ปักธงกทม."อนุทิน-พุทธิพงษ์" หวังเติมเต็ม ภท.แกนนำตั้งรบ.

ขณะที่ระหว่างกำลังรอการโปรดเกล้าฯ ร่างพ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส.ฯ และร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ ประกาศใช้เป็นกฎหมาย ในส่วนของการเตรียมการเลือกตั้ง พบว่าสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่รับผิดชอบภารกิจควบคุมดูแลการเลือกตั้ง ได้มีการเตรียมพร้อมเพื่อเตรียมรับกับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นตลอดเวลา

อย่างเรื่องของ การแบ่งเขตเลือกตั้ง พบว่า หลังสำนักงาน กกต.ได้รับข้อมูลฐานจำนวนประชากรประเทศไทย ที่เป็นข้อมูลล่าสุดสิ้นสุดเมื่อ 31 ธ.ค.2565 เมื่อต้นปีที่ผ่านมา จากกระทรวงมหาดไทย ทำให้ขณะนี้ฝ่าย กกต.เริ่มขยับเตรียมพร้อมสำหรับการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส.ทั้ง 400 เขต ที่จะต้องมีเขตเลือกตั้งเพิ่มขึ้นจากตอนเลือกตั้งปี 2562 ขึ้นมา 50 เขต โดย กกต.ได้นำฐานข้อมูลดังกล่าวมาเตรียมแบ่งเขตเลือกตั้งและประกาศการแบ่งเขตอย่างเป็นทางการออกมา ซึ่งกระบวนการดังกล่าว กกต.จะทำได้ต้องรอให้มีการประกาศใช้กฎหมายทั้งสองฉบับข้างต้นเสียก่อน

อย่างไรก็ตาม สำหรับ กรุงเทพมหานคร ที่จะมี ส.ส.เขตเพิ่มขึ้นจากตอนเลือกตั้งปี 2562 เพิ่มมา 3 เก้าอี้ รวมเป็น 33 เก้าอี้ จากเดิม 30 ที่นั่ง ก็เป็นเรื่องน่าสนใจว่าจะทำให้การแบ่งเขตของ กกต.จะออกมาอย่างไร จะส่งผลต่อการได้เปรียบเสียเปรียบในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในสนามเลือกตั้งเมืองหลวงนี้หรือไม่?

หลังพบว่า หลายพรรคการเมืองต่างก็หมายมั่นปั้นมือจะคว้าชัยชนะในสนามเลือกตั้ง กทม.ให้ได้ ทั้งพรรคปีกฝ่ายรัฐบาล-ฝ่ายค้าน และพรรคตั้งใหม่

อย่างหนึ่งในพรรคที่ก็ต้องการมี ส.ส.เขต กทม.ในการเลือกตั้งครั้งนี้ให้ได้ นั่นก็คือ พรรคภูมิใจไทย ที่ชูสโลแกนการหาเสียงในพื้นที่ กทม.ไว้ว่า ภูมิใจกรุงเทพฯ 24/7

ที่หมายถึงการสื่อกับคน กทม.ว่า ภูมิใจไทยขออาสาทำงานเพื่อคน กทม. 24 ชั่วโมง 7 วัน สำหรับคน กทม.ทุกกลุ่ม

ส่วนว่าแคมเปญดังกล่าวจะซื้อใจคน กทม.จนทำให้ภูมิใจไทยสามารถปักธง มี ส.ส.เขต กทม.ที่มาจากการเลือกตั้งได้หรือไม่ ต้องดูกระแสตอบรับจากคน กทม.ว่าคิดอย่างไรกับนโยบายที่ภูมิใจไทยนำมาเสนอ รวมถึงต้องดูตัวผู้สมัคร ส.ส.เขต กทม.ของภูมิใจไทยทั้ง 33 เขตว่า สู้กับพรรคการเมืองอื่นมีลุ้นหรือไม่ อีกทั้งต้องดูกระแสพรรคใน กทม.เมื่อเข้าสู่การหาเสียงเลือกตั้งเต็มตัวว่า กระแสภูมิใจไทยใน กทม.เป็นอย่างไร ทั้งหมดคือองค์ประกอบสำคัญที่จะมีผลอย่างมากแน่นอน สำหรับภูมิใจไทย ในการหวังปักธง ส.ส.เขต กทม.ให้ได้

หลังก่อนหน้านี้ ภูมิใจไทย ในตอนเลือกตั้งเมื่อปี 2554 และตอน 2562 กระแสพรรค-ตัวผู้สมัคร ส.ส.เขต เป็นรอง หลายพรรคการเมืองที่ขับเคี่ยวสู้กันดุเดือดใน กทม.อยู่หลายขุม จนทำให้พรรคภูมิใจไทยไม่มีลุ้นในการเลือกตั้งสองครั้งข้างต้นตั้งแต่ลงสนามเลยด้วยซ้ำ แต่เลือกตั้งที่จะมีขึ้น แกนนำภูมิใจไทย ทั้งอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ครูใหญ่ เนวิน ชิดชอบ หมายมั่นปั้นมืออย่างมากว่ารอบนี้พรรคต้องปักธงใน กทม.ให้ได้

 หลังได้ พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อดีต รมว.ดีอีเอส อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. และอดีตรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่รับผิดชอบพื้นที่กทม. ให้พลังประชารัฐรอบที่แล้ว มาเป็นกัปตันทีม พาภูมิใจไทยเข้าสู่สนามเลือกตั้ง กทม. ที่รู้กันดีว่าเป็น สนามปราบเซียน คาดเดาได้ยากว่าผลเลือกตั้งจะออกมาแบบไหน อีกทั้งเป็นสนามเลือกตั้ง ที่ กระแส ทั้งกระแสพรรค กระแสผู้สมัคร มีส่วนสำคัญอย่างมาก ต่อการชี้ขาดผล แพ้-ชนะ  

กระนั้น แม้จะเป็นงานยาก แต่ทั้งอนุทินและเนวินรู้ดีว่า ในเป้าหมายการเมืองของภูมิใจไทยที่ต้องการดีดตัวขึ้นไปจากพรรคขนาดกลาง พรรคร่วมรัฐบาล ขึ้นมาเป็นพรรคขนาดใหญ่ พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ หลังภูมิใจไทยเติบใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ มันจำเป็นมาก ที่ ภูมิใจไทยต้องมี ส.ส.เมืองหลวง ของพรรคที่มาจากการเลือกตั้งให้ได้

เพราะแม้ตอนนี้ ภูมิใจไทย จะมี ส.ส.เขต กทม.อยู่สองคนคือ โชติพิพัฒน์ เตชะโสภณมณี กับมณฑล โพธิ์คาย แต่ทั้งสองคนเป็นส.ส.เขต กทม.อนาคตใหม่ ที่เข้ามาภูมิใจไทยหลังอนาคตใหม่โดนยุบพรรค ทำให้ยังไม่ถือว่า ภูมิใจไทยมี ส.ส.เขต กทม.ของตัวเองแต่อย่างใด

มันจึงเป็นเป้าหมายสำคัญที่ภูมิใจไทยต้องการให้พรรคมี ส.ส.กรุงเทพมหานคร ยิ่ง กทม.มี ส.ส.มากถึง 33 คน ถือเป็นเค้กก้อนใหญ่ทางการเมือง ที่หากพรรคไหนมี ส.ส.กทม. ก็จะเป็นผลดีในระยะยาว ถ้ามี ส.ส.เมืองหลวงไว้เป็นฐานเสียง และทำให้ภาพลักษณ์พรรคไม่ถูกมองว่าเป็นพรรคภูธร

ทั้งหมดจึงทำให้ภูมิใจไทยพร้อมสู้เต็มที่ เพื่อทำให้พรรคมี ส.ส.กทม.รอบนี้

ยิ่งเมื่อภูมิใจไทยได้อดีต ส.ส.กทม. จากทั้งพลังประชารัฐและเพื่อไทยหลายคนเข้ามา เสริมทีม อาทิ จากพลังประชารัฐ จักรพันธ์ พรนิมิตร - กษิดิ์เดช ชุติมันต์ - พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ - ภาดา วรกานนท์ - กรณิศ งามสุคนธ์รัตนา และจากเพื่อไทยคือ ประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ ซึ่งทางการเมือง อดีต ส.ส.รอบล่าสุด ย่อมถือว่าเป็นระดับเกรดเอ มันก็ยิ่งทำให้พรรคมั่นใจมากขึ้น 

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายนี้ของภูมิใจไทยก็ไม่ง่าย เพราะ 33 เก้าอี้ในสนาม กทม. มันทำให้หลายพรรคใส่กันเต็มที่ ทำให้การแข่งขันจึงมีสูง สู้กันดุเดือดเลือดพล่าน

อย่างพรรคปีกรัฐบาลเวลานี้ด้วยกันเอง ประชาธิปัตย์ ที่เป็นอดีตแชมป์ กทม.มาหลายสมัย แต่รอบที่แล้วแพ้ยับ สูญพันธุ์ มารอบนี้ หวังแก้มือให้ได้ โดยมีสามประสานคอยคุมเกมคือ องอาจ คล้ามไพบูลย์-ดร.เอ้ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ และวทันยา บุนนาค หรือมาดามเดียร์ ซึ่งข่าวว่าทีม กทม.ของประชาธิปัตย์ ก็หนักใจไม่ใช่น้อย เพราะกระแสพรรค ตัวผู้สมัครหลายคนยังเป็นรองคู่แข่งจากทั้งพรรคฝ่ายค้านคือ เพื่อไทย ก้าวไกล รวมถึงพรรคปีกรัฐบาล อย่างการที่ รวมไทยสร้างชาติ ได้  พลเอกประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ซึ่งมีกระแสนิยมใน กทม.ดีระดับหนึ่งมาเป็นตัวชูโรงในการหาเสียงใน กทม. ก็ทำให้ประชาธิปัตย์หืดขึ้นคอแน่ หากหวังกลับมาผงาดในเมืองหลวงอีกครั้ง

เป้าหมายภูมิใจไทยขอปักธงใน กทม. จึงเป็นงานหิน เพราะต้องสู้กับพรรคฝ่ายรัฐบาลด้วยกันเองอย่าง พลังประชารัฐ - ประชาธิปัตย์ - รวมไทยสร้างชาติ ที่ก็ต้องเกิดสภาพ การตัดคะแนนกันเองกระจาย และต้องสู้กับ พรรคฝ่ายค้านอย่างก้าวไกลและเพื่อไทยเช่นกัน

รวมถึงยังมีพรรคไทยสร้างไทยของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และสร้างอนาคตไทยของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ซึ่งหากสองพรรคนี้รวมกันได้ จะยิ่งเข้มแข็งมากขึ้น จนเป็นอีกหนึ่งพรรคการเมืองที่จะทำให้สนามเลือกตั้ง กทม.หวดกันไฟแลบ เพราะคุณหญิงสุดารัตน์ก็ใส่เต็มแม็ก เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า ฉายาเจ้าแม่ กทม. ตั้งแต่ยุคพลังธรรม-ไทยรักไทย-เพื่อไทย ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย แต่มาจากฝีมือเจ๊หน่อย คุณหญิงสุดารัตน์ ล้วนๆ

ทั้งหมดจะเห็นได้ว่า สนามเลือกตั้ง กทม.กับการชิง 33 ส.ส.เขตที่จะมีขึ้น สนามนี้มีทั้งผู้เล่นหน้าใหม่-หน้าเก่า ที่ต่างก็ไม่มีใครยอมใคร ทำให้ถึงช่วงเลือกตั้ง การแข่งขันย่อมสนุก เร้าใจยิ่งนัก.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชนักติดหลัง-หอกดาบ ที่ค้างอยู่ของ"ทักษิณ"

แน่นอนว่า ทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย ย่อมต้องถอนหายใจโล่งอก ที่ไม่ต้องตกอยู่ในสถานะ ผู้ถูกร้อง ที่ศาลรัฐธรรมนูญ หลังศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง-ไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัยในคดีที่ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือ "คดีล้มล้างการปกครอง" ที่ศาล รธน.มีมติยกคำร้องไปเมื่อ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา

เมืองคอนดุเดือด 'ค่ายสีน้ำเงิน' คะแนนนำ แม่รองหัวหน้าพรรคปชป.

ศึกชิงนายกฯ นครฯ เดือด เด็กโกเกี๊ยะ -พิพัฒน์ ค่ายสีน้ำเงิน คะแนนนำ แม่รองหัวหน้าพรรคปชป. ภาคใต้ บ้านใหญ่ตระกูล เดชเดโช 

'ชินวัตร' ตีปีกดันรัฐบาลครบเทอม วิบากกรรมไล่ล่า 'ชั้น14' หลอกหลอน

ดูจากมติเอกฉันท์ของศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49

แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?

ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่

'อนุทิน' เช็กสัญญาณ ครม.อิ๊งค์ ปมศาลรธน.นัดถกรับ-ไม่รับคำร้อง คดีทักษิณ-เพื่อไทย ล้มล้างการปกครอง

ที่ด่านพรมแดนบ้านผักกาด ตำบลคลองใหญ่ อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี นายอนุชิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย กล่าวถึงกรณี ที่ในวันพรุ่งนี้(22 พ.ย.) ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณารับคำร้อง

ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด

นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย