การเลือกตั้ง2566 ถือเป็นอภิมหาอีเว้นท์การเมือง ที่แต่ละพรรค งัดทุกกลยุทธ์มาห้ำหั่นกัน เพื่อโอกาสได้บริหารประเทศ นั่นจึงหมายถึงการต่อสู้ชิงชัยให้เข้ามาเป็นรัฐบาล ด้วยการรวมเสียงในสภาสูง และสภาล่าง ให้ได้ 376 เสียงขึ้นไป เพื่อจะได้มีโอกาสได้เป็นนายกฯ
พรรคเพื่อไทย และพรรครวมไทยสร้างชาติ คือคู่ต่อสู้ที่ต้องห้ำหั่นกันอย่างหนัก ในเกมที่แพ้ไม่ได้ ด้วยต่าง ก็เดิมกันไว้สูงลิ่ว ฝ่ายหนึ่งหมดทุน หมดแรงไปมาก อีกฝ่าย ก็ไม่อยากถูกเช็กบิล ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายต่างมีแต้มต่อไม่เหมือนกัน อาทิ พรรคเพื่อไทย ที่ต้องยอมบอกว่ามีกระแสประชาชนเป็นแบ็กอัพ แต่อย่าประมาทพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่มีฝ่ายอนุรักษ์นิยม กลุ่ม ส.ว.เป็นขุมพลัง โดยเฉพาะการจับมือด้วยสายเลือดกับพรรคพลังประชารัฐ ที่มีพลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ พี่ใหญ่ค่ายบูรพาพยัคร์ เป็นหัวหน้าพรรค ไปจนถึงความผูกพันธ์กับพรรครัฐบาลเดิม ที่เชื่อว่ายังมีสายใยกันอยู่
อนุทิน ชาญวีรกูล
ณ ชั่วโมง โจทย์ใหญ่ของพรรคเพื่อไทย สู่การเถลิงอำนาจ คือ การต้องรวมเสียง ส.ส. – ส.ว.ในสภาให้ได้ 376 เสียงก่อน แต่ในความเป็นจริง กับเพื่อไทยนั้น ไม่ได้มองความช่วยเหลือจากฝ่าย ส.ว. ซึ่งเป็นขั้วตรงข้ามที่ยากจะได้รับแรงหนุน ดังนั้น ตัวเลขดังกล่าวจึงหมายถึงเฉพาะ เสียง ส.ส.เท่านั้น นี่คือโจทย์หินของพรรคเพื่อไทย เพราะถึงแม้จะชนะ ได้เสียงมาเป็นอันดับ 1 แต่การไปจับมือกับพรรคอื่นๆ ก็ต้องมาด้วยเงื่อนไขต่างๆ ตามมา โดยระหว่างนั้น เราอาจจะเห็นพรรคอันดับ 2-3 ตั้งรัฐบาลแข่ง
ในกลุ่มแฟนคลับ และ ติ่งที่อ้างเป็นฝ่ายประชาธิปไตย คาดกันว่าพรรคเพื่อไทย จะเลือกพรรคก้าวไกล เป็นพรรคแรกที่จะจับมือกัน แต่หากเพื่อไทย มีแผนพานายทักษิณ ชินวัตร กลับบ้าน มั่นใจว่า ก้าวไกล ไม่ยอมลดตัวทางอุดมการณ์ลงไปต่อเสลี่ยงให้แน่ ที่สุดแล้ว เพื่อไทยต้องมองมาที่พรรครัฐบาลปัจจุบันก่อน ณ จุดนี้ พรรคไหนมีความเหมาะสมที่สุด ดีดลูกคิดการเมือง ก็พอจะนึกออก
สำหรับพรรครวมไทยสร้างชาติ ต้องบอกว่าโจทย์ในการรวมเสียงนั้นง่ายกว่าพอสมควร เพราะ มี ส.ว.เป็นฐานคะแนนให้แล้ว 250 เสียง ดังนั้นจึงต้องการแค่ 250 เสียง ส.ส.เพื่อสานฝันเกมอำนาจที่มีเสถียรภาพ
อย่างไรก็ตาม หากพรรคของพลเอกประยุทธ์ หรือพลเอกประวิตร ไม่ใช่พรรค ซึ่งได้เสียงมาเป็นอันดับที่ 1 ในขั้วรัฐบาลเดิม ซึ่งว่ากันว่า พรรคภูมิใจไทย ของนายอนุทิน ชาญวีรกูล มีโอกาสสูงพอสมควร ที่จะเข้าวินในซีกการเมืองนี้ และสามารถก้าวขึ้นมาเป็นพรรคแกนนำรัฐบาลได้เช่นกัน
เอาเข้าจริง ชื่อของพรรคภูมิใจไทยนั้น มีความโดดเด่นในกระดานอำนาจมาตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมา ในฐานะเป็นพรรคค้ำยันรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ โดยเฉพาะบทบาทในสภาฯ และปัจจุบัน ได้รับการคาดหมายว่าจะเป็นผู้กำหนดโฉมหน้ารัฐบาล ทั้งในฐานะผู้จัดตั้งรัฐบาล และผู้ที่จะเลือกว่า ใคร จะได้เป็นรัฐบาลใช่หรือไม่
รศ.สุขุม นวลสกุล
รศ.สุขุม นวลสกุล อดีตอธิการบดี ม.รามคำแหง ยกให้ภูมิใจไทย เป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับพรรคเพื่อไทย เพราะแม้จะมีอดีต แต่ถูกเจือจางด้วยระยะเวลาแล้ว ที่สำคัญ ความแค้นเคืองระหว่าง 2 พรรคแต่กาลก่อนนั้น อย่างไรเสีย ก็เป็นเรื่องของการเปลี่ยนข้างย้ายขั้วที่ยังอยู่ในระบบการเมือง ผิดกับความขัดแย้งที่พรรคเพื่อไทยมีกับฝ่ายกองทัพ ที่ถึงขั้นต้องมีการยึดอำนาจ ล้มทั้งกระดาน ส่วนการที่พรรคเพื่อไทย จะจับกับพรรคประชาธิปัตย์ ยังเกิดขึ้นยาก เพราะรอยแค้น จากเหตุการณ์ปี 2553 เป็นภาพจำที่กองเชียร์ลืมไม่ลง ขณะเดียวกัน ภูมิใจไทย ก็ยังเป็นตัวเลือกที่ดีของฝ่ายกองทัพเพราะเคยตั้งรัฐบาลลองงานกันมาแล้ว และประคองรัฐนาวา มาจนอยู่ครบ 4 ปีแม้จะยุบาสภา แต่ในทางพฤตินัย ก็เรียกว่าครบเทอม
ดร.สติธร ธนานิธิโชติ
สอดคล้องกับ ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า วิเคราะห์สูตรการเมือง หลังการเลือกตั้ง ระบุว่า ตอนนี้ ต้องมาดูว่า พรรคเพื่อไทยจะได้จำนวน ส.ส.เท่าไร กรณีได้ ส.ส.ถึง 220 เสียง ก็มีความเป็นไปได้ว่าจะไปจับมือกับพรรคขั้วเดียวกัน และไปจับมือกับพรรคภูมิใจไทย และพรรคพลังประชารัฐ โดยสูตรนี้จะไม่มีพรรคก้าวไกลรวมอยู่ในสมการ แต่มองว่า ตัวพรรคก้าวไกลอาจจะแสดงสปิริตร่วมโหวตชื่อนายกรัฐมนตรีให้ฝ่ายนี้ เพื่อปิดสวิตช์สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ร่วมโหวต และจะทำหน้าที่ฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ไป สูตรนี้ ประเมินว่าจะมีคะแนนเสียงรวมกันที่ 340 เสียง
แต่หากพรรคเพื่อไทยได้คะแนนไม่ถึง 220 เสียงขึ้นไป จะเป็นโอกาสให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ลุกขึ้นมาสู้ทันที โดยชั้นแรก พรรครวมไทยสร้างชาติ ต้องได้เสียงมากกว่า 25 เสียง ซึ่งคิดว่า ทำได้ และน่าจะไปถึง 40 เสียง จะเป็นไปตามคุณสมบัติที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 159 คือ การเสนอนายกรัฐมนตรีในสภา จะต้องมาจากพรรคการเมืองที่มี ส.ส.ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของสมาชิกที่มีอยู่ หรือจะต้องได้ ส.ส.อย่างน้อย 25 คน
จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ก็จับขั้วกับพรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคอื่นๆ ไปจนถึงเปิดการเจรจากับกลุ่มบ้านใหญ่ ที่โดยธรรมชาติ ต้องการเป็นรัฐบาล ไปจนถึงการไปเจรจา ส.ส.ในอีกขั้วหนึ่ง ทีนี้ ก็จะรวมเสียงได้เกิน 250 เสียง
“จะเห็นว่า ทุกสมการต้องมีพรรคภูมิใจไทย อยู่ในนั้นด้วย ถ้าภูมิใจไทย เลือกอยู่ข้างไหน ข้างนั้น มีโอกาสที่จะได้เป็นรัฐบาลสูง”
ผศ.ดร.วันวิชิต บุญโปร่ง
ขณะที่ ผศ.ดร.วันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงอนาคตของการเมืองไทย ระบุว่า ตอนนี้ การเมืองไทยแต่ละพรรค เริ่มตอกย้ำจุดแข็งกันก่อนมาแล้ว พรรคเพื่อไทย เน้นไปในเรื่องของการลด แลก แจก แถม ประชานิยม ที่มาพร้อมกับแบรนด์นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
ส่วน พรรคพลังประชารัฐ ก็ชูเรื่องปรองดอง และเน้นย้ำเรื่องความรัก และเชิดชูสถาบัน ขณะที่ พรรครวมไทยสร้างชาติ เน้นอุดมการณ์ต่อต้านพวกชังชาติ ขวาพอสมควร ส่วนพรรคก้าวไกล ก็ขายแนวคิดเชิงก้าวหน้าไปเลย พรรคประชาธิปัตย์ เน้นเรื่องประชาธิปไตยไม่โกง และไม่เห็นด้วยกับประชานิยม ทั้งยังมีอดีตที่ไม่ดีเอามากๆ กับครอบครัวชินวัตร ในหลายเวที เราจะเห็นความขัดแย้ง จาก 3-4 พรรค ที่กล่าวถึง ในประเด็นต่างทั้งเอา ไม่เอา ทักษิณ ใครอุ้ม เผด็จการ ใครโกง ใครไม่โกง สิ่งที่เกิดขึ้น เป็นการสร้างกำแพงให้พรรคเหล่านี้
แต่อย่าลืมว่า หลังการเลือกตั้ง ไม่ว่าใครจะเป็นที่ 1 คุณต้องหาพวก ตอนนั้น พรรคตัวแปร จะกลับมามีความสำคัญอีกครั้ง เมื่อเวลานั้นมาถึง คิดว่า พรรคภูมิใจไทย ที่จะได้เสียงเป็นอันดับ 1 ในขั้วรัฐบาลปัจจุบัน และมีความประนีประนอมมากที่สุดนี่เอง ที่จะถูกสปอตไลท์ส่อง นี่คือ พรรคที่จะกลายเป็นผู้กำหนดตัวรัฐบาลได้ เนื่องจากจำนวน ส.ส.ที่มากพอจะเป็นตัวแปรสำคัญ ไปจนถึงมิตรภาพทางการเมืองระหว่างภูมิใจไทย กับพรรคอื่นๆ
“ผมจะยกตัวอย่างให้ อย่างพรรคเพื่อไทย ถ้าอยากชนะ ส.ว. คุณต้องได้เสียง ส.ส.เกิน 375 เสียง แล้วถามว่า ถ้าต้องข้ามขั้วไปจับมือ การจับพลังประชารัฐ ที่มาโดยทหาร การจับกับประชาธิปัตย์ ที่มีประวัติศาสตร์ร่วมกันไม่ค่อยดีมากๆ การจับมือกับภูมิใจไทย คุณคิดว่า จะเลือกจับกับใครดีกว่ากัน คำตอบมันชัดอยู่แล้ว ว่าต้องเป็นภูมิใจไทย เผลอๆ ไปจับพลังประชารัฐ ก็อาจจะไม่ได้ ส.ว. ด้วย แล้วฝ่ายรวมไทยสร้างชาติ พลังประชารัฐ ถ้าเกิดต้องการตั้งรัฐบาลแข่ง คุณต้องรวมเสียง ส.ส.ให้ได้เกิน 250 เสียง ดังนั้น มันชัดเจนว่า คุณต้องมองภูมิใจไทย ที่นี้ ก็ขึ้นอยู่กับพรรคภูมิใจไทยแล้วว่า จะเลือกใคร การเมืองมันมีอำนาจซับซ้อน การตัดสินใจ น่าจะยากมากทีเดียว”
สำหรับพรรคภูมิใจไทยนั้น หากวิเคราะห์จากข้อมูลที่หลั่งไหลเข้ามา เช่น พรรคเพื่อไทยจะชนะ แต่ไม่แลนด์สไลด์ เพระถูกก้าวไกลขวางทาง โอกาสชนะเป็นที่ 1 ด้วยคะแนนเกิน 250 เสียง เป็นไปได้ลำบาก หรือเรื่องของพรรค 2 ลุง จะจับมือกันต่อ และปฏิเสธการแตกทัพไปอยู่กับพรรคเพื่อไทยก็มีแนวโน้มสูง
ฉะนั้นหลังการเลือกตั้งปี 2566 พรรคภูมิใจไทย จึงถูกจับตาเป็นพรรคที่กลายเป็นผู้กำหนดโฉมหน้าการเมืองไทย ตัวจริง เสียงจริง ใช่หรือไม่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“พ่อเลี้ยง”เปลี่ยนสนามรบเป็นทุน “ดับไฟใต้-สันติภาพเมียนมา”
“ฉายารัฐบาลพ่อเลี้ยง” นับเป็นภาพการเมืองในฝ่ายบริหารที่ “วิญญูชน” พึงประจักษ์ได้ว่าเป็นอย่างไร โดยเฉพาะการขยับตัวและคำพูดของ “ทักษิณ ชินวัตร” วิทยากร-นักวิชาการของพรรคเพื่อไทย
'อนุทิน' ขอบคุณสื่อตั้งฉายา ภูมิใจทำประโยชน์บ้านเมือง ปัดขวางใคร อุ้ม 2 รมต.โลกลืม
'อนุทิน' น้อมรับฉายาสื่อทำเนียบฯ ลั่นภูมิใจทำประโยชน์ให้บ้านเมือง ไม่ได้คิดขวางใคร อวย 'แพทองธาร' ตั้งใจทำงาน แจงแทน 2 รมต.โลกลืม 'เพิ่มพูน' พูดน้อยแต่ผลงานอื้อ
‘แพทองธาร’ ยันพรรคร่วมไร้ปัญหา หลังภาพ 'ทักษิณ-อนุทิน' ออกรอบตีกอล์ฟด้วยกัน
ความจริงแล้วตนและนายอนุทิน ก็คุยกันอยู่แล้ว ถึงจะมีปัญหาอะไรก็คุยกันเคลียร์กันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นพรรคภูมิใจไทยหรือพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆถึงเวลาถ้ามีอะไรก็คุย
อย่างหล่อ! ‘อนุทิน’ ปัดตีกอล์ฟเคลียร์ขัดแย้ง ‘ทักษิณ’ ยันการกระทำสำคัญกว่าคำพูด
‘อนุทิน’ ปัดตีกอล์ฟ ‘ทักษิณ’ เคลียร์ปมขัดแย้ง ยัน ‘การกระทำสำคัญ กว่าคำพูด’ ย้ำอีแอบ ไม่ได้หมายถึงตัวเอง - ภูมิใจไทยชัดเจน เพราะข้อเท็จจริงเข้าประชุมครม.
'รัฐบาลพ่อเลี้ยง' ฉายารัฐบาลปี67 นายกฯ'แพทองโพย' อนุทิน'ภูมิใจขวาง' วาทะแห่งปี'สามีเป็นคนใต้'
สื่อทำเนียบฯ ตั้งฉายาปี 67 'รัฐบาล(พ่อ)เลี้ยง' ส่วนฉายานายกฯ 'แพทองโพย' 7 รมต.ติดโผ 'บิ๊กอ้วน-อนุทิน-ทวี' พ่วง 3 รมต.โลกลืม
47 เก้าอี้นายกฯอบจ. บ้านใหญ่ ลุ้นเข้าวิน-กินเรียบ!
คิกออฟ นับหนึ่งตั้งแต่จันทร์ที่ 23 ธ.ค.ที่เป็นวันแรกของการรับสมัครบุคคลที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งนายกฯ อบจ. 47 จังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงที่ลงสมัครเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั่วประเทศ 76 จังหวัด