4 ปี 'จุติ ไกรฤกษ์' พัฒนาสังคม ดูแลครบวงจร เพื่อชีวิตมั่นคง

ยอมรับว่าปัจจุบันคนไทยต้องเผชิญกับปัญหาสังคม ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ไม่เจอกับตัวก็ได้เห็นหรือได้ยินเรื่องเล่าของเพื่อนร่วมประเทศ หลายกรณีน่าเศร้าใจ น่าเห็นใจ หนึ่งหน่วยงานรัฐที่สำคัญมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบ คือ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในยุคที่มี “จุติ ไกรฤกษ์” เป็นเจ้ากระทรวง มีคติประจำใจในการทำงานว่า “จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

ใกล้ครบวาระรัฐบาลบริหารราชการ 4 ปี “จุติ” เจียดเวลาเล่าถึงผลงานที่ทำมา สัมผัสได้ว่า “รมต.จุติ” ตั้งใจแก้ไขปัญหาและดูแลชีวิตประชาชนอย่างครบวงจร เริ่มตั้งแต่หนึ่งในปัจจัยสี่ที่จำเป็น คือ ที่อยู่อาศัย

“จุติ” เล่าว่า ตั้งแต่ที่เชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาด บอกกับการเคหะแห่งชาติ การให้เช่าที่อยู่อาศัยต้อง เปลี่ยนจากการทำงานเชิงพาณิชย์ มาเป็นกำไรสังคม ไม่ใช่กำไรพาณิชย์อีกแล้ว บ้านอาคารที่มีอยู่ขอให้ปรับเป็นอาคารเช่าราคาถูกให้หมด เพราะว่าผู้มีรายได้น้อยจะมีความสามารถน้อยในการหาเงินก้อนไปดาวน์แล้วผ่อนเป็นรายเดือน เพราะเขาได้รับผลกระทบจากโควิด รวมทั้งยังมีโครงการเช่าบ้าน 999 บาทต่อเดือน ซึ่งขณะนี้ดำเนินการแล้ว 16,339 ครัวเรือน เพราะเล็งเห็นว่าคนที่มีแรงงานได้วันละ 350 บาท สามารถเสียค่าเช่าได้วันละ 30 บาท มีเงินเหลือทานอาหาร แล้วก็ส่งลูกเรียนได้ ก็เอาตรงนั้นเป็นเกณฑ์ ให้การเคหะหา บ้านที่จะขาย บ้านที่จะให้เช่า มาเพิ่มอีก ขณะนี้มีเพิ่มประมาณ 18,000 ยูนิต และยัง บ้านพอเพียง 79,447 ครัวเรือน คือผู้มีรายได้น้อยรวมตัวกัน มีการออมเงินรวมกันแล้วปล่อยกู้ โดยกำหนดระยะเวลากู้ 30-40 ปี เพื่อที่ผู้กู้จะได้ผ่อนต่อเดือนจำนวนน้อย ฉะนั้นคนที่อยู่ตามชายขอบ คนที่อยู่ในเมืองก็สามารถที่จะมีบ้านต่างๆ เหล่านี้ได้ 

4 ปีที่ดำเนินการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย 118,690 ครอบครัว ปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัยให้ผู้สูงอายุ 16,094 ครัวเรือน ปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้คนพิการ 14,676 ครัวเรือน ทั้งห้องน้ำ หลังคา ดูแลครบ

“จุติ” ยังกล่าวถึงสถิติเรื่องการศึกษาที่น่าเป็นห่วง ซึ่งสุดท้ายจะกลายเป็นปัญหาความมั่นคงในชีวิตว่า เด็กที่เข้าประถมศึกษาปีที่ 1 จบมัธยมศึกษาปีที่ 6 พร้อมกัน 100 คน จบเพียง 50 คน แล้ว 48 คน ใน 50 คน ไม่มีเงินเรียนหนังสือ ประกอบกับกรณีเด็กแต่งงานเร็วและก็แยกทางกัน กลายเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ซึ่งส่วนใหญ่จะจบการศึกษาน้อย ไม่ได้จบปริญญา ฉะนั้น ทาง พม. จึงเปิดอบรมหลักสูตรอาชีพที่ทำได้เร็ว เช่น โครงการช่างผมอุ่นใจ 1,000 ร้าน เชิญสมศักดิ์ ชลาชล ช่างผมชื่อดังมาสอน โครงการสร้างเชฟไทย อาหารไทย บาย พม. ซึ่งมีผู้เข้าร่วมขณะนี้ 2,881 คน เราเชิญเชฟชุมพล แจ้งไพร เชฟคนไทยที่ดังระดับโลกมาสอน อีกทั้งยังมีอบรม ช่างแต่งหน้า ช่างเพนต์เล็บ ด้วย 

นอกจากนี้ยังมีอบรมหลักสูตรดูแลผู้สูงอายุ ควบคู่กับการเรียนภาษาไปด้วย อบรม 18 ชั่วโมง 70 ชั่วโมง และ 420 ชั่วโมง ในอดีตเรามีปัญหามาก ว่าคนไทยไปทำงานต่างประเทศ แต่ไม่มีประกาศนียบัตรว่าเป็นผู้ช่วยพยาบาลหรือดูแลผู้สูงอายุ ทาง พม.จึงจัดให้ทุกคนมีความพร้อมทั้งความสามารถดูแลผู้สูงอายุและภาษา แล้ววันนี้จะมีใหม่ คือ ผู้ดูแลเด็ก ซึ่งวันนี้มีเยาวชนที่เป็นเด็กกำพร้าใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 30,000 คน ทำอย่างไรให้เขาเป็นคนที่มีจิตใจเข้มแข็งและมีทักษะที่เหมาะสมกับงานที่จะทำ ก็พยายามทำในสิ่งต่างๆ เหล่านี้ วันข้างหน้าคุณมีลูก คนเลี้ยงลูกคุณจะพูดภาษาอังกฤษได้ นี่คือสิ่งที่ทำเลย ขอยืมคำของนายกรัฐมนตรี ทำแล้ว ทำอยู่ แล้วก็จะทำต่อไป เมื่อจบหลักสูตรแล้วทุกคนมีงานทำ มีรายได้เพิ่มขึ้น 

กรณี น.ส.นิ่ม (นามสมมติ) อายุ 17 ปี มารดาที่พลั้งมือทำร้ายลูกชาย ด.ช.ต่อ (นามสมมติ) วัย 8 เดือน จนเสียชีวิต ก็เป็นอีกกรณีศึกษาและต้องแก้ปัญหาเร่งด่วน สิ่งที่ทำคือวันที่ 24 มีนาคม 2564 นายกรัฐมนตรีทราบปัญหานี้ดี ท่านเป็นประธานให้กระทรวง 20 กระทรวงเซ็น MOU บูรณาการการทำงาน กรณีของน้องนิ่มพยายามทำมาแล้วประมาณ 2 ปี โรงเรียนต้องปลอดภัยให้ความรู้ในการดูแลระหว่างการตั้งครรภ์ในวัยเรียน เรื่องยาเสพติด เรื่องสร้างทักษะ

“กระทรวง พม.อาจจะต่างกับกระทรวงศึกษาธิการว่า กระทรวงศึกษาสอนเด็กมีเด็กที่ชนะเลิศไปเอาเหรียญทองโอลิมปิก แต่เราเอาเด็กหลังห้อง พาเด็กหลังห้องและเด็กที่ไม่ได้เรียนหนังสือจะได้มีโอกาสในการหาอาชีพเขาได้ ซึ่งการหาอาชีพก็ไปผูกกับกรมอาชีวศึกษา มีสารพัดช่างเยอะแยะไปหมด รวมถึงวิทยาลัยสารพัดช่างว่าคนเหล่านี้จะไม่มีเวลาไปเรียนหนังสือ 4 ปี แต่ว่าสามารถเรียน 3-6 เดือนและจบมีงานทำเลย”

ขณะเดียวกัน พม.ดูแลพ่อแม่ที่ไม่ค่อยมีเวลาดูแลลูก เพราะว่าไปหาเงินหาอาชีพ จึงสอนวิธีการเป็นผู้ปกครองไหม กลายเป็นมีมิติใหม่ ได้กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขมาช่วยอีกแรง เพราะสังคมกำลังป่วยจากโรคเครียด และในวันนี้เราก็พยายามที่จะทำตรงนี้ให้ดีขึ้น กลายเป็นโครงการ ครูแนะแนว ครูสู่โค้ช โดยปัจจุบันกำลังขยายฐานอบรมครูต้นแบบให้มากที่สุด สอนให้เป็นผู้บริหารเคส เมเนเจอร์ ครูจะดูนักเรียน ไม่ใช่แค่ว่านักเรียนเรียนดีหรือเรียนไม่ดี ครูควรจะต้องไปถึงบ้านและประเมินบ้านเช่น เมื่อวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา เขตทวีวัฒนาก็จะไปทดสอบระบบครั้งแรกของเรา เด็กที่เรียนอยู่อายุ 16 ปี บ้านโทรมมากและห้องน้ำไม่มี ต้องไปอาศัยห้องน้ำข้างบ้าน พม.ไปทำห้องน้ำให้และกั้นห้องให้ แต่ไม่ให้ฟรี ครู ชุมชน สมาคมผู้ปกครอง พม. อาสาสมัครช่าง ไปทำด้วยกัน ฉะนั้นเด็กคนนี้ก็จะมีบ้านที่มีห้องน้ำและมีห้องเป็นการส่วนตัว มีความปลอดภัย นอกจากนี้ นักเรียนคนนี้เป็นต้นแบบดูแลเรื่องความปลอดภัยในโรงเรียน ดูแลเรื่องของการป้องกันระวังตัวไม่ให้ตั้งครรภ์ในระหว่างที่เรียนหนังสือ ป้องกันยาเสพติด

เท่านั้นไม่พอ เราได้นำเทคโนโลยีมาใช้จัดทำระบบแอปพลิเคชันแจ้งเหตุความรุนแรงในครอบครัวด้วย โดยทดสอบไปแล้ว 9 เดือน ใน 9 จังหวัดของภาคเหนือ ประสบความสำเร็จ และได้ขอนายกรัฐมนตรีว่าช่วยให้ทางตำรวจมีขั้นตอนการปฏิบัติงานที่รวดเร็ว หลังได้รับแจ้งเหตุความรุนแรงในครอบครัว ล่าสุดมีเพื่อนบ้านเห็นเหตุว่าพ่อกำลังคลุ้มคลั่งตีลูก ตำรวจก็ไปถึงภายใน 20 นาที ปรากฏว่าพ่ออัพยา และตีลูก ซึ่งลูกก็ไม่ได้ตีลูกตัวเอง ตีลูกติดแม่ ตรงนี้จะเป็นเครื่องมือป้องกัน ระงับเหตุความรุนแรงทางครอบครัวเบื้องต้น ซึ่งใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย

“รมว.พม.” เล่าถึงเหตุการณ์กราดยิงครั้งใหญ่ที่จังหวัดหนองบัวลำภู เหมือนฝันดีในฝันร้าย มีเด็ก ผู้ใหญ่เสียชีวิต 38 ราย ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระเมตตาห่วงใย โดยให้นายกฯ รับพระบรมราชโองการ ไปสร้างขวัญกำลังใจแก่ประชาชนกลับคืนมา กระทรวง พม.ไปตั้งแต่วันแรกที่เกิดเหตุ ไปอยู่ที่นั่นทำงานกับทุกกระทรวง 100 วัน สร้างขวัญกำลังใจ แก้ไขเยียวยา และตั้งหลักให้กับชุมชนใหม่ 

เริ่มต้นทำบายศรีสู่ขวัญ เรียกขวัญกลับคืนมา ส่งเจ้าหน้าที่ที่เป็นนักสังคมสงเคราะห์ที่รู้เรื่องจิตวิทยา ประจำทุกครอบครัว 40 ครอบครัว ประจำอยู่เลยจนครบ 100 วัน ฟังความเครียดความต้องการของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ นำความเครียดความต้องการของเขามาปรับ อยากมีอาชีพ อยากทำอะไร เช่น ภรรยาเสียชีวิตเพราะเป็นครู สามีอยากจะเป็นครู ก็พยายามหาให้ได้เป็นครูให้ได้

เด็กที่ศูนย์เด็กเล็กก็ไม่มีใครกล้าไป เพราะกลัวผีหลอก ก็ไปหาสถานที่ใหม่ให้ นำโรงเรียนร้างที่มีอยู่แล้วไปออกแบบใหม่ ให้การเคหะแห่งชาติจัดการ นำเงินจากภาคเอกชนไปช่วย แล้วก็ทำขึ้นมาใหม่ แล้วก็เอาระบบมอนเตสซอรี่มีฝรั่งดูแลไปสอน จากที่เขาท้อแท้เห็นโรงเรียน กลายเป็นเด็กๆ ไปเรียนมากกว่าเดิม ทั้งยังจัดแข่งกีฬาด้วย

อีกกรณีหนึ่ง แม่สูญเสียลูกชายที่เป็นเสาหลัก เพราะวิ่งไปห้ามคนยิง ลูกชายคนนี้ที่เกี่ยวหญ้าไปเลี้ยงควาย มีควายอยู่ 5 ตัว แม่ก็เครียด เครียดว่าทำอย่างไร ไม่มีแรงไปเกี่ยวข้าว เลี้ยงควาย หนี้ก็มี ลูกชายก็ตาย จะอยู่กินอย่างไร พม.ก็ไปหาทางแก้ไขปัญหา โพสต์ออนไลน์ขายควาย 5 ตัว ได้หลายแสน เขาก็เอาเงินนี้ไปใช้หนี้ 200,000 บาท เหลือเงิน 300,000 บาท โดย 100,000 บาท เอาไปช่วยกลุ่มคนที่ประสบเหตุ และอีก 200,000 บาท เก็บไว้กิน เป็นคุณยายที่น่านับถือมาก จิตใจดี และทำให้เห็นว่าแม้กระทั่งควายที่ขายไม่ได้ เราก็จะช่วยถึงขนาดนั้น ถึงบอกว่าเป็นโมเดล เป็นตำนานของ พม. ที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เราไม่มองข้ามอะไรสักอย่างหนึ่ง 

นี่คือส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นในยุค “จุติ” เป็น รมว.พม. เขากล่าวอีกว่า ทุกทีที่ผ่านมาเราช่วยกันแบบเป็นประจำตามความเคยชิน แต่สำหรับตนจะขอทำเป็นระบบ วันนี้ครอบครัวแต่ละครอบครัว จึงมีระบบ “สมุดพกครอบครัวอิเล็กทรอนิกส์” ตอนนี้บันทึกข้อมูลในระบบ 431,561 ครัวเรือน ถ้ามีปัญหาใส่ไว้ในระบบ จะมีบันทึกหมดเลย สามีภรรยามีลูกกี่คน ลูกติดกี่คน ทำงานที่ไหน เรียนหนังสืออะไร อาชีพอะไร ทักษะอะไร และปัญหาของครอบครัวของเขาคืออะไร เข้าไม่ถึงสวัสดิการของรัฐไหม แก้ไขให้ได้หรือไม่ หรือการศึกษาปัญหาคนพิการในบ้าน ปัญหาสาธารณสุข ปัญหาไม่สามารถแก้ไขได้ในช่วงค่ำคืน แต่จากนี้ไป 1 ปี 3 ปี 5 ปี ต้องเห็นความคืบหน้าเป็นขั้นบันได ซึ่งเรากำลังทำแบบนี้ทั้งหมดและเป็นสิ่งที่วางไว้ เมื่อข้าราชการที่ดูแลเรื่องนี้ย้าย เกษียณ ไปสู่ตำแหน่งที่สูงกว่า ข้าราชการที่เข้ามาจะได้ไม่ต้องมาเริ่มที่ศูนย์ เข้ามาก็อยู่ในระบบที่มีอยู่แล้ว

“จุติ ไกรฤกษ์” รมว.พม. ระบุทิ้งท้ายว่า ถ้าต้องพ้นจากตำแหน่งนี้แล้วมีคนใหม่เข้ามารับแทน อยากขอให้ทำต่อในสิ่งที่ผมทำมา เพราะเหมือนกับเริ่มเห็นโผล่น้ำแล้ว ทำอย่างไรจะให้โผล่ทั้งภูเขา ผมก็ไม่ได้คาดหวังว่าภายใน 3-5 ปี แต่ว่าระบบทำไปแล้ว จากนั้นก็ตรวจสอบ ประเมิน ปรับทิศทาง เชื่อมั่นว่าอย่างน้อยที่สุดจำนวนคนที่ลำบากจะน้อยลง อย่างน้อยเราสามารถช่วยให้พวกเขาก้าวพ้นความยากจนข้ามรุ่นให้ได้ พ่อแม่จนแล้ว ลูกต้องไม่จน พ่อแม่ลำบากแล้ว ลูกต้องดีขึ้นกว่าเดิม ถ้าเราทำอย่างนี้ดีขึ้นได้ก็เป็นบันไดขั้นหนึ่งว่ารายใหม่ไม่มี ก็จัดการกับรายเก่าให้จบ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?

ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่

ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด

นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย

จับตาคลอดโผแต่งตั้ง“นายพลใหญ่” ตำรวจคนสนิทฝั่งรัฐบาลพรึบยกแผง

จับตาบ่ายวันนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายล็อตแรก “นายพลใหญ่” ระดับรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ-ผบช. ที่นายกฯ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2567 เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อ “พล.ต.อ.-พล.ต.ท.” วาระประจำปี 2567

ยากจะขวาง‘โต้ง’นั่งปธ.บอร์ดธปท. แนวต้านขอสกัดจนนาทีสุดท้าย!

แม้จะมีข่าวว่า กรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติเลือก เสี่ยโต้ง-นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ให้เป็นประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่

โค้งสุดท้ายศึกนายกอบจ.อุดรฯ เดิมพันสูง พท.VSปชน.แพ้ไม่ได้

นับจากวันจันทร์ที่ 18 พ.ย.ก็เหลืออีกเพียง 7 วันเท่านั้น ก็จะถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ศึกนายกฯ อบจ.อุดรธานี ทำให้ตอนนี้ถือว่าเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายที่จะได้รู้กันแล้วว่า

‘แม้ว’ ย่ามใจไม่เลี้ยงหลาน ทำตัวเป็น ‘ส่วนหนึ่งของปัญหา’

แม้แต่ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" ประธานคณะก้าวหน้า และอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ยังตั้งคำถามต่อ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี