คำพูดของ บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ระหว่างการมอบนโยบายการทำงาน แก่ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. และว่าที่ผู้สมัครสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ เขตบางพลัด เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมามีนัยสำคัญ
โดยเฉพาะการพูดต่อหน้า ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. และว่าที่ผู้สมัคร ส.ก. ถึงความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับ บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ
“ใครที่บอกว่าผมแตกแยกกับนายกฯ ไม่มีแน่นอน มีเพียงสิ่งเดียวที่ทำให้ผมกับนายกฯ แตกแยกกันได้คือ ความตาย 40 กว่าปีผมกับนายกฯ ดูแลกันมาตลอด ยืนยันเราเป็นหนึ่งเดียวไม่เคยแตกแยก นายกฯ มีหน้าที่บริหารประเทศ แต่ผมมีหน้าที่บริหารพรรค”
และระหว่างการมอบนโยบาย บิ๊กป้อม ย้ำเรื่องนี้หลายครั้ง
อย่างไรก็ตาม การพูดถึงความสัมพันธ์ของพี่น้อง 3 ป. ของ บิ๊กป้อม เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสข่าวมีการจัดตั้ง พรรคสำรอง ของ บิ๊กตู่ ตลอด 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น พรรคพลัง ที่มีตัวละครลับอย่าง บิ๊ก ณ โผล่ขึ้นมา หรือ พรรคไทยสร้างสรรค์ ที่มีรายงานว่า เป็นพรรคที่ เสี่ยตั้น-ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีต รมว.ศึกษาธิการ ให้คนไปจดจัดตั้งไว้สักพักใหญ่ๆ เพื่อสแตนบายด์เอาไว้
ทั้งนี้ บิ๊กป้อม เคยออกมาปฏิเสธข่าวเรื่องพรรคสำรองมาแล้วครั้งหนึ่ง “นายกฯ มีอยู่พรรคเดียว นายกฯ จะไปตั้งพรรคอะไร ไม่ไปไหน”
แต่ไม่ว่าอย่างไร ข่าวคราวเรื่องตั้งพรรคสำรองยังปรากฏออกมาเป็นระยะๆ จนถูกมองว่า ไม่มีมูลหมาไม่ขี้ และไม่มีไฟ ย่อมไม่มีควัน
นอกจากการพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่าง บิ๊กป้อม กับ บิ๊กตู่ ให้ลูกพรรคฟัง อีกประโยคที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ การบอกกับ ส.ส.ว่าอย่าย้ายไปไหน
“ฝากถึงสมาชิกพรรคอย่าไปไหน อยู่กับเรา เราจะทำให้พวกท่านอยู่ดีกินดี มีสภาพที่ดีขึ้น"
แม้ดูเป็นประโยคธรรมดา หากแต่เมื่อปะติดปะต่อกับข่าวคราวการตั้งพรรคสำรองของ บิ๊กตู่ มันยิ่งชวนคิด เพราะก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวเหมือนกันว่า หาก บิ๊กตู่ ออกไปตั้งพรรคใหม่ จะมี ส.ส.จำนวนหนึ่งที่อยู่คนละขั้วกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และเลขาธิการพรรค และ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรค ตามไปด้วย
ปัจจุบัน ส.ส.กทม.ไม่ได้มีความเป็นเอกเทศ กระจัดกระจายนับตั้งแต่ ณัฏฐพล และ พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อดีต รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หมดบทบาท หลายคนไปขึ้นตรงกับ ร.อ.ธรรมนัส และ นฤมล ที่มีอิทธิพลในพรรค เพราะกลัวว่าจะไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในครั้งหน้า ขณะที่หลายคนยืนเคียงข้าง บิ๊กตู่ แต่พยายามระมัดระวังตัว ไม่ให้ถูกมองว่าเป็นศัตรูกับคนที่มีบทบาทในพรรค เพื่อรักษาสถานะตัวเองไว้
โซน กทม.ของพรรคพลังประชารัฐ แม้ บิ๊กป้อม จะยืนยันว่าเป็นผู้ดูแลเอง โดยประสานกับ เสี่ยตู่-จักรพันธ์ พรนิมิตร ส.ส.กทม. แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าระยะหลัง คนที่นำทัพลงพื้นที่โดยมี ส.ส.เมืองหลวงยืนเคียงข้างคือ ร.อ.ธรรมนัส-นฤมล
บทบาทของสองคนที่มีสูงในพื้นที่ กทม. ทำให้หลายคนในพรรคไม่สบายใจ แต่ไม่กล้าที่จะแสดงออก เพราะรู้ว่าใกล้ชิดกับ บิ๊กป้อม ซึ่งคนที่ตึกไทยคู่ฟ้าก็รู้เรื่องนี้ดี
เมื่อเป็นเช่นนี้ มันจึงทำให้เรื่องการตั้งพรรคสำรองเพื่อเป็นฐานให้ บิ๊กตู่ ยังออกมาอยู่เป็นระยะๆ
ฉะนั้น การที่ บิ๊กป้อม ต้องย้ำเรื่องความสัมพันธ์กับ บิ๊กตู่ ในช่วงนี้ แท้จริงต้องการโชว์ความหวานชื่น แน่นปึ้ก หรือเพราะรู้ว่าความคิดเรื่องพรรคสำรองของน้องเลิฟมีอยู่จริง จึงต้องส่งสัญญาณออกมา
ย้อนกลับไปในช่วง บิ๊กป้อม ขุ่นเคือง บิ๊กตู่ จากกรณีปลด ร.อ.ธรรมนัส และ นฤมล ออกจากรัฐมนตรี คนที่พูดเรื่องความสัมพันธ์ของพี่น้อง 3 ป. และพยายามสื่อให้ทุกคนรู้ว่ายังรักกันดีเพื่อสยบข่าวร้าวคือ บิ๊กตู่
ครั้งนั้น บิ๊กตู่ ต้องพูด เพราะเป็นฝ่ายหักหาญน้ำใจพี่ และพยายามงอนง้อ ในขณะที่รอบนี้เป็น บิ๊กป้อม ที่พูด แม้ไม่ใช่การงอนง้อเหมือนกัน หากแต่กำลังส่งสัญญาณออกไปถึงคนที่กำลังคิดจะออกไปตั้งพรรคหรือแยกตัวออกไปหรือไม่
เป็นการสร้างความชัดเจนว่า ไม่ว่าอย่างไรการเลือกตั้งครั้งหน้า บิ๊กตู่ กับพรรคพลังประชารัฐภายใต้การนำของ บิ๊กป้อม จะยังเดินไปด้วยกัน
และแม้ บิ๊กป้อม จะยังเก็บ ร.อ.ธรรมนัส ไว้ แต่ระยะหลังก็ยอม บิ๊กตู่ มากขึ้น โดยเฉพาะการไฟเขียวให้นำพิมพ์เขียวการปรับโครงสร้างพรรคของ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่เกลี่ยอำนาจจากเลขาธิการพรรค ไปให้รองหัวหน้าพรรคแต่ละภาคแทน เพื่อไม่ให้ผูกขาด
เป็นการยอมให้น้องมีบทบาท
เพราะในทางปฏิบัติ บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม ไม่สามารถแยกกันในสนามเลือกตั้งได้ เพราะต้องไม่ลืมว่า แม้ บิ๊กตู่ จะไม่ได้ใกล้ชิด ส.ส.เท่ากับ บิ๊กป้อม แต่หากต้องการชนะในพื้นที่ กทม. และภาคใต้ พรรคพลังประชารัฐก็ขาด บิ๊กตู่ ไม่ได้เหมือนกัน
บิ๊กตู่ อาจยึดพรรคไม่ได้ แต่ บิ๊กป้อม ก็ต้องตามใจในบางเรื่องเหมือนกัน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ชนักติดหลัง-หอกดาบ ที่ค้างอยู่ของ"ทักษิณ"
แน่นอนว่า ทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย ย่อมต้องถอนหายใจโล่งอก ที่ไม่ต้องตกอยู่ในสถานะ ผู้ถูกร้อง ที่ศาลรัฐธรรมนูญ หลังศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง-ไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัยในคดีที่ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือ "คดีล้มล้างการปกครอง" ที่ศาล รธน.มีมติยกคำร้องไปเมื่อ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา
'ชินวัตร' ตีปีกดันรัฐบาลครบเทอม วิบากกรรมไล่ล่า 'ชั้น14' หลอกหลอน
ดูจากมติเอกฉันท์ของศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49
แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?
ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่
ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด
นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย
จับตาคลอดโผแต่งตั้ง“นายพลใหญ่” ตำรวจคนสนิทฝั่งรัฐบาลพรึบยกแผง
จับตาบ่ายวันนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายล็อตแรก “นายพลใหญ่” ระดับรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ-ผบช. ที่นายกฯ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2567 เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อ “พล.ต.อ.-พล.ต.ท.” วาระประจำปี 2567
ยากจะขวาง‘โต้ง’นั่งปธ.บอร์ดธปท. แนวต้านขอสกัดจนนาทีสุดท้าย!
แม้จะมีข่าวว่า กรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติเลือก เสี่ยโต้ง-นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ให้เป็นประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่