เท้าความเลือกตั้งปี 62 ภาคใต้เปลี่ยนไปเยอะ ฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ที่ครอบครองมานาน โดนพรรคการเมืองยี่ห้ออื่นตีแตกไปหลายเมือง
เซียนการเมืองวิเคราะห์ว่า สาเหตุมาจากการตัดสินใจของ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ซึ่งขณะนั้นเป็นแม่ทัพประชาธิปัตย์ ประกาศไม่เอา “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อีกทั้งเป็นการเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียว ประชาชนโดนมัดมือชกต้องตัดสินใจเด็ดขาดเลือกเพียงพรรคใดพรรคหนึ่งเท่านั้น ผนวกกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เข้าเกณฑ์เป็นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งส่วนใหญ่ จริตทันสมัยตรงกับพรรคสีส้ม จึงทำให้ในครั้งนั้น พรรคพลังประชารัฐ ภูมิใจไทย ประชาชาติ และก้าวไกล ได้แจ้งเกิดในภาคใต้
จากปี 62 สู่ปี 66 การเลือกตั้งใน “ดินแดนสะตอ” ก็เปลี่ยนไป!!!
คำพูดที่ว่า ประชาธิปัตย์ส่งเสาไฟฟ้าลงยังได้ ส.ส.ใช้ไม่ได้อีกแล้ว แม้เลือกตั้งซ่อมในระยะ 4 ปีที่ผ่านมา “ประชาธิปัตย์” เป็นฝ่ายได้รับชัยชนะก็ตาม แต่ไม่ได้เป็นเครื่องการันตีว่าเลือกตั้งที่จะถึง พรรคจะกลับมาดีดั่งเดิม เพราะต้องยอมรับว่าชัยชนะที่ได้มาในแต่ละครั้งเหนื่อยยากแสนเข็ญ ไม่ใช่หมูๆ เหมือนในอดีต คู่แข่งแข็งแรง หายใจรดต้นคออยู่ตลอดเวลา
“พลังแห่งกระสุน” เริ่มทำงาน มีข้อมูลรายงานว่าพรรคการเมืองเตรียมเสบียงไว้เพียบ
เมื่อปลายเดือนกุมภาฯ ที่หาดใหญ่ สงขลา “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” ยังเคยปราศรัยเว่า “พรรคของเราเป็นพรรคที่พร้อมที่สุดในบรรดาพรรคการเมือง เพราะประชาธิปัตย์เป็นพรรคแรกที่ประกาศตัวผู้สมัครครบทั้ง 58 เขต พรรคประชาธิปัตย์ไม่พร้อมเรื่องเดียวคือเรื่องเงิน แพ้เพื่อนตลอดกาล นอกนั้นพร้อมหมด ทั้งคนและนโยบาย”
นี่คือหนึ่งคำยืนยันว่าการเลือกตั้งรอบนี้มีเทศกาลสาดกระสุนแน่นอน เพราะแต่ละพรรคการเมืองทราบแล้วว่าวิธีการนี้เจาะภาคใต้ได้
อย่างไรก็ตาม สแกนสนามด้านขวานประเทศมีหลายพื้นที่สนุกน่าติดตาม และต้องบอกว่าส่วนใหญ่เป็นการขับเคี่ยวกันเองของพรรค (เคย) ร่วมรัฐบาลเดียวกัน ประกอบด้วย ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย และพรรครวมไทยสร้างชาติที่แตกร่างมาจากพลังประชารัฐ
เริ่มต้นที่ภูมิใจไทย ต้องรักษาแชมป์ให้ได้ที่จังหวัดเป้าหมาย ทั้งระนอง สตูล และที่ขาดไม่ได้คือ “พัทลุง” พื้นที่ของ “นาที รัชกิจประการ” แม่ทัพภาคใต้ของภูมิใจไทย ต้องติดตามว่าไม้เบื่อไม้เมาอย่าง “นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” ที่ตอนนี้ย้ายไปสังกัดพลังประชารัฐเรียบร้อยแล้ว จะเอาคืนได้หรือไม่ และคงต้องดูประชาธิปัตย์ด้วยว่าจะรักษาเก้าอี้ตัวเดิมในพื้นที่ “นริศ ขำนุรักษ์” เก่าไว้ได้หรือไม่
และที่ไม่พูดถึงไม่ได้ พื้นที่ร้อนแรงหนึ่งในการแข่งขัน คือ “กระบี่” ขับเคี่ยวระหว่าง “ประชาธิปัตย์” กับ “ภูมิใจไทย” เป็นจังหวัดแรกๆ ที่ผู้สมัครมีการพาดพิงกันสูง และหัวหน้าพรรคของทั้ง 2 พรรคก็เอาเรื่องพอตัว ต่างฝ่ายต่างประกาศปักธง โดยค่ายน้ำเงินส่ง 3 ชายล้วน กิตติ กิตติธรกุล (โกหนึ่ง) เขต 1 เบอร์ 2, ถิรเดช ตั้งมั่นก่อกิจ (ส.จ.ม้อ) เขต 2 เบอร์ 4, สฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง (โกสุทธิ์) เขต 3 เบอร์ 1
ด้านค่ายสีฟ้า ส่ง 1 หญิง 2 ชาย ต่างวัยแต่หัวใจกระบี่เหมือนกัน ธนวัช ภูเก้าล้วน (โกเคี่ยง) เขต 1 เบอร์ 3, สาคร เกี่ยวข้อง (โกแดง แรงดี) เขต 2 เบอร์ 5, พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล (น้ำผึ้ง) เขต 3 เบอร์ 5
ส่วน “สงขลา” เมืองหลวงของประชาธิปัตย์ ที่บอกเช่นนี้เพราะบุคคลสำคัญของพรรคเป็นคนสงขลาถึง 2 คน ได้แก่ “นิพนธ์ บุญญามณี” ผู้อำนวยการเลือกตั้งพรรค และอดีต รมช.มหาดไทย “เดชอิศม์ ขาวทอง” รองหัวหน้าพรรคดูแลภาคใต้ จะลุ้นแลนสไลด์ก็คงยากหน่อย เพราะขณะนี้ปรากฏว่ามี “ม้ามืด” จุรี นุ่มแก้ว ผู้สมัคร ส.ส. เขต 2 จากพรรคชาติพัฒนากล้า ฝีปากและลีลาหาเสียงเป็นเลิศ ชูแนวคิดร่างทรงประชาชน ปลุกชาวบ้านต่อต้านกระสุน ขอให้เลือกลูกชาวบ้านธรรมดาเข้าไปนั่งเป็น ส.ส.ในสภาสักคน สวนกระแสบ้านใหญ่ทายาทการเมือง ซึ่งต้องบอกว่าตอนนี้กระแสนิยมในโซเชียลดีวันดีคืน เหลือเพียงอีกไม่กี่วันก็จะได้พิสูจน์จะแปลเป็นคะแนนจนได้เข้าวินหรือไม่ ต้องรอลุ้น
ข้ามมาที่ “นครศรีธรรมราช” รอบที่แล้วแชร์กันคนละครึ่ง ประชาธิปัตย์ครึ่งหนึ่ง พลังประชารัฐครึ่งหนึ่ง เที่ยวนี้ขุนพลลุงป้อม ย้ายตามลุงตู่ไปลงสมัคร ส.ส.ในนามรวมไทยสร้างชาติ สายแข็งประชาธิปัตย์ยอมรับว่ากระแส “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาแรง แต่ยังไม่มีรายงานแน่ชัดว่า ชาวนครศรีธรรมราชจะเทให้ “ลุงตู่” ทั้ง 2 บัตรเลือกตั้งเลยหรือไม่
อีก 2 จังหวัดห้ามพลาดคือ ตรัง ที่มี “ชวน หลีกภัย” เป็นสัญลักษณ์ จังหวัดนี้เกิดปัญหาในเขตเลือกตั้งของ “สมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล” ลูกศิษย์นายหัวชวนและลูกหม้อเก่าที่จำใจต้องจากประชาธิปัตย์ไป จากกรณีที่เขาบอกว่าไม่ได้รับความยุติธรรมจากการทำโพลของรองหัวหน้าภาคใต้ จนทำให้ “สมบูรณ์” ชวดการลงสมัครในนามประชาธิปัตย์ เขตนี้ “ชวน” ออกตัวแรง ชัดเจนไม่ขอหาเสียงให้ผู้สมัครในสังกัดประชาธิปัตย์ เพราะไม่ต้องการแข่งขันกับ “สมบูรณ์”
ในส่วนของพังงา แน่นอนว่าแพ้ไม่ได้ เพราะเป็นจังหวัดบ้านเกิดเมืองนอนของ “หัวหน้าจุรินทร์” โดยเฉพาะในเขต 2 อำเภอท้ายเหมือง ตะกั่วป่า คุระบุรี กะปง เป็นสนามแห่งศักดิ์ศรี ขืนปล่อยให้เก้าอี้เป็นของพรรคอื่นเสมือนว่าโดนเหยียบจมูก
อย่างไรก็ตาม แชมป์เก่าปักษ์ใต้ครองพื้นที่นานนม ยังมีคนกันเองที่แยกตัวออกไปอยู่ “รวมไทยสร้างชาติ” ท้าชิงในจังหวัด “สุราษฎร์ธานี” เป็นจังหวัดที่น่าลุ้นอีกเช่นกัน เมื่อการเลือกตั้งที่แล้วถือว่าหักปากกาเซียน เพราะพรรครวมพลังประชาชาติไทย ของลุงกำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ ไม่ได้แม้แต่ที่นั่งเดียว และกลับกลายเป็นว่าประชาธิปัตย์ต่างหากที่ได้แบบยกจังหวัด มารอบนี้พลพรรคสายลุงกำนันสุเทพไปรวมร่างอยู่ที่รวมไทยสร้างชาติเรียบร้อยแล้ว จึงต้องจับตาว่าจะมีการถล่มเอาคืนกันอย่างไร และ “บัญญัติ บรรทัดฐาน” หัวหอกสำคัญแห่งเมืองสุราษฎร์ของประชาธิปัตย์ยังจะขลังอีกไหม
ขณะที่ “ภูเก็ต” บอกได้สั้นๆ ว่าประชาธิปัตย์ตีคู่สูสีกับพลังประชารัฐ ทว่า จังหวัดชุมพร “รวมไทยสร้างชาติ” ได้ตระกูล “จุลใส” ไปเป็นตัวหลัก งานนี้ ประชาธิปัตย์มีหนาว
ปิดท้าย 3 จังหวัดชายแดนใต้ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส คาดกันว่าน่าจะเป็นการแชร์กันของหลายพรรคการเมือง ทั้งประชาชาติ ประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ และรวมไทยสร้างชาติ
นี่คือความเคลื่อนไหวบางส่วนของสมรภูมิรบเลือกตั้งปี 66 ภาคใต้ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการตัดคะแนนจากฝ่ายเดียวกันทั้งนั้น ไม่แน่เก้าอี้ ส.ส.ในหลายเขตเลือกตั้งอาจตกเป็นของ “ตาอยู่” อย่างพรรคก้าวไกล อีกไม่นานเกินรอ 14 พฤษภานี้รู้เรื่อง!.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?
ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่
นายกฯ สั่งเกาะติด 7จังหวัดภาคใต้ที่เจอฝนถล่มหนัก
นายกฯ กำชับทุกหน่วยงานติดตามสถานการณ์พื้นที่เสี่ยงจากฝนตกหนักในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้
นายกฯ อิ๊งค์ฝากติดตามแถลง 12 ธ.ค.ผลงานรัฐบาล 90 วัน
นายกฯอิ๊งค์ ลั่นรัฐบาล มุ่งสร้างโอกาสจับต้องได้ให้ประชาชน ปากท้องอิ่ม ดึงศักยภาพคนไทย ลั่นปรับสมดุลการค้าสหรัฐ-จีน ย้ำ รบ.อยู่ครบเทอม ฝากติดตามแถลงผลงานรัฐบาล 12 ธ.ค.นี้
เปิดโปรแกรมทัวร์ 'ครม.สัญจรอิ๊งค์' นัดแรกที่เมืองเหนือ
เปิดโปรแกรม 'ครม.สัญจรอิ๊งค์' นัดแรก จัดที่แม่ริม เชียงใหม่ 29 พ.ย. ก่อนถก 'คลังสัญจร' เชียงราย ฟื้นฟูพื้นที่เศรษฐกิจ พร้อมพบประชาชน
'เทพไท' วิเคราะห์ชัดๆ 'ทักษิณ-อุ๊งอิ๊งค์' ใครคือนายกฯตัวจริง
นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช
ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด
นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย