หักเหลี่ยม เฉือนคม ปัจจัยเร่งเร้ายุบสภา

    โดยสถานะทางกฎหมาย รัฐนาวาประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังมีอำนาจไปจนถึง 23 มีนาคม ครบเทอมวาระ 4 ปี รัฐบาล คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) วางไทม์ไลน์วันเลือกตั้ง 7 พฤษภาคม 2566 แต่จากการที่กฎหมายลูกเกี่ยวกับพรรคการเมืองและว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้ กกต.เร่งแบ่งเขต ทำขั้นตอนต่างๆ ให้ครบตามกฎหมาย แต่ก็ไม่วายยังมีข่าวรัฐบาลอาจชิงยุบสภาหนีไปก่อน ช่วงการเมืองสุกดิบ หัวเลี้ยวหัวต่อ โดยเฉพาะปมปัจจัยฝ่ายค้านเตรียมเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 

    เกมชิงยุบสภาหนี ยุบสภาเพื่อให้เกิดความได้เปรียบ ดังขึ้นเป็นระยะๆ กระทั่ง วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี มือกฎหมายสำคัญของรัฐบาล ออกมาดับปมร้อน ขอเวลานายกรัฐมนตรีอย่าเพิ่งยุบสภา โดยอ้างเหตุว่าให้กรรมการการเลือกตั้งจัดสรรกระบวนการต่างๆ เกี่ยวกับการแบ่งเขตเลือกตั้งไปจนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ พร้อมทั้งเน้นย้ำ "ไม่ได้เป็นการยื้อ เตะถ่วง"  

    พอให้พรรคการเมือง นักการเมือง หายใจหายคอ เดือนกุมภาพันธ์ไม่น่าจะมีการยุบสภา แต่ถ้าย่างก้าวเข้าสู่เดือนมีนาคมยังต้องตามลุ้นกันวันต่อวัน จะมีการยุบสภาในช่วงเวลาใด ผลจากการประชุมสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่ต้นปี 2566 เกิดเหตุสภาล่มซ้ำซาก บ่อยครั้ง กฎหมายสำคัญพิจารณาไม่จบสมัยการประชุมนี้ ที่จะสิ้นสุดวาระสมัยประชุม 28 ก.พ. จะต้องค้างเติ่ง ยกยอดเอาไปพิจารณาในสมัยประชุมหน้า รัฐบาลใหม่  

    นักการเมือง พรรคการเมือง รู้สัญญาณการเมือง รู้ดีรัฐบาลประยุทธ์ที่ประกอบด้วยหลายพรรคร่วมรัฐบาล พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา และพรรคขนาดเล็ก ภาพรวมยังรวมกันเป็นรัฐบาล แต่เมื่อมองลงลึกไปเนื้อในต่างเห็นรอยร้าว รอยปริ พร้อมแยกวงกันได้ทุกเมื่อ เลยต้องเตรียมพร้อมกันไว้ 

    พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี วันเวลาราชการ ปฏิบัติภารกิจตรวจราชการเกี่ยวกับปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ในฐานะผู้กำกับดูแลโดยตรง เดินสายลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม ทว่าในแง่มุมการเมืองยากที่จะถูกมองเป็นการแอบหาเสียงแฝง ที่ได้แต้มอย่างน้อย 2 ต่อ ในฐานะผู้กำกับดูแลการแก้ไขปัญหาน้ำโดยตรง และได้ใจประชาชนที่อยากให้เร่งแก้ปัญหา มีผลพลอยได้ไปถึงพรรคพลังประชารัฐ  

    พล.อ.ประยุทธ์ ว่าที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีรวมไทยสร้างชาติจัดโปรแกรมเดินสายไปจังหวัดฐานเสียง ผู้สนับสนุน ไปทั้งภาคใต้ ภาคกลาง วางโปรแกรมไปทั้งเหนือ อีสาน ออดอ้อนขอให้พรรคสังกัดได้สัก 25 ที่นั่ง เสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ  

    พรรคภูมิใจไทย ภายใต้การนำของ เสี่ยหนู-นายอนุทิน ชาญวีรกูล และครูใหญ่ คีย์แมนคนสำคัญ เสี่ยโอ้ง-เนวิน ชิดชอบ เปิดมหกรรมดึง-ดูดนักการเมืองแทบทุกค่าย หวังยกระดับจากพรรคต่ำ 100 ไปสู่ทะลุ 100 ให้เป็นหนุ่มเนื้อหอม ยกชั้นพรรคขนาดใหญ่ ไม่ว่าฝ่ายไหนต่างอยากได้ไปร่วมจัดตั้งรัฐบาลด้วย 

    ประชาธิปัตย์ ขอทวงศักดิ์ศรีคนใต้ วางเดิมพันสูง นอกจากต้องรักษาฐานเสียงเดิมที่มีอยู่แล้วไม่ให้เสียไปอีก ยังต้องเพิ่มแต้ม ขยายฐานการเมือง โดยเฉพาะภาคใต้ พื้นที่ กทม. เลือกตั้งรอบหน้า ส.ส.กทม.จะเป็นศูนย์อีกไม่ได้ ไม่เช่นนั้นยิ่งเป็นการตอกย้ำ ศรัทธา ความน่าเชื่อถือ คงจะสูญสิ้นกันหมดในยุคจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นหัวหน้าพรรค 

    พรรคเพื่อไทย ตั้งเป้าทวงอำนาจรัฐ อำนาจการเมือง ร้างรามาร่วม 10 ปี เพื่อสานภารกิจบันไดขั้นต่อไป แก้รัฐธรรมนูญ ที่เป็นอุปสรรคขวากหนามการเข้าสู่อำนาจ ปฏิปักษ์ทางการเมือง จึงต้องเร่งเดินสายหาเสียง ออดอ้อนขอคะแนน ไปสู่เป้าหมายชนะเลือกตั้งแลนด์สไลด์  

    พรรคก้าวไกล ยึดมั่นในนโยบายเฉพาะ ปฏิรูปกองทัพ กระบวนการยุติธรรม และประเด็นอ่อนไหว ทะลุฟ้า หวังครองใจฐานเสียง ตลาดการเมืองเฉพาะกลุ่ม ที่ในวันนี้ไม่มีพรรคไหนเข้ามาแชร์แบ่งแต้มด้วย ก็ยังคงมุ่งหวังรักษาอัตราส่วน ส.ส.ให้คงระดับเดิมเหมือนสมัยปี 2562  

    พรรคร่วมฝ่ายค้านทำหน้าที่ขย่มรัฐบาล บีบรัดให้สละอำนาจการเมือง อันเป็นเรื่องปกติ แต่ทุกวันนี้ฝ่ายรัฐบาลไม่ได้รบเฉพาะพรรคฝ่ายค้านเท่านั้น ปัญหาต่างๆ รุมเร้าในพรรคร่วมรัฐบาล พ.ร.บ.กัญชง กัญชาฯ ตามที่พรรคภูมิใจไทยเร่งผลักดันอยากให้ผ่านสภาในสมัยประชุมนี้ พรรคร่วมรัฐบาล ประชาธิปัตย์ ขวางอย่างสุดฤทธิ์ โดยได้แนวร่วมจากสมาชิกหลายคนในพรรคพลังประชารัฐ ไม่อยากให้กฎหมายนี้ผ่านสภา ปัญหายาเสพติดแพร่ระบาด ยาบ้าราคาถูก ที่น่าเศร้าสลด แม้แต่บางพื้นที่ใน กทม. ไม่เพียงยาบ้าระบาดหนัก ยังมีผงขาวระบาดด้วย ที่แม้แต่ผู้คุมกฎหมายยังเอาไม่อยู่ แล้วยังจะเพิ่มปัญหากัญชา ส่งผลต่อสังคม-เยาวชน อนาคตของชาติอีก  

    กลายเป็นปัญหาการเมืองภายในรัฐบาลไม่ให้ความร่วมมือ งานนี้ฝ่ายค้าน เพื่อไทย ก้าวไกล รอเก็บเกี่ยวประโยชน์ นั่งบนภู ปล่อยให้คนในรัฐบาลฟัดกันเอง 

    ภูมิใจไทย ภายใต้การนำของ เสี่ยหนู-อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาที่ดีของ พล.อ.ประยุทธ์ ทว่าในมวลหมู่สมาชิก จากที่เคยเป็นเด็กดีเริ่มเป็นเด็กดื้อ ออกลูกเขี้ยว สมาชิกในพรรคบางคนส่งสัญญาณแรงๆ ขู่รัฐบาล ไม่ขออยู่เป็นองค์ประชุมให้กฎหมายของรัฐบาล ไมว่าจะเป็นเรื่องอะไร จำนวนสมาชิกที่ทำหน้าที่ได้ทุกวันนี้ทยอยลาออกลดน้อยอยู่แล้ว ยังมาเจอเกมการเมือง รุมบีบทั้งฝ่ายตรงข้าม ฝ่ายรัฐบาลด้วยกันเองอีก 

    ศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ จากพรรคภูมิใจไทย ยังออกมาตัดพ้อ 

    “ผมขอระบายบ้าง ใช่ว่าผมจะไม่อึดอัด เข้ามาเป็น ส.ส.รอบนี้ ตั้งใจมาทำงานเต็มที่ ขนาดเป็นรองประธาน เวลาขึ้นบัลลังก์ก็ทำหน้าที่ประธาน ลงจากบัลลังก์ก็ไปทำหน้าที่สมาชิกช่วยเป็นองค์ประชุม พยายามทำมาโดยตลอด ผมเห็นบรรยากาศอย่างนี้ อย่าว่าแต่พวกท่านเหนื่อยหน่าย ผมก็เบื่อหน่ายเช่นกัน ถ้าเป็นไปได้ อยากเรียกร้องเหมือนนายครูมานิตย์ (สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคภูมิใจไทย) ว่าท่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถ้าได้ยินก็รีบยุบสภาเสีย เพราะ ส.ส.ไม่อยากประชุมแล้ว รัฐมนตรีก็ไม่ยอมมาตอบกระทู้ในที่ประชุม ท่านจะอยู่ไปทำไม ผมก็มีอารมณ์อยากระบายเหมือนกัน” 

    พรรคภูมิใจไทย ด้วยปัจจัยกระสุน ความพร้อมไม่น้อยหน้าพรรคอื่น ยกชั้นขึ้นชื่อเป็นพรรคจอมดูด-ดึง ติดต่อ ทาบทามนักการเมืองทั้งในฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน แย่งตัวนักการเมืองท้องถิ่นให้ย้ายขั้วมาร่วมงานด้วย ตลาดการเมืองลงไปเล่นในตลาดเดียวกันกับพรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคประชาธิปัตย์ ในสนามเลือกตั้ง พื้นที่ภาคใต้ 58 ทื่นั่ง ไปต่อสู้ แย่งเค้กก้อนเดียวกัน  

    เรื่องการเมืองนอกสภาปนกับเรื่องในสภา เลยเกิดปัญหาอย่างที่เห็นกันอยู่ สภาล่มซ้ำซาก บ่อยครั้ง ตั้งแต่ปีก่อนลามมาปีนี้ จนถูกตั้งฉายา สามวันหนี สี่วันล่ม ผู้บริหารประเทศอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ ฉายา แปดเปื้อน ภายใต้ รัฐบาลหน้ากากคนดี แง่มุมลบต่างๆ ถาโถมเข้าใส่รัฐบาล 

    ความสัมพันธ์พี่น้อง 2 ป. เกาะเกี่ยวอำนาจตั้งแต่เป็นพี่น้องในค่ายทหาร ร่วมรบจนมีอำนาจ บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ นับแต่ก้าวสู่ถนนการเมืองอย่างเต็มตัว รอเพียงจังหวะเหมาะสมจะได้รับเทียบเชิญเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในนามพรรครวมไทยสร้างชาติ บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และว่าที่แคนดิเดตหนึ่งเดียวในนามพลังประชารัฐเช่นกัน ชัดเจนยังปักหลักทำงานการเมืองในค่ายพลังประชารัฐ  

    พรรคพี่พรรคน้องเปิดศึกแย่งชิงบุคลากรทางการเมือง มือทำงานทั้งบุ๋น-บู๊ ในสภา นอกสภา หวังให้เกิดความได้เปรียบทางการเมืองมากที่สุด ทำท่าจะเปิดศึกกันเองผ่านสนามเลือกตั้ง จากความไม่ลงรอย แนวคิด บุคคลที่ต้องทำงานด้วย จึงออกมาแยกค่าย ทำการเมืองในแบบฉบับตัวเอง แย่งชิงบุคลากรการเมือง ปาดหน้ากันลงพื้นที่ สมาชิกในพรรคต่างเคลมแย่งชิงผลงาน นโยบาย เป็นเจ้าตำรับ หาใช่อีกฝั่งทำอย่างที่พยายามจะเคลมเอาไป          

    พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย รวมไทยสร้างชาติ แย่งชิงตลาดภาคใต้กลุ่มเดียวกัน ที่ไม่รู้ว่าระหว่างเลือกตั้ง หลังเลือกตั้ง จะยังมองหน้ากันติด มีผลส่งไปถึงการรวมขั้วแย่งชิงจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ 

    ฝั่งฝ่ายค้าน เพื่อไทย สำรวจความนิยมไปได้สวย บุคลากร ทีมงาน นโยบายพร้อม แต่ก็มีปมคาใจของคนกันเอง จตุพร พรหมพันธุ์ กับ ทักษิณ ชินวัตร ลามไปสมาชิกพรรคเพื่อไทย ยกแรกจตุพรออกมาแฉการหักหลัง โดนกระทำจากลูกพี่เก่า พรรคเคยสังกัด ทำให้เพื่อไทยสะเทือนไม่น้อย ยังไม่รู้ไม้ตาย-ไพ่เด็ดโค้งสุดท้ายเลือกตั้งจะมีการแฉรอบ 2 อีกหรือไม่ จะส่งผลต่อความนิยมเพื่อไทย กลายเป็นขวากหนามแลนด์สไลด์หรือไม่  

    ภาวะรัฐนาวาประยุทธ์ และพรรคร่วมรัฐบาล เดินทางมาถึงโค้งสุดท้ายทางการเมือง ช่วงเวลาใกล้หมดอำนาจ บิ๊กราชการเกียร์ว่าง ขาลอย สภาล่มซ้ำซาก บ่อยครั้ง สร้างความระอาต่อผู้คนในสังคมและนักการเมืองด้วยกันเอง ปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้อง ยาเสพติดระบาดหนัก โควิดยังไว้วางใจไม่ได้  

    เกมชิงเหลี่ยม ชิงไหวชิงพริบ ที่เกิดทั้งฝั่งฝ่ายค้านกับฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายรัฐบาล ล่าสุดมาเจอปัจจัยกระตุ้นร้อนๆ ทางการเมืองจากภูมิใจไทย องค์ประกอบครบแห่งความไม่มีเสถียรภาพ สั่นคลอนรัฐบาลที่ครองอำนาจมา 8 ปี เข้าโค้งสุดท้าย เลิกเกรงใจกัน หักเหลี่ยม เฉือนคม อาจเป็นปัจจัยเร่งเร้าให้บิ๊กตู่กดปุ่มยุบสภาเร็วยิ่งขึ้น ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ลุยเปิดกาสิโนส่อสะดุด กฤษฎีกาโดดขวางเต็มสูบ

แนวคิดการทำให้ พนันออนไลน์ ขึ้นมาอยู่บนดิน ตามที่ทักษิณ ชินวัตร ผู้นำรัฐบาลเพื่อไทยตัวจริงส่งสัญญาณมา หลายคนยังมองโมเดลนี้ไม่ออกว่าจะทำได้อย่างไร เพราะน่าจะติดล็อกข้อกฎหมายหลายอย่าง รวมถึงต้องเจอแรงต้านในส่วนของภาคประชาสังคม

1ประเทศ2นายกฯ ระวังจบซ้ำรอยเดิม?

มีหลายส่วนในสังคม คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกอึดอัดกับท่าทีของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่พ้นโทษออกมาโดยไม่ติดคุกแม้แต่วันเดียว แต่ทำตัวเปรียบเหมือนเป็นเจ้าของรัฐบาล

เหลี่ยม"ทักษิณ"หาเสียงนายกอบจ. ก้ำกึ่ง สุ่มเสี่ยง ผิดกฎหมายเลือกตั้ง

การปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.ของ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯ กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง ทั้งสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายเลือกตั้ง และพาดพิงคู่ปรับทางการเมืองอย่างดุเดือด

'คุมขังนอกเรือนจำ'ความหวังใหม่ ระบบยุติธรรมหรือประตูสู่ความลำเอียง

ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในระบบยุติธรรม โดยในปี 2568 กรมราชทัณฑ์จะเริ่มใช้ ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ ซึ่งเป็นนโยบายใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อลดความแออัดในเรือนจำ

‘แม้ว’ห้าว!ผ่านสนาม อบจ. ท่าทีมั่นใจ‘ความปลอดภัย’

ห้าวทุกเวที! 4 จังหวัด อุดรธานี อุบลราชธานี เชียงใหม่ เชียงราย ที่ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี ไปช่วยผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือนายก อบจ.หาเสียง

ก้าวต่อไป ‘รทสช.’ ปี 2568 ติดสปีดผลงาน-โกยคะแนน

ต้องฝ่าฟันมรสุมกันระลอกใหญ่ส่งท้ายปี 2567 สำหรับ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จากพรรคน้องใหม่จนถึงปัจจุบันสู่ปีที่ 3 แล้ว ภายใต้การนำของ “พี่ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรค และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรค ซึ่งพรรคได้โควตาร่วมทัพรัฐบาลเพื่อไทย และได้กระทรวงที่หมายปองมาครอบครองสมใจ