ส่องฟอร์ม "พรรคประชาชาติ" อะไหล่ "ทักษิณ-พท." ตั้งรัฐบาล

ไม่มีเซอร์ไพรส์การเมือง สำหรับ พรรคประชาชาติ ที่มี วันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตประธานรัฐสภา อดีต รมว.มหาดไทย เป็นหัวหน้าพรรค

หลังก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวลือในแวดวงการเมืองมาตั้งแต่ต้นปีนี้ว่า ให้จับตา ไม่แน่ ในโผบัญชีรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคประชาชาติ อาจจะมีคนในเครือข่ายของ เจ้าสัว คีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด มาเล่นการเมืองกับพรรคประชาชาติ

หลังที่ผ่านมา แวดวงการเมืองพูดกันมานานแล้วว่า แกนนำพรรคประชาชาติบางคนกับเครือข่ายเจ้าสัวคีรี มีสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกันมาก

ยิ่งเมื่อเห็นการทำงานการเมืองของ ส.ส.พรรคประชาชาติ ที่เน้นหนักตรวจสอบอภิปรายรัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทย โดยเฉพาะ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ที่คัดค้านการต่อสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่มีผลประโยชน์หลายแสนล้านบาท และเป็นธุรกิจที่ทำรายได้หลักให้กับกลุ่มบีทีเอสเป็นพิเศษ เลยยิ่งทำให้แวดวงการเมืองพูดถึงกันมาตลอดถึงความสัมพันธ์ที่แนบแน่นของเครือข่ายเจ้าสัวคีรีกับคนการเมืองในพรรคประชาชาติบางส่วน จนลือกันไปว่า กลุ่มเจ้าสัวจะส่งคนมาเล่นการเมืองในพรรคประชาชาติ 

อย่างไรก็ตาม สุดท้ายโผรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของประชาชาติ ก็ไม่ได้มีคนที่อยู่ในรายชื่ออันดับต้นๆ ที่ดูแล้วเป็นคนของเครือข่ายคีรีแบบชัดเจนอย่างที่คนจับตามองกัน

แม้จะพบว่า มีบางคนที่มีชื่ออยู่ในโผปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคประชาชาติ เคยเป็นบอร์ดในบริษัทบางแห่งที่เครือข่ายคีรีถือหุ้นอยู่ก็ตาม

ขณะที่คนที่อยู่ในโผดังกล่าวที่อยู่ในลำดับต้นๆ ก็เป็นไปตามความคาดหมาย คือส่วนใหญ่ เป็นแกนนำพรรคประชาชาติ ตั้งแต่เริ่มต้นก่อตั้งพรรค อดีต ส.ส. 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยะลา-ปัตตานี-นราธิวาส ที่อยู่กับวันมูหะมัดนอร์ มะทา มาร่วม 30 ปี ตั้งแต่ยุคพรรคความหวังใหม่ ในนาม กลุ่มวาดะห์ เช่น อารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ อดีต ส.ส.นราธิวาส ที่อยู่ลำดับ 4 เป็นต้น

 ส่วนชื่ออื่นๆ ที่น่าสนใจก็เช่น ยู่สิน       จินตภากร อดีตรองนายกเทศมนตรีนครยะลา ที่เป็นสายตรง นายกอ๋า-พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา นักการเมืองท้องถิ่นคนดัง ที่พยายามผลักดันให้พรรคส่งลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.เขต 1 ยะลา อำเภอเมือง เพราะเป็นพื้นที่ซึ่งพงษ์ศักดิ์มีฐานเสียงแน่นหนา โดยเฉพาะในกลุ่มคนไทยพุทธ-คนไทยเชื้อสายจีนในตัวเมืองยะลาที่มีอยู่จำนวนไม่น้อย จนเกิดการแข่งขันในพื้นที่อย่างหนัก แต่สุดท้ายพรรคตัดสินใจส่ง สุไลมาน บือแนปีแน อดีตประธาน กต.ตร.สภ.ยะหา สายตรง-คนของบ้านใหญ่ยะลา ซูการ์โน มะทา อดีต ส.ส.ยะลา น้องชายนายวันนอร์ เลยทำให้พรรคดัน ยู่สิน จินตภากร ขึ้นปาร์ตี้ลิสต์แทน 

แต่ชื่อที่ทำให้หลายคนประหลาดใจว่าเป็นใครมาจากไหน ก็คือ สมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่เป็นปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่ 3 ต่อจากหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค

จากการตรวจสอบพบว่า ไม่ธรรมดา มาจากสายอดีตอัยการเก่า เคยเป็นอดีตสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร อดีตคณะทำงานฝ่ายกฎหมายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการสมัยณัฏฐพล ทีปสุวรรณ เป็น รมว.ศึกษาธิการ อดีตบอร์ดบริษัทเอกชนและรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง เช่น การไฟฟ้านครหลวง และบริษัท อสมท จำกัด อดีตกรรมการบริษัท บมจ.ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น ที่เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ ที่ทำธุรกิจทางด้านเทคโนโลยีสื่อสารสารสนเทศและอิเล็กทรอนิกส์ เช่น รับจ้างประกอบและรับเหมาผลิตแผงวงจรและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ให้บริการงานระบบและบริการโซลูชั่นทางด้านเทคโนโลยีสื่อสาร เป็นต้น

โดยแกนนำพรรคประชาชาติตั้งเป้าไว้ว่า น่าจะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ประมาณ 3-4 คน จากเดิมที่เคยได้ตอนเลือกตั้งปี 2562 แค่คนเดียว 

เลือกตั้งรอบนี้ พรรคประชาชาติ ที่เป็นพรรคขนาดเล็ก เลือกที่จะใช้ยุทธศาสตร์การส่งคนลงเลือกตั้งระบบเขต

"เน้นๆ-หวังผลจริง" ไม่ได้ส่งคนลงแบบเหวี่ยงแห แบบส่งให้เยอะที่สุด ทั้งที่รู้ว่าส่งไปก็ไม่มีสิทธิ์ ทำให้รอบนี้พรรคประชาชาติส่งผู้สมัครเลือกตั้ง 19 เขต ส่วนปาร์ตี้ลิสต์ก็ส่งไป 77 คน โดยพื้นที่หลักซึ่งเน้นเป็นพิเศษก็คือ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ "ยะลา-ปัตตานี-นราธิวาส" ส่วนจังหวัดภาคใต้อื่นๆ ที่ส่ง ก็เลือกเฉพาะที่หวังไปแชร์คะแนนมาได้ เช่น สงขลา สตูล เป็นต้น

สำหรับศึกเลือกตั้งรอบนี้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มี ส.ส.เขตเพิ่มจากตอนปี 2562 มา 2 ที่นั่ง คือจากเดิม 11 เขต เป็น 13 เขต โดยเพิ่มที่นราธิวาสและปัตตานี จังหวัดละ1 ที่นั่ง

ยิ่งทำให้แกนนำพรรคประชาชาติตัดสินใจทิ้งพื้นที่อื่นหมด เพราะต้องการยึด 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ได้ ส.ส.เขตเยอะที่สุด หลังเลือกตั้งปี 2562 เคยทำได้ 6 ที่นั่ง จาก 11 ที่นั่ง ที่ก็คือเกินครึ่ง จึงไม่แปลกที่แกนนำพรรคประชาชาติในช่วงต่อจากนี้ จะปักหลักอยู่ที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นหลัก

ซึ่งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่พรรคประชาชาติส่งคนลงเลือกตั้ง และหวังเป็นแชมป์ ส.ส.เขตเป็นสมัยที่ 2 ติดต่อกัน ประกอบด้วย ยะลา บ้านเกิดของหัวหน้าพรรค วันมูหะมัดนอร์ มะทา เขต 1 สุไลมาน บือแนปีแน เขต 2 ซูการ์โน มะทา เขต 3 อับดุลอายี สาแม็ง

 ส่วนที่ ปัตตานี เขต 1 วรวิทย์ บารู เขต 2 ฮำมัดอารีฟีน จะปะกิยา เขต 3 สมมุติ เบ็ญจลักษณ์ เขต 4 ว่าที่ ร.ต.โมฮามัดยาสรี ยูซง เขต 5 สาเหะมูหามัด อัลอิดรุส สำหรับ นราธิวาส ก็ประกอบด้วย เขต 1 อัฟฟาน หะยียูโซะ เขต 2 เจ๊ะซู ตาเหย็บ เขต 3 มูหามะรอมือลี อาแซ เขต 4 กูเฮง ยาวอฮะซัน เขต 5 กมลศักดิ์ ลีวาเมา

อย่างไรก็ตาม พรรคประชาชาติต้องเจอกับคู่แข่งหลายพรรคการเมือง ที่ก็ต้องการแชร์เก้าอี้ ส.ส.เขต และหวังคะแนนในระบบปาร์ตี้ลิสต์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย-พลังประชารัฐ-รวมไทยสร้างชาติ

สำหรับพรรคประชาชาติ เป็นอีกหนึ่งพรรคการเมืองที่มีการประเมินกันว่า

หลังเลือกตั้งมีโอกาสจะเป็นพรรคร่วมรัฐบาลสูง หากเพื่อไทยชนะเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ”

 เพราะถึงต่อให้เพื่อไทยชนะแลนด์สไลด์ ได้ ส.ส.เกิน 250 เสียง แต่เพื่อให้เป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ และมีเสียง ส.ส.ในสภามากที่สุด ทำให้ทุกฝ่ายดูคาดหมายตรงกันว่า ทักษิณ-แกนนำเพื่อไทยจะดึง พรรคประชาชาติ เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับเพื่อไทยแน่นอน

 เพราะนอกจากเป็นอดีตพรรคร่วมฝ่ายค้านด้วยกันมา 4 ปีเต็มแล้ว สายสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างทักษิณ-เพื่อไทย กับแกนนำพรรคประชาชาติ โดยเฉพาะวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรค และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรค ทุกคนก็รู้กันดีว่าแนบแน่นกันมากขนาดไหน

 เพราะวันนอร์ก็เคยอยู่กับไทยรักไทยมาก่อน ตั้งแต่ยุคไทยรักไทย พลังประชาชน จนถึงเพื่อไทย ก่อนจะนำนักการเมืองในสาย 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือกลุ่มวาดะห์ ยกทีมออกมาจากพรรคเพื่อไทยเพื่อตั้งพรรคประชาชาติ โดยมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ อดีตเลขาธิการ ศอ.บต.ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาร่วมตั้งพรรคด้วยตั้งแต่แรก

ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ทางการเมืองในช่วงปี 2562 ว่า การตั้งพรรคประชาชาติดังกล่าว คือยุทธศาสตร์ของเพื่อไทยที่รู้ดีว่า คนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ยอมรับแบรนด์พรรคเพื่อไทย จึงต้องมีพรรคใหม่ไปทำพื้นที่แทน หรือแผนแยกกันเดินนั่นเอง 

วันมูหะมัดนอร์ มะทา กับ พ.ต.อ.ทวี จึงไม่ใช่คนอื่นคนไกลสำหรับเพื่อไทยและทักษิณแต่อย่างใด

จนมีเสียงร่ำลือกันว่า หากเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และพรรคประชาชาติ ที่หากพรรคสามารถมี ส.ส.ได้ตามเป้าที่วางไว้ อย่างน้อย 10-12 ที่นั่ง จากเดิมที่ตอนเลือกตั้งปี 2562 มี ส.ส. 7 คน ซึ่งหากพรรคได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาล คนที่มีโอกาสจะได้เป็นรัฐมนตรี จะไม่ใช่หัวหน้าพรรค วันมูหะมัดนอร์ มะทา แต่จะเป็น พ.ต.อ.ทวี เลขาธิการพรรค ที่อาจขอลุ้นเก้าอี้ รมช.มหาดไทย ส่วนจะถึงขั้นหวังไปไกลถึง รมว.ยุติธรรม ในฐานะที่เคยเป็นอธิบดีดีเอสไอมาก่อนนั้น ประเมินแล้วคาดว่าฝ่ายเพื่อไทยไม่น่าจะยอมให้

แต่หากเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จ ต้องเป็นฝ่ายค้าน พรรคประชาชาติก็ต้องเป็นฝ่ายค้านไปอีก 1 สมัย เช่นเดียวกับพรรคเพื่อไทย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?

ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่

ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด

นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย

จับตาคลอดโผแต่งตั้ง“นายพลใหญ่” ตำรวจคนสนิทฝั่งรัฐบาลพรึบยกแผง

จับตาบ่ายวันนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายล็อตแรก “นายพลใหญ่” ระดับรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ-ผบช. ที่นายกฯ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2567 เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อ “พล.ต.อ.-พล.ต.ท.” วาระประจำปี 2567

ยากจะขวาง‘โต้ง’นั่งปธ.บอร์ดธปท. แนวต้านขอสกัดจนนาทีสุดท้าย!

แม้จะมีข่าวว่า กรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติเลือก เสี่ยโต้ง-นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ให้เป็นประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่

โค้งสุดท้ายศึกนายกอบจ.อุดรฯ เดิมพันสูง พท.VSปชน.แพ้ไม่ได้

นับจากวันจันทร์ที่ 18 พ.ย.ก็เหลืออีกเพียง 7 วันเท่านั้น ก็จะถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ศึกนายกฯ อบจ.อุดรธานี ทำให้ตอนนี้ถือว่าเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายที่จะได้รู้กันแล้วว่า