แจกเงินดิจิทัล-ประชานิยมสุดโต่ง จอดป้ายที่ กกต.หรือรัฐสภา

ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น คนไทยมักจะได้เห็นการหาเสียงในรูปแบบ ประชานิยม ซึ่งทุกพรรคพยายามสร้างสรรค์นโยบายต่างๆ เพื่อล่อตา และกุมใจประชาชนเทคะแนนให้กับพรรคของตัวเองเพื่อหวังว่าจะได้อยู่ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล

ล่าสุด พรรคเพื่อไทย โดย นายเศรษฐา ทวีสิน ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ได้ปราศรัยว่า   "จะแจกเงินในประเป๋าเงินดิจิทัลจำนวน 10,000 บาท ให้กับคนไทยทุกคนที่อายุเกิน 16 ปีขึ้นไป" ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่อนโยบายดังกล่าวส่วนใหญ่ไปในทิศทางลบว่า เป็นนโยบายประชานิยมสุดโต่ง และสงสัยกันว่าจะเอาเงินมาจากไหน และจะกระทบต่อวินัยการเงินการคลัง

โดย ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผู้อำนวยการหลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ออกมาท้วงติงทันทีว่า เพื่อไทยกำลังทำอะไร ฟังคุณเศรษฐาพูดหาเสียงว่าจะเติมเงินดิจิทัลให้คนไทยทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป คนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป มีจำนวนประมาณ 54 ล้านคน ให้คนละ 10,000 บาท ฉะนั้นต้องใช้เงินประมาณ 540,000,000,000 บาท อ่านว่า “ห้าแสนสี่หมื่นล้านบาท” นโยบายประชานิยมสุดขั้วแบบนี้ คาดว่าหวังคะแนนนิยม และการชนะแบบท่วมท้น...คิดใหญ่ แต่ดูจะสุ่มเสี่ยงมากไปหน่อบ ระวังกระแสจะพลิกกลับ!

ต่อมาได้มีการร้องเรียนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แล้ว โดยเป็นนักร้องเรียนเจ้าเดิม 2 คน ซึ่งมาร้องในวันเดียวกันคือ นายศรีสุวรรณ จรรยา และ นายสนธิญา สวัสดี โดยนายศรีสุวรรณมองว่า นโยบายดังกล่าวอาจก่อให้เกิดผลกระทบหรือความเสียหายอย่างรุนแรงต่อประโยชน์ของประชาชนในวงกว้างทั้งทางบวกและทางลบได้ และมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากว่า จะมีผลกระทบต่อวินัยทางการเงินการคลังของรัฐอย่างมาก ซึ่งอาจขัดต่อ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 และ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ 2561 หรือไม่

การแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทนั้น จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตาม พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล 2561 ประกอบ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) 2561 โดยเคร่งครัด โดยจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ซึ่งเงินจะเหลือถึงประชาชนจริงๆ เพียง 8,500 บาท เมื่อสิ้นปีภาษีต้องแจ้งเป็นรายรับต่อสรรพากร    รวมทั้งร้านค้าที่รับเงินดิจิทัลด้วย  การบอกความจริงไม่หมดเป็นการหลอกลวงจูงใจให้เข้าใจผิด ตาม ม.73 (5) ของ พ.ร.ป.เลือกตั้ง 2561 หรือไม่

แต่ที่สำคัญ กรณีดังกล่าวอาจสุ่มเสี่ยงต่อเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนเกิดขึ้นได้ เนื่องจากนายเศรษฐาเคยเป็นผู้ก่อตั้งหรือผู้บริหารธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล  หรือโทเคนดิจิทัล เพื่อการลงทุน ก่อนที่จะโอนหุ้นทั้งหมดให้กับลูกสาวและลาออกจากผู้บริหารในบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ทุกตำแหน่งเพื่อมาลงการเมือง แต่จะทำให้สังคมไว้วางใจได้อย่างไรว่า การประกาศแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตจะไม่เป็นการสร้างประโยชน์ให้กับอดีตธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลของตัวเอง 

ด้าน นายสนธิญา มีความเห็นว่า "ทุกพรรคการเมืองที่จะเสนอนโยบายจะต้องชี้แจงเงินที่มา ความเสี่ยง สิ่งที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการนั้นๆ ถ้านโยบายดังกล่าวทำไม่ได้จริง ไม่สามารถทำได้เท่ากับหลอกลวงเพื่อให้ได้คะแนนนิยม จะนำไปสู่ความผิดตามกฎหมาย มาตรา 92 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มีสิทธิ์ที่จะถูกยุบพรรคได้"

ด้าน รศ.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์ มองว่า นโยบายแจกเงิน 10,000 บาท หากได้ทำจริง มีข้อเสียคือ การเพิ่มภาระงบประมาณ และซ้ำเติมหนี้สิน ส่วนข้อดีคือ การกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เชื่อว่าปีนี้เศรษฐกิจจะขยายตัวอยู่แล้ว และยังมีเงินจากช่วงเลือกตั้งกว่า 96,000 ล้านบาท ที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่แล้ว ดังนั้นนโยบายนี้จึงเป็นเรื่องหาเสียงมากกว่า

ส่วนกรณีที่มองว่านโยบายดังกล่าวจะเข้าข่ายสัญญาว่าจะให้ตามมาตรา 73 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมืองหรือไม่ นางสดศรี​ สัตยธรรม​ อดีต กกต. มีความเห็นว่า ​การปราศรัยดังกล่าวไม่เข้าข่าย​สัญญาว่าจะให้​ เพราะเป็นเรื่องที่สามารถออกเป็นกฎหมายได้​ โดยอะไรก็ตามที่เป็นนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองที่สามารถทำได้​ ก็นำมาเป็นนโยบายได้​ เป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้จะเป็น ส.ส.จะเสนอออกกฎหมายผ่านสภา​ ซึ่งเรื่องดังกล่าวไม่ได้เหนือบ่ากว่าแรง​ หรือเหนือกว่าอำนาจของผู้ที่จะเป็น ส.ส. ส่วนนโยบายจะสามารถออกได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับที่ประชุมสภาว่าจะมีความเห็นอย่างไร

แต่ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต.และประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบายพรรคเสรีรวมไทย ระบุว่า ประชานิยมต้องมีขอบเขต 

"ประชานิยม ใครๆ ก็อยากได้ ใครจะไม่ชอบบ้างถ้ามีคนเอาเงินมาใส่กระเป๋ารายเดือน เดือนละ 3,000 บาท หรือให้เงินช็อปปิ้งปีใหม่ 10,000 บาท วันนี้เท่านี้ แต่อีก 34 วันที่เหลือของการหาเสียง นโยบายประดิษฐ์พิสดารที่เกทับบลัฟแหลกจะตามมาอีกแน่นอน กกต.เขาไฟเขียว" นายสมชัยระบุ

ส่วน กกต.ผู้ที่เป็นกรรมการตัดสินการเลือกตั้ง โดย นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต.ได้ให้ข้อมูลว่า ตามกฎหมายกำหนดไว้ว่านโยบายที่จะต้องมีการใช้จ่ายเงิน จะต้องมี 3 เงื่อนไข คือ ​1.วงเงินที่ต้องใช้ และที่มาของเงินที่จะใช้ในการดำเนินการ 2.ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย 3.ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย เพื่อเป็นข้อมูลให้ประชาชนพิจารณาตัดสินใจว่าจะเลือกพรรคนั้นหรือไม่ ตอนนี้มี 6 พรรคที่มีการแจ้งว่ามีนโยบายที่เกี่ยวกับเรื่องการใช้จ่ายเงินมายัง กกต. ซึ่งนโยบายแบบนี้จะถือว่าไม่ใช่การสัญญาว่าจะให้ แต่ถ้าไม่มีข้อมูล 3 เงื่อนไขดังกล่าวอาจจะผิดเข้าข่ายหลอกลวงตามกฎหมายเลือกตั้งมาตรา 73 (5) ก็ได้

อย่างไรก็ตาม กฎหมายไม่ได้บอกว่า ถ้ารายงานไม่ครบแล้วจะมีความผิด เพียงแต่กำหนดว่าให้ กกต.แจ้งให้ดำเนินการให้ครบถ้วน และมีโทษเป็นการปรับจนกว่าจะดำเนินการให้ถูกต้องครบถ้วน

ซึ่ง กกต.มีหน้าที่ในการคัดกรองเบื้องต้น แต่ก็ยังมีอีกด่านที่เหลืออยู่คือสภา เพราะถ้าพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลจะต้องเจอข้อโต้แย้งจากฝ่ายค้าน รวมทั้งวุฒิสภา แต่ก่อนหน้านั้นพรรคเพื่อไทยต้องตอบคำถามกับ กกต.ให้ได้ก่อนว่าเงินที่จะนำมาแจก กับนโยบายนี้มาจากแหล่งใด เสี่ยงต่อผลกระทบเศรษฐกิจในประเทศหรือไม่ คาดว่าทางพรรคจะส่งข้อมูลมาที่ กกต.อีกไม่ช้า.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'นายกฯอิ๊งค์' ตอกย้ำ 'ทักษิณ' มีอิทธิพลเหนือรัฐบาล-เพื่อไทย

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า เสียโอกาส การที่นายทักษิณออกมาสับแหลกพรรคร่วมรัฐบาล

ควักใบแดงถีบพ้นรัฐบาล ในโฟกัส"พีระพันธุ์-รทสช." ทักษิณจ้องยึด"ก.พลังงาน"

แวดวงการเมืองต่างเทน้ำหนักไปทางเดียวกัน โดยมองว่าน่าจะเป็นจริงอย่างที่ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ-รมว.มหาดไทยและหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวกับสื่อมวลชนว่า “สัญญาณเตือน-เตรียมควักใบแดง ถีบออกจากรัฐบาล” ของทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทยตัวจริง

‘ชัยชนะ’ ร้อง ‘กกต.’ เร่งรับรอง ‘วาริน’ นั่งนายก อบจ. เมืองคอน

‘ชัยชนะ’ ร้อง ‘กกต.’ เร่งรับรอง ‘วาริน’ นั่งนายก อบจ. เมืองคอน - ชี้ไม่มีใครร้องคัดค้าน หวั่นล่าช้าจะไม่สามารถแถลงนโยบายต่อ ส.อบจ. ที่เหลือวาระถึงวันที่ 19 ธ.ค. และไม่สามารถลงมาแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ได้

รัฐบาลลุยขายฝันหนีบ่วงการเมือง แกนนำม็อบขยับจัดทัพเดินหน้าไล่

การแถลงผลงานรัฐบาลในรอบ 3 เดือนของ อุ๊งอิ๊ง-น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ภายใต้ชื่อ “2568 โอกาสไทย ทำได้จริง” ที่สตูดิโอ 4 สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT)

เลือกตั้งแปลกประหลาด 1ก.พ.เลือกส.อบจ. 76 จังหวัด เลือกนายกอบจ. 47 จังหวัด

กกต. เผยจัดเลือกตั้ง 1 ก.พ.68 เลือก ส.อบจ. 76 จังหวัด เลือก นายก อบจ. 47 จังหวัด เหตุลาออกก่อนและจัดเลือกตั้งไปแล้ว 29 จังหวัด ยอมรับการเลือกตั้งครั้งนี้แปลกประหลาด ชี้การออกไปใช้สิทธิของประชาชน คือความชอบธรรมของผู้ที่ได้รับเลือกตั้ง