การตรวจเลือกทหารประจำปีนี้เกิดขึ้นท่ามกลางบรรยากาศหาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมืองต่างๆ ที่ชูนโยบายยกเลิกการเกณฑ์ทหารอยู่หลายพรรค โดยมีข้อเสนอในรายละเอียดที่แตกต่างกันไป จากข้อมูลในเว็บไซต์คมชัดลึก เมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้สรุปข้อมูลว่า
พรรคเพื่อไทย เสนอยกเลิกการบังคับเกณฑ์ให้เป็นไปโดยสมัครใจทันที โดยการเปิดกว้างให้การสมัครทหารออนไลน์และไม่กำหนดเป้าหมายการรับ และปรับลดงบประมาณกลาโหมลง 10% เพื่อนำไปใช้ตั้งกองทุนสนับสนุนธุรกิจคนรุ่นใหม่ เพื่อให้งบประมาณที่ใช้เหมาะสมสอดคล้องกับความเป็นจริง
พรรคไทยสร้างไทย สนับสนุนให้ยกเลิกการจับใบดำใบแดง เพื่อเปลี่ยนให้เป็นระบบสมัครใจ โดยทุกเหล่าทัพมีทหารเกณฑ์รวมกันประมาณ 100,000 คน ในจำนวนนี้อาสาเข้ามาเป็นทหารประมาณ 5 หมื่นคน และจับได้ใบแดงอีก 5 หมื่นคน ซึ่งมีจำนวนมากกว่าความต้องการจริง จึงเห็นภาพพลทหารไปรับใช้ตามบ้านผู้บังคับบัญชา ซึ่งใช้งานผิดประเภท และเกินความจำเป็น
พรรคก้าวไกล เสนอยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ให้ใช้ระบบสมัครใจร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยประกาศว่า เดือน เม.ย.นี้จะมีการเกณฑ์ทหารครั้งสุดท้าย เพราะนโยบายของพรรคทำให้เกิดผลการปฏิบัติได้ด้วยการแก้ไขกฎหมาย
โดยมีผู้สมัครและแกนนำพรรคไปรณรงค์ทำกิจกรรมถึงหน่วยตรวจเลือก ตอกย้ำเป็นนโยบายลำดับต้นๆ ที่พรรคได้ปักธงในเรื่องนี้ และหากย้อนกลับไปดูข้อมูลในเว็บไซต์ของ Moveforwardparty ซึ่งเขียนโดย เดชรัตน์ สุขกำเนิด เมื่อเดือน มิ.ย.2565 ได้ไล่เรียงกรอบงบประมาณรายจ่ายบุคลากรของกระทรวงกลาโหมที่เพิ่มขึ้น ซึ่งแนวทางหนึ่งที่สามารถลดกำลังพลและลดรายจ่ายบุคลากรลงคือ การลดจำนวนทหารเกณฑ์ลง เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีการเกณฑ์ทหารปีละประมาณ 100,000 คน (ล่าสุดในปี 2564 มีการเกณฑ์ทหาร 97,558 คน/ปี) ขณะเดียวกัน ข้อมูลทหารกองประจำการ (หรือทหารเกณฑ์) ทั้งหมดในปี 2563 คือ 134,618 คน
ทั้งนี้ พบว่า เมื่อทหารเกณฑ์แต่ละคนเริ่มเข้ารับราชการจะได้รับค่าตอบแทน 9,904 บาท/เดือน แบ่งเป็นเงินเดือน 1,630 บาท, เงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวคนละ 5,394 บาท และเบี้ยเลี้ยงวันละ 96 บาท (2,880 บาท/เดือน) ทั้งนี้ ไม่รวมถึงทหารเกณฑ์ในหน่วยที่ปฏิบัติงานราชการสนามตามแนวชายแดน เช่น ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะได้รับเงินเพิ่มเติม ประกอบด้วย เบี้ยเลี้ยงสนามวันละ 104 บาท/คน (เดือนละ 3,120 บาท) ค่าเลี้ยงดูวันละ 6 บาท/คน ซึ่งเป็นส่วนเพิ่มของเบี้ยเลี้ยง (เดือนละ 180 บาท) เบี้ยเสี่ยงภัยเดือนละ 2,500 บาท
โดยบทความดังกล่าว ใช้การคำนวณโดยการนำตัวเลขขั้นต่ำ 9,904 บาท/เดือน มาคูณกับ 134,618 คน ทำให้สรุปว่างบประมาณที่ต้องใช้สำหรับทหารกองประจำการสูงถึง 16,000 ล้านบาท/ปี (โดยยังไม่มีข้อมูลจากกองทัพมาเทียบเคียง)
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เคยให้สัมภาษณ์ในรายการโทรทัศน์ว่า แนวทางยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหารได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากชายไทยที่ครบเกณฑ์เข้ารับการตรวจเลือก เพราะคนกลุ่มนี้ไม่ต้องการเสียโอกาสในการทำงาน การสร้างรายได้ และการดูแลครอบครัว
เขาเชื่อว่าในความเป็นจริง ตัวเลขทหารเกณฑ์ที่เหมาะสมกับไทยเมื่อเทียบจากประเทศที่ขนาดใกล้เคียงกัน และดูจากภารกิจและภัยคุกคามที่มีอยู่จริง น่าจะมีทหารกองประจำการแค่ 5 หมื่น ถ้ามีคนสมัครเข้ามาเป็นไม่ครบก็ให้เลื่อนปลดในผัดที่ประจำการออกไปก่อน ซึ่งเชื่อว่าสามารถทำได้จริง โดยต้องแก้ไขกฎหมายที่สามารถทำได้เลยใน 1 ปี และงบประมาณก้อนนี้จะใช้ในการดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนในรูปของโครงการรัฐสวัสดิการต่างๆ ตอบโจทย์นโยบายของพรรคที่ป่าวประกาศว่า มีที่มาเงินจริงที่จะนำไปใช้ ไม่ใช่การขายฝัน
ก่อนหน้านี้ “กระทรวงกลาโหม” เคยชี้แจงถึงเหตุผลความจำเป็นในการเกณฑ์ทหารที่ยังต้องเดินหน้าต่อไป แต่ก็พร้อมปรับเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อมด้านความมั่นคง และ ความเป็นจริงของสังคม
ทำให้ข่าวในทำนอง พลทหารเลี้ยงไก่ ซักกางเกงในคุณนาย ล้างรถ เสิร์ฟเหล้า ทำกับข้าว ลดน้อยลงไปจากที่เคยติดเทรนด์ข่าวยอดนิยมก่อนหน้านี้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า “งาน” ของพลทหารรับใช้ หรือที่เรียกว่าพลทหารบริการในลักษณะดังกล่าวจะหมดไป เพียงแต่กองทัพถูกจับตามองมากขึ้น ตีกรอบให้การปฏิบัติต้องอยู่ในกรอบของความเหมาะสม แต่ก็อยู่ภายใต้แนวคิดเดิมในเรื่องของการฝึกวินัย การปลูกฝังแนวคิดตามแบบฉบับของทหาร และจิตสาธารณะเรื่องงานบริการที่เริ่มจากองค์กรหลักของชาติ
เหตุผลอีกประการคือ ยกเลิกการเกณฑ์ทหารนั้น คงทำไม่ได้ในระยะเวลาอันใกล้ เนื่องจากความต้องการ (จำนวน) กับผู้ที่สมัครจริงนั้น ยังไม่สอดคล้องกัน กล่าวคือ ผู้ที่สมัครยังมีจำนวนน้อยกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นการจับ “ใบดำ-ใบแดง” คงต้องใช้ต่อไปอีกระยะ แต่กองทัพก็เคยแถลงว่า ยอดความต้องการของทหารกองประจำการนั้นจะลดลงเรื่อยๆ ที่ล้อไปกับแผนปฏิรูปกองทัพ ลดกำลังพลที่วางไว้อยู่แล้ว
“กองทัพก็ทำอยู่แล้วและคิดไม่ต่างจากพรรคการเมืองว่าก็ต้องปรับตัว แต่เมื่อเป็นฤดูของการหาเสียงเลือกตั้งก็ต้องวาดภาพให้เห็นว่าสิ่งที่ทำมีผลอย่างไร โจทย์จึงถูกโยนว่ากองทัพหวงอำนาจ ไม่ยอมคายผลประโยชน์หรือเปล่า ถึงเดินไปไม่ได้ แต่ในความเป็นจริงแนวทางทหารแบบสมัครใจกองทัพทำมาตั้งแต่ปี 2546-2547 แต่ทำได้ตามเป้าบ้าง ทำไม่ได้บ้าง บางปีต้องการมากน้อยเป็นไปตามภารกิจในช่วงนั้น ทั้งมีการเพิ่มหน่วย ลดหน่วย ซึ่งฝ่ายอำนวยการเขาจะเป็นคนประเมินตรงนี้ด้วย จากนั้นจึงเป็นนโยบายของผู้บังคับบัญชาด้วย แต่ในอดีตเคยมีการทำแผนเหมือนกัน ประมาณว่า ถ้าภัยคุกคาม หรือภาระงานอยู่ในระดับต่ำ เมื่อถึงปี 2571-2572 จะเหลือยอดทหารกองประจำการแค่ประมาณ 3 หมื่นคน สอดคล้องกับแผนปฏิรูปกองทัพ ลดกำลังพล แต่นั่นก็ต้องดูปัจจัยอื่นที่เป็นตัวแปรด้วย อย่างภัยพิบัติที่ต้องใช้คน จะมีหน่วยงานอื่นที่จะจัดขึ้นในภารกิจนี้เพื่อรับมือโดยตรงหรือไม่ ซึ่งมันจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน” แหล่งข่าวทางทหารรายหนึ่งระบุ และว่า
หากย้อนดูข้อมูลพบว่า ยอดความต้องการปี 2563 จำนวน 97,324 นาย, ปี 2564 จำนวน 97,558 นาย และปี 2565 จำนวน 58,330 นาย ถือว่าลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ในปีหลังก็มีสถานการณ์โควิด-19 เป็นตัวเอื้ออำนวย
จากยอดในปี 2565 จำนวน 58,330 นาย จะเห็นว่าเป็นกลุ่มที่สมัครผ่านโครงการทหารออนไลน์ 6,101 นาย และกลุ่มเข้ารับการตรวจเลือก 51,692 นาย มีผู้ร้องขอเข้ารับราชการในวันตรวจเลือก 21,046 นาย คงเหลือจับฉลากแดง 30,646 นาย ซึ่งมีจำนวนลดลงจากปี 64 ถึง 18,749 นาย
น่าสนใจว่าในปีนี้ข้อมูลผู้สมัครใจเป็นทหารออนไลน์ที่เปิดตั้งแต่เดือน ส.ค.ที่ผ่านมา มีประมาณมากกว่า 1 หมื่นคน ซึ่ง ทบ.มองว่าตรงตามเป้าที่กำหนดไว้ ซึ่งเดิมตั้งเป้าว่า ในปี 65-66 จะต้องลดลง 10 เปอร์เซ็นต์ (ปีละ 5 เปอร์เซ็นต์) เมื่อรวมกับผู้สมัครใจเข้าเป็นทหาร ณ วันตรวจเลือกปกติ 4,600 คน (ณ วันที่ 2 เม.ย.) หลังจากเปิดการตรวจเลือกแค่ 2 วัน ก็น่าจะเป็นไปตามเป้าที่ต้องการ
จากตัวเลขดังกล่าว แสดงให้เห็นว่ายังไม่สามารถยกเลิกการเกณฑ์ทหารได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะยังมีบางภารกิจที่ยังไม่พบการแจงตัวเลขได้อย่างเป็นทางการ และในปีนี้กองทัพบกก็ยังไม่เปิดเผยตัวเลขความต้องการในภาพรวมเหมือนปีที่ผ่านมา แต่ที่เห็นอยู่คือ ความพยายามที่จะปรับปรุง และหาแนวทางในการเข้าใกล้ “ทหารกองประจำการแบบสมัครใจ” เกือบทั้งหมดให้ได้
ทั้งมาตรการ แรงจูงใจ ค่าตอบแทน การเปิดกว้างให้เข้าสู่ระบบทหารอาสา ปรับปรุงภาพลักษณ์ในการฝึก การจัดหางาน ด่านแรกคือ ฝ่าแรงกดดันจากทุกสารทิศที่ต้องการให้กองทัพปรับตัว ด่านสุดท้ายคือ หลังสมรภูมิการเลือกตั้งที่งัดข้อกันระหว่างสองขั้วอุดมการณ์ที่กำลังดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ ฝ่ายใดจะชนะจนนำไปสู่การยกเลิกเกณฑ์ทหารได้หรือไม่.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?
ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่
ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด
นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย
จับตาคลอดโผแต่งตั้ง“นายพลใหญ่” ตำรวจคนสนิทฝั่งรัฐบาลพรึบยกแผง
จับตาบ่ายวันนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายล็อตแรก “นายพลใหญ่” ระดับรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ-ผบช. ที่นายกฯ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2567 เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อ “พล.ต.อ.-พล.ต.ท.” วาระประจำปี 2567
ยากจะขวาง‘โต้ง’นั่งปธ.บอร์ดธปท. แนวต้านขอสกัดจนนาทีสุดท้าย!
แม้จะมีข่าวว่า กรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติเลือก เสี่ยโต้ง-นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ให้เป็นประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่
โค้งสุดท้ายศึกนายกอบจ.อุดรฯ เดิมพันสูง พท.VSปชน.แพ้ไม่ได้
นับจากวันจันทร์ที่ 18 พ.ย.ก็เหลืออีกเพียง 7 วันเท่านั้น ก็จะถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ศึกนายกฯ อบจ.อุดรธานี ทำให้ตอนนี้ถือว่าเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายที่จะได้รู้กันแล้วว่า
‘แม้ว’ ย่ามใจไม่เลี้ยงหลาน ทำตัวเป็น ‘ส่วนหนึ่งของปัญหา’
แม้แต่ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" ประธานคณะก้าวหน้า และอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ยังตั้งคำถามต่อ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี