ไม่แปลกที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา พรรคเศรษฐกิจไทย จะเล่นใหญ่ คุกเข่ามอบพวงมาลัยพวงโตให้ ‘บิ๊กป้อม’ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ระหว่างการลงพื้นที่ตรวจราชการที่ จ.พะเยา เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา
นั่นเพราะ ‘บิ๊กป้อม’ แทบจะเป็นคนเดียวที่อุ้ม ‘ธรรมนัส’ มาตลอด ไม่ว่าผู้กองคนดังจะอยู่ในสถานการณ์แบบไหน แม้แต่ตอนมีปัญหากับ ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ก็ตาม
บางคนถึงขั้นสงสัยว่า ‘ธรรมนัส’ มีของดีอะไร ทำไม ‘บิ๊กป้อม’ ถึงยัง “ดันทุรังโอบกอด” อยู่ตลอดเวลา ทั้งที่ภาพลักษณ์ของอดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์ อยู่ในระดับ ‘ติดลบ’
ทว่า ในทางการเมืองต่างรู้ดี ว่าต่อให้ภาพเบื้องหน้าของ ‘ธรรมนัส’ จะยี้ขนาดไหน แต่ในเบื้องหลัง ต่างอยากได้คนประเภทนี้ไปเป็นกำลังสำคัญทั้งนั้น
เช่นเดียวกับ ‘บิ๊กป้อม’ ที่รู้ดีกว่าใครว่า ‘ธรรมนัส’ คือ มือทำงานที่สามารถตอบสนองความต้องการของตัวเองได้ในทุกๆ เรื่อง ไม่ใช่พวกดัง แต่ท่อล้อไม่หมุน
ฉะนั้น ลำพังแค่ประจบคงไม่พอทำให้ ‘บิ๊กป้อม’ ยอมโดนด่าเพื่อปกป้องคนคนนี้
ขณะเดียวกัน ที่สถานะของ ‘ธรรมนัส’ ต้องตกอยู่ในสภาพนี้ ‘บิ๊กป้อม’ เองก็มีส่วนเช่นกัน หากที่ผ่านมา ‘ธรรมนัส’ ทำอะไรก็ตามโดยลำพัง ‘บิ๊กป้อม’ คงไม่เก็บเอาไว้
สำหรับ ‘บิ๊กป้อม’ แล้ว ‘ธรรมนัส’ ถือเป็นขุนพลคนสำคัญเบอร์ต้นๆ ในสนามการเมืองของตัวเองตั้งแต่ครั้งก่อน และโดยเฉพาะในครั้งนี้ที่ต้องการนักการเมืองประเภท ‘ตัวจริง’ ในสนาม
พรรคพลังประชารัฐในสนามเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง เปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อปี 62 ที่ชู ‘บิ๊กตู่’ เป็นหลัก ซึ่งครั้งนี้จะเน้นไปที่ตัวนักการเมือง หรือ ส.ส.ในพื้นที่ที่มีคะแนนของตัวเองเป็นหลัก
จุดแข็งของพรรครอบนี้คือ ตัวนักการเมือง ไม่ใช่ภาพลักษณ์ ต่อให้ใครจะยี้ จะปรามาส แต่ ‘บิ๊กป้อม’ เน้นไปที่ผลลัพธ์เป็นหลัก
จะเห็นว่า บรรดาบ้านใหญ่ที่ยังอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มปากน้ำ จ.สมุทรปราการ, กลุ่มมะขามหวาน จ.เพชรบูรณ์, กลุ่มชากังราว จ.กำแพงเพชร, บ้านรัตนเศรษฐ จ.นครราชสีมา และ กลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส ที่กำลังจะกลับเข้าพรรคอย่างเป็นทางการเมือง พวกนี้ล้วนมีภาพลักษณ์ที่ไม่ดีในสายตาคนอื่น แต่เป็นกลุ่มที่ประสบความสำเร็จในสนามเลือกตั้งแทบทุกครั้ง
หากจะบอกว่า จุดแข็งของพรรคพลังประชารัฐตอนนี้คืออะไร คำตอบคือ ‘ตัวนักการเมือง’ ที่เป็นของจริงในพื้นที่
เช่นเดียวกับธรรมนัสที่ก่อนหน้านี้ไปพรรคไหนมีแต่กระแสแฟนคลับพรรคนั้นต่อต้าน ถือเป็นจุดแข็งหนึ่งของพรรคพลังประชารัฐเช่นกัน
นอกจากเป็นขุนศึกประเภทสู้แบบถวายหัว ประเภท หมดไม่ว่า เสียหน้าไม่ได้ ในโซนภาคเหนือ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของเขา ยังเป็นพื้นที่ความหวังของพรรคพลังประชารัฐอีกด้วย
ทุกวันนี้ จ.พะเยา แทบจะเป็น ‘ธรรมนัสบุรี’ อยู่แล้ว คนส่วนใหญ่ในประเทศจะยี้แค่ไหน แต่ที่เมืองกว๊านพะเยา คือฐานที่มั่นใหญ่ที่ใครคิดจะล้มคงไม่ง่าย
ตั้งแต่ระดับรากหญ้าไปจนถึงคนทุกระดับในทุกแวดวง ล้วนเป็นเครือข่ายของ ‘ธรรมนัส’ ทั้งสิ้น
และภาพประชาชนเรือนหมื่นที่ลานอนุสาวรีย์พ่อขุนงำเมือง กับ ชรบ.หมู่บ้านอีกหลายร้อยชีวิต ที่ตั้งแถวรอรับ ‘บิ๊กป้อม’ ประหนึ่งช้างเหยียบนา พญาเหยียบเมือง เมื่อวันที่ 16 ม.ค. คือแสนยานุภาพของ ‘ธรรมนัส’ ที่ทำให้เห็น
ในการเลือกตั้ง จ.พะเยา เมื่อปี 62 ‘ธรรมนัส’ คือคนที่ทำให้พรรคพลังประชารัฐสามารถปักธงในพื้นที่สีแดงที่ผูกขาดกับพรรคเพื่อไทยมาหลายปีได้สำเร็จ
2 จาก 3 ที่นั่ง ใน จ.พะเยา เป็นฝีมือของ ‘ธรรมนัส’ โดยในเขตเลือกตั้งที่ 1 ‘ธรรมนัส’ กวาดไปได้ถึง 52,417 คะแนน ขณะที่แชมป์เก่าอย่าง น.ส.อรุณี ชำนาญยา จากพรรคเพื่อไทย ได้ไปเพียง 21,971 คะแนน เช่นเดียวกับในเขตเลือกตั้งที่ 3 ที่ ‘เสี่ยยุ้ย’ นายจีรเดช ศรีวิราช คนสนิทของ ร.อ.ธรรมนัส ได้ไปถึง 41,755 คะแนน ทิ้งขาดผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย ที่ได้ไป 30,761 คะแนน
ไม่ได้แค่ล้มแชมป์เก่า แต่ล้มแบบขาดลอย
ขณะที่การเลือกตั้งครั้งหน้ามีรายงานว่า ที่ จ.พะเยา ‘ธรรมนัส’ การันตีแน่ๆ คือ 2 ที่นั่ง คือ เขตเลือกตั้งที่ 1 ที่อาจจะลงเอง หรือส่ง ‘จุ๊บจิ๊บ’ ธนพร ศรีวิราช ภรรยา ลง กับเขตเลือกตั้งของ ‘เสี่ยยุ้ย’
ขณะที่เขตเลือกตั้งที่ 2 ของนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ส.ส.พะเยา พรรคเพื่อไทย มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างดังมาระยะหนึ่งว่า อาจเว้นไว้ในฐานะที่เข้าใจกัน เพราะเป็นคนกันเอง
นอกจากนี้ยังมีกระแสข่าวออกมาอีกว่า ไม่เพียงแต่ จ.พะเยา หลายพื้นที่ในภาคเหนือมีการเปิดดีลเอาไว้กับบางพรรคการเมือง เพื่อหลบให้กันในบางเขต ไม่ว่าจะเป็น จ.แพร่ น่าน หรือแม้แต่ลำปาง
ในวันที่พรรคพลังประชารัฐเหลือแต่ ‘บิ๊กป้อม’ คนที่ตัวเองบูชาเหมือนพ่อ ว่ากันว่า เขาจะทุ่มแบบหมดหน้าตักเพื่อพาเจ้านายไปสู่จุดที่มุ่งหวังให้ได้
ไม่ว่าผลสุดท้ายจะออกมาอย่างไร แต่การที่ ‘บิ๊กป้อม’ ได้ ‘ธรรมนัส’ และพวกกลับมา มันทำให้พรรคมีพลังมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่สีแดงอย่างโซนภาคเหนือ ที่แน่นทั้งกระสุนและเครือข่าย พรรคพวก.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“กาสิโน”เผือกร้อน“กฤษฎีกา” สมดุลการเมือง-ผลกระทบสังคม
จับตาร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. .... หรือร่างกฎหมายกาสิโนในมือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หลัง ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอร่างกฎหมาย ว่าจะตรงปกและเป็นไปตามความต้องการของฝ่ายการเมืองหรือไม่ และอีกหนึ่งมติคือ ข้อห่วงใยผลกระทบทางสังคมและปัญหาอบายมุขตามมา
หวั่นเวชระเบียน'ทักษิณ'จุดชนวน รพ.ตำรวจอึมครึม คปท.ยกระดับ!
ขีดเส้น 15 ม.ค.นี้ คณะอนุกรรมการสอบสวนเฉพาะกิจ แพทยสภา ได้ส่งหนังสือถึง พล.ต.ท.นพ.นพศิลป์ เวชวิทารณ์ นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ จัดส่งเอกสารทำคำชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร เวชระเบียนการรักษาของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่เข้ารักษาตัวที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ กระทั่งออกจาก รพ.ตำรวจ โดยมี นพ.อมร ลีลารัศมี อดีตกรรมการแพทยสภา เป็นประธานอนุกรรมการสอบ
ลุยเปิดกาสิโนส่อสะดุด กฤษฎีกาโดดขวางเต็มสูบ
แนวคิดการทำให้ พนันออนไลน์ ขึ้นมาอยู่บนดิน ตามที่ทักษิณ ชินวัตร ผู้นำรัฐบาลเพื่อไทยตัวจริงส่งสัญญาณมา หลายคนยังมองโมเดลนี้ไม่ออกว่าจะทำได้อย่างไร เพราะน่าจะติดล็อกข้อกฎหมายหลายอย่าง รวมถึงต้องเจอแรงต้านในส่วนของภาคประชาสังคม
1ประเทศ2นายกฯ ระวังจบซ้ำรอยเดิม?
มีหลายส่วนในสังคม คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกอึดอัดกับท่าทีของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่พ้นโทษออกมาโดยไม่ติดคุกแม้แต่วันเดียว แต่ทำตัวเปรียบเหมือนเป็นเจ้าของรัฐบาล
เหลี่ยม"ทักษิณ"หาเสียงนายกอบจ. ก้ำกึ่ง สุ่มเสี่ยง ผิดกฎหมายเลือกตั้ง
การปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.ของ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯ กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง ทั้งสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายเลือกตั้ง และพาดพิงคู่ปรับทางการเมืองอย่างดุเดือด
'คุมขังนอกเรือนจำ'ความหวังใหม่ ระบบยุติธรรมหรือประตูสู่ความลำเอียง
ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในระบบยุติธรรม โดยในปี 2568 กรมราชทัณฑ์จะเริ่มใช้ ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ ซึ่งเป็นนโยบายใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อลดความแออัดในเรือนจำ