เกิดการขยับโดยทันที จากองคาพยพที่เกี่ยวข้องกับ การเสนอ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ทั้งรัฐบาล-พรรคร่วมรัฐบาล-พรรคร่วมฝ่ายค้าน-วุฒิสภา-สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อเตรียมเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพ.ศ.2561 และ พ.ร.บ.พรรคการเมือง พ.ศ.2560 เพื่อแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ครั้งที่ 1 พ.ศ.2564 ที่มีการโปรดเกล้าฯ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อช่วงค่ำ วันอาทิตย์ที่ 21 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
จับทิศทางได้ว่า การเสนอร่าง พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมร่วมรัฐสภา ตามช่องทางรัฐธรรมนูญมาตรา 131 ที่เห็นชัดแล้วก็คือ จะมีด้วยกันประมาณ 3 ร่าง คือ
1.ร่างของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่เสนอผ่านรัฐบาลโดยการเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ซึ่งข่าวว่าตอนนี้ ฝ่ายกฎหมายของสำนักงาน กกต.ยกร่างรอไว้นานแล้ว เหลือเพียงรอไฟเขียวจากที่ประชุมใหญ่ กกต.เห็นชอบส่งไปให้ ครม. เพื่อให้ ครม.นำส่งให้รัฐสภาต่อไป
2.ร่างของพรรคร่วมรัฐบาล ที่ก็มีการทำพิมพ์เขียวไว้แล้วเช่นกัน โดยมี วิเชียร ชวลิต ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ พลังประชารัฐ เป็นประธานคณะทำงานยกร่าง
3.ร่างของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่ดูทรงแล้วพรรคเพื่อไทย ที่มี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว เป็นหัวหน้าพรรค ในฐานะพรรคใหญ่ คงขอคุมทิศทางเรื่องเนื้อหาต่างๆ ในร่างทั้งสองฉบับของฝ่ายค้าน เพราะด้วยบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่การเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ต้องใช้เสียง ส.ส.ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวน ส.ส.ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ จึงทำให้เพื่อไทยทำเรื่องนี้ได้โดยลำพัง ไม่ต้องพึ่งเสียง ส.ส.จากฝ่ายค้านพรรคอื่นแต่อย่างใด หลังเริ่มเห็นสัญญาณว่า พรรคฝ่ายค้านอย่าง พรรคก้าวไกล เห็นไม่ตรงกับเพื่อไทยในเรื่องสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
ทิศทางข่าวที่ออกมา พบว่าส่วนใหญ่ต่างบอกว่าน่าจะเสนอร่างทั้งสองฉบับต่อประธานรัฐสภาได้ภายในไม่เกินกลางเดือนธันวาคมนี้
กระบวนการแก้ไขเพิ่มเติม กฎหมายลูกสองฉบับดังกล่าวของรัฐสภาต่อจากนี้ ปมสำคัญที่ถูกจับตามอง ถึงตอนนี้พบว่ามีด้วยกัน 2 จุดใหญ่ คือ
1.การเคาะสูตรคำนวณเก้าอี้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
โดยสองพรรคใหญ่ที่ต้องการกวาดเก้าอี้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ แบบเป็นกอบเป็นกำคือ พลังประชารัฐและเพื่อไทย ในฐานะพรรคขนาดใหญ่ ที่จะได้เปรียบในการได้โควตาเก้าอี้ปาร์ตี้ลิสต์หลังเลือกตั้งมากกว่าพรรคขนาดกลางและขนาดเล็ก พบว่าแกนนำทั้งสองพรรคเห็นพ้องตรงกันว่าต้องการใช้สูตรคิดคำนวณแบบรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ไม่ต้องคิดอะไรซับซ้อน คือเอาจำนวนคะแนนเสียงในบัตรปาร์ตี้ลิสต์ทั้งหมดของทุกพรรคการเมืองมาบวกรวมกันหมด ว่าได้เท่าไหร่ จากนั้นก็หารด้วยจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ในสภา คือ 100 คน พอได้ตัวเลขมา ตัวเลขดังกล่าวที่คิดเป็น 1 เปอร์เซ็นต์ ก็คือฐานคะแนนในการคิดคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์หนึ่งเก้าอี้และให้ตัวเลขดังกล่าวคือคะแนนขั้นต่ำด้วย โดยหากพรรคการเมืองใดได้คะแนนไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำก็จะไม่ได้ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์แม้แต่คนเดียว
พบว่าสูตรดังกล่าวที่พลังประชารัฐกับเพื่อไทยต้องการ หลายพรรคการเมืองทั้งพรรคขนาดกลาง-ขนาดเล็กในรัฐบาลและฝ่ายค้าน เช่น พรรคก้าวไกล-พรรคพลังท้องถิ่นไท ไม่เห็นด้วยกับสูตรนี้
อย่าง พรรคก้าวไกล พบว่าจะผลักดันให้ใช้ระบบจัดสรรปันส่วนผสม หรือ MMP เพื่อให้ใช้การจัดสรร ส.ส.แบบพึงมี ภายใต้ระบบเลือกตั้งด้วยบัตร 2 ใบ ที่จะทำให้พรรคขนาดกลางและเล็ก ยังมีโอกาสได้เก้าอี้ ส.ส.บัญชีรายชื่อมาแชร์กับพรรคใหญ่ได้บ้าง โดยเฉพาะจะได้ไม่ทำให้พรรคขนาดเล็กสูญพันธุ์อย่างที่มีการคาดการทางการเมืองในเวลานี้
จนพรรคเล็กบางพรรค ชิงดิ้นหนีตายไปก่อนแล้วด้วยการเดินตามรอย ไพบูลย์ นิติตะวัน ที่ยุบพรรคประชาชนปฏิรูปไปอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ หรือ ไพบูลย์โมเดล จนมีคนเริ่มทำตาม เช่น พล.ต.อ.ยงยุทธ เทพจำนงค์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จากพรรคประชานิยม-พิเชษฐ สถิรชวาล ส.ส.บัญชีรายชื่อ จากพรรคประชาธรรมไทย ที่ยุบรวมพรรคไปอยู่กับพลังประชารัฐเรียบร้อยแล้ว ขณะที่พรรคก้าวไกล หรืออนาคตใหม่เดิมที่เคยได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อตอนเลือกตั้งปี 2562 ถึง 50 เก้าอี้ จาก 150 เก้าอี้ หรือคิดเป็นได้ถึง 1 ใน 3 มีการมองว่า หากใช้สูตรคำนวณแบบที่พรรคใหญ่ต้องการ อาจทำให้พรรคก้าวไกลได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ลดลงไปฮวบฮาบ
อย่างไรก็ตาม คาดว่าเพื่อไทย-พลังประชารัฐ ยังไงก็คงจับมือกันผลักดันสูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์แบบที่ตัวเองต้องการให้ได้ คงไม่ยอม แชร์เก้าอี้ปาร์ตี้ลิสต์ ให้พรรคอื่นง่ายๆ ทำให้พรรคขนาดกลาง-พรรคเล็ก-พรรคตั้งใหม่ หากคิดจะหวังแชร์เก้าอี้ปาร์ตี้ลิสต์แบบสมัยตอนบัตรเลือกตั้งใบเดียว คงเหนื่อยแน่นอน
จึงไม่แปลกที่จะมีข่าวว่าคนที่คิดจะตั้งพรรคการเมืองใหม่อย่าง พรรคลุงฉิ่ง-ฉัตรชัย พรหมเลิศ อดีตปลัดมหาดไทย หรือ พรรคเส้นทางใหม่ของจาตุรนต์ ฉายแสง ถึงตอนนี้เริ่มเงียบหายแล้ว เพราะรู้ดีว่าสู้ลำบากในสนามบัตรสองใบ
2.การแก้ไข-รื้อระบบไพรมารีโหวต
โดยเรื่องไพรมารีโหวตเขียนไว้ใน พ.ร.บ.พรรคการเมือง ที่กำหนดให้พรรคการเมืองทุกพรรคที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในระบบเขตและบัญชีรายชื่อ ต้องทำการเลือกตั้งเบื้องต้นหรือการหยั่งเสียงสมาชิกพรรค-ตัวแทนสาขาพรรคในเขตเลือกตั้งที่พรรคการเมืองส่งคนลงเลือกตั้ง เพื่อให้ได้ตัวแทนไปลงสมัคร ส.ส. ในเขตที่ทำไพรมารีโหวต ซึ่งหลักการดังกล่าว จริงๆ ต้องมีการใช้ในการเลือกตั้งเมื่อมีนาคม 2562 แต่ปรากฏว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/2561 เพื่อ แช่แข็ง การทำไพรมารีโหวต แต่คำสั่งดังกล่าว ใช้แค่กับการเลือกตั้งปี 2562 เท่านั้น ทำให้การเลือกตั้งรอบต่อไปที่จะมีขึ้น จะต้องมีการทำไพรมารีโหวตบนการออกเสียงจากตัวแทนสาขาพรรค-ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด รวมแล้วต้องมีผู้มาประชุมไม่น้อยกว่า 150 คน
ซึ่งพรรคขนาดใหญ่-กลาง-เล็ก ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน ต่างก็บอกตรงกันว่า เป็นกระบวนการที่ยุ่งยาก ขั้นตอนเยอะ มีค่าใช้จ่ายมาก เสี่ยงต่อการทำผิดขั้นตอน จนถูกเอาผิดได้ โดยเฉพาะพรรคเล็ก-ตั้งใหม่จะเสียเปรียบมาก ในเรื่องการมีตัวแทนสาขาพรรคและตัวแทนพรรคประจำจังหวัด เพราะลำพังแค่หาสมาชิกพรรคยังแทบรากเลือด
ด้วยเหตุนี้ ประเด็นเรื่องการไพรมารีโหวต ใน พ.ร.บ.พรรคการเมือง จึงคาดว่าจะมีการเสนอแก้ไข-ปรับปรุง เพื่อลดขั้นตอน ทำให้พรรคการเมืองมีความคล่องตัวมากขึ้น หากสุดท้ายยังต้องการคงเรื่องไพรมารีโหวตเอาไว้ แต่จะออกสูตรไหน เป็นเรื่องที่หลายพรรคคงถกเถียงกันหนักว่าจะเอาแค่รื้อหรือจะหาช่องทางโละทิ้งไปเลย
บนการคาดการณ์ว่า กระบวนการแก้ไข พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.บ.พรรคการเมือง หลังนับหนึ่งในเดือนธันวาคมไปแล้ว สุดท้ายทุกอย่างน่าจะแล้วเสร็จ ครบถ้วนทุกขั้นตอน ในช่วงกลางปีหน้า 2565.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
1ประเทศ2นายกฯ ระวังจบซ้ำรอยเดิม?
มีหลายส่วนในสังคม คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกอึดอัดกับท่าทีของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่พ้นโทษออกมาโดยไม่ติดคุกแม้แต่วันเดียว แต่ทำตัวเปรียบเหมือนเป็นเจ้าของรัฐบาล
เหลี่ยม"ทักษิณ"หาเสียงนายกอบจ. ก้ำกึ่ง สุ่มเสี่ยง ผิดกฎหมายเลือกตั้ง
การปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.ของ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯ กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง ทั้งสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายเลือกตั้ง และพาดพิงคู่ปรับทางการเมืองอย่างดุเดือด
'คุมขังนอกเรือนจำ'ความหวังใหม่ ระบบยุติธรรมหรือประตูสู่ความลำเอียง
ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในระบบยุติธรรม โดยในปี 2568 กรมราชทัณฑ์จะเริ่มใช้ ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ ซึ่งเป็นนโยบายใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อลดความแออัดในเรือนจำ
‘แม้ว’ห้าว!ผ่านสนาม อบจ. ท่าทีมั่นใจ‘ความปลอดภัย’
ห้าวทุกเวที! 4 จังหวัด อุดรธานี อุบลราชธานี เชียงใหม่ เชียงราย ที่ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี ไปช่วยผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือนายก อบจ.หาเสียง
ก้าวต่อไป ‘รทสช.’ ปี 2568 ติดสปีดผลงาน-โกยคะแนน
ต้องฝ่าฟันมรสุมกันระลอกใหญ่ส่งท้ายปี 2567 สำหรับ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จากพรรคน้องใหม่จนถึงปัจจุบันสู่ปีที่ 3 แล้ว ภายใต้การนำของ “พี่ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรค และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรค ซึ่งพรรคได้โควตาร่วมทัพรัฐบาลเพื่อไทย และได้กระทรวงที่หมายปองมาครอบครองสมใจ
การเมืองไทยปี 68 เข้มข้น-ขับเคี่ยว-ร้อนแรง ซักฟอกมี.ค.-ปรับครม.กลางปี
การเมืองไทยไม่ว่าปีไหนๆ ก็มีประเด็นร้อนเกิดขึ้นได้ตลอด บางเรื่องเกิดขึ้นตามปฏิทินการเมือง แต่บางประเด็นเป็นความร้อนแรงที่แทรกขึ้นมาแบบไม่มีใครคาดคิดมาก่อน