หายนะนโยบาย 'แจกเงิน' สอนคนไทยเป็น 'ขอทาน'

ปัจจัยให้ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง วันที่ 14 พ.ค. นอกจากกระแสพรรค ตัวบุคคล ทรัพยากรเลือกตั้ง อีกเงื่อนไขสำคัญคือ "นโยบายหาเสียง"

ในช่วงที่ผ่านมาหลายพรรคการเมืองต่างนำเสนอนโยบายมากมาย โดยส่วนมากออกไปในแนวทางประชานิยมสุดโต่ง ลดแลกแจกแถม หวังมัดใจคนไทยในทันที เพื่อออกไปเทคะแนนให้กับพรรคตัวเอง

ทั้งนี้ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์มักจะไม่ได้ทันคำนึงถึงผลเสียที่จะตามมาในอนาคต สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤต เพราะเริ่มต้นก็สอนให้ประชาชนเคยชิน แบมือขอจากรัฐ เปรียบเป็นยาจกหรือขอทาน ก่อนที่ประเทศชาติจะก้าวไปสู่หายนะ ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นกับกลุ่มลาตินอเมริกาในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้รับแจ้งรายละเอียดนโยบายหาเสียงตามมาตรา 57 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ครบทั้ง 70 พรรคการเมืองแล้ว

ไม่ว่าจะเป็น พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคไทยสร้างไทย เป็นต้น ที่ส่วนใหญ่ได้ใช้งบประมาณจำนวนมาก ทั้งที่เป็นงบประมาณแผ่นดินและนอกงบประมาณ  

แต่ที่สะดุดตา เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันมากเป็นของพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่ได้นำเสนอ 70 นโยบาย โดยใช้งบประมาณมากที่สุดถึง 3 ล้านล้านบาท (สามล้านล้านบาท) 

โดยมีไฮไลต์คือ นโยบายประชานิยมกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล หรือแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ให้กับผู้มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ซึ่งมีประชาชนอยู่ในเกณฑ์ดังกล่าวกว่า 50 ล้านคน ระบุวงเงินที่จะใช้ครั้งนี้ 5.6 แสนล้านบาท   

ทั้งนี้ ทางพรรคเพื่อไทยได้ชี้แจงที่มาของเงินที่ใช้ดำเนินการแบบคร่าวๆ เท่านั้น ว่ามาจากการบริหารระบบงบประมาณและระบบภาษี 1.ประมาณการรายได้รัฐที่เพิ่มขึ้นในปี 2567 จำนวน 2.6 แสนล้านบาท 2.ภาษีที่ได้มาจากผลคูณต่อเศรษฐกิจจากนโยบาย 1 แสนล้านบาท 3.การบริหารจัดการงบประมาณ 1.3 แสนล้านบาท 4.การบริหารงบประมาณด้านสวัสดิการที่ซ้ำซ้อน 9 หมื่นล้านบาท

โดยไม่กล้าชี้แจงให้ กกต.สิ้นสงสัย เพราะเกรงจะกระทบความนิยมก่อนเลือกตั้งใช่หรือไม่ เนื่องจากอ่อนไหวต่อความรู้สึกและกระทบกับประชาชนโดยตรง

ดังเหตุผลดังนี้ ประการแรก ไม่มั่นใจว่าจะเก็บภาษีจากภาษีชนิดใดบ้าง อาทิ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หากจะเก็บเพิ่มจากเดิมซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 7 เป็นร้อยละเท่าไหร่ หรือไม่

ประการสอง ต้องหั่นงบประมาณของกระทรวงต่างๆ ซึ่งคาดหวังว่าจะรีดได้มากสุด 1 แสนล้านบาท ซึ่งไม่แน่ใจว่าข้าราชการจะยินยอมหรือไม่

ประการที่สาม หากเงินยังไม่พอ จะต้องกู้เงินมาใช้ในโครงการหรือไม่ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ พรรคเพื่อไทยโจมตีรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์มาตลอดว่ากู้มาแจก ที่สำคัญหากออกกฎหมายเงินกู้จะผ่านด่านสำคัญในชั้นวุฒิสภาและศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่

ประการที่สี่ หากดำเนินตามนโยบายแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท จะต้องยกเลิกโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 14 ล้านคนหรือไม่ เพราะหากดำเนินการควบคู่กันจะเป็นภาระงบประมาณที่สูงขึ้นไปอีก ซึ่งล่าสุดแกนนำพรรคเพื่อไทยออกมาระบุว่าจะไปยกบัตรคนจนแล้วก็ตาม ซึ่งถือเป็นภาระทางการคลังอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ กกต.จะต้องศึกษาข้อเท็จจริงของนโยบายดังกล่าวโดยเร็ว ซึ่งอยู่ใน 3 เงื่อนไข ได้แก่ 1.มีการระบุวงเงินที่ต้องใช้และที่มาของเงินที่จะใช้ดำเนินการ 2.ระบุความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย และ 3.ระบุผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย

นอกจากประเด็นข้างต้น โครงการดังกล่าวยังสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายหรือไม่ โดยนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ที่ปรึกษาคณะกรรมการนโยบายพรรคพลังประชารัฐ และอดีต รมว.คลัง ออกมาตั้งข้อสังเกตว่า นโยบายดังกล่าวถือเป็นการออกเงินตราอย่างหนึ่ง จะเข้าข้อบังคับของพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ.2501 และ พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย บัญญัติให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นองค์เดียวที่มีอำนาจออกเงินตราได้เท่านั้น ซึ่งจะมอบให้เอกชนอื่นๆ ทำไม่ได้

"เหรียญดิจิทัลออกแบบให้เป็นบล็อกเชน โดยเก็บข้อมูลในการใช้จ่ายของผู้ใช้มากถึง 54 ล้านคน โดยที่ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตจากเจ้าของข้อมูลก่อน ซึ่งถ้าเปิดให้เอกชนรายใดรายหนึ่งล้วงลึกเข้าไปในข้อมูลการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน 54 ล้านคนได้ จะเป็นข้อมูลที่มีมูลค่าในการตลาด มีความเสี่ยงที่จะรั่วไหล และถ้าเกิดรั่วไหลขึ้นมาจะเป็นอันตรายต่อประชาชน"

นโยบายนี้ยังมีข้อสังเกตเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งเป็นแผลเก่าและจุดตายของระบอบทักษิณมาทุกยุค โดยนายเกียรติ สิทธีอมร ทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ตั้งคำถามว่า บริษัท แสนสิริฯ เข้าไปซื้อหุ้นบริษัท เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล จำกัด (XPG) เมื่อปี 2021 เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นบริษัทเกี่ยวกับเงินดิจิทัล  

"ทำไมต้องบังคับให้คน 80% ของประชากรต้องใช้เงินดิจิทัล คนที่จะขายเงินสกุลดิจิทัลเป็นอุตสาหกรรมในครอบครัวหรือไม่ ผมก็ไม่ทราบ แต่วันที่ขายทรัพย์สินดิจิทัลเพื่อแจกประชาชน บริษัทนี้รวยทันที”  

ขณะที่ทีมเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยออกมาโต้ประเด็นนี้ว่า กระเป๋าเงินดิจิทัลไม่เกี่ยวข้องกับบริษัทเอกชน ไม่เกี่ยวกับการซื้อบริษัท ไม่เกี่ยวกับการฟอกเงิน ไม่เกี่ยวกับการลงทุนแต่อย่างใด

ยังมีมุมที่มองว่าจะกระทบต่อวินัยการเงินการคลังและปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย โดยนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ยังให้ความเป็นห่วงว่าจะเป็นปัญหาต่อเสถียรภาพทางการคลังในระยะยาว

ขณะที่นางธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า “เห็นนโยบายไร้ความรับผิดชอบแบบนี้แล้วเศร้าใจค่ะ"

นอกจากการสร้างหนี้โดยไม่จำเป็นแล้ว ยังเป็นการสร้างนิสัยให้ประชาชนขาดวินัยทางการเงิน คอยแต่จะแบมือรับ แทนที่จะติดอาวุธให้ประชาชนมีทักษะ มีความสามารถในการยกระดับความเป็นอยู่ของตัวเองให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน มากกว่าเงินช่วยเหลือจากนักการเมือง

สอดคล้องกับ "นวพร เรืองสกุล" อดีตนักบริหารระดับสูงทางด้านการเงิน บอกว่า เอาแต่เสกเงินออกมาโดยไม่พัฒนาฝีมือคนทำงาน ไม่ลงทุนในการเพิ่มผลผลิตและปัจจัยพื้นฐานให้เดินหน้าไปในทิศทางที่มุ่งหวัง พังไปแล้วหลายประเทศ เช่น เวเนซุเอลา กับอาร์เจนตินา”

ไม่เว้นแม้แต่ก่อนหน้านี้เจ้าของคอกเพื่อไทยอย่างนายทักษิณ ชินวัตร หรือ "โทนี่ วู้ดซัม" ยังเคยด้อยค่านโยบายแจกเงินรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มาแล้วในรายการ CARE Talk เมื่อวันที่ 15 มี.ค.2565 ว่า เติมเศรษฐกิจให้แข็งแรง ทำอะไรกระตุ้นเศรษฐกิจ “เอาเงินไปแจก ผมว่าปัญญาอ่อน ถ้ามีปัญญาเขาไม่แจก” เขาใช้เงินไปสร้างเศรษฐกิจ ให้เศรษฐกิจแข็งแรง หรือยังขายวัคซีนไม่จบ..."

ย้อนฟังคำพูดดังกล่าว แต่ไฉนบัดนี้ พรรคเพื่อไทยกำลังกลืนน้ำลายตัวเอง เดินหน้านโยบายที่นายใหญ่เคยระบุว่า การแจกเงินเป็นเรื่อง "ปัญญาอ่อน"

ดังนั้นจึงต้องจับตาว่า โครงการแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทของพรรคเพื่อไทย รวมทั้งนโยบายลดแลกแจกแถมอื่นๆ ของทุกพรรคการเมือง จะผ่านด่าน กกต.และผิด พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 73 (5) ฐานหลอกลวงให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยม และกฎหมายอื่นๆ หรือไม่ เพราะหากทำไม่ได้จริงและปล่อยผ่านไป ก็จะนำมาสู่ความหายนะในไม่ช้า.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“รัฐบาล”ไฟลต์บังคับ “ทักษิณ”ได้แค่กร่าง

ดรามาปม “อีแอบ” อาจเป็นแค่ประเด็นโชว์กร่าง หวังกดดันให้พรรคร่วมรัฐบาลสยบยอม หลัง “ทักษิณ ชินวัตร” นายใหญ่ ที่มีสถานะเป็นพ่อนายกรัฐมนตรี ได้พ่นไฟระหว่างงานสัมมนาพรรคเพื่อไทยที่ อ.หัวหิน เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมา

'แม้ว' ไล่อัดพรรคปชน. เช้ายันเย็น ฝากถึงขาประจำระวังไว้ ไม่ได้ขู่เช็กบิลแต่เอาจริง

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขึ้นเวทีปราศรัยช่วยนายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร หรือ สว.ก๊อง ผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงใหม่ เบอร์ 2 หาเสียง เป็นวันที่ 2 เวทีสุดท้าย

'ทักษิณ' พล่ามหนัก! หลังรัฐประหารเอาคนง่าวมาบริหารประเทศจนเฮงซวย

“ทักษิณ” รับ เป็นคนโลภมาก ขอสส.เชียงใหม่ คืน 10 คน เหน็บ “ปชน.” สงสัยเวลาตกฟากไม่ดี เป็นรบ.ลำบาก เย้ย มวยเพิ่งขึ้น อย่าคิดว่าจะชนะ

'นายกฯอิ๊งค์' เชื่อเศรษฐกิจไทยปีหน้ามีแนวโน้มดีขึ้น ตั้งเป้าจีดีพีโต 3%

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ตั้งแต่รัฐบาลเข้ามาทำงานที่มีนโยบายต่างๆสำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้ภาคธุรกิจและประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยในปี 2568 งบประมาณจะเพิ่มขึ้น และมีการขาดดุลการคลังที่ลดลง ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่ดี

'หัวหน้าเท้ง' สวนกลับ 'ทักษิณ' เร่งเครื่องเต็มสูบ ไม่ช่วยเพื่อไทยเหนือกว่า ปชน.

นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงพรรคเพื่อไทย ปราศรัยพาดพิงพรรคประชาชนทำงานไม่เป็น ว่า สิ่งหนึ่งที่พรรคประชาชนมีผลงานเป็นรูปธรรม