“ทุกคนต้องสงวนจุดยืนทางการเมืองเอาไว้ทั้งหมด บนสถานการณ์ที่ไม่สามารถชิงฟันธงได้ นั่นเพราะวันนี้มันรีบด่วนสรุปไม่ได้ว่าใครจะได้เป็นรัฐบาล ต่อให้จบการเลือกตั้งจะได้ ส.ส.มากที่สุดก็ตาม เพราะยังไม่รู้ว่าระหว่างทางก่อนหย่อนหีบบัตรเลือกตั้ง หรือหลังรู้ผลเลือกตั้ง จะมีอะไรเกิดขึ้น”
ช่วงที่ผ่านมาเหมือนลิเกออกแขก นาทีนี้ได้เวลาปี่พาทย์บรรเลงแล้ว หลัง "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม คอนเฟิร์มยุบสภาแน่นอน เดินตามไทม์ไลน์คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
ยุบสภาเดือนมีนาคม จัดเลือกตั้งเดือนพฤษภาคม ไม่ผิดจากนี้ อยู่แค่ว่า "บิ๊กตู่" ดูฤกษ์แล้วช่วงไหนเหมาะแก่การกดปุ่มยุบสภาเท่านั้น
หลายกระแสคาดการณ์ "บิ๊กตู่" เป็นสายมูตัวยง มีความเชื่อเรื่องฤกษ์พานาที เลยเดาทางกันว่าปีนี้วันธงชัยคือวันพุธ นายกรัฐมนตรีน่าจะยุบสภาในวันพุธสักวันของเดือนมีนาคม มีทั้งวันที่ 15 มีนาคม และ 22 มีนาคม ก่อนจะครบเทอม 1 วัน หรือจะเน้นเลขสวย วันที่ 21 มีนาคม ซึ่งเป็นวันเกิดของ "บิ๊กตู่" เอาเคล็ด
แต่ไม่ว่าจะยุบสภาวันไหน ถึงตรงนี้คงไม่สำคัญแล้ว เพราะเหลืออีกแค่ไม่ถึงเดือน "รัฐบาลบิ๊กตู่" จะเหลือแค่สถานะรักษาการ และมีการเลือกตั้ง
เรื่องการเป็นสมาชิกพรรคภายใน 30 วันหากมีการยุบสภา หรือต้องเป็นสมาชิกพรรค 90 วัน กรณี "บิ๊กตู่" กลับลำอยู่ครบเทอมเต็มยันวันที่ 23 มีนาคม ไม่ได้เป็นเงื่อนไขสำคัญอะไรอีกแล้ว เพราะทุกพรรคการเมืองได้มีการเตรียมพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์มาล่วงหน้า
ส.ส.หลายคนทยอยลาออกเพื่อมาสมัครเข้าสมาชิกพรรคใหม่ ไม่มีอะไรให้ต้องพะวงหน้าพะวงหลัง ใช้ประโยชน์จากสถานะผู้แทนหลังประชุมสภาครั้งสุดท้ายไปแล้วเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์
เวลานี้ทุกพรรคการเมืองพร้อมแทบจะร้อยเปอร์เซ็นต์สำหรับการเลือกตั้ง โดยเฉพาะพรรครวมไทยสร้างชาติ นั่งร้านของ "บิ๊กตู่" ที่สามารถส่ง ส.ส.ได้ครบทั้ง 77 จังหวัดเป็นพรรคแรก ตามข้อมูลของ กกต.ที่เผยแพร่ออกมาเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา
เช่นเดียวกับเรื่องการหาเสียง ที่พรรคการเมืองต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่เสนาบดีของพรรคร่วมรัฐบาล ที่ลงพื้นที่แฝงกันมาตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว
ทุกวันนี้ต่อให้ไม่ยุบสภาก็เหมือนยุบ เพียงแค่ยังต้องระมัดระวังเรื่องกฎหมาย ระเบียบ และข้อห้ามต่างๆ เท่านั้น เพื่อไม่ให้ก้าวพลาดตั้งแต่หัววัน
การเมืองวันนี้มันไปไกลถึงเรื่องการจับมือกันจัดตั้งรัฐบาลแล้ว สูตรต่างๆ ออกมามากมาย โดยเฉพาะเรื่องดีลล่วงหน้าระหว่างพรรคพลังประชารัฐของ "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค กับพรรคเพื่อไทย
ไกลถึงขนาดที่ว่ามี ส.ว. ซึ่งในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญยังให้สามารถร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้อีกรอบ ออกมาประกาศไม่เอา ‘อุ๊งอิ๊ง’ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร และจะให้คะแนนเพียงสองคนคือ "บิ๊กตู่" กับ "บิ๊กป้อม" เท่านั้น
หรือแม้แต่กระแสข่าวว่า โดดเดี่ยวพรรครวมไทยสร้างชาติของ "บิ๊กตู่" ที่ถูกปรามาสว่า ไม่มีทางจะกลับมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้อีก เรียกว่ามีสารพัดข่าวลือ สารพัดสูตรออกมาตั้งแต่ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกายุบสภา หรือประชาชนไปหย่อนบัตรเลือกตั้ง
แต่ทั้งหมดถือเป็นสีสันทุกครั้งของการเลือกตั้ง ที่แต่ละพรรคจะต้องถูกเช็กท่าทีว่าจะสามารถจับมือกับใครได้บ้าง ซึ่งครั้งนี้มีเพียงไม่กี่พรรคเท่านั้นที่กล้าประกาศตัวว่าไม่ขอสังฆกรรมกับพรรคการเมืองใดตั้งแต่ยังไม่ปิดหีบ นั่นคือ พรรคก้าวไกล ที่ออกตัวเลยว่าจะไม่ร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐของ "บิ๊กป้อม" และพรรครวมไทยสร้างชาติของ "บิ๊กตู่"
ขณะที่พรรคเพื่อไทยเอง กล้าที่จะปฏิเสธพรรคเดียวคือ พรรครวมไทยสร้างชาติ ในขณะที่พรรคพลังประชารัฐของ "บิ๊กป้อม" กลับสงวนท่าที
ส่วนหนึ่งที่หลายพรรค ยังแทงกั๊ก เพราะไม่ต้องการผูกมัดตัวเองตั้งแต่ยังไม่เห็นผลการเลือกตั้ง และหน้าตักของแต่ละพรรค ที่สำคัญมันยังมีปัจจัยเรื่องเสียง ส.ว. ตอนโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี
สูตรเลือกตั้งหากอนุมานวันนี้มันออกได้หลายหน้า แต่ใครจะมั่นใจว่ามันจะออกแบบไหน ไม่ต้องมองดูไหนไกล ขนาดนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นนักใบ้หวยการเมืองที่ให้หวยแม่นที่สุด เลือกถูกได้เป็นรัฐบาลตลอด ยังต้องกระจายความเสี่ยงในทุกขั้ว อันแสดงให้เห็นว่าไม่มั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าใครจะวินในที่สุด
ครั้งนี้กลุ่มสามมิตรของนายสมศักดิ์ และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ใช้ยุทธศาสตร์เล่นไพ่หลายหน้า กระจายนักการเมืองในกลุ่มอยู่ตามพรรคต่างๆ โดยมีข่าวว่านายสมศักดิ์และนายสุริยะเตรียมจะย้ายไปพรรคเพื่อไทยอีกไม่กี่วันนี้ หลังส่งลูกน้องไปเปิดตัวกับพรรคเพื่อไทยแล้วในหลายเขตเลือกตั้ง โดยดีลผ่าน "เจ๊แดง" นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์
ขณะเดียวกันได้ให้บ้านใหญ่ราชบุรีของ "กำนันตุ้ย" นายวิวัฒน์ นิติกาญจนา นายก อบจ.ราชบุรี ปักหลักอยู่กับ "บิ๊กป้อม" ที่พรรคพลังประชารัฐ หรือการให้ "เสี่ยแฮงค์" นายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ "เดอะแด๊ก" นายธนกร วังบุญคงชนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไปอยู่กับ "บิ๊กตู่" ที่พรรครวมไทยสร้างชาติ
ไม่ต่างกับพรรคภูมิใจไทยของ "เสี่ยหนู" นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรค ที่วันนี้ไม่ปะทะอะไรแรงๆ กับทั้งสองขั้ว ไม่ว่าจะเป็นนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นายใหญ่พรรคเพื่อไทย หรือกับ "บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม"
วันนี้ทุกคนต้องสงวนจุดยืนทางการเมืองเอาไว้ทั้งหมด บนสถานการณ์ที่ไม่สามารถชิงฟันธงได้
นั่นเพราะวันนี้มันรีบด่วนสรุปไม่ได้ว่าใครจะได้เป็นรัฐบาล ต่อให้จบการเลือกตั้งจะได้ ส.ส.มากที่สุดก็ตาม เพราะยังไม่รู้ว่าระหว่างทางก่อนหย่อนหีบบัตรเลือกตั้ง หรือหลังรู้ผลเลือกตั้ง จะมีอะไรเกิดขึ้นระหว่างนั้นหรือไม่
เหมือนกับครั้งก่อนที่มีการยุบพรรคไทยรักษาชาติ จนทำให้คะแนนในสนามเลือกตั้งกระจัดกระจาย หรือแม้แต่ภายหลังการเลือกตั้งที่มีเรื่องบัตรเขย่ง สูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ที่แสนพิลึกจนเกิดพรรคปัดเศษเป็นสิบพรรค การจัดตั้งรัฐบาล เสียงปริ่มน้ำ การซื้อตัว ส.ส.งูเห่า ตลอดจนการยุบพรรคอนาคตใหม่ที่ทำให้เสียงในสภาของฝ่ายรัฐบาลมั่นคงขึ้น
ท่าทีขององค์กรอิสระในสนามเลือกตั้งครั้งนี้ก็เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญ กกต. ซึ่งหลายฝ่ายยังระแวงว่าจะเข้ามาเป็นตัวแปรเหมือนกับครั้งก่อน
โดยเฉพาะท่าทีของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในช่วงเข้าโหมดเลือกตั้ง ที่กำลังไล่บี้คดีถือครองที่ดินของนักการเมืองที่มีทั้ง ส.ส. และ ส.ว. จนถูกตั้งข้อสังเกตว่ามีนัยอย่างอื่น หรือมันเป็นเพียงช่วงเวลาที่ประจวบเหมาะโดยบังเอิญเท่านั้น
หรือเรื่องระเบียบ กกต.ว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมือง พ.ศ.2566 ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่ทำให้กระบวนการยุบพรรคการเมืองเร็วขึ้น หรือเรียกกันว่า ยุบพรรคเทอร์โบ จนนักการเมืองออกมาคัดค้านกันระนาว ถูกมองว่าเป็นการปูทางเพื่อจะทำอะไรในอนาคตเกี่ยวกับการยุบพรรคอีกหรือไม่
ไม่เว้นแม้แต่บทบาทของ "เฮียชู" นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ที่ไล่เปิดโปงเรื่องทุนจีนสีเทา เว็บพนันออนไลน์ เรื่องการทุจริตที่โยงใยไปถึงพรรคการเมืองและนักการเมืองทุกพรรค ไม่ว่าจะเป็นพรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย หรือแม้แต่พรรครวมไทยสร้างชาติ
การเคลื่อนไหวของ "ชูวิทย์" ไม่ได้ถูกมองว่าต้องการแสง เพราะจากข้อมูลแล้วเป็นข้อมูลเชิงลึก สร้างอิมแพ็กต์ทางสังคมและการเมืองได้อย่างมหาศาล
สิ่งที่หลายฝ่ายกำลังจับตามองคือ การแฉครั้งนี้กำลังทำอะไรและหวังผลอะไรจากการทำ ซึ่งบางฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในช่วงเลือกตั้งและหลังเลือกตั้ง
เหตุการณ์ไม่คาดคิด หรือสิ่งที่คาดไม่ถึงเหล่านี้ สามารถเป็น จุดเปลี่ยน ทางการเมืองได้ทั้งสิ้น
ฉะนั้น วันนี้ทุกอย่างมันเพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้น ก่อนถึงวันกาบัตร ไปจนถึงปิดหีบเลือกตั้ง ตลอดจนรู้ผลเลือกตั้ง สถานการณ์มันเปลี่ยนแปลงได้ตลอด
การเมืองไทยมีอะไรที่เหนือความคาดหมายมานักต่อนักแล้ว โดยเฉพาะตั้งแต่ยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นต้นมา.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ติดสลักกม.ประชามติ รธน.ใหม่ส่อลากยาว
สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ได้ข้อสรุปหลักเกณฑ์ที่จะใช้สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรียบร้อย โดยให้ยึดเสียงข้างมาก 2 ชั้น กล่าวคือ 1.ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด และ 2.ต้องได้เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ์
นายกฯ ปลุกทุกภาคส่วน ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรีทุกรูปแบบ
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวผ่านวีดิทัศน์ว่า เนื่องในเดือนพฤศจิกายนของทุกปีเป็นเดือนแห่งการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ประจำปี 2567
ความจริง 'ชั้น 14' ชี้ชะตา 'รัฐบาลอิ๊งค์'
นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ประธานสถาบันสุจริตไทย และอดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า อายุรัฐบาลขึ้นกับความจริงบนชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ (รพ.ตร.)
ชนักติดหลัง-หอกดาบ ที่ค้างอยู่ของ"ทักษิณ"
แน่นอนว่า ทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย ย่อมต้องถอนหายใจโล่งอก ที่ไม่ต้องตกอยู่ในสถานะ ผู้ถูกร้อง ที่ศาลรัฐธรรมนูญ หลังศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง-ไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัยในคดีที่ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือ "คดีล้มล้างการปกครอง" ที่ศาล รธน.มีมติยกคำร้องไปเมื่อ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา
'ชินวัตร' ตีปีกดันรัฐบาลครบเทอม วิบากกรรมไล่ล่า 'ชั้น14' หลอกหลอน
ดูจากมติเอกฉันท์ของศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49
ชูศักดิ์ดิ้นหนัก ลุยล็อบบี้กมธ. ปั้นกม.การเงิน
“นายกฯ อิ๊งค์” บอกไม่ได้จบกฎหมายมา โยน “ชูศักดิ์” ดูแลเรื่องรัฐธรรมนูญ