‘บิ๊กตู่’ แบก ‘รทสช.’ หลังแอ่น ต้องแก้ ‘โจทย์’ รับมือ ‘โจทก์’

     วันจันทร์นี้ นอกจากภาพประวัติศาสตร์ที่จะได้เห็น ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในยูนิฟอร์มพรรคการเมืองเป็นครั้งแรก รวมถึงสปีชที่จะพูดศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ หลังเตรียมเปิดตัวกับพรรครวมไทยสร้างชาติ อีกไฮไลต์ที่จะได้เห็นกันคือ บรรดานักการเมืองทั้งหลาย ที่ทั้งมาแล้วและที่กำลังจะมา เข้ามาร่วมงาน ใช้โอกาสแสดงตนไปในตัว 

     และดูแล้วอีเวนต์ของพรรครวมไทยสร้างชาติกับ ‘บิ๊กตู่’ คงไม่จบเท่านี้ น่าจะมีกิจกรรมอีกหลายอย่างต่อเนื่องตามมา เพื่อเร่งเร้ากระแสให้ติดลมบนไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะการปฏิบัติราชการแฝง ผ่านการลงพื้นที่ในฐานะนายกรัฐมนตรี ที่มีเส้นบางๆ กั้นอยู่ระหว่างความเป็นผู้นำประเทศกับความเป็นเบอร์หนึ่งของพรรคการเมือง 

     ดังปรากฏในช่วงสัปดาห์แรกของศักราชใหม่ ที่ ‘บิ๊กตู่’ ชีพจรลงเท้า ล็อกเป้า จ.สิงห์บุรี หอบพี่รอง ‘บิ๊กป๊อก’ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ไปเยี่ยมชมแปลงเกษตร ทั้งๆ ที่เพิ่งจะไปมาเมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2565 เพราะ สิงห์บุรีถือเป็นถิ่น เหลืองอ่อน หากจะขอแบ่งคะแนนปาร์ตี้ลิสต์มาให้กับพรรครวมไทยสร้างชาติ น่าจะพอมีลุ้น 

     เมื่อกลับไปดูสถานการณ์ของพรรครวมไทยสร้างชาติขณะนี้ ยังมีอีกหลายเรื่องที่ไม่เรียบร้อย เรื่องตัวผู้สมัคร และคนที่จะย้ายพรรคตามมายังไม่ได้นิ่งเสียทีเดียว จะดูหวือหวาอยู่แค่ในพื้นที่ภาคใต้ ที่ได้นักการเมืองระดับเกรดเอมาร่วมงานเท่านั้น ในขณะที่พื้นที่อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคอีสาน ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมถึง กทม. ยังดูเงียบๆ อยู่ 

     ถือเป็นโจทย์สำคัญของพรรครวมไทยสร้างชาติ หากไม่สามารถดูดนักการเมืองประเภทมีคะแนนติดตัวในโซนอื่นๆ มาร่วมได้ ปฏิบัติการดัน พล.อ.ประยุทธ์นั่งนายกฯ แบบสุดโควตาอีก 2 ปี เป็นเรื่องลำบากแน่ 

     แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะมีจุดแข็งในภาคใต้ เพราะยังมีกระแสอยู่ แต่ต้องไม่ลืมว่า สัดส่วน ส.ส.แบบแบ่งเขตจากทั้งหมด 400 คน อยู่ในพื้นที่ภาคใต้เพียง 58 ที่นั่ง  

     ขณะเดียวกัน ดินแดนสะตอไม่ได้เป็นของตายของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งอีกต่อไป มีแต่คนอยากจะเข้าไปขอส่วนแบ่งเพียบ โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย ที่ไม่ได้ส่งผู้สมัคร ส.ส.ไปลงเล่นๆ แต่เน้นเป็นพิเศษ หวังผลหวังเก้าอี้ 

     นาทีนี้พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย ไม่มีใครกลัวใครในภาคใต้ เพราะรู้ว่าสถานการณ์วันนี้กับเมื่อปี 2562 มันแตกต่างกัน 

     อยู่แค่ว่าใครจะกวาด ส.ส.เข้าสภาได้มากที่สุด แต่พรรคที่แบกความกดดันมากที่สุด น่าจะเป็นพรรครวมไทยสร้างชาติของ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะมีด่านหินให้ต้องฝ่ามากกว่าเพื่อน  

     ไฟต์บังคับให้ต้องปักธงในภาคใต้ให้ได้มากที่สุด เพราะเป็นภาคเดียวที่มีลุ้นกว่าภาคอื่นๆ เพื่อเป็นฐานคะแนนหลักให้พรรคฝ่าด่านแรก ต้องมี ส.ส. 25 ที่นั่ง เพื่อเอาสิทธิ์เสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีไปชิงกับคนอื่น 

     เพราะหากท้ายที่สุด พรรครวมไทยสร้างชาติไม่สามารถกวาด ส.ส.ได้ถึง 25 ที่นั่ง นั่นหมายความว่า เป็นการปิดประตูนายกฯ เทอมที่สามของ พล.อ.ประยุทธ์ ไปโดยปริยายเช่นกัน  

     พูดง่ายๆ คือ พรรครวมไทยสร้างชาติล้มเหลว เท่ากับสิ้นสุดอนาคตทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์เช่นกัน 

     แต่ต่อให้สามารถฝ่าด่านแรกได้ แต่ไม่ได้หมายความว่า พล.อ.ประยุทธ์จะแบเบอร์ในเก้าอี้นายกฯ เพราะต้องหันไปดูหน้าตักบรรดาพรรคกัลยาณมิตรว่า ได้กันเท่าไหร่ โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ หรือพรรคภูมิใจไทยของ ‘เสี่ยหนู’ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรค ที่ออกมาตัวแล้วว่า ไม่เอา นายกฯ คนละครึ่ง นัยว่า หากจะมาขอเป็นนายกฯ ต้องมีคะแนนมากกว่าค่ายสีน้ำเงิน 

     เรียกว่า ถ้าจะเป็นนายกฯ ต้องมีคะแนนมากกว่าพรรคกัลยาณมิตรด้วยกัน หรือถ้าจะน้อยกว่าต้องน้อยแบบฉิวเฉียด พอรับกันได้ 

     เมื่อหันไปมองขุมกำลังของพรรครวมไทยสร้างชาติ แม้นักการเมืองหลายคนจะมีความเชี่ยวกราก แต่เป็นพวกตัวละครเดิมๆ บนเวทีการเมือง ไม่ใช่คีย์แมนระดับเรียกคะแนนจากทั่วประเทศให้พรรคได้ ดังนั้นเครื่องหมายการค้าของพรรคตอนนี้จึงมีแค่ ‘บิ๊กตู่’ เพียงคนเดียว ที่ต้องแบกโจทย์หลายข้อจนหลังแทบจะหักอยู่แล้ว  

       งานของ ‘รวมไทยสร้างชาติ’ จึงยากกว่าเพื่อนเลย 

     แล้วไม่รู้ว่า ระหว่างทางก่อนถึงวันเลือกตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จะเจอโรคแทรกซ้อนอะไรมาสกัดดาวรุ่งหรือไม่ เพราะระยะนี้เริ่มมีกลิ่นแปลกๆ ชวนให้สงสัยออกมา 

     โดยเฉพาะเรื่องฉาวโฉ่ในวงราชการและนอกราชการ ที่มาโป๊ะอะไรกันในช่วงนี้พร้อมๆ กัน ตั้งแต่เรื่องการบุกจับคนระดับอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช คาที่ทำงาน ฐานเรียกรับสินบน ที่จนบัดนี้ยังไม่แน่ใจกันว่า เป็นเรื่องความขัดแย้งภายในของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือไต่ระดับไปที่คนใหญ่คนโตกว่านั้น 

     เพราะมันก็มีเหตุผลให้สามารถจะเชื่อมโยงไปถึง เนื่องจากอธิบดีกรมอุทยานฯ รายนี้ เป็นน้องชายของเพื่อนเลิฟ พล.อ.ประยุทธ์ 

     รวมถึงเรื่อง ทุนจีนสีเทา ที่แรกเริ่มเหมือนจะเป็นการไล่ต้อนโจทก์ของ พล.อ.ประยุทธ์ แต่ไปๆ มาๆ พลิกมาถึงคนใกล้ตัว พล.อ.ประยุทธ์แบบงงๆ หลังนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ออกมาเปิดเผยข้อมูลว่า บริษัทหลานชายของ พล.อ.ประยุทธ์ไปเอี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย 

     จนถูกตั้งข้อสังเกตว่า มีรายการเอาคืนกันหรือไม่ คดีถึงพลิกมาเป็นแบบนี้ 

     คนใกล้ตัว ญาติ โดนกันทีละราย มันเลยชวนตั้งข้อสงสัย เจตนาต้องการให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรครวมไทยสร้างชาติที่กำลังตระเวนปั่นเรตติ้งแบบเพลิดเพลินมัวหมองหรือไม่ 

     แล้วคนทำแบบนี้ได้ มันต้องมีพละกำลังไม่น้อย เรื่องสงครามภายในเลยถูกจับจ้องเป็นพิเศษ                     

ระหว่างทางก่อนเลือกตั้งไม่รู้จะเซอร์ไพรส์อะไรเกิดขึ้นอีกบ้าง มีทั้งโจทย์ให้ต้องคอยแก้ และ โจทก์ ที่ต้องรับมือ. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ลุยเปิดกาสิโนส่อสะดุด กฤษฎีกาโดดขวางเต็มสูบ

แนวคิดการทำให้ พนันออนไลน์ ขึ้นมาอยู่บนดิน ตามที่ทักษิณ ชินวัตร ผู้นำรัฐบาลเพื่อไทยตัวจริงส่งสัญญาณมา หลายคนยังมองโมเดลนี้ไม่ออกว่าจะทำได้อย่างไร เพราะน่าจะติดล็อกข้อกฎหมายหลายอย่าง รวมถึงต้องเจอแรงต้านในส่วนของภาคประชาสังคม

1ประเทศ2นายกฯ ระวังจบซ้ำรอยเดิม?

มีหลายส่วนในสังคม คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกอึดอัดกับท่าทีของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่พ้นโทษออกมาโดยไม่ติดคุกแม้แต่วันเดียว แต่ทำตัวเปรียบเหมือนเป็นเจ้าของรัฐบาล

จับตา! 'นายกฯอิ๊งค์' หัวโต๊ะ ก.ตร. เคาะโผ 'นายพลเล็ก' 140 ตำแหน่ง 'นรต.45' ผงาด

จับตา 'นายกฯอิ๊งค์' นั่งหัวโต๊ะประชุม ก.ตร. ถกโผแต่งตั้งนายพล ระดับ 'รองผบช.-ผบก.' กว่า 140 ตำแหน่ง คาด 'บิ๊กเต่า' โยกจาก บช.ก. นั่งรองผบช.น. 'นรต.45' ผงาดผู้การกองปราบ มือขวาผบช.ไซเบอร์ ขึ้น ผบก.สอท.4