เรียกว่าเป็น ‘Mr.Last minute’ กันทีเดียว สำหรับ ‘กลุ่มสามมิตร’ ภายใต้การนำของ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม และนายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
เพราะกว่าจะเห็นทิศทางว่า การเลือกตั้งครั้งหน้า พวกเขาจะไปอาศัยอยู่ใต้ชายคาพรรคใด อายุรัฐบาลเหลืออีกแค่ไม่กี่วันแล้ว
แต่ไม่มีใครแปลกใจกับท่าทีของ กลุ่มสามมิตร เพราะทุกคนทราบดีว่า ธง ของพวกเขาชัดเจนคือ ต้องการเป็นรัฐบาลเท่านั้น การจะเอ่ยปากว่าจะไปอยู่ที่ใด ต้องมั่นใจ 99.99% ว่าวินแน่ หากมีความเสี่ยง จะไม่พ่นอะไรที่เป็นการมัดตัว หรือถอยหลังกลับไม่ได้
ตรรกะของ กลุ่มสามมิตร คล้ายกับพรรคชาติไทย และพรรคชาติไทยพัฒนาของ ‘มังกรสุพรรณ’ บรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรีผู้ล่วงลับ นั่นคือ อยู่ฝ่ายอำนาจสามารถแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนได้
แม้ใครต่อใครจะมองว่า แนวทางของพวกเขาดูเหมือนไร้จุดยืน-อุดมการณ์ แต่สำหรับ ‘กลุ่มสามมิตร คิดต่าง จะเท่ไปทำไม ในเมื่อกินไม่ได้
ขณะเดียวกัน จะเห็นว่า กลุ่มสามมิตร ทำการเมืองแบบประนีประนอม เน้นขยายเครือข่าย-พรรคพวก มักใช้วิธี สร้างบุญคุณ เพื่อซื้อใจกัน
สิ่งบ่งชี้ที่ชัดที่สุดว่า แนวทางดังกล่าวของ กลุ่มสามมิตร ประสบความสำเร็จ นั่นคือ ตลอดระยะเวลาเกือบ 4 ปี ไม่มีเสนาบดีคนใดในมุ้ง ไม่ว่าจะเป็น สุริยะ-สมศักดิ์-อนุชา ถูกลากขึ้นไปอภิปรายไม่ไว้วางใจสักครั้งเดียว
อย่างไรก็ดี การที่ย่างก้าวของ กลุ่มสามมิตร ในการเลือกตั้งครั้งหน้าถูกจับตามองจากหลายฝ่าย ส่วนหนึ่งต้องการทราบว่า พวกเขาแทงหวยฝั่งไหน เนื่องจากที่ผ่านมาน้อยครั้งที่จะแทงหวยผิด จนมีนักการเมืองบางคนพูดกันว่า จะยังไม่ย้ายไปไหน แต่จะขอดูการตัดสินใจของกลุ่มนี้ก่อน เพราะเชื่อว่า ถ้าไปไหนแสดงว่าได้เป็นรัฐบาลชัวร์
มาครั้งนี้แกนนำกลุ่มสามมิตรถูกคะยั้นคะยอหลายครั้ง แต่ทั้ง 3 คนกลับไม่เคยมีใครปริปากพูดเลย แม้แต่มีการคาดการณ์กันว่า พวกเขาจะไปที่นั่นที่นี่เท่านั้น
กระทั่งโค้งสุดท้ายที่ผ่านมา ภาพถึงชัดว่า กลุ่มสามมิตร ไปไหน เมื่อพวกเขาคายคำตอบ ทั้งจากผ่านการกระทำและคำพูด นั่นคือ แยกกัน
แกนนำ 3 มิตรทั้ง 3 คน จะไม่ได้อยู่พรรคเดียวกันในการเลือกตั้งครั้งหน้า สมศักดิ์ กับองคาพยพบางส่วนอยู่พรรคหนึ่ง สุริยะ กับองคาพยพบางส่วนอยู่พรรคหนึ่ง และ อนุชา กับองคาพยพบางส่วนอยู่พรรคหนึ่ง หรือ สมศักดิ์-สุริยะ กับองคาพยพบางส่วนอยู่พรรคหนึ่ง และ อนุชา กับองคาพยพบางส่วนอยู่พรรคหนึ่ง
และไม่ได้มีแค่ว่า ต้องเลือกระหว่าง ลุงตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม หรือ ลุงป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ อย่างที่นักการเมืองคนอื่นทำกัน แต่ กลุ่มสามมิตร เลือกทั้งหมด รวมถึง พรรคเพื่อไทย ด้วย
เพราะสำหรับ กลุ่มสามมิตร เรียกตัวเองว่า ครอบครัว ฉะนั้น ไม่ว่าใครจะอยู่พรรคไหน แต่สุดท้ายคือ คนในครอบครัวอยู่ดี เวลานับหัวกลุ่มสามมิตรเพื่อจะต่อรองต้องนับเป็นมุ้ง ไม่ได้นับว่ามาจากพรรคไหน
และสาเหตุที่ต้อง แยกกัน มันไม่ได้มาจากความขัดแย้งใดๆ แต่เป็นยุทธศาสตร์ แยกกันโต ซึ่งนอกจากมองเรื่องการันตีความเป็นรัฐบาลแล้ว ยังมองไปด้วยว่า ใครอยู่ตรงไหนถึงจะโต
หากทั้งหมดอยู่รวมกันพรรคใดพรรคหนึ่ง โควตารัฐมนตรีคงตกอยู่ที่ สุริยะ-สมศักดิ์ ในฐานะผู้อาวุโสและท่อน้ำเลี้ยง แต่หากกระจายกำลังกันไป คนในกลุ่มจะมีโอกาสได้เป็นเสนาบดีมากกว่า 2 คนนี้
เหมือนกับกรณีบ้านใหญ่ราชบุรี ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มสามมิตร ที่ บิ๊กป้อม วิ่งไปรั้งถึงเมืองโอ่ง พร้อมจดลิสต์ไว้ในบัญชีเสนาบดีแล้ว
ขณะที่ อนุชา เลือกตาม บิ๊กตู่ ไปอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติ ส่วนหนึ่งเพราะมีบาดแผลลึกกับคนในพรรคพลังประชารัฐ ขณะเดียวกัน การไปอยู่ตรงนั้น ด้วยชื่อชั้นจะทำให้มีโอกาสเป็นรัฐมนตรีได้อีกครั้ง เพราะเป็นคนทำงาน ประสานเก่ง
ในส่วนของ สมศักดิ์ ที่มีข่าวออกมาหนาหูว่าจะไปพรรคเพื่อไทยนั้น ถึงตรงนี้ไม่สำคัญแล้วว่า ตัวเขาจะอยู่ไหน เพราะได้วางกำลังเอาไว้เสร็จแล้ว หลังมีเด็กของตัวเอง ไม่ว่าจะที่ จ.พิจิตร จ.สุโขทัย และภาคเหนือตอนล่างอื่นๆ โผล่ไปเปิดตัวกับพรรคสีแดงเรียบร้อย ผ่านการดีลกับระดับ นางพญา ซี้เก่าตั้งแต่ไทยรักไทย
ดังนั้นไม่ว่าหลังการเลือกตั้ง หน้าตาการเมืองจะแบบไหน ขั้วไหนชนะก็ตาม แต่คนที่วินทุกหน้าคือ กลุ่มสามมิตร ที่ถูกหวยตั้งแต่ยังไม่ได้ยินเสียงเลขที่ออก.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ชนักติดหลัง-หอกดาบ ที่ค้างอยู่ของ"ทักษิณ"
แน่นอนว่า ทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย ย่อมต้องถอนหายใจโล่งอก ที่ไม่ต้องตกอยู่ในสถานะ ผู้ถูกร้อง ที่ศาลรัฐธรรมนูญ หลังศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง-ไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัยในคดีที่ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือ "คดีล้มล้างการปกครอง" ที่ศาล รธน.มีมติยกคำร้องไปเมื่อ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา
'ชินวัตร' ตีปีกดันรัฐบาลครบเทอม วิบากกรรมไล่ล่า 'ชั้น14' หลอกหลอน
ดูจากมติเอกฉันท์ของศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49
แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?
ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่
ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด
นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย
จับตาคลอดโผแต่งตั้ง“นายพลใหญ่” ตำรวจคนสนิทฝั่งรัฐบาลพรึบยกแผง
จับตาบ่ายวันนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายล็อตแรก “นายพลใหญ่” ระดับรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ-ผบช. ที่นายกฯ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2567 เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อ “พล.ต.อ.-พล.ต.ท.” วาระประจำปี 2567