เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายแล้วสำหรับ การเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลและนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 5,300 แห่งทั่วประเทศ ที่จะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 28 พฤศจิกายนนี้ ที่จะมีการลงคะแนนเสียงกันตั้งแต่ 08.00-17.00 น.
สนามเลือกตั้ง อบต.คือการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรอบสุดท้าย หลังก่อนหน้านี้มีการเลือกตั้งระดับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และเทศบาลไปแล้ว ซึ่งพบว่า อบต.ทั่วประเทศไม่ได้มีการเลือกตั้งมาร่วม 8 ปี และบางแห่งก็เกือบ 10 ปี จากผลพวงยุค คสช.ที่แช่แข็งการเลือกตั้งท้องถิ่น
สำหรับ อบต.นั้นถือเป็นการปกครองท้องถิ่นระดับฐานรากที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุดและกระจายอยู่ทั่วประเทศ เพราะเป็นการเมืองท้องถิ่นที่ลงไปถึงระดับหมู่บ้าน โดย อบต.บางแห่งว่าไปแล้วก็อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพมหานครมากนัก และเป็น อบต.ที่มีรายได้-งบประมาณต่อปีหลายร้อยล้าน บางแห่งเกือบ 700-800 ล้านบาท โดย อบต.ที่มีรายได้-งบประมาณจำนวนมากส่วนใหญ่ก็จะอยู่ในจังหวัดติดกับกรุงเทพมหานคร ทั้งสมุทรปราการ-นนทบุรี-ปทุมธานี-ชลบุรี เช่น อบต.บางพลีใหญ่-อบต.ราชาเทวะ สมุทรปราการ, อบต.คลองสาม ปทุมธานี-อบต.บางบัวทอง นนทบุรี รวมถึง อบต.ปลวกแดง ระยอง เป็นต้น แต่ อบต.เหล่านี้ไม่ยอมยกฐานะตัวเองเป็นเทศบาลด้วยเหตุผลในพื้นที่และเหตุผลทางการเมืองของนักการเมืองท้องถิ่น
โดยแม้ อบต.จะเป็นท้องถิ่นที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนคือในระดับหมู่บ้าน แต่นักการเมืองระดับชาติพวก ส.ส. หรือกลุ่มการเมืองในระดับจังหวัด เช่น นายกฯ อบจ.-หัวคะแนนพรรคการเมือง จะไม่ค่อยเทน้ำหนักลงมาในระดับ อบต.มากนัก เพราะมองว่า อบต.ยังเป็นสเกลการเมือง-ฐานคะแนนระดับเล็กอยู่ และส่วนใหญ่ อบต.ทั่วประเทศงบประมาณไม่เยอะ แต่ก็จะให้การสนับสนุนและส่งเครือข่าย-หัวคะแนนไปลงสมัครนายกฯ อบต.อยู่เช่นกันเพื่อสร้างฐานเสียงและวางคนของตัวเองไว้ แต่ก็จะไม่มีการเปิดตัวสนับสนุนอย่างเป็นทางการ เว้นแต่ กลุ่มบ้านใหญ่ ในหลายจังหวัด ยังไงก็ยังคงให้ความสำคัญกับการส่งคนของตัวเองไปสร้างเครือข่ายเอาไว้ในระดับ อบต.อยู่ เพื่อเป็นฐานการเมืองระยะยาวตั้งแต่ อบต.-เทศบาล-อบจ.จนถึงการเลือกตั้ง ส.ส.ในครั้งต่อๆ ไป
ต้องยอมรับว่า จุดหนึ่งที่ทำให้การเลือกตั้ง อบต.รอบนี้ตกเป็นที่สนใจ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะมีกลุ่มการเมืองระดับชาติส่งคนของตัวเองลงสมัครนายกฯ อบต.ทั่วประเทศด้วย นั่นก็คือ คณะก้าวหน้า ที่มีหัวหอกหลักคือ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, ปิยบุตร แสงกนกกุล, ชำนาญ จันทร์เรือง เป็นแกนนำ เพราะที่ผ่านมาการเลือกตั้ง อบต.ในอดีตจนถึงปัจจุบัน นักการเมืองระดับชาติ-กลุ่มการเมืองระดับชาติจะกันตัวเองไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ส่วนใหญ่จะเปิดหน้าก็แค่การเลือกตั้งนายกฯ อบจ.เท่านั้น ทำให้เมื่อคณะก้าวหน้ากระโดดลงมาเล่นในสนาม อบต.ด้วย การเลือกตั้ง อบต.เลยน่าสนใจมากขึ้น
ซึ่งทั้งหมดเป็นการเดินทางการเมืองของธนาธร-ปิยบุตร ตามยุทธศาสตร์แยกกันเดินกับ พรรคก้าวไกล คือให้พรรคก้าวไกลเดินการเมืองระดับชาติและในสนาม แล้วคณะก้าวหน้าคอยเคลื่อนการเมืองนอกรัฐสภาและทำงานการเมืองระดับท้องถิ่น ซึ่งก่อนหน้านี้คณะก้าวหน้าก็ส่งคนลงนายกฯ อบจ.ทั่วประเทศเมื่อปลายปีที่แล้วหลายสิบคน แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้งแม้แต่คนเดียว ได้แค่สมาชิกสภา อบจ.ไม่กี่คน และตามด้วยสนามเทศบาล ที่ก็พอตีตื้นได้เก้าอี้มาจำนวนหนึ่ง
การส่งคนลงในสนาม อบต.รอบนี้ ของคณะก้าวหน้า จึงเป็นสนามสุดท้ายในการเลือกตั้งท้องถิ่นของธนาธร-ปิยบุตร เพราะสนามต่อไป การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ทางพรรคก้าวไกลจะส่งคนลงในนามพรรคเอง
สำหรับสนาม อบต.ครั้งนี้พบว่า คณะก้าวหน้าส่งคนลงสมัครนายกฯ อบต.รวมทั้งสิ้น 210 คน กระจายไปหลายจังหวัดทั่วทุกภาค โดยบางจังหวัดก็พบว่า แกนนำคณะก้าวหน้าลงไปช่วยหาเสียงด้วยในพื้นที่ แต่จะเน้นการไปพบผู้สมัครนายกฯ อบต.เป็นหลัก
อย่างเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา แกนนำคณะก้าวหน้าอย่าง ปิยบุตร ก็ไปทั้งที่ภาคเหนือ-อีสาน แบบ 2 วันติด เช่น 20 พฤศจิกายน มีรายงานว่าเดินทางไปหลายจังหวัดในภาคเหนือ เช่น น่าน แพร่ ลำปาง พะเยา และปิดท้ายที่ จ.เชียงราย จากนั้นวันรุ่งขึ้น 21 พ.ย. ปิยบุตรก็ไปลุยหาเสียงที่อีสานทันที เช่น ไปอุดรธานี ที่ไปร่วมพบปะผู้สมัครนายก อบต.และ ส.อบต.ที่คณะก้าวหน้าให้การสนับสนุน ที่โรงแรมอติกานต์ปริ้นเซส และตามด้วยอีกหลายแห่งที่อีสาน เช่น หนองคาย หนองบัวลำภู บึงกาฬ
ข่าวว่า อบต.บางแห่งในภาคอีสาน คณะก้าวหน้าหมายมั่นจะปักธงให้ได้ เช่น อบต.อาจสามารถ ที่ร้อยเอ็ด ที่ทักษิณ ชินวัตร เคยพา ครม.ไปสัญจรนอนค้างหลายคืนมาแล้ว ส่วนที่อุดรธานี คณะก้าวหน้าก็หวังไว้เยอะเช่นกัน เพราะส่งคนลงนายก อบต.มากถึง 23 ทีม รวมกับ ส.อบต.แล้วมีถึง 94 คน โดยเป็นจังหวัดที่คณะก้าวหน้าส่งคนมากที่สุดในภาคอีสาน อันสอดรับกับการเคลื่อนไหวของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่เริ่มลงพื้นที่ภาคอีสานบ่อยครั้ง จนประกาศว่าพรรคก้าวไกลมั่นใจจะได้ ส.ส.ภาคอีสานเพิ่มมากขึ้น จนแกนนำเพื่อไทยมองแบบคิ้วขมวดมาแล้ว
ชำนาญ จันทร์เรือง แกนนำคณะก้าวหน้า ระบุไว้ในช่วงโค้งสุดท้ายของศึกเลือกตั้ง อบต.ว่า จากที่คณะก้าวหน้าส่งคนลงเลือกตั้งนายกฯ อบต. 210 คน ทางคณะก้าวหน้าตั้งเป้าไว้ว่าต้องการชนะประมาณอย่างน้อยขั้นต่ำคือ 30 คน และเชื่อว่าภาพรวมผลการเลือกตั้งที่จะออกมาทั่วประเทศจะมีผู้สมัครหน้าใหม่ ที่อาจจะไม่ใช่คนของคณะก้าวหน้าได้รับเลือกตั้งเข้าไปจำนวนมาก เพราะด้วยการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป คนในพื้นที่โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ๆ มีความตื่นตัวอย่างมาก ต่างต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงในระดับ อบต.-หมู่บ้าน จึงน่าจะทำให้ผลเลือกตั้ง อบต.ที่ออกมาจะมีการถ่ายเลือดครั้งใหญ่ใน อบต.หลายแห่งทั่วประเทศ
ผลการเลือกตั้ง อบต.ที่จะออกมา มองดูแล้วหลายฝ่ายคงอยากรู้เช่นกันว่า คณะก้าวหน้า-ธนาธร-ปิยบุตร จะประสบความสำเร็จและปักธงในสนาม อบต.ได้แค่ไหน ซึ่งไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร คงทำให้เป็นประเด็นที่มีการพูดถึงกันระดับหนึ่ง
วันอาทิตย์ที่ 28 พ.ย.นี้ จึงขอเชิญชวนประชาชนในพื้นที่ซึ่งมีการเลือกตั้งนายก อบต.และสมาชิกสภา อบต.ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งอย่างพร้อมเพียง.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เหลี่ยม"ทักษิณ"หาเสียงนายกอบจ. ก้ำกึ่ง สุ่มเสี่ยง ผิดกฎหมายเลือกตั้ง
การปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.ของ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯ กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง ทั้งสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายเลือกตั้ง และพาดพิงคู่ปรับทางการเมืองอย่างดุเดือด
'คุมขังนอกเรือนจำ'ความหวังใหม่ ระบบยุติธรรมหรือประตูสู่ความลำเอียง
ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในระบบยุติธรรม โดยในปี 2568 กรมราชทัณฑ์จะเริ่มใช้ ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ ซึ่งเป็นนโยบายใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อลดความแออัดในเรือนจำ
‘แม้ว’ห้าว!ผ่านสนาม อบจ. ท่าทีมั่นใจ‘ความปลอดภัย’
ห้าวทุกเวที! 4 จังหวัด อุดรธานี อุบลราชธานี เชียงใหม่ เชียงราย ที่ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี ไปช่วยผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือนายก อบจ.หาเสียง
ก้าวต่อไป ‘รทสช.’ ปี 2568 ติดสปีดผลงาน-โกยคะแนน
ต้องฝ่าฟันมรสุมกันระลอกใหญ่ส่งท้ายปี 2567 สำหรับ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จากพรรคน้องใหม่จนถึงปัจจุบันสู่ปีที่ 3 แล้ว ภายใต้การนำของ “พี่ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรค และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรค ซึ่งพรรคได้โควตาร่วมทัพรัฐบาลเพื่อไทย และได้กระทรวงที่หมายปองมาครอบครองสมใจ
การเมืองไทยปี 68 เข้มข้น-ขับเคี่ยว-ร้อนแรง ซักฟอกมี.ค.-ปรับครม.กลางปี
การเมืองไทยไม่ว่าปีไหนๆ ก็มีประเด็นร้อนเกิดขึ้นได้ตลอด บางเรื่องเกิดขึ้นตามปฏิทินการเมือง แต่บางประเด็นเป็นความร้อนแรงที่แทรกขึ้นมาแบบไม่มีใครคาดคิดมาก่อน
'ปชน.'ถอย'ม.112'แลกอุดมการณ์ เพิ่มคะแนนนิยม'เท้ง'เฉือน'อิ๊งค์'
ผลสำรวจความเห็นของประชาชน 'นิด้าโพล' สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) หัวข้อ ความนิยมทางการเมือง ในไตรมาส 4 ปลายปี 2567 ให้ผลที่น่าสนใจ เมื่อ 'เท้ง’- นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) เป็นนักการเมืองที่ประชาชนสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุดอันดับ 1