กกต.เดินหน้าแก้ กม.ลูก ก่อนลุยเลือกตั้งใหญ่

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในช่วงนี้ มีเรื่องที่ต้องทำไม่หยุด ทั้งต้องเตรียมจัดการเลือกตั้งสมาชิก และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) การเลือกตั้ง กทม.และพัทยาที่จะมีขึ้นในอนาคต และเรื่องที่วุ่นที่สุดคือการตรียมการเลือกตั้ง ส.ส.ที่จะมาในอีกไม่กี่ปี โดยหลังจากรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 1 พ.ศ.2564 ที่กำหนดให้กลับมาใช้บัตรเลือกตั้ง ส.ส.เป็น 2 ใบ และเปลี่ยนจำนวน ส.ส.บัญชีแบบแบ่งเขต 400 และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 100 คน ลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ทาง กกต.จะต้องมีเรื่องที่ต้องดำเนินการอย่างมากมาย

ซึ่งขั้นตอนของ กกต.ในขณะนี้คือ การยกร่างกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับคือ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.ด้วยพรรคการเมือง โดย กกต.ต้องส่งหนังสือถึงผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทั่วประเทศแล้ว เพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องและประชาชน

หลังจากนั้น กกต.จังหวัดส่งความคิดเห็นกลับมาที่ กกต.กลางเพื่อนำมารวบรวม จากนั้นจะส่งต่อไปยังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และส่งไปที่สำนักงานกฤษฎีกาเพื่อดูความเรียบร้อยอีกทีหนึ่ง ก่อนประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งมีแค่กฎหมายลูก ส.ส.ที่ผ่านที่ประชุม กกต.แล้ว และเตรียมรับฟังความคิดเห็น ส่วนกฎหมายลูกพรรคการเมืองยังคงต้องรอยกร่างต่อไป

เรื่องหลักๆ ในการแก้ไขกฎหมายลูก ส.ส. มีอยู่ 37 มาตรา มีสาระสำคัญคือ การให้มีบัตร 2 ใบ จำนวน ส.ส.เขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน การคำนวณคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และการแบ่งเขตใหม่ 400 เขต ให้เสร็จภายใน 90 วัน ส.ส.ใช้เบอร์เดียวกับพรรค ลดเวลาการเลือกตั้งเป็น 08.00-16.00 น. เพิ่มกรรมการประจำหน่วยเป็น 9 คน และกำหนดจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งต่อหน่วยเป็น 800 คน

โดยสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะต้องนำคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับเลือกตั้งทั้งประเทศมารวมกันหารด้วย 100 เพื่อให้ได้คะแนนต่อ ส.ส. 1 คน หากจัดสรรแล้วยังไม่ครบ 100 คน ก็จะจัดสรรให้กับที่คะแนนเหลือเศษ

ถ้าถามความรู้สึก กกต.ผู้ที่เป็นกรรมการตัดสินการเลือกตั้ง ต้องบอกว่าสูตรแบบบัตรใบ 2 ใบ คำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อง่ายกว่ามาก เนื่องจากการเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบ ประกอบด้วย 1.ใบเลือกผู้สมัคร ส.ส.แต่ละพื้นที่ที่ตัวเองชอบ 2.ใบเลือกพรรคที่ตัวเองชอบ การคำนวณบัญชีรายชื่อก็จะใช้แค่คะแนนเลือกพรรคการเมือง ถ้าประชาชนเข้ามาใช้สิทธิ์เลือกตั้งเป็นจำนวน 35 ล้านเสียง จะนำตัวเลขนี้เป็นตัวตั้ง แล้วนำมาหาร 100 จะได้เกณฑ์ค่าเฉลี่ยที่ 350,000 คะแนน แล้วนำคะแนนเลือกพรรคนั้นๆ มาหารกับค่าเฉลี่ย จึงจะได้จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อเข้าสภา พรรคไหนถ้าต่ำกว่านั้นก็หมดสิทธิ์ไป เพื่อแก้ปัญหาไม่ให้มี ส.ส.ปัดเศษ หรือ ส.ส.ที่เสียงไม่ถึง นั่นทำให้ กกต.สามารถตอบคำถามเรื่องจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อแต่ละพรรคง่ายกว่าครั้งที่แล้ว และตัดปัญหาเรื่องบัตรเขย่ง ซึ่งวิธีนี้พรรคใหญ่จะได้ประโยชน์เต็มๆ

เปรียบเทียบกับสูตรคำนวณบัญชีรายชื่อการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ที่จะมีกระบวนการหลายขั้นตอน เริ่มจากรวมคะแนนทั้งประเทศ ต่อมานำผลรวมตั้ง แล้วนำจำนวน ส.ส.ทั้งหมดในสภาไปหาร ซึ่งปกติมี 500 คน แล้วจะได้ตัวเลขคะแนนต่อ ส.ส. 1 คนออกมา หลังจากนั้นเมื่อทราบคะแนนต่อ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 1 คนแล้ว ก็จะไปหารคะแนนรวมของพรรค เพื่อให้ทราบว่าแต่ละพรรคควรมี ส.ส.เข้าไปในสภาทั้งหมดกี่คน หรือที่เรียกว่า ส.ส.พึงมี หลังจากนั้นนำ ส.ส.พึงมีที่ได้มาไปตั้ง แล้วลบด้วย ส.ส.เขตที่แต่ละพรรคได้ เพื่อดูว่าถ้าไม่คิด ส.ส.เขตแล้วจะเหลืออีกกี่ที่นั่งให้แต่ละพรรค ต่อมาเอาแต่จำนวนเต็ม พักเศษไว้ก่อน และเทียบกันว่าพรรคไหนได้เศษมากที่สุด จะเห็นได้ว่ากว่าจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อมาลำบากขนาดไหน ถ้าลงลึกถึงการคำนวณแบบละเอียดมึนกันทั้งประเทศ แต่ข้อดีของสูตรนี้คือ พรรคเล็กที่ได้คะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อโดยที่คะแนนของพรรคตัวเองไม่จำเป็นต้องได้ถึงแสน คุณก็ได้ ส.ส.เข้าไปนั่งในสภา โดยครั้งที่แล้วคะแนนขั้นต่ำที่ถูกนำมานับได้คือ 70,000 คะแนน

นั่นจึงทำให้ก้าวไกล (อดีตอนาคตใหม่) ไม่ถูกใจสิ่งนี้ เพราะเสียประโยชน์เต็มๆ จะเห็นได้ว่า ส.ส.แบบแบ่งเขตได้ไม่กี่ที่นั่ง บวกกับบัญชีการเลือกตั้งครั้งหน้าจะถูกตัดออกไปเหลือแค่ 100 จาก 150 คน การที่ได้ ส.ส.เขต ก็ไม่ได้หมายความว่าจะนำคะแนนตรงนี้มาให้กับบัญชีรายชื่อเสมอไป ขึ้นอยู่กับว่าบัตรอีกใบประชาชนจะเลือกพรรคก้าวไกลหรือไม่

ส่วนการเปลี่ยนเป็นการใช้เบอร์เดียว ทั้งพรรคและปาร์ตี้ลิสต์ทั่วประเทศ เป็นผลดีมากกว่าผลเสีย ข้อแรก ประชาชนก็เข้าใจดีว่าบัตรใบที่ 1 เลือกบุคคล บัตรที่ 2 เลือกพรรค ทำให้จำง่ายมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับครั้งที่สลับเบอร์ทุกพื้นที่ทุกพรรคกันมั่วซั่ว ก็จะทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดกันได้ ทั้งนี้ เพื่อความสะดวกของประชาชนในการกาบัตร

ส่วนขั้นตอนการทำ "ไพรมารี" โหวต ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่พรรคการเมืองจะต้องหนักใจคือ การจัดตั้งสาขาพรรคการเมือง โดยต้องมีที่ตั้งสาขาพรรคการเมืองและคณะกรรมการสาขาพรรคการเมืองอยู่ในเขตเลือกตั้งนั้น และต้องมีสมาชิกพรรคการเมืองที่มีภูมิลําเนาในเขตเลือกตั้งนั้นตั้งแต่ 500 คนขึ้นไป และแจ้งต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง หากไม่ดําเนินการดังกล่าว พรรคการเมืองก็จะไม่สามารถส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบ่งเขตเลือกตั้งในจังหวัดนั้นได้ หรือจะไม่สามารถแต่งตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัดในเขตเลือกตั้งในจังหวัดนั้นได้ จึงเป็นเรื่องที่ กกต.จะต้องแก้ไขเร่งด่วนเช่นกัน ซึ่งขณะนี้ตัวร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมืองยังไม่ได้มีการเปิดเผย แต่เชื่อว่าเมื่อผ่านที่ประชุม กกต.แล้วเราคงจะได้เห็นร่างตัวเต็มในอีกไม่ช้า

หลังจากแก้กฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับแล้ว นอกจากประชาชน และบางพรรคการเมือง ที่จะได้รับประโยชน์จากตรงนี้แล้ว เชื่อว่า กกต.ก็จะสะดวกต่อการทำงานมากขึ้น และมั่นใจมากขึ้นต่อการตอบคำถามของสื่อมวลชนและประชาชน

สุดท้ายแล้วจึงต้องดูว่าเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว หน้าตาจะออกมาเป็นอย่างไร แต่คงไม่เปลี่ยนไปมากจากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กระตุก ‘กกต.’ ควรมีโครงการอบรมมารยาทผู้ช่วยหาเสียง ไม่ให้การหาเสียงน่าสมเพช

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โพสต์เฟซบุ๊ก เรื่อง 'สิ่งที่ ผู้ช่วยหาเสียง ควรรู้ในการหาเสียง'

ก้าวต่อไป ‘รทสช.’ ปี 2568 ติดสปีดผลงาน-โกยคะแนน

ต้องฝ่าฟันมรสุมกันระลอกใหญ่ส่งท้ายปี 2567 สำหรับ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จากพรรคน้องใหม่จนถึงปัจจุบันสู่ปีที่ 3 แล้ว ภายใต้การนำของ “พี่ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรค และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรค ซึ่งพรรคได้โควตาร่วมทัพรัฐบาลเพื่อไทย และได้กระทรวงที่หมายปองมาครอบครองสมใจ

การเมืองไทยปี 68 เข้มข้น-ขับเคี่ยว-ร้อนแรง ซักฟอกมี.ค.-ปรับครม.กลางปี

การเมืองไทยไม่ว่าปีไหนๆ ก็มีประเด็นร้อนเกิดขึ้นได้ตลอด บางเรื่องเกิดขึ้นตามปฏิทินการเมือง แต่บางประเด็นเป็นความร้อนแรงที่แทรกขึ้นมาแบบไม่มีใครคาดคิดมาก่อน

'ปชน.'ถอย'ม.112'แลกอุดมการณ์ เพิ่มคะแนนนิยม'เท้ง'เฉือน'อิ๊งค์'

ผลสำรวจความเห็นของประชาชน 'นิด้าโพล' สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) หัวข้อ ความนิยมทางการเมือง ในไตรมาส 4 ปลายปี 2567 ให้ผลที่น่าสนใจ เมื่อ 'เท้ง’- นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) เป็นนักการเมืองที่ประชาชนสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุดอันดับ 1

ปี67‘อดีตสว.’ขยับสะเทือนถึงรัฐบาล ถอดถอน‘เศรษฐา’ที่มาของหลายเรื่อง

การเมืองรอบปี 2567 เหตุการณ์ที่ใหญ่ที่สุดต้องยกให้กับศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ “เศรษฐา ทวีสิน” พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำให้ “แพทองธาร ชินวัตร” กลายเป็นนายกฯ หญิงคนที่ 2 ของประเทศไทย และทำให้หลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นตามมา วันนี้จึงขอบันทึกเรื่องราวนี้ไว้ ยกให้เป็นเหตุการณ์แห่งปี