ผลการรับสมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ หรือปาร์ตี้ลิสต์ ของพรรคการเมืองที่ยื่นรายชื่อสมัครต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งวันแรก เมื่อ 4 เมษายนที่ผ่านมา พบว่ามี 49 พรรคการเมืองยื่นสมัคร โดยผลการจับเลขประจำพรรคที่ใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ พบว่าพรรคการเมืองที่ถูกคาดหมายว่าอาจจะมี ส.ส.ในสภาฯ หลังการเลือกตั้ง มีเลขประจำพรรคที่น่าสนใจ เช่น
พรรคภูมิใจไทย ได้หมายเลข 7 พรรครวมไทยสร้างชาติที่ชูพลเอกประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกฯ ได้หมายเลข 22 พรรคเพื่อไทย ได้หมายเลข 29 พรรคก้าวไกล ได้หมายเลข 31 พรรคพลังประชารัฐ ได้หมายเลข 37 เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ในบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ตามที่มีการเปิดเผยออกมา บัตรดังกล่าวจะไม่มีหลายเลขพรรค จะมีแค่ชื่อพรรค-โลโก้พรรคเท่านั้น ดังนั้นพรรคการเมืองต่างๆ จึงต้องพยายามเน้นย้ำเรื่องการให้คนจำชื่อพรรค โลโก้พรรคให้ได้ เพื่อจะได้ไม่กาผิด แต่สำหรับเลขประจำพรรคก็ยังมีความสำคัญอยู่ในการสื่อสารทางการเมืองกับประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง
สำหรับเลข 22 ที่เป็นเลขเบิ้ลที่เป็นเบอร์เลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อของพรรค รวมไทยสร้างชาติ ที่ชูบิ๊กตู่-พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี
เลขดังกล่าวเรียกเสียงฮือฮาทางการเมืองตามมาไม่น้อย เพราะเป็นที่รู้กันว่า เลข 22 เป็นเลขที่ถูกโฉลกและเป็นเลขที่ชอบของพลเอกประยุทธ์ ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า เป็นอดีตบิ๊กทหาร ที่ค่อนข้างเชื่อเรื่องโชคลางสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือที่เรียกกันว่า "สายมู"
เพราะเลข 22 คือเลขวันที่พลเอกประยุทธ์สมัยตอนเป็นผู้บัญชาการทหารบก ได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลเพื่อไทยกลางสโมสรกองทัพบก เมื่อ 22 พ.ค.2557 อันเป็นวันที่ทำให้พลเอกประยุทธ์ครองอำนาจมายาวนานร่วม 9 ปี จนถึงทุกวันนี้ และกำลังลุ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น
ท่ามกลางกระแสข่าวที่พูดกันหนาหูตอนนั้นว่า ก่อนหน้าจะทำการใหญ่ รัฐประหารดังกล่าว เมื่อ 22 พ.ค.2557 บิ๊กตู่ได้ศึกษาเรื่องฤกษ์ผานาที ดวงเมือง มาระยะหนึ่ง ทำนองว่า หากจะทำงานใหญ่เดือน พ.ค.เมื่อปี 2557 จะต้องทำช่วงไหน เวลาอะไร จนเป็นที่มาของการยึดอำนาจดังกล่าว
นอกจากนี้ เลข 22 ยังเป็นวันที่มีความหมายกับชีวิตของพลเอกประยุทธ์ด้วย เพราะเป็นวันที่พลเอกประยุทธ์แต่งงานกับ รองศาสตราจารย์นราพร จันทร์โอชา โดยแต่งเมื่อวันที่ 22 มิ.ย.2527
จนเป็นที่รู้กันในแวดวงการเมือง การทหาร ว่า พลเอกประยุทธ์ถูกโฉลกกับเลข 22 เป็นพิเศษ
อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้ว พรรครวมไทยสร้างชาติ จะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ และ ส.ส.ระบบเขตกี่คน ก็อยู่ที่ปัจจัยหลายอย่าง เช่น กระแสพรรคทั่วประเทศ คะแนนนิยมต่อตัวพลเอกประยุทธ์ รวมถึงกระแสตอบรับจากประชาชนต่อตัวผู้สมัคร ส.ส.ระบบเขต ของรวมไทยสร้างชาติทั่วประเทศ เพราะการที่พรรคจะได้ ส.ส.หลังเลือกตั้งมากหรือน้อย คงไม่ใช่เพราะได้เลขถูกโฉลกกับพลเอกประยุทธ์ แล้วจะทำให้รวมไทยสร้างชาติได้เป็นรัฐบาล และพลเอกประยุทธ์กลับมาเป็นนายกฯ รอบ 3 ได้ง่าย ท่ามกลางการวิเคราะห์จากหลายฝ่ายว่า ในบรรดาพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบัน รวมไทยสร้างชาติน่าจะได้ ส.ส.น้อยกว่าภูมิใจไทยและพลังประชารัฐด้วยซ้ำ
ขณะที่โผปาร์ตี้ลิสต์ของ รวมไทยสร้างชาติ ที่ยื่นไป 100 รายชื่อ พบว่าส่วนใหญ่ไม่พลิกความคาดหมายคือ ระดับแกนนำพรรค-กรรมการบริหารพรรค-รัฐมนตรีในรัฐบาลปัจจุบันที่อยู่ในพรรคตอนนี้ 4 คน คือ สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน จุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมฯ ธนกร วังบุญคงชนะ รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี อยู่ในลำดับต้นๆ หมด
ท่ามกลางการประเมินจากแกนนำพรรคว่า เซฟโซนทางการเมืองของรวมไทยสร้างชาติน่าจะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ประมาณ 12-15 คน แต่ก็มีบางฝ่ายในวงการการเมืองประเมินว่า รวมไทยสร้างชาติให้กระแสลุงตู่ฟีเวอร์เต็มที่ น่าจะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ไม่เกิน 12 คนเท่านั้น แต่หากเกิดกรณีรวมไทยสร้างชาติได้เป็นรัฐบาล ก็น่าจะทำให้เกิดสูตร คือให้คนที่เป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แล้วเป็นรัฐมนตรี ต้องลาออกจาก ส.ส. ให้เป็นรัฐมนตรีอย่างเดียว เพื่อให้คนที่มีชื่ออยู่ในลำดับถัดๆ ไปได้เข้ามาเป็น ส.ส.
โดย 20 ลำดับชื่อแรก ในบัญชีรายชื่อดังกล่าว ประกอบด้วย 1.พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรค 2.นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน 3.เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรค 4.หม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร หัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรค อดีตบอร์ด ปตท.และอดีตผู้แทนการค้าไทย 5.สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน
6.นางพิชชารัตน์ เลาหพงศ์ชนะ อดีต ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ พลังประชารัฐ ซึ่งชื่อนี้ต้องขีดเส้นใต้เลยว่า “ไม่ธรรมดา” เพราะเป็นที่รู้กันดีว่า เคยทำงานเป็นทีมงานส่วนตัวของนักธุรกิจด้านพลังงานชื่อดัง
7.วิทยา แก้วภราดัย อดีต รมว.สาธารณสุข 8.ชัชวาลล์ คงอุดม หรือชัช เตาปูน อดีตหัวหน้าพรรคพลังท้องถิ่นไท 9.จุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมฯ 10.ธนกร วังบุญคงชนะ รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี 11.เกรียงยศ สุดลาภา นายทะเบียนพรรค ที่ลาออกจากประชาธิปัตย์มาพร้อมๆ กับพีระพันธุ์และเอกนัฏ 12.นายดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง อดีตเลขาธิการพรรครวมพลังประชาชาติไทย เจ้าของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร
13.ชัยวัฒน์ เป้าเปี่ยมทรัพย์ อดีต ส.ส.ฉะเชิงเทรา พลังประชารัฐ 14.อนุชา บูรพชัยศรี รักษาการโฆษกรัฐบาล หนึ่งในนายทุนพรรครวมไทยสร้างชาติ 15.เสกสกล อัตถาวงศ์ หรือแรมโบ้อีสาน 16.นางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู หรือ แม่เลี้ยงติ๊ก 17.เกชา ศักดิ์สมบูรณ์ รองหัวหน้าพรรค อดีต ส.ว.ราชบุรี 18.นางสาวทิพานัน ศิริชนะ หรืออ้น รองโฆษกรัฐบาล 19.นายโรจน์พิศาล อินทรักษ์ 20.พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าฯ กทม. เป็นต้น
ทั้งหมดจะเห็นได้ว่า โผปาร์ตี้ลิสต์ 20 คนแรก ส่วนใหญ่จะมาจาก 2 สายคือ สายพีระพันธุ์-เอกนัฏ และสายของพลเอกประยุทธ์ ที่แน่นอนว่า การจัดโผดังกล่าวคงทำให้หลายคนในพรรคไม่พอใจ เพราะได้ลำดับที่ไม่ดี โดยบางคนก็ถือว่าได้ลำดับที่ต่ำกว่าที่คาดการณ์กันไว้ เช่น จำลอง ครุฑขุนทด อดีต รมช.ศึกษาธิการ ที่อยู่ลำดับที่ 63 หรือ พ.ต.ท.สุรทิน พิมานเมฆินทร์ อดีต ส.ส.อุดรธานี ยุคไทยรักไทย เพื่อไทย ลำดับที่ 64
ส่วนอดีตสายเสื้อแดงอย่าง เฮียหวัง สมหวัง อัสราศี ก็หล่นไปอยู่ลำดับ 56 หรือพรศักดิ์ เจริญประเสริฐ อดีต รมช.เกษตรฯ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ลำดับ 36 ส่วน 3 อดีตนักการเมือง อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ที่ย้ายมารวมไทยสร้างชาติ คือ ชุมพล กาญจนะ สามารถ มะลูลีม โกวิทย์ พวงงาม ก็อยู่ลำดับที่ 22-24 ตามลำดับ ที่ก็ถือว่ากลางๆ
ท่ามกลางกระแสข่าวว่า กว่าจะเคาะเรียงลำดับโผดังกล่าว ออกมาได้ ทั้งพลเอกประยุทธ์และพีระพันธุ์-เอกนัฏ ต้องคุยกันหลายรอบกว่าจะตกผลึก ส่วนแรงกระเพื่อมในพรรคต่อจากนี้ คาดว่าต้องมีบ้าง แต่ก็คงทำอะไรไม่ได้แล้ว เพราะเรียบร้อยปิดบัญชีลุงตู่-เดอะตุ๋ย พีระพันธุ์ไปแล้ว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รัฐบาลลุยขายฝันหนีบ่วงการเมือง แกนนำม็อบขยับจัดทัพเดินหน้าไล่
การแถลงผลงานรัฐบาลในรอบ 3 เดือนของ อุ๊งอิ๊ง-น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ภายใต้ชื่อ “2568 โอกาสไทย ทำได้จริง” ที่สตูดิโอ 4 สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT)
นโยบายที่“อิ๊งค์”ไม่กล้าพูด เรื่องสำคัญกว่าผลงาน90วัน
บรรดากองเชียร์รัฐบาลเพื่อไทยอาจจะชื่นชม หลัง “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี เล่นใหญ่ เปิดสตูดิโอ 4 ของสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) ยืนเดี่ยวไมโครโฟน
แถลงผลงาน3เดือน‘รัฐบาลอิ๊งค์’ โชว์อนาคตประเทศ รอดหรือร่วง?
ได้เวลาตีปี๊บผลงานรัฐบาล 90 วันของ “นายกฯ อิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี วันนี้ 12 ธันวาคม 2567 ในหัวข้อ “2568 โอกาสไทย ทำได้จริง” (2025 Empowering Thais : A Real Possibility) ซึ่งจัดเป็นครั้งแรกของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ที่สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) พร้อมถ่ายทอดสดให้คนไทยได้รับชม
กม.สกัดรัฐประหาร‘ส่อแท้ง’ พรรคร่วมไม่อิน-ไม่เอา
ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่...) พ.ศ. .... ฉบับ ‘หัวเขียง’ ที่นายประยุทธ์ ศิริพาณิชย์ สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทยเสนอ ส่อแวว ‘แท้ง’ ตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มต้น
จับ“ไทย”ชน“เมียนมา” เด้งเชือกรับมือเกมมหาอำนาจ
หลังจากที่กองกำลัง “ว้าแดง” ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงข่าวลือความตึงเครียดระหว่างทหารไทยกับว้าแดงบริเวณชายแดน อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ทำให้ “ข่าวลือ” ดังกล่าวเริ่มเบาเสียงลง
พท.ยึดอำนาจกองทัพ สกัดลากรถถังตรึงทำเนียบฯ
เรียกเสียงครางฮือไปทั่วแวดวงทหารและแวดวงการเมือง กับการขยับของ สส.เพื่อไทย ที่เข้าชื่อกันเสนอร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม เข้าสภาฯ ที่ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นประชาชนผ่านเว็บไซต์ของสภาฯ