เงินเลือกตั้ง ส.ส.ทำบัญชีหลอก นิติกรรมอำพราง โทษหนัก

การเตรียมพร้อมเลือกตั้งในส่วนของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังคงเดินหน้าต่อไปเรื่อยๆ หลังกลไกต่างๆ เพื่อรองรับการทำงานของ กกต.ในการดูแลจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปตามกฎหมาย ทยอยออกมาเรื่อยๆ ซึ่งการเตรียมพร้อมเลือกตั้งดังกล่าวทั้งหมด เรื่องสำคัญสุดในช่วงปัจจุบันคือ การแบ่งเขตเลือกตั้ง 400 เขตทั่วประเทศ ที่ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทั่วประเทศกำลังรับฟังความคิดเห็นประชาชนเป็นเวลา 10 วัน หลังมีการปิดประกาศหรือเผยแพร่รูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งที่ต้องทำไม่น้อยกว่า 3 รูปแบบ

ที่ล่าสุด กกต.กลางได้มีหนังสือทักท้วงการแบ่งเขตเลือกตั้งของสำนักงาน กกต.จังหวัด 5 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี เชียงใหม่ ปัตตานี สมุทรปราการ 

หลัง กกต.กลางพิจารณาแล้วเห็นว่า ทั้ง 5 จังหวัดทำรูปแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง  ไม่ตรงกับประกาศ กกต.เรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง เพราะแบ่งเขตเลือกตั้งในจังหวัด โดยที่ “ผลต่างของจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เพราะเกินร้อยละ 10 ของจำนวนเฉลี่ยต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 1 คนในจังหวัดนั้น

จึงต้องสั่งให้มีการแก้ไขปรับปรุงโดยด่วน ด้วยการทำรูปแบบการแบ่งเขตเพิ่มเติม โดยให้มีผลต่างของจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งเป็นไปตามที่หลักเกณฑ์กำหนด และผลต่างของจำนวนราษฎรระหว่างเขตเลือกตั้งไม่ควรเกินร้อยละ 10 

ซึ่ง 5 จังหวัดที่สำนักงาน กกต.สั่งให้มีการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ รวมเป็นเขตเลือกตั้งทั้งสิ้น 66 เขตเลือกตั้ง แบ่งเป็นกรุงเทพมหานคร 33 เขตเลือกตั้ง เชียงใหม่ 11 เขตเลือกตั้ง ชลบุรี 10 เขตเลือกตั้ง สมุทรปราการ 8 เขตเลือกตั้ง และปัตตานี 4 เขตเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม แสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ยืนยันว่า การสั่งให้ มีการทำรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ดังกล่าวจะไม่มีผลกระทบจนทำให้ การแบ่งเขตเลือกตั้งทั่วประเทศล่าช้าออกไป โดยยืนยันว่าทุกอย่างน่าจะแล้วเสร็จภายในไม่เกินช่วงวันที่ 28 ก.พ.

อันหมายถึงว่า หากมีการประกาศแบ่งเขตเลือกตั้ง 400 เขตออกมาอย่างเป็นทางการ และกระบวนการทำไพรมารีโหวตที่ กกต.เผื่อเวลาไว้ให้แต่ละพรรคการเมืองทำในช่วงประมาณ 1-15 มีนาคม ทุกอย่างเป็นไปตามนี้ กกต.ก็พร้อมจะส่งสัญญาณไปยังรัฐบาลว่า ทุกอย่างพร้อมแล้วสำหรับการเลือกตั้ง ทำให้ถึงช่วงกลางเดือนมีนาคม พลเอกประยุทธ์ก็สามารถยุบสภาฯ ได้ทันที ก่อนครบกำหนดเส้นตายสภาครบ 4 ปี 23 มีนาคม เพื่อปลดล็อกการสังกัดพรรคการเมืองจาก 90 วันนับถึงวันเลือกตั้ง หากสภาครบวาระให้เหลือแค่ 30 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง

ขณะเดียวกันระหว่างนี้ ที่กำลังรอเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง ที่เป็นถนนเส้นใหญ่ไปสู่การเลือกตั้ง อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจคือ เรื่อง ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ระบบเขตและพรรคการเมืองที่จะใช้ในการเลือกตั้งปี 2566

ซึ่งทาง กกต.กลาง-เลขาธิการ กกต.จะมีการประชุมกับหัวหน้าพรรคการเมือง ตัวแทนพรรคการเมืองทั้งหมด ในวันพุธนี้ 8 ก.พ. เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากพรรคการเมือง ก่อนเคาะตัวเลขออกมาว่าจะให้วงเงินดังกล่าวอยู่ที่เท่าไหร่

โดยมีรายงานว่า วงเงินที่สำนักงาน กกต.คิดคำนวณและกำหนดเบื้องต้นเพื่อให้พรรคการเมืองพิจารณา กรณีสภาอยู่ครบวาระที่ พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส. 2561 มาตรา 64 (1) กำหนดให้คิดคำนวณค่าใช้จ่ายที่ใช้จ่ายไปในช่วง 180 วันก่อนวันที่ กกต.ประกาศให้มีการเลือกตั้งจนถึงวันเลือกตั้งนั้น กกต.จึงกำหนดว่าผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งใช้จ่ายได้คนละ 6,528,375 บาท และแบบบัญชีรายชื่อหรือพรรคการเมืองใช้จ่ายได้ 152,327,758 บาท

ส่วนถ้าเป็นกรณียุบสภา ผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ใช้จ่ายได้คนละ 1,740,900 บาท และแบบบัญชีรายชื่อหรือพรรคการเมืองใช้จ่ายได้ 40,620,999 บาท

อย่างไรก็ตาม มีความชัดเจนทางการเมืองว่า พลเอกประยุทธ์-ยุบสภาฯ แน่นอน ดังนั้นกรอบค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ที่ผู้สมัคร ส.ส.เขตแต่ละคนและพรรคการเมืองแต่ละพรรคจะใช้จ่ายกันได้ในการเลือกตั้ง ก็จะอยู่ในกรอบ กรณีมีการยุบสภา ที่ก็คือผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ใช้จ่ายได้คนละ 1,740,900 บาท และแบบบัญชีรายชื่อหรือพรรคการเมืองใช้จ่ายได้ 40,620,999 บาท

แต่สุดท้าย วงเงินค่าใช้จ่ายการเลือกตั้งที่ กกต.จะเคาะออกมาจะเป็นไปตามนี้หรือไม่ กกต.คงขอฟังความคิดเห็นในวงประชุม 8 ก.พ.นี้ก่อน

โดยหากออกมาตามนี้ เท่ากับว่าการเลือกตั้งรอบนี้ปี 2566 ได้มีการ เพิ่มวงเงินค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเพิ่มขึ้น จากเลือกตั้งเมื่อปี 2562

เพราะตอนเลือกตั้งปี 2562 ที่เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหลังมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่ใช่การเลือกตั้งจากการยุบสภาฯ พบว่า กกต.เคยออกประกาศและระเบียบเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายของผู้สมัคร ส.ส.และพรรคการเมืองในการเลือกตั้ง เมื่อปี 2562 โดยจำกัดวงเงินผู้สมัคร ส.ส.เขต ใช้ได้ไม่เกิน 1.5 ล้านต่อคน ส่วนพรรคการเมืองให้ใช้ได้ไม่เกิน 35 ล้านบาท โดยระยะเวลาในการคำนวณค่าใช้จ่ายให้นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. ที่พบว่าการเลือกตั้งรอบดังกล่าวอยู่ในช่วง 23 มกราคม 2562 ถึงวันที่ 24 มีนาคม 2562 ที่เป็นวันหย่อนบัตร

 อย่างไรก็ตาม เป็นที่รู้กันทางการเมืองว่า ค่าใช้จ่ายที่ผู้สมัคร ส.ส.เขตแต่ละพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคใหญ่ ใช้ในการเลือกตั้ง จะใช้เกินจำนวนที่ กกต.กำหนดไว้อยู่แล้ว แต่จะเป็นการใช้ในลักษณะให้กันด้วยเงินสด ไม่มีการออกบิล ไม่มีการลงบัญชีที่ตรวจสอบได้ยาก ยิ่งพื้นที่เลือกตั้งไหนการแข่งขันสูง ต้องสู้กันเดือด ก็ยิ่งต้องใช้เงินเยอะเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการหาเสียง รวมถึงเงินที่มีการนำมา ซื้อเสียงเลือกตั้ง อีกด้วย!

เช่นเดียวกับพรรคการเมืองมักมีข่าวตลอดว่า มีการใช้จ่ายเงินเกินกว่าที่ กกต.กำหนดไว้เช่นกัน โดยก็จะใช้จ่ายในลักษณะเดียวกันคือ ไม่มีการออกบิล ลงบัญชีไว้ แต่ให้กันด้วยเงินสดในการนำไปใช้จ่ายต่างๆ ตลอดการเลือกตั้ง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ กกต.ก็ตรวจสอบได้ยากเช่นกัน หากไม่มีคนในส่งหลักฐานข้อมูลมาให้

ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 บัญญัติห้ามมิให้ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใช้จ่ายในการเลือกตั้งเกินจำนวนค่าใช้จ่ายที่ กกต.กำหนด โดยหากความปรากฏต่อ กกต.หรือมีการคัดค้านว่าผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใดใช้จ่ายเงินเกี่ยวกับการเลือกตั้ง เกินจำนวนที่ กกต.กำหนด หรือปรากฏว่าบัญชีรายรับและรายจ่ายไม่ถูกต้องครบถ้วน ให้ กกต.ดำเนินการให้มีการสืบสวนหรือไต่สวนและวินิจฉัยโดยเร็ว

โดยในมาตรา 154 ของ พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 บัญญัติไว้ว่า

ผู้สมัครผู้ใดฝ่าฝืน ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือปรับเป็นจำนวนสามเท่าของจำนวนเงินที่เกินค่าใช้จ่ายที่ กกต.กำหนด แล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่ากัน หรือทั้งจำ ทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดสิบปี

ส่วนในกรณีที่พรรคการเมืองกระทำความผิด ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงสองล้านบาท หรือปรับเป็นจำนวนสามเท่าของจำนวนเงินที่เกินค่าใช้จ่ายที่คณะกรรมการกำหนด แล้วแต่จำ นวนใดจะมากกว่ากัน

โดยในกรณีที่พรรคการเมืองกระทำความผิด ถ้าหัวหน้าพรรคการเมือง เลขาธิการพรรคการเมือง หรือเหรัญญิกของพรรคการเมืองรู้เห็นเป็นใจด้วยกับการกระทำความผิด ต้องรับโทษและถูกเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งเป็นเวลาสิบปี”!

ส่วนบทลงโทษที่รุนแรงแบบนี้ จะทำให้ผู้สมัคร ส.ส.เขตและพรรคการเมืองที่คิดทำตุกติก ทำบัญชีค่าใช้จ่ายปลอม-บัญชีเท็จ ยื่น กกต. เพราะใช้เงินเกินที่ กกต.กำหนดไว้ เกิดความหวาดเกรงจนไม่กล้าใช้เงินเกินหรือไม่ ดูแล้วอาจไม่เกิดขึ้นกับทุกคนและทุกพรรคการเมือง เว้นแต่พวกผู้สมัครพรรคเล็ก-พรรคขนาดเล็ก ที่มีเงินหน้าตักน้อย ก็ต้องใช้จ่ายน้อยอยู่แล้ว เผลอๆ ใช้น้อยกว่าที่ กกต.กำหนดไว้เสียอีก มันจึงเป็นหน้าที่ของ กกต.ในการตรวจสอบอย่างเข้มข้นต่อไป. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ก้าวต่อไป ‘รทสช.’ ปี 2568 ติดสปีดผลงาน-โกยคะแนน

ต้องฝ่าฟันมรสุมกันระลอกใหญ่ส่งท้ายปี 2567 สำหรับ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จากพรรคน้องใหม่จนถึงปัจจุบันสู่ปีที่ 3 แล้ว ภายใต้การนำของ “พี่ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรค และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรค ซึ่งพรรคได้โควตาร่วมทัพรัฐบาลเพื่อไทย และได้กระทรวงที่หมายปองมาครอบครองสมใจ

การเมืองไทยปี 68 เข้มข้น-ขับเคี่ยว-ร้อนแรง ซักฟอกมี.ค.-ปรับครม.กลางปี

การเมืองไทยไม่ว่าปีไหนๆ ก็มีประเด็นร้อนเกิดขึ้นได้ตลอด บางเรื่องเกิดขึ้นตามปฏิทินการเมือง แต่บางประเด็นเป็นความร้อนแรงที่แทรกขึ้นมาแบบไม่มีใครคาดคิดมาก่อน

'ปชน.'ถอย'ม.112'แลกอุดมการณ์ เพิ่มคะแนนนิยม'เท้ง'เฉือน'อิ๊งค์'

ผลสำรวจความเห็นของประชาชน 'นิด้าโพล' สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) หัวข้อ ความนิยมทางการเมือง ในไตรมาส 4 ปลายปี 2567 ให้ผลที่น่าสนใจ เมื่อ 'เท้ง’- นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) เป็นนักการเมืองที่ประชาชนสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุดอันดับ 1

ปี67‘อดีตสว.’ขยับสะเทือนถึงรัฐบาล ถอดถอน‘เศรษฐา’ที่มาของหลายเรื่อง

การเมืองรอบปี 2567 เหตุการณ์ที่ใหญ่ที่สุดต้องยกให้กับศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ “เศรษฐา ทวีสิน” พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำให้ “แพทองธาร ชินวัตร” กลายเป็นนายกฯ หญิงคนที่ 2 ของประเทศไทย และทำให้หลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นตามมา วันนี้จึงขอบันทึกเรื่องราวนี้ไว้ ยกให้เป็นเหตุการณ์แห่งปี

สวมบท'อินฟลูอาเซียน' จุดเสี่ยงใช้ประเทศเดิมพัน?

ยืนยันชัดเจนจาก นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย หลังโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Anwar Ibrahim พร้อมรูปภาพคู่กับ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี