห้องยา ห้อง LAB
อย่างไรก็ตาม หลังจากรับมอบ “เรือหลวงช้าง” แล้ว อนาคตข้างหน้า ทร.ต้องใช้งบประมาณในการปรับปรุง ซ่อมทำ เรือเก่าและอากาศยานเก่า เพื่อให้สามารถใช้งาน ดำรงขีดความสามารถพร้อมรบขั้นต่ำ รวมไปถึงการจัดหาเรือฟริเกตลำใหม่ วงเงิน 1.5 หมื่นล้าน ซึ่งในงบปี 2567 ได้มีการตั้งต้นงบผูกพันไว้แล้ว
นอกจากนั้น กองทัพเรือยังต้องเดินหน้าในการกู้เรือหลวงสุโขทัย เพื่อนำหลักฐานมาประกอบผลการสอบสวนสาเหตุการจมลงให้กระจ่าง ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกฯ และ รมว.กลาโหม ได้อนุมัติกรอบงบกลาง 200 ล้านบาท และส่งเรื่องไปให้สำนักงบประมาณ ขณะนี้ทางสำนักงบประมาณกำลังเจรจากับ ทร.ว่า อาจจะจัดสรรให้ได้ทั้งก้อน พร้อมขอให้ ทร.ควักกระเป๋าสมทบเงินส่วนหนึ่ง ซึ่งหากได้ข้อสรุปก็จะดำเนินการคัดเลือกเอกชนเพื่อดำเนินการกู้เรือต่อไป
ขณะที่เรือดำน้ำ S26T ยังต้องรอคณะกรรมการที่ ทร.ได้ส่งไปดูการทดสอบเครื่องยนต์ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อกลับมาสรุปข้อมูลว่าเป็นไปตามเงื่อนไขที่ ทร.กำหนดไว้หลายข้อหรือไม่ และหากเป็นตามที่ พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผบ.ทร.สัมภาษณ์ไว้ ในเดือน มิ.ย.นี้ก็จะได้ข้อสรุปเรื่องเครื่องยนต์อย่างแน่นอน และมีแนวโน้มในทิศทางบวกในเรื่องการชดเชยเพิ่มเติม หากกองทัพเรือไทยรับเครื่องยนต์จีน
แต่ขั้นตอนทางกฎหมาย การแก้ไขสัญญา การอนุมัติจากรัฐบาล อาจจะต้องใช้เวลาอีก 1-2 เดือน ภายใต้ความคาดหวังไว้ว่ารัฐบาลจีนจะรับประกันความเสี่ยงเครื่องยนต์ที่จีนผลิตเอง และไม่เคยมีการใช้ติดตั้งเรือดำน้ำที่ไหนมาก่อนในโลก หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ได้เอ่ยปากกับ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ช่วงการประชุมเอเปก แม้ ทร.จะอธิบายเชิงวิศวกรรมเครื่องกลว่าเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งเท่านั้น แต่ก็ถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเรือ ซึ่งทั้งหมดนั้นยังมีปัจจัยในเรื่องการเมือง และนโยบายเข้ามากำหนดด้วย
ผบ.ทร.ยืนยันว่า บริษัท CSOC จำเป็นต้องเปลี่ยนเครื่องยนต์เรือดำน้ำของไทยเป็นเครื่องยนต์จากจีน CHD 620 แทนที่เครื่องยนต์จากเยอรมนี MTU 396 โดยมีข้อพิจารณาสำคัญ 3 ข้อ คือ 1.เครื่องยนต์ต้องมีความปลอดภัย 2.กองทัพเรือจีนต้องให้การรับรองเรื่องนี้กับกองทัพเรือไทย 3.ต้องมีการชดเชยในการเปลี่ยนเครื่องยนต์ให้เหมาะสม ที่กองทัพเรือไทยควรจะได้รับจากการเสียโอกาสที่ได้รับเรือดำน้ำล่าช้า ถือเป็นข้อพิจารณาสำคัญที่เราจะเดินหน้าต่อ หรือยกเลิกข้อตกลง
เมื่อถามว่า หากตัดสินใจใช้เครื่องยนต์ CHD 620 ของจีน ต้องใช้เวลาเท่าไหร่ในการต่อเรือดำน้ำจนแล้วเสร็จ พล.ร.อ.เชิงชายระบุว่า ใช้เวลาประมาณ 40 เดือน หรือเท่ากับ 3 กับ 4 เดือน ส่วนลำที่ 2 และ 3 นั้นก็คงต้องชะลอเอาไว้ก่อน
"ถือเป็นเหตุผลที่กองทัพเรือจะต้องฟรีสเรือดำน้ำลำที่ 2 ลำที่ 3 ไว้ และเปลี่ยนเป็นโครงการจัดหาเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำขึ้นมาพิจารณา และเสนอรัฐบาลในร่าง พ.ร.บ.ปี 67 และหากเรือดำน้ำลำที่ 1 มีความชัดเจน ก็จะเดินหน้าเรือดำน้ำลำที่ 2 และลำที่ 3 ต่อไป ซึ่งต้องพิจารณาต่ออีกที"
2-3 ปีที่ผ่านมา ต้องถือว่าเป็นช่วง “งานเข้า” จึงต้องค่อยๆ แก้ปมไปทีละเปลาะ หลังจากฝ่ากระแสถูกโจมตีโครงการต่างๆ ทั้งเรือช้าง เรือสุโขทัย เรือดำน้ำจีน การขาดแคลนงบประมาณการซ่อมบำรุงยุทโธปกรณ์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลังจากนี้ยังต้องดูทิศทางการเมือง และสถานการณ์ในภูมิภาคที่จะเป็นปัจจัยในตัวกำหนด ว่าจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้ลุล่วงไปได้หรือไม่อีกด้วย
ยังไม่นับเรื่องร้อนที่จะตามมาอีกในไม่ช้า นั่นก็คือการแต่งตั้งโยกย้าย ผบ.ทร.คนใหม ที่ส่อเค้าว่าศึกวังเดิมครั้งนี้น่าจะตื่นเต้นกว่าทุกครั้ง.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“พ่อเลี้ยง”เปลี่ยนสนามรบเป็นทุน “ดับไฟใต้-สันติภาพเมียนมา”
“ฉายารัฐบาลพ่อเลี้ยง” นับเป็นภาพการเมืองในฝ่ายบริหารที่ “วิญญูชน” พึงประจักษ์ได้ว่าเป็นอย่างไร โดยเฉพาะการขยับตัวและคำพูดของ “ทักษิณ ชินวัตร” วิทยากร-นักวิชาการของพรรคเพื่อไทย
47 เก้าอี้นายกฯอบจ. บ้านใหญ่ ลุ้นเข้าวิน-กินเรียบ!
คิกออฟ นับหนึ่งตั้งแต่จันทร์ที่ 23 ธ.ค.ที่เป็นวันแรกของการรับสมัครบุคคลที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งนายกฯ อบจ. 47 จังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงที่ลงสมัครเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั่วประเทศ 76 จังหวัด
‘แม้ว’ ไล่ทุบ- ‘ภูมิใจไทย’ ไม่หมู ‘แดง-น้ำเงิน’ ทนอยู่แบบตบจูบ
นาทีนี้ศึกฝ่ายค้าน-รัฐบาลยังไม่เดือดเท่ากับศึกรัฐบาลด้วยกันเอง แรงขึ้นเรื่อยๆ สำหรับการขบเหลี่ยมของพรรคอันดับ 1 และพรรคอันดับ 2
ขวากหนามแก้รัฐธรรมนูญ คนกันเอง...เล่นเกมต่อรอง
เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่เห็นชอบกับ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ฉบับคณะ กมธ.ร่วมกันพิจารณาเสร็จแล้ว
'ทักษิณ'พังการเมืองท้องถิ่น กระหายอำนาจ ไม่สนขัดแย้ง
“นายใหญ่” ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เจ้าของพรรคเพื่อไทย ต้องการฟื้นคืนชีพระบอบทักษิณโดยไม่สนใจบทเรียนในอดีต จนตัวเองและน้องสาวต้องหนีออกนอกประเทศ รวมถึงบริวารต้องติดคุกแทน
คดีป่วยทิพย์ชั้น14ในมือ‘ป.ป.ช.’ ‘รอด-ร่วง’สะเทือนการเมือง
เป็นอีกหนึ่งคดีที่ท้าทายสำหรับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หลังมีมติแต่งตั้ง องค์คณะไต่สวน ซึ่งประกอบด้วยกรรมการ ป.ป.ช.ทุกคน เพื่อตรวจสอบกรณีกล่าวหานายสหการณ์