หลังศาลปกครองสูงสุดมีคำตัดสินเมื่อวันศุกร์ที่ 21 เม.ย.ที่ผ่านมา ให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยข้อมูลการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีกล่าวหา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริง หรือที่เรียกกัน นาฬิกาเพื่อน
ที่เคยเป็นเรื่องเกรียวกราวก่อนหน้านี้ กรณีพลเอกประวิตรใส่นาฬิกาและครอบครองไว้หลายเรือน โดยเป็นนาฬิกาที่มีการเปิดเผยในเวลาต่อมาว่าได้จาก เสี่ยคราม-ปัฐวาท สุขศรีวงศ์ อดีตผู้บริหาร-ผู้ก่อตั้งบริษัท คอมลิงค์ฯ ที่เป็นเพื่อนรักเซนต์คาเบรียลคอนเนกชันกับบิ๊กป้อม โดยเป็นที่รู้กันดีในวงการทหาร-การเมือง ก่อนหน้านี้ว่า ปัฐวาทคือแขกวีไอพีของบ้านป่ารอยต่อฯ ของ พล.อ.ประวิตรมาตลอดหลายปี
จนพลเอกประวิตรเคยตอบโต้ฝ่ายค้าน-พรรคก้าวไกล ตอนถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจประเด็นนี้ว่า “คุณไม่เคยมีเพื่อนดีๆ แบบผม”
สำหรับเรื่องนาฬิกาเพื่อน เคยเป็นประเด็นที่ถูกจับตามองและวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง หลังเมื่อวันที่ 27 ธ.ค.2561 คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติตีตก คำร้องดังกล่าว
โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติด้วยคะแนนเสียง 5 ต่อ 3 ว่า คำร้องดังกล่าวยังไม่มีมูลเพียงพอว่า พล.อ.ประวิตรจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ และมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สิน
เรื่องนี้ทำให้ทัวร์ลง-กระสุนตกที่สำนักงาน ป.ป.ช.ชุดใหญ่ จนส่งผลต่อเครดิต-ความเชื่อมั่นของสังคมที่มีต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในช่วงดังกล่าวอย่างหนัก ก่อนที่เรื่องจะค่อยๆ เงียบหายไป
และวันนี้เรื่องนาฬิกาเพื่อนกลับมาเป็นข่าวอีกครั้งในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง กับคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา
มีการชี้ข้อกฎหมายออกมาว่า กระบวนการต่อจากนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ผู้ถูกฟ้องคดี จะต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดภายใน 15 วัน นับแต่วันที่มีคำพิพากษา เมื่อ 21 เมษายนที่ผ่านมา
โดยเลขาธิการ ป.ป.ช.ต้องนำสำเนาคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด เสนอต่อที่ประชุมใหญ่ หลังได้รับเอกสารดังกล่าวอย่างเป็นทางการ ที่ประเมินแล้ว ทางคณะกรรมการ ป.ป.ช.ต้องดำเนินการตามคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว เพราะถือว่าคดีถึงที่สุด
ทั้งนี้ คำตัดสินของศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว สรุปเหตุผลที่ศาลมีคำตัดสินให้ ป.ป.ช.เปิดเผยสำนวนการไต่สวนคำร้องเรื่องนาฬิกาเพื่อนได้ใน 2 จุดสำคัญ
1.ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่าสำนวนคดีดังกล่าว คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติไปแล้ว ไม่รับเรื่องไว้ดําเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง หรือเรียกง่ายๆ “ตีตกไม่รับตรวจสอบ”
2.ก่อนหน้านี้เคยมีคําวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดิน และการบังคับใช้กฎหมาย ที่ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 มีคําวินิจฉัยให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.เปิดเผยข้อมูลข่าวสารโดยไม่มีข้อจํากัดหรือเงื่อนไข อันมีผลให้ข้อมูลข่าวสารนั้นถูกยกเลิกชั้นความลับแล้วตามข้อ 24 ของระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พ.ศ.2554 ศาลจึงเห็นว่า หาก ป.ป.ช.ได้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารโดยสุจริตและถูกต้องตามระเบียบดังกล่าว ก็ไม่ต้องมีความรับผิดและมีโทษตามกฎหมายใดๆ
ซึ่งเอกสารที่ ป.ป.ช.จะต้องส่งให้ วีระ สมความคิด ในฐานะผู้ฟ้องคดี ซึ่งตัววีระก็คงนำเอกสารข้อมูลดังกล่าวที่ได้จาก ป.ป.ช.มาเปิดเผยต่อสาธารณชนต่อไป โดยเอกสารที่วีระยื่นขอให้ ป.ป.ช.นำส่งและเปิดเผย พบว่าทั้งหมดคือส่วนสำคัญของสำนวนคดีนาฬิกาเพื่อน ในชั้นการไต่สวนของ ป.ป.ช.ทั้งในชั้นอนุกรรมการไต่สวนและผลการลงมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ ที่มี พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ เป็นประธานในช่วงการพิจารณาสำนวนคดีดังกล่าว ซึ่งปัจจุบัน พล.ต.อ.วัชรพลก็ยังเป็นประธาน ป.ป.ช.อยู่ โดยประกอบด้วย
1.รายการการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานเอกสารทั้งหมด
2.ความเห็นของพนักงานเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ทุกคนที่รับผิดชอบเรื่องนี้
3.รายงานการประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้
ผลจากคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว ในทางการเมือง ถูกพูดถึงตามมาทันทีว่า จะส่งผลต่อพลเอกประวิตร หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ-แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคพลังประชารัฐและคะแนนนิยมต่อพลังประชารัฐหรือไม่ ในช่วง 3 สัปดาห์สุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง
อย่างไรก็ตาม พบว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงเรื่องนี้แบบมั่นอกมั่นใจมากว่า
“ผมอยากให้เปิดจะได้รู้ความจริง จะได้รู้ว่าเป็นอย่างไร อยากให้เปิดนานแล้ว ไม่มีปัญหาเลย ผมไม่ได้ไปเอาของใครมา ผมยืมเขามาก็คืนเขาแล้ว”
และเมื่อถูกสื่อถามว่า จะมีผลต่อกระแสของพรรคในช่วงการเลือกตั้งเวลานี้หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่าไม่มี
ส่วน นิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กล่าวด้วยลีลาแบบตั้งการ์ด ไม่ออกตัวเร็วว่า ขณะนี้ ป.ป.ช.ยังไม่ได้รับคำวินิจฉัยอย่างเป็นทางการจากศาลปกครองสูงสุดส่งมาให้ หากส่งมาเมื่อไร สำนักงาน ป.ป.ช.จะสรุปเรื่องส่งให้ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ลงมติจะเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวหรือไม่ แต่โดยปกติถ้าเป็นคำพิพากษาศาล ป.ป.ช.ก็ต้องปฏิบัติตามคำสั่งอยู่แล้ว ที่ผ่านมาเคยมีคำพิพากษาศาลปกครองให้ ป.ป.ช.เปิดเผยข้อมูลในลักษณะเช่นนี้ ป.ป.ช.ก็ปฏิบัติตาม แต่กรณี พล.อ.ประวิตรนั้น ป.ป.ช.ยังไม่เห็นคำวินิจฉัยอย่างเป็นทางการ ต้องรอดูข้อมูลก่อนว่า เป็นการให้เปิดเผยข้อมูลตามกฎหมายเรื่องใด จะมีประเด็นใดที่เป็นข้อขัดแย้งทางรัฐธรรมนูญที่อาจจะต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่ รายละเอียดส่วนนี้ ป.ป.ช.ยังไม่เห็น
“ยังตอบไม่ได้ว่าจะเปิดเผยข้อมูลหรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับมติที่ประชุม ป.ป.ช.ชุดใหญ่เป็นผู้ชี้ขาด แม้ พล.อ.ประวิตรจะไม่ขัดข้องให้เปิดเผย แต่ในสำนวนไม่ได้มีแค่ข้อมูล พล.อ.ประวิตรคนเดียว แต่ยังมีคำให้การพยานคนอื่นๆ อีกหลายคน ต้องพิจารณาในเรื่องนี้ด้วย
โดยทางสำนักงาน ป.ป.ช.จะสรุปเรื่องเสนอที่ประชุม ป.ป.ช.ได้เมื่อใด คงต้องรอให้ได้คำพิพากษาจากศาลปกครองสูงสุดมาก่อน จึงจะดำเนินการขั้นต่อไปได้”
ถือเป็นท่าทีความเห็นจากเลขาธิการ ป.ป.ช. ซึ่งน่าสนใจพอสมควร เพราะฝ่าย ป.ป.ช.อาจมองว่า ตัวบุคคลที่อนุกรรมการ ป.ป.ช.เคยเรียกมาสอบถามข้อมูลต่างๆ อาจไม่ได้คิดในตอนมาคุยกับ ป.ป.ช.ว่า สิ่งที่พูดหรือให้ข้อมูลไป จะถูกนำไปเปิดเผยภายนอก โดยเฉพาะหากเป็นข้อมูลที่จะมีผลกระทบต่อการทำงาน การใช้ชีวิต ทาง ป.ป.ช.ก็เลยอาจเป็นห่วงในจุดนี้ เช่น การให้ข้อมูลของคนในครอบครัว “สุขศรีวงศ์” ที่แม้ดูจากที่ ป.ป.ช.ตีตกสำนวน เป็นไปได้ว่าเป็นการให้ข้อมูลที่เป็นผลดีต่อพลเอกประวิตร จน ป.ป.ช.ยุติการไต่สวน แต่คนในครอบครัวก็อาจไม่ได้คิดว่า สิ่งที่ไปบอกกับ ป.ป.ช.ที่เป็นเรื่องภายใน จะถูกนำมาเปิดเผยภายนอก
หมุดหมายต่อไปของเรื่องนี้ ต้องรอดูที่ ป.ป.ช.ก่อนเป็นลำดับแรก ว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่ดูแล้วหาก ป.ป.ช.เล่นแง่ ไม่ทำตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด คงไม่เป็นผลดีต่อ ป.ป.ช.เอง จากนั้นก็ต้องตามต่อว่า เมื่อ ป.ป.ช.ส่งสำนวนทั้งหมดให้นายวีระ แล้ว และหากนายวีระ ในฐานะผู้ฟ้องคดี มีการนำสำนวนทั้งหมดของ ป.ป.ช.มาเปิดเผยและขยายความ ก็ต้องดูว่าเรื่องนี้จะมีผลทางการเมืองอย่างไรตามมา
กระนั้นหลายส่วนของวงการการเมือง มองไปในทิศทางที่ว่า เรื่องนี้อาจไม่มีผลทางการเมืองต่อพลเอกประวิตรและพลังประชารัฐมากนัก และคาดว่าตอนนี้ป่ารอยต่อฯ เตรียมตั้งรับเรื่องนี้ไว้แล้ว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ติดสลักกม.ประชามติ รธน.ใหม่ส่อลากยาว
สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ได้ข้อสรุปหลักเกณฑ์ที่จะใช้สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรียบร้อย โดยให้ยึดเสียงข้างมาก 2 ชั้น กล่าวคือ 1.ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด และ 2.ต้องได้เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ์
ชนักติดหลัง-หอกดาบ ที่ค้างอยู่ของ"ทักษิณ"
แน่นอนว่า ทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย ย่อมต้องถอนหายใจโล่งอก ที่ไม่ต้องตกอยู่ในสถานะ ผู้ถูกร้อง ที่ศาลรัฐธรรมนูญ หลังศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง-ไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัยในคดีที่ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือ "คดีล้มล้างการปกครอง" ที่ศาล รธน.มีมติยกคำร้องไปเมื่อ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา
'ชินวัตร' ตีปีกดันรัฐบาลครบเทอม วิบากกรรมไล่ล่า 'ชั้น14' หลอกหลอน
ดูจากมติเอกฉันท์ของศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49
แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?
ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่
ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด
นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย
จับตาคลอดโผแต่งตั้ง“นายพลใหญ่” ตำรวจคนสนิทฝั่งรัฐบาลพรึบยกแผง
จับตาบ่ายวันนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายล็อตแรก “นายพลใหญ่” ระดับรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ-ผบช. ที่นายกฯ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2567 เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อ “พล.ต.อ.-พล.ต.ท.” วาระประจำปี 2567