พ.ร.ก.ป้องกันอุ้มหาย-ซ้อมทรมาน ลุ้นฝ่าด่านหิน สภาฯ-ศาลรธน.

เดิมทีคาดหมายกันว่า การประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดสุดท้ายของสภาฯ ชุดปัจจุบัน คือการประชุมสภาฯ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 ก.พ.ที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่าหลังรัฐบาลเร่งส่ง พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 พ.ศ.2566 หรือที่เรียกกัน

 “กฎหมายป้องกันการซ้อมทรมานและอุ้มหาย”

 ที่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีไปเมื่อ 14 ก.พ.2566 และส่งให้สภาฯ พิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ทำให้ ชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ได้นัดประชุมสภาฯ นัดพิเศษ วันอังคารนี้ 28 กุมภาพันธ์

อันเป็นการประชุมสภาฯ ในช่วงที่สภาฯ ประชุมล่มติดต่อกันทุกสัปดาห์ และ ส.ส.ก็ทยอยลาออกต่อเนื่อง โดยเฉพาะ ส.ส.จากฝั่งพรรคร่วมรัฐบาล และบางคนแม้ยังไม่ลาออก แต่ก็เน้นหนักการลงพื้นที่เพื่อหาเสียงเลือกตั้ง จึงทำให้ไม่มีสมาธิในการจะมาร่วมประชุม

ทำให้น่าจับตาว่าการประชุมสภาฯ วันอังคารนี้ จะมีสภาพอย่างไร เพราะการเสนอพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายฯ ดังกล่าว ถือเป็นกฎหมายสำคัญของรัฐบาล ที่ก่อนหน้านี้แวดวงการเมืองก็ไม่มีใครคาดคิดว่าจะมีการเสนอออกมาในช่วงเส้นตายก่อนการบังคับใช้กฎหมาย

โดยที่มาที่ไปในการออก พ.ร.ก.ดังกล่าว พบว่าเกิดจากในส่วนของงานภาคปฏิบัติของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในเรื่องกระบวนการสืบสวนสอบสวน ที่จะต้องเริ่มปฏิบัติตามกฎหมายตั้งแต่ 22 ก.พ. แต่ ครม.ได้รับลูกสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่แจ้งว่า ไม่สามารถปฏิบัติตามกฎหมายได้ทัน เพราะติดขัดเรื่องงบประมาณและความพร้อมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยเฉพาะอุปกรณ์ในการบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะจับและควบคุมผู้ต้องหา ที่ต้องส่งตัวให้พนักงานสอบสวนหรือปล่อยตัวบุคคลดังกล่าว

ผนวกกับการอ้างถึง การจัดทำระบบจัดเก็บข้อมูล หน่วยความจำระบบคลาวด์ (Cloud) ที่ต้องดำเนินการจัดซื้อด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-bidding ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา เพราะงบประมาณในส่วนนี้ ไม่ได้อยู่ในแผนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 จึงต้องตั้งคำของบประมาณอย่างเร็วที่สุดคือ งบประมาณปี พ.ศ.2567

รวมถึงการอ้างเหตุผลเรื่อง  ต้องเตรียมความพร้อมของบุคลากร ที่ต้องฝึกอบรมบุคลากรให้ใช้งานอุปกรณ์บันทึกภาพและเสียง ซึ่งมีหลากหลายยี่ห้อและวิธีการใช้งานแตกต่างกัน

ทั้งหมดคือเหตุผลและความจำเป็นที่หน่วยปฏิบัติ โดยเฉพาะสำนักงานตำรวจแห่งชาติแจ้งต่อฝ่ายบริหาร ที่มีการพูดคุยกันหลายครั้ง โดยเฉพาะ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ที่ต้องไปชี้แจงเรื่องดังกล่าวต่อ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ มือกฎหมายรัฐบาลที่ห้องทำงานที่ทำเนียบรัฐบาลหลายครั้ง 

จนสุดท้ายเพื่อป้องกันปัญหาในการปฏิบัติงานของตำรวจ เลยมีการเสนอให้รัฐบาลใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ ออกพระราชกำหนดเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายป้องกันการอุ้มหายฯ ใน 4 มาตรา ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของตำรวจ ออกไปร่วม 9 เดือน คือจากเดิมต้องเริ่มปฏิบัติตามกฎหมาย 22 ก.พ. ก็ให้เริ่มใช้บังคับ มาตรา 22-25 ออกไปเป็น 1 ต.ค.2566 แทน ส่วนมาตราอื่นให้บังคับใช้ได้ตามปกติ

อย่างไรก็ตาม มีการชี้ประเด็นไว้ว่า เหตุผลและความจำเป็นในการออกพระราชกำหนดดังกล่าว เข้าข่ายความจำเป็นเร่งด่วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 หรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าวบัญญัติไว้ว่า

“ในกรณีเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัย สาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ พระมหากษัตริย์จะทรงตราพระราชกําหนดให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติก็ได้

การตราพระราชกําหนดตามวรรคหนึ่ง ให้กระทําได้เฉพาะเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจําเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้”

โดยฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการออก พ.ร.ก.ดังกล่าว ให้เหตุผลไว้ว่า พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย มีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 25 ต.ค.2565 แต่ในตัวกฎหมายเขียนไว้ว่า ให้มีผลบังคับใช้ออกไปอีกร่วม 4 เดือน เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด ไปเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติตามกฎหมาย ที่ระยะเวลาร่วม 4 เดือนดังกล่าว น่าจะเพียงพอในการดำเนินการเตรียมพร้อม เพราะไม่ใช่ว่า กฎหมายประกาศแล้ว มีผลบังคับใช้ทันที จึงมองว่าที่ผ่านมาทำไมสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่รีบดำเนินการเตรียมพร้อมให้ทัน ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการออก พ.ร.ก.ดังกล่าวจึงแย้งว่า การออก พ.ร.ก.ดังกล่าวไม่เข้าข่ายที่จะออกเป็น พ.ร.ก.ได้

ดังนั้นเส้นทางของพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันการอุ้มหายและซ้อมทรมานฯ จึงยังต้องติดตามต่อจากนี้ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป

เริ่มที่การประชุมสภาฯ วันอังคารที่ 28 ก.พ.นี้ ต้องดูว่า สภาฯ จะสามารถเปิดประชุมเพื่อพิจารณา พ.ร.ก.ดังกล่าวได้หรือไม่ แต่คาดว่าวิปรัฐบาลคงกำชับ ส.ส.รัฐบาลให้เข้าร่วมประชุม เพราะเป็นกฎหมายของรัฐบาล และต้องดูว่า เมื่อเปิดประชุมสภาฯ โดยมี ส.ส.อภิปรายทั้งสนับสนุน-คัดค้านการออก พ.ร.ก.ฉบับนี้แล้ว จนถึงขั้นตอนต้องลงมติว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ พ.ร.ก.ดังกล่าว ต้องดูว่าเสียงส่วนใหญ่ของสภาฯ จะลงมติเห็นชอบหรือไม่

หลังมีข่าวว่า ส.ส.รัฐบาลบางส่วนก็ไม่เห็นด้วยกับการออก พ.ร.ก.ดังกล่าว โดยเฉพาะ ส.ส.ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะที่ผ่านมาปัญหาการอุ้มหาย-ซ้อมทรมาน ที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ค่อนข้างมีปัญหาเยอะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่สนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ จนมีผลทางการเมืองในพื้นที่พอสมควร 

โดยหากสุดท้าย ถ้าผลการลงมติ สภาฯ ไม่เห็นชอบหรือลงมติคว่ำ พ.ร.ก.ดังกล่าว ก็คาดว่าจะมีผลทางการเมืองตามมากับฝ่ายรัฐบาลระดับหนึ่ง โดยเฉพาะการสร้างกระแสให้รัฐบาลลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง แต่ในส่วนของการยุบสภาฯ เป็นไปได้ว่า นายกฯ คงจะบอกว่าไม่สามารถยุบสภาฯ ได้ เพราะต้องรอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง ประกาศแบ่งเขตเลือกตั้ง 400 เขตทั่วประเทศออกมาก่อน เพราะหากยุบสภาฯ ทันที วันที่ 28 ก.พ. ถ้า พ.ร.ก.โดนคว่ำ จะเกิดปัญหาในการจัดการเลือกตั้งได้ ที่ฝ่ายรัฐบาลก็จะบอกว่า ยังไงก็จะยุบสภาฯ กลางเดือนมีนาคมอยู่แล้ว ก็ให้รออีกสักระยะ

ขณะเดียวกัน เส้นทาง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันการซ้อมทรมานและอุ้มหายฯ ก็ยังเสี่ยงจะเจอด่าน ศาลรัฐธรรมนูญ อีก เพราะอาจมีบางฝ่ายยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการออก พ.ร.ก.ดังกล่าว ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 ซึ่งหากศาล รธน.วินิจฉัยว่า การออก พ.ร.ก.ดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญ ก็จะมีผลทางการเมืองกับรัฐบาลบิ๊กตู่แน่นอน แม้ประเมินดูแล้ว หากมีการยื่นศาล รธน. กว่าที่ศาล รธน.จะตัดสินเสร็จ ก็คงเกิดขึ้นหลังมีการยุบสภาฯ ไปแล้ว

โดยท่าทีจากฝ่ายการเมืองก่อนการประชุมสภาฯ วันอังคารนี้ ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย-ผู้นำฝ่ายค้าน ระบุว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านมีมติไม่อนุมัติ พ.ร.ก.ดังกล่าว เพราะไม่ชอบด้วยบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ แต่หาก พ.ร.ก.ผ่านสภาฯ ได้ พรรคร่วมฝ่ายค้านก็จะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ

เส้นทาง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายป้องกันการซ้อมทรมานและอุ้มหายฯ ที่เป็นกฎหมายสำคัญฉบับสุดท้ายของรัฐบาลที่ส่งเข้าสภาฯ ชุดปัจจุบันก่อนครบวาระ จะเป็นอย่างไรหลังจากนี้ ดูกันไปทีละ Episode ทางการเมือง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยังไม่จบ ศึกชิงอำนาจสภาสูง แผนสองกินรวบ ปธ.กมธ.ทุกชุด!

วันอังคารนี้ 23 ก.ค. คาดว่าคงไม่เกินช่วงเที่ยงๆ ก็จะได้รู้กันแล้วว่า ผลการโหวตของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เพื่อเลือก ประมุขสภาสูง-ประธานวุฒิสภา และ รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง-รองประธานวุฒิสภาคนที่สอง รวมสามเก้าอี้ใหญ่สภาสูงจะออกมาอย่างไร

ตั้งกลุ่มสว.สีเขียว-ปิดดีล'อยู่บำรุง' 'บ้านป่าฯ'ยังมีของไม่วางมือ

การขยับทางการเมืองของ บ้านป่ารอยต่อฯ ภายใต้การนำของพี่ใหญ่ตระกูล วงษ์สุวรรณ บิ๊กป้อม-พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ในช่วงนี้น่าสนใจไม่น้อย ทั้งกระแสข่าวดึงสมาชิกวุฒิสภา (สว.)

พรรคร่วมรัฐบาลขอเขย่า ไม่ตกเป็น'หมูในอวย'พท.

แม้ว่าพรรคร่วมรัฐบาล นำโดยพรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ ฯลฯ จะยอมผ่านเรือธงของพรรคเพื่อไทย โครงการดิจิทัลวอลเล็ต แจกเงิน 1 หมื่นบาทให้แก่ประชาชนจำนวน 50 ล้านคน

แจกเงินดิจิทัล1หมื่นบาท ปิดปาก 'ปุ๋ย คนละครึ่ง'?

รัฐบาลเพื่อไทยนำโดย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ผนึกกำลัง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ

ปริศนา'เรือดำน้ำ' เปิด5ประเด็นสะดุด'ตอ'

ทริปเร่งด่วน ที่ “สุทิน คลังแสง” รมว.กลาโหม นำทีม พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) และ จักรพงษ์ แสงมณี รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นสายตรงของ “นายกฯ" และ “ชินวัตร” บินไปจีนเมื่อช่วงวันที่ 24-25 มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องเครื่องยนต์เรือดำน้ำ S26T ที่ ทร.ไทยจ้างบริษัทของจีนสร้างไม่เป็นไปตามสัญญา

‘สภาสูง’ในเงื้อมมือค่ายน้ำเงิน ส่องภารกิจเลือก‘องค์กรอิสระ’

ภารกิจ 200 สว. แสดงตนต่อสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มารายงานตัวครบจบไม่ขาดไม่เกิน แต่สวนทางกับความอลหม่านที่กลุ่มต่างๆ ภายในสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ด้วยกันเอง