รับสมัครเลือกตั้งส.ส. แกนนำ-คีย์แมนพรรคนำทีม

ปี่กลองการเลือกตั้งที่จะหย่อนบัตรกันวันอาทิตย์ที่ 14 พ.ค. ถึงตอนนี้เริ่มบรรเลงอย่างเป็นทางการตั้งแต่สัปดาห์นี้ เพราะช่วงวันที่ 3-7 เมษายน เป็นสัปดาห์แห่งการรับสมัครผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ระบบเขตและระบบบัญชีรายชื่อ ทำให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมืองที่ส่งคนลงเลือกตั้ง ต้องไปยื่นใบสมัครและยื่นรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ตามสถานที่ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศไว้

อย่างสนามเลือกตั้ง ส.ส.ระบบเขต กรุงเทพมหานคร สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร กำหนดให้มีการรับสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง กรุงเทพมหานคร เขต 1-33 ในวันจันทร์ที่ 3 เมษายน 2566 ถึงวันศุกร์ที่ 7 เมษายน 2566เวลา 08.30-16.30 น. ณ อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง

โดยผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ต้องเตรียมเอกสารและหลักฐานให้พร้อมดังนี้ 1.หนังสือรับรองการส่งผู้สมัครของหัวหน้าพรรคการเมือง 2.หลักฐานการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 3 ปี (ปีภาษี 2563, 2564 และ 2565) 3.ค่าธรรมเนียมการสมัคร คนละ 10,000 บาท 4.เอกสารและหลักฐานอื่นตามที่กฎหมายกำหนด

ขณะที่ผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ หรือปาร์ตี้ลิสต์ กำหนดให้ยื่นรายชื่อ วันที่ 4-7 เม.ย.นี้ ตั้งเวลา 08.30-16.00 น. เป็นวันสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ และแจ้งรายชื่อบุคคลที่พรรคการเมืองมีมติจะเสนอต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี โดยยื่นรายชื่อสมัคร ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร แขวงดินแดง

ทั้งนี้ เมื่อไปดูข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการลงสมัครรับเลือกตั้งของ ส.ส.ระบบเขตและบัญชีรายชื่อ พบว่า ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 มาตรา 41 และมาตรา 42 ได้บัญญัติคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ดังต่อไปนี้

คุณสมบัติผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง (มาตรา 41)

เช่น เป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิด-มีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคการเมืองเดียวเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วันนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในกรณีที่มีการเลือกตั้งทั่วไปเพราะเหตุยุบสภา ระยะเวลา 90 วันดังกล่าวให้ลดลงเหลือ 30  วัน 

ผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ด้วย เช่น มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปีนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง เป็นบุคคลซึ่งเกิดในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง เคยรับราชการหรือปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ หรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง แล้วแต่กรณีเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี เป็นต้น

ลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้ง

พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 42 บัญญัติไว้หลายข้อ เช่น เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่ อยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราวหรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล เคยได้รับโทษจำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงสิบปีนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตการเลือกตั้ง เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะศาลฎีกาหรือศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาว่า เป็นผู้มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ หรือกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง เป็นต้น

ซึ่งการรับสมัครผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ระบบเขตและบัญชีรายชื่อ ส่วนใหญ่ผู้สมัครและพรรคการเมืองต่างๆ จะไปสมัครกันตั้งแต่วันแรก เพื่อจะได้เลขหรือเบอร์ประจำตัว เบอร์พรรค ที่เป็นเลขหรือเบอร์สวยๆ ที่จำง่าย เพื่อจะได้นำไปหาเสียงกับประชาชนให้จดจำได้ง่าย ซึ่งโดยส่วนใหญ่ล้วนอยากได้เบอร์ที่จำง่าย เบอร์ที่เป็นเลขเดี่ยวกันทั้งสิ้น เช่น เบอร์ 1 เบอร์ 5 เบอร์ 9 หรือหากเป็นเลขคู่ ก็เป็นเลขคู่ที่จำง่าย เช่น เบอร์ 11 เป็นต้น

โดยพบว่าในช่วงเสาร์-อาทิตย์ที่ 1 และ 2 เมษายนที่ผ่านมา ทางสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ได้มีการเตรียมพร้อมในการรับสมัครในช่วงสัปดาห์นี้ไว้แล้ว และหลายพรรคการเมือง ก็มีการแจ้งตารางเวลาของแกนนำพรรค ที่จะนำลูกทีมไปยื่นสมัคร ส.ส.ระบบเขตและปาร์ตี้ลิสต์ออกมา

เช่น พรรคเพื่อไทย ที่แจ้งตารางเวลาความเคลื่อนไหวของพรรคเพื่อไทย ในการรับสมัคร ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ณ ศูนย์เยาวชนไทย-ญี่ปุ่น วันที่ 3 เม.ย.2566 นี้ไว้ว่า จะมีแกนนำพรรคจะไปร่วมให้กำลังใจและนำผู้สมัคร ส.ส.ระบบเขต กทม.ไปยื่นสมัคร โดยมีแกนนำพรรคเพื่อไทยไปร่วมด้วย อาทิ แพทองธาร ชินวัตร ชัยเกษม นิติสิริ ภูมิธรรม เวชยชัย พวงเพ็ชร ชุนละเอียด ดนุพร ปุณณกันต์ ซึ่งได้มีการนัดหมายเจอกัน ณ ที่ทำการพรรคเพื่อไทยตั้งแต่ตีห้าครึ่ง

 จากนั้นทั้งหมดจะร่วมกันเดินทางโดยขบวนรถเมล์ EV จาก พรรคเพื่อไทย ไปยังศูนย์เยาวชน ไทย-ญี่ปุ่น และช่วง 07.30-08.00 น. นางสาวแพทองธาร ชินวัตร จะถ่ายภาพร่วมกับแกนนำพรรคและว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม. และเมื่อเสร็จสิ้นการรับสมัครแล้ว ทั้งหมดจะเดินทางด้วยรถเมล์ EV ไปยังศาลหลักเมือง เพื่อไหว้ศาลหลักเมือง เอาฤกษ์เอาชัยในการเลือกตั้ง และเมื่อเสร็จสิ้นกิจกรรม ผู้สมัครแต่ละเขตแยกย้ายไปแห่เบอร์ตามเขตเลือกตั้งของตัวเองต่อไป

ส่วนพรรคอื่นก็มีการนัดหมายกิจกรรมในวันรับสมัคร ส.ส.ระบบเขตและปาร์ตี้ลิสต์ เช่นเดียวกับพรรคเพื่อไทยเช่นกัน

สีสันการรับสมัคร ส.ส.ทั้งระบบเขตและปาร์ตี้ลิสต์ที่จะเกิดขึ้นในสัปดาห์นี้ ไฮไลต์จริงๆ ก็คงอยู่ที่ 2 วันแรก คือ 3 เมษายน และ 4 เมษายน ที่เป็นวันรับสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยพบว่า แกนนำแต่ละพรรคก็จะร่วมเดินทางไปกับผู้สมัครทั้งระบบเขตและปาร์ตี้ลิสต์ ในวันยื่นสมัครกันเกือบหมด ที่รวมถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่แม้จะไม่ลงสมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ รวมไทยสร้างชาติ แต่ก็ลงสมัครแคนดิเดตนายกฯ รวมไทยสร้างชาติ โดยมีรายงานว่า พลเอกประยุทธ์จะไปร่วมให้กำลังใจคนในพรรคในการยื่นสมัครกับ กกต.ด้วย

เช่นเดียวกับ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และแคนดิเดตนายกฯ ของพลังประชารัฐ ก็จะนำรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของพลังประชารัฐไปยื่นกับ กกต. ในวันที่ 4 เม.ย.นี้เช่นกัน

ส่วนการประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 4 เม.ย. ที่ปกติจะประชุมกันตอนเช้า แต่รอบนี้เลื่อนไปประชุมกันช่วงบ่าย 2 เพื่อเปิดทางให้ รัฐมนตรีแต่ละคนที่ส่วนใหญ่เป็นแกนนำพรรคการเมืองต่างๆ ได้ไปยื่นสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ และร่วมทำกิจกรรมหาเสียงเลือกตั้งหลังแต่ละพรรคการเมืองได้เบอร์แล้วกันให้เต็มที่นั่นเอง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นับหนึ่ง‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ยังขลุกขลัก ‘ย้ายทะเบียนบ้าน’ส่อทำเงินกระจุก

เริ่มแล้ว! อย่างเป็นทางการสำหรับ โครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต โครงการ เรือธง ของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่เปิดให้ประชาชนได้ลงทะเบียนวันแรก 1 สิงหาคม 2567 ผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ”

14 ส.ค.ชี้ชะตา 'ลุงป้อม-พปชร.' ลุ้นสุดท้ายคดี 'เศรษฐา'

ภายใน "พรรคพลังประชารัฐ" ขณะนี้เหมือนจะมี 2 ชุดความคิด ชุดความคิดแรกคือ พรรคจะควรจะอยู่นิ่งๆ ทำตัวเป็นพรรคร่วมรัฐบาลที่ดี เพื่อรักษาสถานภาพที่มีอยู่

เศรษฐาเกาะ“มีชัย”หวังชนะคดี เปิดข้อต่อสู้32หน้าขอศาลอยู่ยาว

เมื่อวันอังคารที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ถูกร้องในคดีกลุ่ม 40 อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ยื่นคำร้องให้ศาล รธน.วินิจฉัยกรณี นายกฯ นำความกราบบังคมทูลฯ เพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็น รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี ได้จัดส่ง เอกสารคำแถลงปิดคดี ในคดีดังกล่าวถึงสำนักงานเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

กมธ.ฯ ปรับไทม์ไลน์วันออกเสียงประชามติ พร้อมเลือกตั้ง หลัง 60 วัน แต่ไม่เกิน 150 วัน

กมธ.ประชามติ ปรับเนื้อหา ขีดไทม์ไลน์วันออกเสียง พร้อมวันเลือกตั้ง ตั้งเงื่อนไข ไม่เร็วกว่า60วันไม่ช้ากว่า150วัน พบ ‘อนุทิน’ ชงแปรญัตติ เพิ่มเกณฑ์ 1ใน4 ขอคนมาใช้สิทธิ เป็นเงื่อนไขผ่านประชามติ

ก้าวไกลชงนิรโทษฯ 112 แบบมีเงื่อนไข ห้ามทำผิดซ้ำ 3-5 ปี แมตช์วัดใจ พท.-ทักษิณ

เดิมที ศุกร์ที่ผ่านมา 26 ก.ค. คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ที่มี ชูศักดิ์ ศิรินิล จากพรรคเพื่อไทยเป็นประธาน