‘พปชร.-รทสช.’ ซัดกันนัว ชิงส.ส.บ้านใหญ่ตั้งรัฐบาล

เมื่อ บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม แยกทางทางการเมืองกับ บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ไปทำการเมืองของตัวเองกับพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.)  

แม้ปาก พี่น้อง 2 ป. บอกว่ารักกันก็ตาม แต่ในทางการเมือง แต่ละฝ่ายต่างไม่ยอมกัน ทั้งในเรื่องยุทธศาสตร์ แย่งชิงนโยบาย และยึดหัวใจนักการเมืองเกรดเอ และบ้านใหญ่เพื่อเป้าหมาย ที่นั่งในสภาฯ ชิงธงนำโอกาสได้จัดตั้งรัฐบาล

ในแง่ของยุทธศาสตร์มองกันว่า พปชร.ได้เปรียบ รทสช. เนื่องจากวางบท พล.อ.ประวิตร เป็นผู้นำเหนือความขัดแย้ง และยังประสานการเมืองได้กับทุกพรรคการเมือง  

ยิ่งล่าสุดมีกระแสข่าวดีลลับกับคนแดนไกล ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญกลับมาเป็นบัตร 2 ใบ และเปลี่ยนแปลงสูตรคำนวณ ส.ส.เป็นหาร 100 ซึ่งมองว่าเข้าทางพรรคเพื่อไทย หรือแม้กระทั่งในเวทีสภาฯ พรรคสีแดง ก็เว้นวรรคและไม่ค่อยจะโจมตี "บิ๊กป้อม" 

เช่นเดียวกับ ป.ที่ 4 และ ป.ที่ 5 ที่น้องในไส้และนอกไส้ บิ๊กป้อม ยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับ นายทักษิณ ชินวัตร จึงเชื่อว่าหลังเลือกตั้งหากฝ่ายขั้วอำนาจเดิมไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ พปชร.ก็มีโอกาสพลิกขั้วไปจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยได้ ดังนั้นจึงถือเป็นแรงดึงดูดให้นักเลือกตั้งในกลุ่มบ้านใหญ่ต่างๆ เข้าร่วม เพราะมีโอกาสเป็นรัฐบาลสูง 

แต่ต่างจาก รทสช. หรือตัว พล.อ.ประยุทธ์ ที่เปรียบเป็นสัญลักษณ์และตัวแทนฝ่ายอนุรักษนิยม ที่จะต้องชนะอย่างเดียว และหวังดึงคะแนนจากฝ่ายขวาให้มากที่สุด เพราะหากแพ้ ก็ม้วนเสื่อกลับบ้าน หรือกลับไปเลี้ยงหลาน เพราะไม่สามารถจับมือกับพรรคเพื่อไทย ภายใต้ ระบอบทักษิณ หรือ พรรคก้าวไกล ที่มีนโยบายแก้ไข ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112  

ฉะนั้นนักการเมืองที่เข้ามาส่วนใหญ่ จึงหวังกระแส บิ๊กตู่ และ ไม่เอาระบอบทักษิณ เช่น คนใน ปชป. ในปีก กปปส. และคนใน พปชร. ที่อยู่พรรคเดิมไม่ได้ เพราะความขัดแย้งภายในที่มีให้เห็นเสมอ    

ในแง่ของนโยบาย 2 พรรคดังกล่าวก็แย่งชิงกันอย่างดุเดือด เช่น บัตรคนจน หวังยึดฐาน 18 ล้านเสียง หรือ 1 ใน 3 ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งประเทศ เช่น พปชร.เพิ่มเงินในนโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจาก 200-300 บาท เป็น 700 บาท 

นายธนกร วังบุญคงชนะ รมต.ประจำสำนักนายกฯ ที่เตรียมร่วมงานกับ รทสช. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี พปชร.เปิดนโยบายนี้ เริ่มดำเนินการครั้งแรกเมื่อปี 2559 จนถึงปัจจุบัน ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้ให้แนวคิดดังกล่าว

ด้าน นายทศพล เพ็งส้ม ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกฯ ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตอบโต้ว่า นายธนกรน่าจะมีความจำที่ไม่ดี ถึงลืมไปว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ที่มาจากการเสนอชื่อของ พปชร. และโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คือหนึ่งในนโยบายที่ พปชร.ใช้ในการหาเสียงเมื่อปี 2562

แต่ที่เป็นไฮไลต์ที่สุดคือ การลงพื้นที่ของ พล.อ.ประวิตร ในตลอดสัปดาห์นี้ ที่มองว่าเป็นการปาดหน้าทางการเมือง พล.อ.ประยุทธ์ ที่ลงพื้นที่ในวันที่ 19 ม.ค. 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 17 ม.ค. บิ๊กป้อม ลาประชุม ครม.และดอดลงพื้นที่เพื่อไปชิงตัว ส.ส. และล็อก บ้านใหญ่ราชบุรี ให้อยู่กับตัวเอง โดยเดินทางไปบ้านของ นายวิวัฒน์ นิติกาญจนา นายก อบจ.ราชบุรี สามี นางบุญยิ่ง

นิติกาญจนา ส.ส.พปชร. กลุ่มสามมิตร โดยมี ส.ส.มาให้การต้อนรับ เช่น น.ส.กุลวลี นพอมรบดี ส.ส.พปชร. ที่มีกระแสข่าวจะย้ายไป รทสช. รวมถึงยังมี ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ และ นายชัยทิพย์ กมลพันธ์ทิพย์ มาให้การต้อนรับด้วย 

นอกจากนี้ ในวันที่ 20 ม.ค. หัวหน้า พปชร.ยังจะลงพื้นที่ต่อเนื่องในจังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดพิษณุโลก  

โดยเฉพาะในพื้นที่นครสวรรค์ หลังมีกระแสข่าว ส.ส. 4 คน ย้ายไปพรรค รทสช.และพรรคภูมิใจไทย เพื่อหวังให้บางคนเปลี่ยนใจให้กลับ พปชร. โดยเฉพาะ นายนิโรธ สุนทรเลขา ประธานวิปรัฐบาล ที่มีกระแสข่าวไป รทสช. หรือ นายภิญโญ นิโรจน์ ที่ตัวยังอยู่ พปชร. แต่กระแสข่าวบอกว่าส่งลูกชายไปลงในนามพรรคภูมิใจไทย  

ส่วนอีก 2 คนเป็นที่แน่นอนแล้วว่าย้ายพรรคคือ นายสัญญา นิลสุพรรณ อยู่ในสายของ เสธ.หิมาลัย ผิวพรรณ ที่จะสนับสนุนพรรคบิ๊กตู่ และนายวีระกร คำประกอบ ที่ย้ายไปพรรคภูมิใจไทย

จังหวัดพิษณุโลก มี ส.ส.พปชร. 2 คน นายมนัส อ่อนอ้าย อยู่สาย เสธ.หิมาลัย คาดว่าย้ายไปพรรคลุงตู่ ส่วนนายอนุชา น้อยวงศ์ ย้ายไปพรรคภูมิใจไทยก่อนหน้านี้    

ขณะที่ บิ๊กตู่ ลงพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดพิจิตรเช่นกันในวันที่ 30 ม.ค.นี้ โดยในส่วนจังหวัดพิจิตร มี ส.ส.พปชร. 2 คน นายสุรชาติ ศรีบุศกร อยู่กับเสธ.หิมาลัย  นายภูดิท อินสุวรรณ์ อยู่กลุ่มสามมิตร ที่คาดว่าอยู่กับลุงป้อม และอีก 1 คน คือ นายพรชัย อินทร์สุข พรรคเศรษฐกิจไทย สายผู้กองธรรมนัส พรหมเผ่า ที่กำลังจะกลับ พปชร.  

ด้วยจังหวะการเดินเกมการเมือง บิ๊กป้อม ที่หวังได้ใจบ้านใหญ่ ด้วยจุดเด่นเข้าได้กับทุกขั้วการเมือง ส่วน บิ๊กตู่ ที่มีแต่กระแสฝ่ายอนุรักษนิยม และมีอำนาจยุบสภาเพื่อดูด ส.ส.ครั้งสุดท้ายด้วยเงื่อนไขและทรัพยากรการเมืองต่างๆ เป็นเครื่องล่อใจ   

 จึงต้องดูว่าหลังจากนี้ ทั้ง พปชร.และ รทสช.จะรั้งหรือดึงนักการเมืองเพื่อยืนข้างตัวเองได้มากที่สุด เพื่อโอกาสชิงธงนำตั้งรัฐบาล รวมทั้งโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรี.   

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

14 ส.ค.ชี้ชะตา 'ลุงป้อม-พปชร.' ลุ้นสุดท้ายคดี 'เศรษฐา'

ภายใน "พรรคพลังประชารัฐ" ขณะนี้เหมือนจะมี 2 ชุดความคิด ชุดความคิดแรกคือ พรรคจะควรจะอยู่นิ่งๆ ทำตัวเป็นพรรคร่วมรัฐบาลที่ดี เพื่อรักษาสถานภาพที่มีอยู่

เศรษฐาเกาะ“มีชัย”หวังชนะคดี เปิดข้อต่อสู้32หน้าขอศาลอยู่ยาว

เมื่อวันอังคารที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ถูกร้องในคดีกลุ่ม 40 อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ยื่นคำร้องให้ศาล รธน.วินิจฉัยกรณี นายกฯ นำความกราบบังคมทูลฯ เพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็น รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี ได้จัดส่ง เอกสารคำแถลงปิดคดี ในคดีดังกล่าวถึงสำนักงานเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ก้าวไกลชงนิรโทษฯ 112 แบบมีเงื่อนไข ห้ามทำผิดซ้ำ 3-5 ปี แมตช์วัดใจ พท.-ทักษิณ

เดิมที ศุกร์ที่ผ่านมา 26 ก.ค. คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ที่มี ชูศักดิ์ ศิรินิล จากพรรคเพื่อไทยเป็นประธาน

“ลุง”กับ“อา”ใจถึงพึ่งได้ เฮือกสุดท้ายใน”บ้านป่า”?

“เปิดต้อนรับนักการเมืองเทรนด์เดียวกัน ที่รสนิยมในเรื่องของ พรรคพวก เพื่อนฝูง พี่น้อง ต้องมาก่อน เรื่องคำมั่นสัญญา การไม่หักหลังกัน เปรียบเหมือน ปฏิญญา-กฎเหล็ก ในการคบหากันของแวดวงคนใจนักเลง”

“อนุทิน-ภท.” “พยัคฆ์ติดปีก”

กรณีสถานการณ์ “กัญชา” พลิกจากเดิมที่จะถูกดึงกลับไปเป็นยาเสพติด หักนโยบายพรรคภูมิใจไทยสร้างมา เป็นการออก พ.ร.บ. เพื่อใช้เฉพาะทางการแพทย์ วิจัย เศรษฐกิจเท่านั้น