จนถึงขณะนี้พรรคการเมืองที่หมายมั่นปั้นมือในการชิงชัยเก้าอี้ ส.ส.เขต กรุงเทพมหานคร พบว่า มีแค่ เพื่อไทย ที่ออกตัวเร็วกว่าพรรคการเมืองอื่นด้วยการเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขต กทม.ของพรรคเพื่อไทยครบหมดแล้วทั้ง 33 เขต
ขณะที่พรรคอื่น บางพรรคเช่น พรรคก้าวไกล ข่าวว่าวางตัวผู้สมัคร ส.ส.เขต กทม.ครบหมดแล้วเช่นกัน เหลือแค่รอยืนยันจากแกนนำพรรคและเปิดรายชื่อทั้งหมดอย่างเป็นทางการ
ส่วนพรรคปีกรัฐบาลอย่าง พลังประชารัฐ ข่าวว่าลงตัวเกือบหมดแล้ว เหลือแค่ที่ยังไม่นิ่งอีกประมาณ 5-6 เขตเท่านั้น
เดิมทีข่าวว่า สกลธี ภัททิยกุล กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐและหัวหน้าทีมดูแลพื้นที่เลือกตั้งกรุงเทพมหานคร พลังประชารัฐ เตรียมสรุปรายชื่อทั้งหมดภายในสัปดาห์นี้ แต่พอดีหลัง 2 อดีตแกนนำพลังประชารัฐ คือ อุตตม สาวนายน และสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ที่ออกไปทำพรรคสร้างอนาคตไทยแล้วล้มเหลว จนต้องกลับเข้าพลังประชารัฐอีกรอบ ได้ส่งลิสต์รายชื่อว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขต กทม.จากพรรคสร้างอนาคตไทยเดิม ที่ทั้ง 2 คนเห็นว่าหน่วยก้านพออาจสู้ได้ประมาณ 6-7 คน ให้พลังประชารัฐพิจารณา ทางพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เลยให้สกลธีไปดูอีกรอบว่าจะเอาหรือไม่ และหากชื่อที่ส่งมาถ้าทับซ้อนกับชื่อที่สกลธีและพลังประชารัฐวางไว้เดิม อาจให้ใช้วิธีทำโพลในพื้นที่เพื่อดูว่า หากส่งชื่อไหน ใครมีโอกาสเข้าวินมากกว่ากัน แต่หากยังไม่สามารถตัดสินใจได้ ก็ให้นำเรื่องเข้าที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคชี้ขาดต่อไป
โดยข่าวว่าสกลธีต้องการเซตทีมผู้สมัคร ส.ส.กทม.ให้ลงตัวครบหมดทั้ง 33 เขต ภายในไม่เกิน 28 ก.พ.นี้ เป็นต้น
ด้วยจำนวน ส.ส.เขต กทม.ที่มีให้ชิงชัยกันถึง 33 เก้าอี้ จึงทำให้หลายพรรคการเมืองต่างพร้อมทุ่มเต็มที่สำหรับสนาม กทม. ทั้งพรรคที่เคยได้ ส.ส.กทม.ตอนเลือกตั้งปี 2562 คือ พลังประชารัฐ ที่เคยได้ ส.ส.เขต กทม.มากสุดคือ 12 เก้าอี้-เพื่อไทย-ก้าวไกล รวมถึงประชาธิปัตย์ ที่เคยเป็นอดีตแชมป์ ส.ส.เขต กทม.ในการเลือกตั้งช่วงหลังๆ ก่อนหน้าการเลือกตั้งปี 2562 แต่มาพลาดท่า สูญพันธุ์ ไม่ได้ ส.ส.เขต กทม.แม้แต่คนเดียวในการเลือกตั้งปี 2562 และรวมถึง พรรคภูมิใจไทย ที่ส่งคนลงสมัคร ส.ส.เขต กทม.มาแล้ว 2 รอบ คือ การเลือกตั้งเมื่อปี 2554 และ 2562 แต่ก็ยังไม่สามารถปักธงใน กทม.ได้ เนื่องจากยังขาดตัวผู้สมัครที่โดดเด่น อีกทั้งกระแสใน กทม.ในการเลือกตั้ง 2 รอบดังกล่าว ภูมิใจไทยเป็นรองพรรคคู่แข่งหลายช่วงตัว ผนวกกับไม่มีคนในพรรค ที่มารับผิดชอบดูแลพื้นที่ กทม.โดยตรง
ทว่ารอบนี้ภูมิใจไทยพร้อมมากขึ้น เพราะมี ส.ส.กทม.และอดีต ส.ส.กทม. ที่มาจากพรรคอนาคตใหม่เดิม และจากพลังประชารัฐ รวมถึงเพื่อไทย เข้ามาอยู่ที่ภูมิใจไทยหลายคน รวมถึงการได้ พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อดีต รมว.ดิจิทัลฯ อดีต ส.ส.กทม. อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. ที่เคยมีประสบการณ์ดูแลพื้นที่เลือกตั้ง กทม.ให้พลังประชารัฐตอนเลือกตั้งปี 2562 มาเป็น กัปตันทีม กทม. ให้ภูมิใจไทย
ทำให้การเซตทีมลงสู้ศึก กทม.รอบนี้ของภูมิใจไทยมีความพร้อมมากกว่าที่ผ่านมา ผสมกับการเป็นพรรคฝ่ายรัฐบาลมาตลอด 4 ปี ทำให้นำผลงานที่ทำไว้มาหาเสียงกับประชาชนชาว กทม.ได้
เห็นได้ชัดว่าพรรคการเมืองตามชื่อข้างต้นต้องการแชร์เก้าอี้ ส.ส.เขต กทม.รอบนี้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
เช่นเดียวกับ พรรคตั้งใหม่ ที่ถูกมองว่ามีโอกาสจะปักธง ส.ส.เขต กทม.ได้ ไม่ว่าจะเป็น รวมไทยสร้างชาติ ที่แคมเปญการหาเสียงหลักคือ การชูพลเอกประยุทธ์เพื่อสร้างกระแสใน กทม. เพราะพรรคเชื่อว่าคน กทม.จำนวนไม่น้อย สนับสนุนและเชียร์พลเอกประยุทธ์ กระแสดังกล่าวจึงน่าจะทำให้พรรคเข้าป้ายมี ส.ส.เขต กทม.ในการเลือกตั้งรอบนี้ และยังมี ไทยสร้างไทย ของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เจ้าของฉายาเจ้าแม่ กทม. ก็เป็นอีกหนึ่งพรรคการเมืองที่หวังลุ้นได้ ส.ส.เขต กทม.ในการเลือกตั้งครั้งนี้เช่นกัน
สำหรับ กัปตันทีม ที่รับผิดชอบพื้นที่เลือกตั้ง กทม.ของแต่ละพรรคการเมือง พบว่าแต่ละพรรคดันแกนนำพรรคออกมาลงทำศึกทำหน้าที่เป็น แม่ทัพภาค กทม. คล้ายๆ กับแม่ทัพภาคของทหาร โดยบางชื่อ-บางพรรคก็เคยเป็นคนคุ้นเคยกันมาก่อน แต่ทว่า เมื่อต้องลงสู้ศึกในสนาม แต่ละคนก็ต้องใส่กันเต็มที่ เพราะหากสามารถพาลูกทีมเข้าสภาได้ตามเป้า ก็หมายถึง เครดิตการเมือง ที่จะทำให้ได้รับการยอมรับ และสามารถนำไปต่อยอดทางการเมืองให้กับตัวเองได้ เช่น การได้เป็น รัฐมนตรี หลังเลือกตั้ง หากพรรคต้นสังกัดได้เป็นรัฐบาล
อย่างเช่น เพื่อไทย ที่ดัน เจ๊แจ๋น-พวงเพชร ชุณละเอียด มาเป็นหัวหน้าทีม กทม.ของเพื่อไทย ซึ่งหากเพื่อไทยได้แชมป์ ส.ส.เขต กทม.แล้วเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล ก็การันตีได้ว่าพวงเพชรได้เป็นรัฐมนตรีแน่นอน ชนิดไม่ต้องอาศัยความเป็นสายตรงจันทร์ส่องหล้า-นายใหญ่ดูไบมาเกื้อหนุน เพราะถ้าทำได้ตามเป้า ทักษิณต้องให้โควตารัฐมนตรีกับกลุ่ม กทม.และเจ๊แจ๋น แน่นอน
ขณะที่ พลังประชารัฐ หัวหน้าทีม กทม.ก็คือ สกลธี ภัททิยกุล อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. โดยมี นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ คอยเป็นแบ็กอัพอยู่ข้างหลังอีกทีหนึ่ง ส่วน ภูมิใจไทย ก็ให้บทบาทเต็มที่กับ บี-พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ซึ่งหาก ภูมิใจไทยได้ ส.ส.เขต กทม.สัก 4-6 เก้าอี้ ถือว่าเข้าเป้าแล้ว และคงมีการให้โควตาเก้าอี้รัฐมนตรีกับทีม กทม.แน่นอน หากภูมิใจไทยได้เป็นรัฐบาล
มาที่ ประชาธิปัตย์ หัวหน้าทีมที่ดูแลภาพรวมพื้นที่ กทม.ตัวหลักก็คือ องอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค โดยมี ดร.เอ้ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ที่ได้คะแนนเสียงมาอันดับ 2 ตอนลงชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.เมื่อปี 2565 และมาดามเดียร์ วทันยา บุนนาค เป็น 2 ตัวเสริมหลักในการวางแผนการหาเสียง แต่เมื่อถึงตอนเลือกตั้ง แกนนำพรรคหลายคนแม้แต่กับ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะลงมาช่วยพรรคหาเสียงในพื้นที่ กทม.แน่นอน เพื่อทำให้ประชาธิปัตย์กลับมาฟื้นใน กทม.ให้ได้
ส่วน รวมไทยสร้างชาติ ข่าวว่าแม้ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรค จะลงมาดูแลพื้นที่ กทม.ด้วยตัวเอง แต่คนที่เข้าไปดูหน้างานตัวหลักจริงๆ ยังคงเป็น เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรค เห็นได้จากที่นั่งหัวโต๊ะประชุมทีม กทม.สัปดาห์ละ 2 วัน อังคาร-พฤหัสบดี มาร่วม 2 เดือนแล้ว แต่ข่าวว่า เมื่อการเลือกตั้งมาถึง ก็จะมีหลายคนลงมาช่วยด้วย เช่น พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าฯ กทม. ที่พลเอกประยุทธ์ดึงมาช่วยงานที่พรรครวมไทยสร้างชาติ
ท่ามกลางข่าวว่า แม้ พล.ต.อ.อัศวินจะมาอยู่ที่รวมไทยสร้างชาติ แต่ลูกชาย ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง หรือเอิร์ธ อดีตโฆษก กทม. จะไปลงสมัคร ส.ส.เขตคลองเตย-วัฒนาในนามพรรคประชาธิปัตย์ เพราะได้ ส.ก.ต่าย หรือ สุชัย พงษ์เพียรชอบหรือต่าย คลองเตย ผู้กว้างขวางย่านคลองเตย เพื่อนรัก ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่ทำธุรกิจตลาดคลองเตย และบริษัทรักษาความปลอดภัยร่วมกัน มาช่วยสนับสนุนการหาเสียงให้ และนี่คือสาเหตุที่ทำให้ ร.ต.อ.พงศกร ไปรวมไทยสร้างชาติไม่ได้ เพราะ ส.ก.ต่ายไม่สามารถไปช่วยพรรคลุงตู่ได้ เนื่องจากเกรงใจธรรมนัสที่ไม่ถูกกับพลเอกประยุทธ์
สำหรับ ก้าวไกล วางให้ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ของก้าวไกล เป็นหัวหน้าทีม กทม.ของพรรคส้ม ขณะที่ ไทยสร้างไทย แน่นอนว่า เจ้าแม่ กทม. คุณหญิงสุดารัตน์ดูแลรับผิดชอบคุมเอง โดยมี น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ-น.ต.ศิธา ทิวารี คอยเป็นกำลังเสริมตัวหลักเพื่อทำให้ไทยสร้างไทยปักธงแจ้งเกิดในสนาม กทม.ให้ได้
ทั้งหมดคือไลน์อัพ กัปตันทีม กทม.ของแต่ละพรรคการเมือง ที่ล้วนเป็นพวกเบอร์ใหญ่ของแต่ละพรรคทั้งสิ้น ศึกชิง 33 เก้าอี้ ส.ส.เขต เมืองหลวง จึงรับประกันความมันส์ระดับห้าดาว! .
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ลุยเปิดกาสิโนส่อสะดุด กฤษฎีกาโดดขวางเต็มสูบ
แนวคิดการทำให้ พนันออนไลน์ ขึ้นมาอยู่บนดิน ตามที่ทักษิณ ชินวัตร ผู้นำรัฐบาลเพื่อไทยตัวจริงส่งสัญญาณมา หลายคนยังมองโมเดลนี้ไม่ออกว่าจะทำได้อย่างไร เพราะน่าจะติดล็อกข้อกฎหมายหลายอย่าง รวมถึงต้องเจอแรงต้านในส่วนของภาคประชาสังคม
1ประเทศ2นายกฯ ระวังจบซ้ำรอยเดิม?
มีหลายส่วนในสังคม คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกอึดอัดกับท่าทีของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่พ้นโทษออกมาโดยไม่ติดคุกแม้แต่วันเดียว แต่ทำตัวเปรียบเหมือนเป็นเจ้าของรัฐบาล
เหลี่ยม"ทักษิณ"หาเสียงนายกอบจ. ก้ำกึ่ง สุ่มเสี่ยง ผิดกฎหมายเลือกตั้ง
การปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.ของ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯ กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง ทั้งสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายเลือกตั้ง และพาดพิงคู่ปรับทางการเมืองอย่างดุเดือด
'คุมขังนอกเรือนจำ'ความหวังใหม่ ระบบยุติธรรมหรือประตูสู่ความลำเอียง
ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในระบบยุติธรรม โดยในปี 2568 กรมราชทัณฑ์จะเริ่มใช้ ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ ซึ่งเป็นนโยบายใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อลดความแออัดในเรือนจำ
‘แม้ว’ห้าว!ผ่านสนาม อบจ. ท่าทีมั่นใจ‘ความปลอดภัย’
ห้าวทุกเวที! 4 จังหวัด อุดรธานี อุบลราชธานี เชียงใหม่ เชียงราย ที่ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี ไปช่วยผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือนายก อบจ.หาเสียง
ก้าวต่อไป ‘รทสช.’ ปี 2568 ติดสปีดผลงาน-โกยคะแนน
ต้องฝ่าฟันมรสุมกันระลอกใหญ่ส่งท้ายปี 2567 สำหรับ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จากพรรคน้องใหม่จนถึงปัจจุบันสู่ปีที่ 3 แล้ว ภายใต้การนำของ “พี่ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรค และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรค ซึ่งพรรคได้โควตาร่วมทัพรัฐบาลเพื่อไทย และได้กระทรวงที่หมายปองมาครอบครองสมใจ