สแกนสูตรตั้งรัฐบาล 4 พรรค พปชร.ชู "ลุงป้อม" สกัด "บิ๊กตู่"

ขั้วการเมืองใหม่ ประกอบด้วย 4 พรรคการเมือง ถูกผลิตขึ้นมาจากบ้านป่ารอยต่อฯ เพื่อขวางพรรคเพื่อไทย (พท.) และ สกัดไม่ให้ บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตจากพรรครวมไทยสร้างชาติ (รสทช.) กลับมาเป็นนายกฯ รอบ 3

หลังมื้ออาหารกลางวันเมื่อวันที่ 22 มี.ค. ระหว่าง บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กับแกนนำพรรคภูมิใจไทย (ภท.) นำโดย เสี่ยหนู-อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เลขาธิการพรรค และ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี รองหัวหน้าพรรค ที่มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด

โดยมีแกนนำพรรค พปชร. อาทิ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง เลขาธิการพรรค พปชร. นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายวิรัช รัตนเศรษฐ รองหัวหน้าพรรค นายรงค์ บุญสวยขวัญ กรรมการบริหารพรรค และ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรค พปชร.ร่วมโต๊ะ

มื้อกลางวันที่บ้านป่ารอยต่อฯ ถูกผลิตซ้ำเป็นครั้งที่ 2 หลังครั้งที่แรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 มี.ค.ที่ผ่านมา ตามมาด้วยการออกมายอมรับว่ามีการดีลกันระหว่าง พปชร.และ ภท.เป็น ขั้วการเมืองใหม่ ก้าวข้ามความขัดแย้ง โดย พปชร.ต้องการตอบโต้และลดทอนอำนาจ พท.ที่ประกาศเป้าหมายแลนด์สไลด์ 310 เสียง ที่นายใหญ่ส่งลิ่วล้อมาประกาศไม่จับมือกับ "บิ๊กป้อม"

อีกทั้งยังส่งสัญญาณไปที่ "บิ๊กตู่" หลัง พปชร.ถูก ตกปลาในบ่อพี่ ส่วน ภท.ก็ประกาศว่าไม่ใช่ของตาย หลังถูกไล่ทุบจากกรณีจอมแฉอย่าง นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ โดยมีกระแสข่าวคน รทสช.อยู่เบื้องหลัง รวมทั้งโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ก็ถูกคน รมต.ใกล้ชิดจากนายกฯ คัดค้านในที่ประชุม ครม.อำนาจเต็มนัดสุดท้าย

กลับมาที่มื้อกลางวันรอบล่าสุด มีรายงานข่าวแจ้งจากฝั่งบ้านป่ารอยต่อฯ ว่า มีการคุยเรื่องจับมือตั้งรัฐบาล คำนวณตัวเลข ส.ส.ที่แต่ละพรรคจะได้ โดยพรรค พปชร.จะได้ 70 ที่นั่ง ภท.จะได้ 70 ที่นั่ง เป็น 140 ที่นั่ง บวกกับพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) และพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) จะได้เกิน 203 ที่นั่ง สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้

ขณะที่ พล.อ.ประวิตร บอกว่า "เรื่องการเป็นนายกฯ ถ้าคะแนนใครชนะเอาไปเลย ส่วนพรรคที่ได้ 25-30-40 เสียง จะมาเอาไม่ให้ คนที่ได้คือเรากับหนู (นายอนุทิน)" ทำให้นายอนุทินที่ฟังอยู่ยิ้มออกมาก่อนพูดทำนองว่า “ถ้าอาจะเอา เอาไปก่อน” นอกจากนี้ยังประเมินกันว่าพรรคเพื่อไทยจะได้ไม่เกิน 170 ที่นั่ง

หากประเมินในมุมของ พปชร. เกมนี้ต้องการแสดงให้รู้ว่า หากจับมือกับ 4 พรรคดังกล่าวได้ 203 เสียง ฉะนั้นหากจะหาเสียง ส.ส.ให้ได้ 250 เสียง ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้า รสทช.จะเข้าร่วมรัฐบาลก็ทำได้ แต่อาจไม่ได้เก้าอี้นายกฯ หากกรณี  "บิ๊กตู่" ได้เสียงสนับสนุน ส.ส.น้อยกว่า พปชร.และ ภท.        

แต่เมื่อไม่ยอมก็ไปเป็นฝ่ายค้าน พร้อมกับหาเสียงจากพรรคอื่นๆ ที่เหลือ หรือจะเอาจากงูเห่าจากพรรคเพื่อไทย ก็ไม่ใช่เรื่องยาก ไม่ว่าจะเป็นบ้านใหญ่ชลบุรี หรือบ้านใหญ่สามมิตร ที่เคยทำงานให้ฝั่งพี่น้อง 3 ป.

ในส่วนของพรรคเพื่อไทย สมมุติว่าได้ ส.ส. 170 เสียง ก็มีโอกาสไปเป็นฝ่ายค้าน เพราะ 4 พรรคดังกล่าวคงไม่เอามาร่วมรัฐบาลทั้งหมด เพราะจำนวนเสียงเกินความจำเป็น และที่สำคัญไม่ต้องเปลื้องโควตารัฐมนตรี ปล่อยให้ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติควบคู่กับพรรคก้าวไกล ที่มีจุดยืนเรื่องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112   

ฉะนั้นหากเป็นไปในสูตรนี้ บิ๊กป้อม จะมีโอกาสได้เป็นนายกฯ เพราะมีจุดแข็งจากพรรคที่เหลือ เนื่องจากมีเสียง ส.ว.หนุนหลัง

แตกต่างจาก ภท.มีท่าทีเหยียบเรือสองแคม และคงไม่กล้าตัดทิ้ง บิ๊กตู่ เพราะก่อนหน้าที่ อนุทิน จะไปกินข้าวกับแกนนำ พปชร. ช่วงสายก็ดอดขึ้นตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล   เพื่ออวยพรและมอบของขวัญวันคล้ายวันเกิดให้ พล.อ.ประยุทธ์ ย้อนหลังเป็นการส่วนตัว

ด้านหนึ่งสะท้อนให้เห็นว่า พรรคภูมิใจไทยยังเป็นเด็กดี และสนับสนุน "บิ๊กตู่" ที่มีอำนาจ ส.ว.จำนวนมากหนุนหลัง อีกด้านยังหวังพึ่ง พลังพิเศษ และส่งสัญญาณไปที่องค์กรอิสระต่างๆ รวมทั้งสถานการณ์ของ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ยังอยู่ในอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ กรณีถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่จากปมหุ้น ว่า ภท.จะไม่พลิกขั้วทางการเมืองไปฝ่ายตรงข้าม       

และพร้อมจะเป็นนั่งร้านให้  2 ป.ต่อไป โดยขึ้นอยู่กับทั้งคู่ว่าใครจะขึ้นเป็นนายกฯ โดยดูจาก ส.ส.พรรคไหนมากกว่ากัน ในช่วงเปลี่ยนผ่าน และเมื่อสถานการณ์เอื้ออำนวย เช่น หมดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ ในช่วงเดือน พ.ค. ปี 67 หรือ เกิดอุบัติเหตุทางการเมือง ก็อาจถึงคิว อนุทิน รับไม้ต่อหัวหน้าฝ่ายบริหาร ดูแล บิ๊กตู่ และ บิ๊กป้อม เมื่อลงจากอำนาจ ไม่ให้ถูกเสือแว้งกัด!. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชนักติดหลัง-หอกดาบ ที่ค้างอยู่ของ"ทักษิณ"

แน่นอนว่า ทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย ย่อมต้องถอนหายใจโล่งอก ที่ไม่ต้องตกอยู่ในสถานะ ผู้ถูกร้อง ที่ศาลรัฐธรรมนูญ หลังศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง-ไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัยในคดีที่ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือ "คดีล้มล้างการปกครอง" ที่ศาล รธน.มีมติยกคำร้องไปเมื่อ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา

'ชินวัตร' ตีปีกดันรัฐบาลครบเทอม วิบากกรรมไล่ล่า 'ชั้น14' หลอกหลอน

ดูจากมติเอกฉันท์ของศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49

แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?

ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่

'อนุทิน' เช็กสัญญาณ ครม.อิ๊งค์ ปมศาลรธน.นัดถกรับ-ไม่รับคำร้อง คดีทักษิณ-เพื่อไทย ล้มล้างการปกครอง

ที่ด่านพรมแดนบ้านผักกาด ตำบลคลองใหญ่ อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี นายอนุชิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย กล่าวถึงกรณี ที่ในวันพรุ่งนี้(22 พ.ย.) ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณารับคำร้อง

ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด

นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย

จับตาคลอดโผแต่งตั้ง“นายพลใหญ่” ตำรวจคนสนิทฝั่งรัฐบาลพรึบยกแผง

จับตาบ่ายวันนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายล็อตแรก “นายพลใหญ่” ระดับรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ-ผบช. ที่นายกฯ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2567 เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อ “พล.ต.อ.-พล.ต.ท.” วาระประจำปี 2567