นับหนึ่งเตรียมเลือกตั้ง จ่อเคาะแบ่งเขต ภารกิจร้อนกกต.

โรดแมปไปสู่การเลือกตั้ง ถึงตอนนี้เส้นทางชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากเมื่อวันเสาร์ที่ 28 มกราคมที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้มีการเผยแพร่การประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ นั่นก็คือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ 2)พ.ศ.2566 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ 2)พ.ศ.2566

ที่ก็คือ กฎหมายทั้งสองฉบับที่เป็นกฎหมายสำคัญ ซึ่งเป็นเครื่องมือ-กลไกในการที่จัดการเลือกตั้ง ได้มีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ทำให้นับจากนี้ เข้าสู่การเริ่ม

นับหนึ่งการเลือกตั้ง

ได้แล้ว เพราะไม่ว่าสุดท้ายพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะประกาศยุบสภาก่อน 24 มีนาคม 2566 หรือพลเอกประยุทธ์จะขออยู่ครบเทอม 4 ปี ไปจนถึง 23 มีนาคม 2566 ยังไงก็มีกลไกสำคัญรองรับการเลือกตั้งแล้ว คือกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.และกฎหมายพรรคการเมือง ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม ดูจากปัจจัยและสภาพแวดล้อมทางการเมืองทั้งหมด เห็นชัดว่าพลเอกประยุทธ์คง ยุบสภา แน่นอน

เพราะเป็นสิ่งที่ทุกพรรคการเมืองล้วนต้องการให้เกิดสิ่งนี้ เพื่อ ปลดล็อก การสังกัดพรรคการเมืองของคนที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง เพราะหากยุบสภา จะทำให้การสังกัดพรรคการเมืองของคนที่ลงเลือกตั้งเหลือแค่ 30 วันนับถึงวันเลือกตั้ง ซึ่งเป็นสูตรที่ฝ่าย รวมไทยสร้างชาติ-พรรคลุงตู่ ก็ต้องการเช่นกัน เพราะหลายพื้นที่ พรรครวมไทยสร้างชาติก็ยังจัดตัวคนลงเลือกตั้งไม่เรียบร้อยดี ขณะเดียวกัน ส.ส.ในสภา ปัจจุบันที่จะย้ายมารวมไทยสร้างชาติ หลายคนที่อยู่ในพลังประชารัฐและประชาธิปัตย์ ประกาศแล้วจะขออยู่เป็น ส.ส.จนถึงหลังสภาปิด 28 ก.พ. ทำให้หากไม่ยุบสภา จะทำให้การสังกัดพรรคจะกลายเป็น 90 วันนับถึงวันเลือกตั้ง ที่จะส่งผลให้หลายคนที่จะย้ายมารวมไทยสร้างชาติอาจฟาวล์ได้ เพราะเข้าพรรครวมไทยสร้างชาติไม่ครบ 90 วัน

  การยุบสภา จึงเป็นทางเลือกตั้งที่พลเอกประยุทธ์ต้องทำเช่นนั้น เพื่อให้ทุกพรรคการเมืองได้กันหมด รวมถึงรวมไทยสร้างชาติด้วย 

ที่ก็คาดหมายกันว่า พลเอกประยุทธ์อาจจะยุบหลังสภาปิดสมัยประชุม 28 ก.พ. คือไป ยุบช่วงมีนาคม เพื่อให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ เพราะตามรัฐธรรมนูญ หากมีการยุบสภา ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน แต่ส่วนใหญ่ก็จะอยู่แค่ช่วงเต็มที่ไม่เกิน 45 วันเท่านั้น คงไม่ลากยาวจะขอจัดเลือกตั้งถึง 60 วันหลังยุบสภา

ถ้าเป็นไปตามนี้ หากนายกรัฐมนตรียุบสภาช่วงกลางเดือนมีนาคม ก่อนสภาครบวาระหนึ่งสัปดาห์ ก็จะไปเลือกตั้งกันช่วงปลายเดือนเมษายน หลังสงกรานต์ ซึ่งทุกพรรคการเมืองน่าจะขานรับ

 อีกทั้งหากพลเอกประยุทธ์ไปยุบสภา ก่อนการเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ที่จะอภิปรายกัน 15-16 ก.พ. ตัวนายกฯ จะถูกหาว่ายุบสภาหนีการถูกอภิปรายทั่วไป

 ขณะเดียวกัน การยุบสภาช่วงเดือนมีนาคม ในทางการเมือง ปฏิเสธไม่ได้ว่าทำให้รวมไทยสร้างชาติมีเวลามากขึ้นในการจัดทัพภายในพรรคเพื่อเข้าสู่การเลือกตั้ง เพราะในความเป็นพรรคใหม่ เพิ่งตั้งมาได้ไม่นาน ทำให้การเตรียมพร้อมเลือกตั้งยังตามหลังพรรคอื่นอยู่เยอะ ดังนั้น หากพลเอกประยุทธ์ยุบสภา ช้าที่สุด จะทำให้รวมไทยสร้างชาติมีเวลามากขึ้น

อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้พลเอกประยุทธ์ยังไม่รีบยุบสภา และเป็นปัจจัยสำคัญก็คือ แม้จะมีการประกาศใช้กฎหมายเลือกตั้งส.ส.และกฎหมายพรรคการเมืองแล้ว แต่กระบวนการเพื่อเตรียมรองรับการเลือกตั้ง ของ กกต.ก็ต้องใช้เวลาอีกพอสมควร เช่นต้องขอเวลาในการออกระเบียบต่างๆ เพื่อรองรับการเลือกตั้ง โดยเฉพาะเรื่องสำคัญเลยคือ การประกาศแบ่งเขตเลือกตั้งทั่วประเทศ 400 เขต ที่ต้องออกตามระเบียบการเลือกตั้ง ส.ส.ฉบับใหม่ ที่จะเรียกกันว่า ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2566

โดยจังหวัดที่ไม่ได้จำนวน ส.ส.เพิ่มขึ้นจากตอนเลือกตั้งปี 2562 ในส่วนนี้จะไม่ค่อยมีปัญหามากนัก แต่จังหวัดที่มี ส.ส.เพิ่มขึ้นมา เช่น กรุงเทพมหานคร จากเดิมตอนเลือกตั้งปี 2562 มี ส.ส. 30 คน แต่เลือกตั้งที่จะมีขึ้น จะมี ส.ส.เพิ่มขึ้นมา 3 คนเป็น 33 คน ทำให้ต้องแบ่งเขตเลือกตั้งกันใหม่ ซึ่งการแบ่งเขตเลือกตั้ง เป็นขั้นตอนที่ทาง กกต.กลาง กับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ต้องมาพิจารณาร่วมกัน

โดยเริ่มที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทั่วประเทศ ต้องทำพิมพ์เขียวการแบ่งเขตเลือกตั้งออกมาไม่น้อยกว่า 3 รูปแบบ จากนั้นนำการแบ่งเขตดังกล่าว ไปปิดประกาศยังสถานที่ราชการและในเว็บไซต์ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น พรรคการเมือง-ประชาชน เป็นเวลา 10 วัน จากนั้นสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งจังหวัดประมวลสรุปภายใน 3 วัน ว่ารูปแบบการแบ่งเขตที่เหมาะสมควรเป็นรูปแบบใด และส่งให้ กกต.กลาง เพื่อพิจารณาชี้ขาดเคาะออกมา แล้วประกาศเขตเลือกตั้ง 400 เขตทั่วประเทศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

นอกจากนี้ การที่ยังยุบสภาไม่ได้ตอนนี้  เพราะต้องให้เวลาพรรคการเมืองในการทำไพรมารีโหวตผู้สมัครรับเลือกตั้งแต่ละเขตทั่วประเทศ ที่ตามกฎหมายพรรคการเมืองให้ใช้วิธีการทำไพรมารีโหวตแบบรายจังหวัดได้ ไม่ต้องทำทุกเขตเลือกตั้ง

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ต้องให้เวลาทาง กกต.-เจ้าหน้าที่ กกต. ได้มีเวลาเตรียมการจัดเลือกตั้งพอสมควร อย่างน้อยก็อาจประมาณ 30-40 วัน หลังจากนี้

ซึ่งกระบวนการต่างๆ ต่อจากนี้ เรื่องที่พรรคการเมือง-ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. โดยเฉพาะระบบเขตเฝ้าติดตามก็คือ การแบ่งเขตเลือกตั้งของ กกต.ว่าจะออกมาอย่างไร และเป็นการแบ่งเขตเลือกตั้งที่ทำให้พรรคการเมืองใดได้เปรียบทางการเมืองหรือไม่?

 ที่เชื่อว่า ถึงต่อให้ กกต.แบ่งเขตออกมาอย่างไร ก็เลี่ยงไม่พ้นที่จะมีคนไม่พอใจ โดยเฉพาะคนที่เห็นว่าการแบ่งเขตดังกล่าวทำให้เสียเปรียบคู่แข่งขัน เช่น เขตเลือกตั้งที่ตัวเองมีคะแนนดี มีฐานเสียงถูกแยกออกไปอยู่เขตอื่น แบบนี้ รับรองว่ามีเสียงโวยวาย กกต.เกิดขึ้นแน่นอน

ที่น่าสนใจก็คือ มีข่าวว่ามีนักการเมืองดังๆ หลายคนกำลังรอผลการแบ่งเขตเลือกตั้งของกกต.ว่าจะออกมาแบบไหน เพื่อจะได้ตัดสินใจในการลงสมัคร ส.ส. เช่น มีกระแสข่าวว่า กรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า-อดีต รมว.การคลัง กำลังอาจตัดสินใจลงสมัคร ส.ส.เขตกรุงเทพมหานคร เพื่อหวังกลับไปเป็น ส.ส.เขต กทม.อีกครั้ง หลังก่อนหน้านี้เปิดตัวเข้าสู่การเมืองครั้งแรกเมื่อปี 2548 ด้วยการชนะเลือกตั้งได้เป็น ส.ส.เขต กทม.ประชาธิปัตย์ ในพื้นที่บางคอแหลม-ยานนาวา ที่ตอนเลือกตั้งปี 2562 อยู่ในเขต 3 กทม. ซึ่งหาก กกต.แบ่งเขตใหม่ โดยแยกเขตสาทร ที่ตอนเลือกตั้งปี 2562 อยู่เขต 2 กับบางรัก-ปทุมวัน มารวมกับเขตเลือกตั้ง ยานนาวา-บางคอแหลมด้วย 

ก็อาจเข้าทางหัวหน้าชาติพัฒนากล้า เพราะ กรณ์อาจยังเชื่อว่า ฐานเสียงคนชั้นกลางในย่านสาทร น่าจะชอบตัวนายกรณ์และนโยบายเศรษฐกิจของชาติพัฒนากล้า ผสมกับเชื่อว่า ยังพอมีคะแนนนิยมเดิมแถวยานนาวา-บางคอแหลมอยู่ จนทำให้อาจมีลุ้นชนะเลือกตั้งได้ แต่ก็มีข่าวอีกกระแสว่า ไม่แน่กรณ์อาจลงสมัครเขต 2 บางรัก-ปทุมวัน ที่ข่าวว่าเขตนี้สู้กันมันหยดไปเลยก็ได้ แต่ทั้งหมดอยู่ที่ การแบ่งเขตของ กกต.ที่จะออกมา

การแบ่งเขตเลือกตั้งของ กกต.ที่จะออกมา จึงเป็นเรื่องสำคัญที่แวดวงการเมืองกำลังเฝ้าติดตาม หลังจากเริ่มนับหนึ่ง เข้าสู่การเลือกตั้งตั้งแต่บัดนี้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?

ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่

ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด

นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย

จับตาคลอดโผแต่งตั้ง“นายพลใหญ่” ตำรวจคนสนิทฝั่งรัฐบาลพรึบยกแผง

จับตาบ่ายวันนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายล็อตแรก “นายพลใหญ่” ระดับรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ-ผบช. ที่นายกฯ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2567 เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อ “พล.ต.อ.-พล.ต.ท.” วาระประจำปี 2567

ยากจะขวาง‘โต้ง’นั่งปธ.บอร์ดธปท. แนวต้านขอสกัดจนนาทีสุดท้าย!

แม้จะมีข่าวว่า กรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติเลือก เสี่ยโต้ง-นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ให้เป็นประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่

'พงษ์ศักดิ์' แชมป์เก่า 6 สมัย ร้องประธาน กกต. สั่งระงับรับรองผลเลือกตั้งนายก อบจ.ขอนแก่น

นายพงษ์ศักดิ์ ตั้งวานิชกพงษ์ ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น หมายเลข 2 ได้ทำหนังสือเข้าร้องเรียน ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หลังตรวจพบว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น หมายเลข 1 ได้หาเสียงเลือกตั้งโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านเฟสบุ๊ค จ

‘สนธิญา’ ยื่น กกต.สอบ ‘ทักษิณ’ ถือสัญชาติไทย-มอนเตฯ หรือไม่ เสี่ยงผิดกม.เลือกตั้งท้องถิ่น

สนธิญา ยื่น กกต.สอบ ทักษิณ ถือสัญชาติไทย-มอนเตฯ หรือไม่ เสี่ยงผิดกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น-พรรคการเมือง-รธน. ห้ามคนต่างชาติเอี่ยวการเลือกตั้งทุกระดับ  พ่วงร้องสอบหาเสียงหยาบคาบ เป็นเท็จ อาจทำเลือกตั้ง อบจ.อดุรฯ โมฆะ