การขยับทางการเมืองหลายท่วงท่าของ บิ๊กป้อม-พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ในช่วงนี้ บ่งชี้ทางการเมืองให้เห็นชัด
“ลุงป้อมเอาแน่ เอาจริง”
กับการหวังจะขอเป็น นายกรัฐมนตรีคนที่ 30
ด้วยการทำให้ พลังประชารัฐ มีสรรพกำลังที่เข้มแข็งที่สุดในการลงทำศึกเลือกตั้ง แม้จะไม่มีพลเอกประยุทธ์มาเป็นจุดขายทางการเมืองในช่วงหาเสียงเลือกตั้งเหมือนตอนเลือกตั้งปี 2562 รวมถึงพรรคต้องเจอกับปัญหาแกนนำ-ส.ส.-อดีต ส.ส.พลังประชารัฐ-อดีตผู้สมัคร ส.ส.เขตเกรดเอของพรรคหลายคน ย้ายออกจากพลังประชารัฐไปอยู่พรรคอื่นกันหลายสิบคน
แต่พบว่าบิ๊กป้อมพยายามแก้เกม-พลิกสถานการณ์ ไม่ยอมตกอยู่ในอาการตั้งรับ ด้วยการดึงนักการเมืองระดับบิ๊กเนม มีชื่อชั้นทางการเมือง-ส.ส.-อดีต ส.ส.-บ้านใหญ่ตระกูลการเมืองแต่ละจังหวัดเข้าพลังประชารัฐ ซึ่งมีทั้งที่เปิดตัวแล้วและกำลังเจรจากันอยู่อีกหลายคน อย่างล่าสุดที่เปิดตัวไปเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมาก็คือ สกลธี ภัททิยกุล อดีตรองผู้ว่าฯ กทม.ที่คัมแบ็กกลับพลังประชารัฐอีกครั้ง เพื่อมาเป็นหัวหน้าทีมดูแลพื้นที่เลือกตั้ง กทม.ให้พลังประชารัฐ เป็นต้น
แต่ที่ฮือฮาในแวดวงการเมืองช่วงสุดสัปดาห์นี้ก็คือ การเปิดปฏิบัติการ ปาดหน้าการเมือง อีกครั้ง ซึ่งไม่ได้ไปปาดหน้าน้องตู่-พลเอกประยุทธ์ อย่างที่เคยทำ แต่รอบนี้เล่นปาดหน้า เจ๊หน่อย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ด้วยการเปิดปฏิบัติการเปิดดีลแบบ
"มาเร็ว เคลมเร็ว ม้วนเดียวจบ”
กับ กลุ่มสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และสร้างอนาคตไทย
ที่บิ๊กป้อมไปดึงกลุ่มสมคิดให้คัมแบ็ก-รีเทิร์นกลับพลังประชารัฐ ที่ข่าวว่าบิ๊กป้อมใช้เวลาในการเจรจาพูดคุยแค่ 2-3 ครั้งเท่านั้น และใช้เวลาแค่ประมาณหนึ่งสัปดาห์ก็ดีลจบ ไม่ยืดเยื้อเหมือนการเจรจารวมพรรคระหว่างไทยสร้างไทยกับสร้างอนาคตไทย ที่ใช้เวลาในการพูดคุยกันมาแล้วร่วม 3 เดือนกว่า ตั้งแต่ปลายปี 2565 ก็ยังปิดดีลไม่ลง เพราะติดขัดเงื่อนไขหลายอย่าง เช่นเรื่อง ชื่อพรรคที่จะใช้หากมีการรวมพรรคกัน จนทำให้การเจรจารวมพรรคยืดเยื้อหลายเดือน
โดยมีกระแสข่าวว่าระหว่างที่การเจรจารวมพรรคระหว่างไทยสร้างไทยกับอนาคตไทยยืดเยื้อ ปรากฏว่าระหว่างนั้นคนในกลุ่มสมคิดเริ่มคุยกันหนักว่า แค่ขนาดจะมารวมพรรคกันยังมีปัญหามากขนาดนี้ ใช้เวลาคุยกันหลายเดือน แล้วหากสุดท้ายรวมกันจริงก็ต้องเคลียร์เรื่องอื่นๆ กันอีก เช่น การส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.เขต ที่ตอนนี้ทั้งสองพรรคเปิดตัวกันไปเยอะแล้ว จนทับซ้อนกัน ก็ต้องมาคุยกันว่าจะเอาคนของพรรคไหนส่งลงเลือกตั้ง แม้จะใช้วิธีการทำโพลชี้ขาด แต่ก็คงนำมาซึ่งความขัดแย้งภายในตามมาแบบเลี่ยงไม่ได้ อีกทั้งยังจะมีรายละเอียดอื่นๆ อีก เช่น ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง จะแบ่งกันรับผิดชอบอย่างไร
กระแสข่าวทางการเมืองให้ข้อมูลมาว่า ยิ่งการเจรจาควบรวมพรรคยืดเยื้อไปมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้เกิดความลังเลใจในการรวมพรรคที่เริ่มมากขึ้นของกลุ่ม ดร.สมคิด และสร้างอนาคตไทย จนความลังเล-ความไม่มั่นใจว่าการรวมพรรคดังกล่าวจะราบรื่น จากคนในกลุ่ม ดร.สมคิด พบว่าเรื่องนี้ลอยไปถึงคนใน บ้านป่ารอยต่อฯ
จนมีข่าวว่าบิ๊กป้อมโทรศัพท์หา ดร.สมคิด ในฐานะคนคุ้นเคยกันมาก่อน จนทำให้มีการนัดพบกันระหว่างบิ๊กป้อมกับ ดร.สมคิด ณ สถานที่แห่งหนึ่ง
สายข่าวบอกว่า การพูดคุยกันระหว่างพลเอกประวิตรกับ ดร.สมคิด ทาง บิ๊กป้อม ไม่ได้พูดอะไรมาก เจอกันก็เอ่ยปากชวนสมคิดเลยทันทีว่า หากคุยกับเจ๊หน่อยและไทยสร้างไทยยืดเยื้อ คุยกันยาก ก็ให้กลับมาพลังประชารัฐดีกว่า เพราะยังไงก็บ้านเก่าที่กลุ่ม ดร.สมคิดเคยร่วมสร้างพรรคขึ้นมา ส่วนเรื่องบาดหมางในอดีตระหว่างกลุ่มสมคิดกับคนในพรรคบางคนก็ขอให้ลืมไป และมาช่วยกันก้าวข้ามความขัดแย้ง ซึ่งข่าวว่า ดร.สมคิดก็ไม่ได้มีท่าทีปฏิเสธ
และต่อมา ดร.สมคิดได้แจ้งเรื่องนี้ไปยังอุตตม-สนธิรัตน์ และแกนนำพรรคบางส่วนเพื่อส่งสัญญาณให้ไปคุยกับพลเอกประวิตรเรื่องการกลับเข้าพลังประชารัฐ พร้อมกับให้อำนาจการตัดสินใจกับอุตตม-สนธิรัตน์ไปเลยว่าจะเอาอย่างไร ซึ่งหากเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการกลับเข้าพลังประชารัฐ ตัว ดร.สมคิดก็ไม่ขัดข้อง แต่จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวอะไรด้วย และไม่เข้าไปช่วยพลังประชารัฐหาเสียงเลือกตั้ง และมีข่าวอีกว่าทาง ดร.สมคิดแจ้งกับคนในสร้างอนาคตไทยไว้ว่า หากสุดท้ายทางกลุ่มสร้างอนาคตไทยกลับเข้าพลังประชารัฐ ตัว ดร.สมคิดอาจจะขอตัดสินใจ วางมือการเมือง-เว้นวรรคการเมือง ชั่วคราว
โดยเบื้องหลังการเจรจาพูดคุยเรื่องการควบรวมพรรคกันระหว่างไทยสร้างไทยกับสร้างอนาคตไทยที่ยืดเยื้อ แต่สุดท้ายดีลล่ม เพราะกลุ่มสมคิดไปเปิดดีลอีกทางกับบิ๊กป้อม จนเตรียมเข้าพลังประชารัฐในเร็ววันนี้นั้น แหล่งข่าวที่อยู่ในวงหารือการรวมพรรค ดังกล่าวเล่าให้ฟังว่า
“ตั้งแต่หลังทางแกนนำพรรคสร้างอนาคตไทยกับไทยสร้างไทยไปคุยกันและเปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งย่านสุขุมวิท เมื่อ 29 ธันวาคม 2565 หลังจากนั้นพอเข้าสู่เดือนมกราคม หลังผ่านพ้นเทศกาลปีใหม่ ตัวแทนทั้งสองพรรคก็มีการหารือกันนอกรอบอยู่บ้าง แต่เป็นวงเล็กๆ ในลักษณะการให้ทีมนโยบายพรรคทั้งสองพรรคมาคุยกันว่า หากรวมพรรคกันแล้วจะเอานโยบายทั้งสองพรรคมาเขียนร่วมกันอย่างไรในการหาเสียง
จนกระทั่งเมื่อ ดร.สมคิดและคุณหญิงสุดารัตน์เดินทางกลับจากต่างประเทศหลังไปพักผ่อนช่วงปีใหม่ แกนนำทั้งสองพรรคได้มีการเปิดห้องคุยกันอีกครั้งเมื่อวันศุกร์ที่ 13 มกราคม 2566
โดยวงเจรจาวันดังกล่าว ทางแกนนำไทยสร้างไทยได้ยืนยันเงื่อนไขไปว่า เมื่อรวมกันแล้วขอให้ใช้ชื่อไทยสร้างไทย เพราะเป็นชื่อที่คนรู้จักและจำได้มากกว่าสร้างอนาคตไทย และไม่ควรไปใช้ชื่ออื่นที่เป็นชื่อกลางๆ เพราะเหลือเวลาเตรียมตัวเลือกตั้งอีกไม่มาก จะเสียเวลาในการทำให้คนจำชื่อพรรค
ข้อสรุปที่คุยกันเมื่อ 13 มกราคม มีการคุยกันไว้ว่า คนจากฝั่งพรรคสร้างอนาคตไทยจะลาออกจากสมาชิกพรรคสร้างอนาคตไทยในวันศุกร์ที่ 20 มกราคม ช่วงก่อนตรุษจีน โดยจะมีการให้ข่าวต่อสื่อด้วย จากนั้นไทยสร้างไทยจะทำการนัดประชุมใหญ่วิสามัญพรรคไทยสร้างไทย วันศุกร์ที่ 27 มกราคม ที่ได้มีการเตรียมจองสถานที่ไว้แล้ว โดยในวันดังกล่าวที่คุยกันไว้คือ จะให้กลุ่ม ดร.สมคิดและคนจากสร้างอนาคตไทยเดินเข้ามาในงาน แล้วเปิดตัวสมัครเป็นสมาชิกพรรคและใส่เสื้อพรรคสร้างอนาคตไทย
โดยแผนงานดังกล่าวที่คุยกันไว้ช่วงประมาณรอบสุดท้าย พบว่าทางตัวแทนสร้างอนาคตไทยมีท่าทีแบ่งรับแบ่งสู้ บอกว่าจะขอเวลาพิจารณาอีกที
แต่ปรากฏว่าระหว่างนั้นมีการต่อท่อต่อสายจากป่ารอยต่อฯ มาที่กลุ่ม ดร.สมคิด จนกระทั่งมีการนัดเจอกันระหว่างพลเอกประวิตรกับ ดร.สมคิด และตามด้วยนัดเจอกันระหว่างแกนนำทั้งสองฝ่าย จนมีการเปิดดีลการดึงกลุ่ม ดร.สมคิดกลับเข้าพลังประชารัฐ โดยความเคลื่อนไหวดังกล่าว ทางกลุ่ม ดร.สมคิดไม่ได้แจ้งให้ฝ่ายคุณหญิงสุดารัตน์ทราบเรื่อง จนกระทั่งมารู้เอาตอนช่วงค่ำวันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม ที่สื่อเริ่มรายงานข่าวว่ากลุ่ม ดร.สมคิดจะกลับเข้าพลังประชารัฐ" แหล่งข่าวที่อยู่ในวงเจรจารวมพรรคระหว่างกลุ่ม ดร.สมคิดกับกลุ่มคุณหญิงสุดารัตน์ เล่าเบื้องหลังดีลดังกล่าวที่สุดท้ายล่มกลางคัน
อย่างไรก็ตาม เรื่องดีลดึงกลุ่มสมคิด-สร้างอนาคตไทยเข้าพลังประชารัฐ สุดท้ายต้องรอให้กลุ่ม ดร.สมคิด-สร้างอนาคตไทยแถลงข่าวเปิดตัวเข้าพลังประชารัฐอย่างเป็นทางการอีกที เพราะการเมืองเรื่องการเจรจาต่อรองสามารถพลิกกันได้รายชั่วโมง ดังนั้นตราบใดที่กลุ่ม ดร.สมคิดยังไม่เปิดตัวเข้าพลังประชารัฐแบบเป็นทางการ ก็ต้องดูด้วยว่ากลุ่ม ดร.สมคิดจะ เทบิ๊กป้อม กลางโรงแรมพลูแมนฯ หรือไม่ หลังมีการเจรจาตกลงกันไว้เมื่อวันศุกร์ที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา ระหว่างฝ่ายพลังประชารัฐคือ พลเอกประวิตร-พลเอกวิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา กับฝ่ายสร้างอนาคตไทยคือ อุตตม หัวหน้าพรรค และสนธิรัตน์ เลขาธิการพรรค
ดีลการเมืองดังกล่าวที่ทำแบบ ปิดลับ แต่มาเร็วเคลมเร็ว-ปิดดีลเร็ว หากสุดท้ายไม่มีการพลิกโผ มันแสดงให้เห็นอย่างหนึ่งว่า บิ๊กป้อมกับศึกเลือกตั้งรอบนี้ เดินเกมล้ำลึก แยบยลและรัดกุม พยายามดึงกลุ่มการเมืองต่างๆ มารวมกันที่พลังประชารัฐให้มากที่สุด เพื่อจะได้มีขุนพลการเมืองไว้ใช้งานที่หลากหลาย กับภารกิจการเมืองทั้งบนดิน-ใต้ดิน บนเป้าหมายคือหวังให้พรรคได้ ส.ส.หลังเลือกตั้งมากที่สุด จนมีอำนาจในการต่อรองทางการเมืองสูงสุด ยามเมื่อมีการเจรจาจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง
ซึ่งเป้าหมายของพลเอกประวิตรก็เห็นชัด มันคือการได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีบนตึกไทยคู่ฟ้าในช่วงบั้นปลายชีวิตนั่นเอง.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ลุยเปิดกาสิโนส่อสะดุด กฤษฎีกาโดดขวางเต็มสูบ
แนวคิดการทำให้ พนันออนไลน์ ขึ้นมาอยู่บนดิน ตามที่ทักษิณ ชินวัตร ผู้นำรัฐบาลเพื่อไทยตัวจริงส่งสัญญาณมา หลายคนยังมองโมเดลนี้ไม่ออกว่าจะทำได้อย่างไร เพราะน่าจะติดล็อกข้อกฎหมายหลายอย่าง รวมถึงต้องเจอแรงต้านในส่วนของภาคประชาสังคม
1ประเทศ2นายกฯ ระวังจบซ้ำรอยเดิม?
มีหลายส่วนในสังคม คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกอึดอัดกับท่าทีของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่พ้นโทษออกมาโดยไม่ติดคุกแม้แต่วันเดียว แต่ทำตัวเปรียบเหมือนเป็นเจ้าของรัฐบาล
เหลี่ยม"ทักษิณ"หาเสียงนายกอบจ. ก้ำกึ่ง สุ่มเสี่ยง ผิดกฎหมายเลือกตั้ง
การปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.ของ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯ กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง ทั้งสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายเลือกตั้ง และพาดพิงคู่ปรับทางการเมืองอย่างดุเดือด
'คุมขังนอกเรือนจำ'ความหวังใหม่ ระบบยุติธรรมหรือประตูสู่ความลำเอียง
ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในระบบยุติธรรม โดยในปี 2568 กรมราชทัณฑ์จะเริ่มใช้ ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ ซึ่งเป็นนโยบายใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อลดความแออัดในเรือนจำ
‘แม้ว’ห้าว!ผ่านสนาม อบจ. ท่าทีมั่นใจ‘ความปลอดภัย’
ห้าวทุกเวที! 4 จังหวัด อุดรธานี อุบลราชธานี เชียงใหม่ เชียงราย ที่ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี ไปช่วยผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือนายก อบจ.หาเสียง
ก้าวต่อไป ‘รทสช.’ ปี 2568 ติดสปีดผลงาน-โกยคะแนน
ต้องฝ่าฟันมรสุมกันระลอกใหญ่ส่งท้ายปี 2567 สำหรับ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จากพรรคน้องใหม่จนถึงปัจจุบันสู่ปีที่ 3 แล้ว ภายใต้การนำของ “พี่ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรค และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรค ซึ่งพรรคได้โควตาร่วมทัพรัฐบาลเพื่อไทย และได้กระทรวงที่หมายปองมาครอบครองสมใจ