สมรภูมิเลือกตั้งหลังสงกรานต์ ร้อนปรอทแตก วิชามาร-เกมใต้ดินรอยิงใส่!

หลังผ่านพ้นช่วงเทศกาลหยุดยาวสงกรานต์ กลับเข้าสู่โหมดทำงานปกติตั้งแต่จันทร์ที่ 17 เม.ย. คาดว่าการหาเสียงเลือกตั้งที่เหลือเวลาอีกไม่ถึงสี่สัปดาห์ก็จะถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง วันอาทิตย์ที่ 14 พ.ค.2566 จะทวีความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ

เรียกได้ว่าพรรคการเมืองต่างๆ-ผู้สมัคร ส.ส.ระบบเขตทั่วประเทศของทุกพรรคการเมือง จะต้องเพิ่มความเข้มข้นในการหาเสียงมากขึ้น มีเท่าไหร่ก็ใส่เต็มแม็ก จะมัวรีรอชักช้าอีกไม่ได้

เว้นแต่บางพรรคการเมืองอาจคิดว่าตัวเองยังมี หมัดเด็ด-ไพ่ใบสำคัญ เช่น นโยบายพรรค ที่คิดว่าเด็ดจริง เปิดออกมารับรองฮือฮา สามารถโกยคะแนนเสียงได้แน่นอน ก็อาจรอปล่อยออกมาในช่วง 1-2 สัปดาห์สุดท้ายก่อนวันเลือกตั้ง เพราะเกรงว่าหากปล่อยตอนนี้ พอไปถึงวันเลือกตั้ง กระแสอาจตก เลยต้องเก็บไว้เป็น อาวุธลับ รอเปิดตอนใกล้วันเลือกตั้ง เพื่อหวังไม่ให้คู่แข่งขันตั้งตัวได้ทัน

อย่างไรก็ตาม หากประเมินสถานการณ์ผิด นโยบายที่คิดว่าเป็นหมัดเด็ดอาจแป้กก็ได้ ดูได้จากกรณีนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ของพรรคเพื่อไทย ที่กระสุนตกใส่พรรคเพื่อไทยชุดใหญ่ในเวลานี้

เป็นไปได้ว่าหากเพื่อไทยยังไม่สามารถเคลียร์ข้อทักท้วง-เสียงวิจารณ์จากที่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยออกมาชี้ผลเสีย-ผลกระทบของนโยบายดังกล่าว ได้แบบเคลียร์ทุกประเด็น สุดท้ายนโยบายดังกล่าวอาจหาเสียงได้กับแค่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งบางกลุ่มเท่านั้น เพราะอาจทำให้คนที่เคยคิดจะเลือกเพื่อไทย แต่พอเห็นเพื่อไทยออกนโยบายที่มุ่งหวังแต่คะแนนเสียงเลือกตั้งเฉพาะหน้า แต่อาจเกิดผลกระทบกับประเทศระยะยาว ก็อาจหันไปเลือกพรรคอื่นที่อยู่ในปีกเดียวกันแทนอย่าง ก้าวไกล หรือ ไทยสร้างไทย ก็ได้

สำหรับภาพรวมๆ สมรภูมิเลือกตั้งหลังสงกรานต์ เห็นภาพชัดว่า ทุกพรรคการเมือง-แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคการเมืองต่างๆ โดยเฉพาะคนที่มีลุ้นจะได้ชิงเก้าอี้นายกฯ จะเร่งโหมโรงหาเสียงเลือกตั้งหนักขึ้น กับช่วงเวลาที่เหลืออีกไม่ถึงสี่สัปดาห์ก็จะถึงวันเลือกตั้ง

ทั้งการหาเสียงแบบการตั้งเวทีปราศรัยใหญ่ ปราศรัยย่อย การลงพื้นที่อย่างหนักมากขึ้น โดยบรรดาแคนดิเดตนายกฯ และแกนนำพรรคการเมืองต่างๆ จะเริ่มโฟกัสพื้นที่ ซึ่งหวังผล ที่พรรคเห็นว่ามีโอกาสชนะ จะไม่หาเสียงแบบหว่านแห ลงพื้นที่แบบสะเปะสะปะ เพียงเพื่อหวังหาเสียงให้ทั่ว-เอาให้เยอะที่สุด ทั้งที่รู้ว่าพื้นที่หลายแห่งที่ไป หาเสียงยังไง คนในพื้นที่ก็ไม่เลือกทั้งผู้สมัคร ส.ส.เขตและปาร์ตี้ลิสต์ ทำให้เสียเวลาเปล่า  เพราะด้วยเวลาที่ไล่หลังมาเรื่อยๆ ทำให้การหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ จะมียุทธศาสตร์การหาเสียงแบบหวังผลมากขึ้น เช่นเดียวกับการตั้งเวทีปราศรัยใหญ่ของหลายพรรคการเมือง จะเน้นในพื้นที่ซึ่งหวังผลทางการเมืองการเลือกตั้งเช่นกัน โดยแม้ระบบเขตอาจสู้พรรคอื่นไม่ได้ แต่ก็ต้องไปตั้งเวทีปราศรัย โดยเฉพาะในจังหวัดใหญ่ของแต่ละภาค เพื่อหวังแชร์คะแนนในระบบบัญชีรายชื่อ

นอกจากนี้ จะได้เห็นแคนดิเดตนายกฯ หรือแกนนำพรรคการเมืองต่างๆ ลงพื้นที่หาเสียงในจุดต่างๆ เพื่อสร้างกระแส เรียกเรตติ้งให้กับตัวเองและผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค

อย่างเช่นเมื่อวันศุกร์ที่ 14 เม.ย.ที่ผ่านมา ก็ได้เห็นแล้วกับกรณี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากรวมไทยสร้างชาติ ที่ใช้ช่วงวันหยุดยาวสงกรานต์ลงพื้นที่หลายจุดในกรุงเทพมหานคร

โดยนอกจากจะเดินสายไหว้พระสามวัดดัง คือ วัดพิชยญาติการาม-วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร-วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร เพื่อเอาฤกษ์เอาชัยให้กับตัวเองแล้ว พบว่าพลเอกประยุทธ์ก็ยังไปเดินตลาดวังหลัง ที่ได้กระแสตอบรับจากประชาชนพอสมควร จากนั้นก็ปิดทริปวันดังกล่าวด้วยการไปเดินถนนข้าวสาร จุดแลนด์มาร์กสำคัญของเทศกาลสงกรานต์ประเทศไทย โดยได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างมาก

กรณีการหาเสียงลักษณะดังกล่าวจะได้เห็นอีกเรื่อยๆ ไปจนถึงช่วงวันสุดท้ายของการหาเสียงเลือกตั้ง ที่แต่ละพรรคการเมืองก็ต้องวางยุทธศาสตร์การลงพื้นที่ของแกนนำพรรค-แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ที่ต้องทำแล้วเรียกความสนใจ สร้างเรตติ้งได้ ที่ก็ต้องดูว่าแต่ละพรรคจะมีการวางแผนการหาเสียงให้กับแกนนำพรรคของตัวเองอย่างไร

ขณะเดียวกัน การหาเสียงผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย ที่มีความสำคัญมากในยุคสังคมโซเชียล หลังจากนี้ก็จะได้เห็นหลายพรรคการเมืองวางแผนรุกหาเสียงผ่านสื่อโซเชียลมีเดียออกมามากขึ้น โดยแน่นอนว่าทุกพรรคการเมือง-ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งทุกคน ต่างก็พยายามเน้นการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย แต่สิ่งสำคัญก็คือ การสร้างแคมเปญหาเสียงดังกล่าวต้องแตกต่างจากพรรคอื่น สามารถสื่อสารได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย จนเรียกความสนใจจากโหวตเตอร์ได้ โดยตอนนี้พบว่าหลายพรรคใช้การสื่อสารด้วยการทำคลิปวิดีโอที่เน้นสื่อสารนโยบายหลักๆ ของพรรค หรือความโดดเด่นของแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค

อย่างเช่นเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ปล่อยคลิปหาเสียงชุดใหม่ ของจริงยิ่งกว่า 10,000 บาท

โดยมีเนื้อหาชี้ให้เห็นว่าบัตรสวัสดิการพลัส หรือบัตรลุงตู่ เป็นโครงการช่วยเหลือแบบพุ่งเป้าเฉพาะกลุ่ม ทำให้การใช้จ่ายงบประมาณมีประสิทธิภาพ ตรงกลุ่มเป้าหมาย และทุกปีจะมีการทบทวนตรวจสอบคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์ อีกทั้งยังมีข่าวว่าพรรค รทสช.จะนำเสนอคลิปเพื่อใช้รณรงค์หาเสียงของทีมเศรษฐกิจในสโลแกน หาเงินได้ใช้เงิน เป็นอีกหลายเรื่องในช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ อาทิ "เฉดจ๋า" ซึ่งเป็นเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เพื่อสร้างโอกาสเพิ่มช่องทางทำมาหากินให้คนตัวเล็ก เป็นต้น

ขณะที่ พลังประชารัฐ ก็ไม่ยอมน้อยหน้า โดยเมื่อช่วงวันหยุดสงกรานต์ที่ผ่านมา พรรคพลังประชารัฐได้เผยแพร่ซิงเกิลใหม่ของพรรค โดยตัวบทเพลงสื่อถึงความตั้งใจในการทำนโยบาย พร้อมอาสาเข้ามาทำงาน ที่จะทำทันที ไม่มีการแบ่งแยก เพื่อก้าวข้ามความขัดแย้ง เป็นต้น

ทั้งสองกรณีแสดงให้เห็นถึงการวางกลยุทธ์การสื่อสารทางการเมืองของพรรคการเมืองอย่าง รวมไทยสร้างชาติและพลังประชารัฐ ในการพยายามใช้สื่อโซเชียลมีเดียเพื่อสื่อถึงโหวตเตอร์กลุ่มเป้าหมายของพรรค และคาดว่าหลังจากนี้จะมีอีกหลายพรรคการเมืองรุกหนักในการหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดีย ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ออกมาเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม คาดได้ว่าเมื่อใกล้เข้าสู่ช่วงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้งมากขึ้นเรื่อยๆ การแข่งขันในพื้นที่ก็จะทวีความเข้มข้นมากขึ้น จนอาจถึงขั้นเป็นการแข่งขันที่รุนแรงได้!

ยิ่งหลายพื้นที่เห็นชัดเป็น ศึกแห่งศักดิ์ศรี ที่ตัวผู้สมัคร-หัวหน้าทีมมีเดิมพันสูง แพ้ไม่ได้ เพราะหากแพ้หมายถึง การเสียหน้า มันก็ยิ่งทำให้การแข่งขันยิ่งทวีความเข้มข้นดุเดือดมากขึ้น ชนิดร้อนปรอทแตก โดยเฉพาะ

หากเป็น ศึกแห่งศักดิ์ศรีบ้านใหญ่ ของแต่ละจังหวัดก็ยิ่งมีเดิมพันสูง เพราะนอกจากเดิมพันด้วยศักดิ์ศรีแล้ว บางตระกูล-บ้านใหญ่หลายจังหวัด ก็หวังชัยชนะเพื่อทำให้พรรคต้นสังกัดได้เสียงเยอะที่สุด มีโอกาสเป็นรัฐบาล ซึ่งหากพรรคต้นสังกัดสามารถเป็นพรรครัฐบาลได้ ก็จะทำให้กลุ่มการเมือง-กลุ่มบ้านใหญ่ต่างๆ มีโอกาสจะได้โควตารัฐมนตรีตามมา โดยจะพบว่าการแข่งขันเลือกตั้งลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นหลายจังหวัดทั่วประเทศ ที่มีแนวโน้มการแข่งขันแบบเข้มข้น ส่อเค้าสู้กันเดือด

และสิ่งที่จะตามมาก็คือ ในช่วงโค้งสุดท้ายอาจมีการใช้การต่อสู้แบบ เกมใต้ดิน เพื่อหวังให้ฝ่ายตัวเองชนะ ที่อาจจะมีบางฝ่ายใช้การหาเสียงแบบใต้ดินในลักษณะ สีเทาๆ ทั้งสีเทาของธนบัตร และสีเทาของกลยุทธ์การต่อสู้ ที่ใช้วิธีการหาเสียงที่นอกกติกา เลี่ยงหรือทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สมควรกระทำ

ยิ่งเข้าถึงช่วงโค้งสุดท้าย 1-2 สัปดาห์ก่อนวันลงคะแนนเสียง หากการแข่งขันในพื้นที่แต่ละแห่งรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ก็คาดว่าอาจได้เห็นการสาดกระสุน (เงิน) เพื่อซื้อเสียงกันอย่างหนักหลายพื้นที่ทั่วประเทศ รวมถึงการใช้วิชา-กลเกมใต้ดินอีกหลายรูปแบบ ที่จะมีให้เห็นกัน

โดยต่อให้ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองต่างๆ ออกมาให้ข่าวกับสื่อหรือร้องเรียนสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดต่างๆ แต่ดูแล้วก็ยากที่จะสกัดกั้นได้ทั้งหมด เว้นเสียแต่เจ้าหน้าที่ กกต.ประจำจังหวัดและ กกต.กลาง จะเอาจริงเอาจังในเรื่องนี้มากขึ้น เพื่อทำให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรม ให้ทุกคนทุกพรรคสู้ตามกติกาให้มากที่สุด

เพราะหากการเลือกตั้งสีเทาแล้วไปตั้งรัฐบาลด้วยเสียง ส.ส.ที่เข้ามาด้วยการทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง เข้ามาแบบสีเทาๆ มันก็ทำให้กลายเป็นรัฐบาลสีเทา และสภาสีเทา จะมีการเข้าไปถอนทุนจากที่ลงทุนไว้ตอนหาเสียง ถ้าเป็นแบบนี้ การเมืองก็กลับเข้าสู่วงจรอุบาทว์ จะมีการทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้นมากมาย

มันจึงอยู่ที่ประชาชน โหวตเตอร์ ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงที่จะไปออกเสียง 14 พ.ค.นี้ แล้วว่าจะยอมให้วงจรอุบาทว์นี้เกิดขึ้นหรือไม่.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ศิริกัญญา' เอาใจช่วย 'เศรษฐา' ไม่หลุดนายกฯ หวัง 'ก้าวไกล' รอดยุบพรรค

'ศิริกัญญา' เชียร์ 'เศรษฐา' รอดคดี ไม่เห็นด้วยองค์การอิสระแทรกแซง ยังหวังก้าวไกลไม่ถูกยุบ ขอรอผล 7 ส.ค. ก่อน รับคุยหลายพรรคไม่ใช่แค่ถิ่นกาขาวฯ

'เศรษฐา' ไม่ขอคิดไกล! อย่าโยง 3 คดีใหญ่ ทำ ครม. ไขว้เขว

'เศรษฐา' ลั่นยังไม่คิดปรับ ครม. ตอนนี้ รับ 3 ปีที่เหลืออาจมีการปรับเปลี่ยน ขออย่าโยง 3 คดีใหญ่เดือน ส.ค. หวั่น รมต.ไขว้เขว ขออย่าคิดไกล ปมข่าววางคนเสียบนายกฯ

นายกฯ ปลื้มทะลุ 18 ล้านคน แห่ลงทะเบียนรับเงินหมื่น แย้มรอฟังข่าวดีจาก พณ.

นายกฯ พอใจประชาชนตื่นตัวลงทะเบียนดิจิทัลวอลเล็ตวันแรก เตรียมหารือป้องกันแอปปลอมระบาด- ข้อมูลรั่วไหล-แลกเงินสด แย้มรอฟังข่าวดีจากกระทรวงพาณิชย์

เศรษฐาไม่รอด! 'อุ๊งอิ๊ง' นายกฯ สำรอง 'อนุทิน' คือตัวจริง

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า อุ๊งอิ๊ง-ชัยเกษม คือ นายกฯ สำรอง แต่ อนุทิน คือ นายกฯตัวจริง

นับหนึ่ง‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ยังขลุกขลัก ‘ย้ายทะเบียนบ้าน’ส่อทำเงินกระจุก

เริ่มแล้ว! อย่างเป็นทางการสำหรับ โครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต โครงการ เรือธง ของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่เปิดให้ประชาชนได้ลงทะเบียนวันแรก 1 สิงหาคม 2567 ผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ”