ย่างเข้าวันที่ 18 ของเหตุการณ์เรือหลวง (ร.ล.) สุโขทัยอับปางลง มีทหารเรือที่เสียชีวิตจากเหตุนี้แล้ว 24 ราย และยังค้นหาไม่พบอีก 5 ราย โดยที่กองทัพเรือ (ทร.) ได้พยายามระดมสรรพกำลังอย่างเต็มที่เพื่อค้นหาผู้สูญหายที่เหลือเพื่อนำพวกเขาเหล่านั้นกลับคืนสู่ครอบครัวครบทุกคน
ตลอด 18 วันที่ผ่านมา ทร.ภายใต้การนำของ พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ตกอยู่ในสภาวะกดดันอยู่ไม่น้อย เนื่องจากต้องตอบคำถามในเรื่องประสิทธิภาพของเรือ การบังคับบัญชาช่วงประสบเหตุ การประสานงานช่วยเหลือเมื่อเรือใหญ่จม โดยเฉพาะเรื่องความพร้อมและมาตรฐานความปลอดภัย เมื่อมีการปล่อยเรือออกจากท่าเรือเพื่อไปปฏิบัติภารกิจ
ย้อนกลับไปในวันที่ พล.ร.อ.เชิงชาย เข้ารับหน้าที่ ได้ยืนยันว่า ทร.จะชี้แจง สื่อสารในเรื่องต่างๆ ให้ประชาชนได้รับทราบ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาเครื่องยนต์เรือดำน้ำที่ยังคาราคาซัง หาจุดจบไม่ได้ และยืนยันว่าจะไม่มีการปกปิดข้อมูล และดำเนินการทุกอย่างให้โปร่งใส จนกระทั่งเมื่อเกิดเหตุการณ์ ร.ล.สุโขทัย ก็สั่งการให้ ศูนย์ปฏิบัติการทัพเรือภาค 1 ส่วนหน้า (ศปก.ทรภ.1 สน.) ตั้งโต๊ะแถลงความคืบหน้า ที่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ทุกวัน
ในขณะที่ส่วนกลางได้ให้ทีมงานโฆษกกองทัพเรือส่งข้อมูลความคืบหน้าให้สื่อไม่ได้ขาด อีกทั้ง ผบ.ทร. รวมถึง พล.ร.อ.ชลธิศ นาวานุเคราะห์ เสนาธิการทหารเรือ มีการแถลงด้วยตนเองด้วย แม้บางครั้งการสื่อสารอาจทำให้สังคมเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์บ้าง แต่ก็ไม่ได้งดการชี้แจง หรือลดระดับการแถลงแต่อย่างใด
ในเบื้องต้น ผบ.ทร.แสดงให้เห็นถึง “ภาวะผู้นำ” ที่กล้าจะตอบคำถาม โดยไม่ต้องกลัวว่าจะกระทบกระเทือนภาพลักษณ์ของตัวเอง สังคมจึงคาดหวังว่าในห้วงระยะเวลาอีก 9 เดือนที่จะเกษียณอายุราชการของ พล.ร.อ.เชิงชาย จะกล้าสะสางปัญหาขยะใต้พรมใน ทร.ให้ทุเลาเบาบางลงได้ พร้อมปรับแนวทาง วางแผนงาน ยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงอย่างที่ควรจะเป็น อย่างน้อยก็คือ การคลี่คลายปมสาเหตุการอับปางอย่างไร้ข้อกังขา
แม้จะมีการตั้งข้อสังเกตว่า คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ตั้งขึ้นมาตามคำสั่งกองทัพเรือที่ 55/2565 ลงนามโดย ผบ.ทร. เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.2565 เป็นแค่เพียงการซื้อเวลา เพราะกว่าจะกู้เรือ สอบสวนผู้เกี่ยวข้องจนครบ ก็น่าจะใช้เวลาเป็นปี ถึงเวลานั้นเรื่องดังกล่าวก็จะเงียบไปเหมือนข่าวอื่นๆ ขณะที่สังคมก็หันเหความสนใจไปติดตามเรื่องที่เป็นกระแสในขณะนั้น
แต่ก็ต้องยอมรับว่า คำสั่งที่เขียนไว้ให้มีการสอบสวน ต้องใช้ความละเอียดรอบคอบ ย่อมต้องใช้เวลานาน พลิกดูคำสั่งมีการระบุถึงอำนาจหน้าที่ไว้อย่างครอบคลุมและกว้างขวาง กล่าวคือ
-ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อหาสาเหตุเรืออับปาง
-ตรวจสอบข้อเท็จจริงในการดำเนินการภายหลังประสบเหตุ เพื่อตรวจสอบการดำเนินการในขั้นตอนการสละเรือใหญ่
-การค้นหา ช่วยเหลือกำลังพลที่ประสบเหตุว่าเป็นไปตามหลักการและแนวทางปฏิบัติที่กำหนดไว้หรือไม่ อย่างไร
-นำผลการสอบสวนมาเป็นบทเรียน และป้องกันอุบัติเหตุและความเสียหาย เพื่อมิให้เกิดเหตุในทำนองเดียวกันอีก
-เรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงข้อเท็จจริง
-เรียกเอกสารที่เกี่ยวข้อง สามารถใช้เป็นพยานหลักฐานจากบุคคล หรือ หน่วยงาน ที่ครอบครองเอกสารดังกล่าว เพื่อประโยชน์ในการสอบสวน เป็นต้น
โดยมี พล.ร.อ.ชลธิศ นาวานุเคราะห์ เสนาธิการทหารเรือ เป็นประธาน พล.ร.ท.อภิชัย สมพลกรัง รองเสนาธิการทหารเรือ สายงานข่าว เป็นรองประธาน ส่วนกรรมการ ประกอบด้วย รองเสนาธิการทหารเรือสายงานที่เกี่ยวข้อง เสนาธิการกองเรือยุทธการ เจ้ากรมยุทธการ ทร. เจ้ากรมอู่ทหารเรือ เจ้ากรมจเร ทร. สำนักงานพระธรรมนูญ ทร. เป็นต้น
แยกเป็น 2 คณะทำงาน คือ คณะทำงานสอบสวนสาเหตุการอับปาง มี พล.ร.ท.สมบัติ นาราวิโรจน์ เสนาธิการกองเรือยุทธการเป็นหัวหน้าคณะทำงาน พล.ร.ท.สุทธิศักดิ์ บุตรนาค เจ้ากรมอู่ทหารเรือ เป็นรองหัวหน้าคณะทำงาน มีตัวแทนจากทั้งกรมอู่ราชนาวีมหิดล กองเรือฟริเกตที่ 1 ทัพเรือภาค 1 กองการช่าง ส่วนคณะทำงานที่ 2 เป็น คณะทำงานสอบสวนการดำเนินการภายหลังประสบเหตุ ไล่ตั้งแต่ขั้นตอนการสละเรือใหญ่ มี พล.ร.ท.อภิชัย รองเสธ.ทร.สายงานข่าว เป็นประธาน มีเจ้ากรมยุทธการทหารเรือ เป็นรองประธาน
ในระหว่างนี้ปรากฏว่า “นักสืบโซเชียล” คงรอไม่ไหว เริ่มทำหน้าที่ “คณะกรรมการสอบสวนเงา“ ทยอยเปิดข้อมูลผ่านสื่อสังคมออนไลน์เป็นระลอก โดยเฉพาะ 27 สาเหตุปมอับปางครั้งนี้ ที่เป็นข้อความส่งต่อ ปลิวว่อนไปทั่วทุกช่องทาง คาดเดากันว่ามาจาก “คนเรือ” ตัวจริงที่คงทนไม่ไหว ต้องการสะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพของเรือ ความไม่พร้อมต่างๆ ขั้นตอนการสื่อสาร การสั่งการ ระหว่างผู้บังคับบัญชา และผู้ใต้บังคับบัญชา ซึ่งในเบื้องต้นยังมีข้อมูลจากปากคำทั้งสองฝั่งไม่ตรงกัน
ตามมาด้วย เอกสาร “ขุดบ่อล่อปลา” ชี้เป้าการซ่อมทำ ร.ล.สุโขทัย หลังจากปล่อยเอกสารราชการ รายงานปัญหาแผ่นเหล็กใต้แนวน้ำของเรือบางลง เพื่อขยายผลไปสู่ปมอื่นๆ
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่กองทัพเรือเจอปัญหา “ข้อมูล-เอกสาร” หลุด.....ก่อนหน้านี้มีการนำไปอภิปรายในสภาฯ ไม่ว่าจะเป็นโครงการจัดหาเรือดำน้ำ เรือผิวน้ำ อากาศยาน อากาศยานไร้คนขับ ตอกย้ำด้วยข้อมูลจากเพจอาวุธต่างๆ ที่ชี้ให้เห็นถึงความไม่ชอบมาพากล จุดอ่อนในการตัดสินใจเชิงนโยบายที่ไม่สมดุล สอดคล้องกับงบประมาณที่ได้รับ
ยิ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์ ร.ล.สุโขทัย ที่มีผู้เสียชีวิตเกือบ 1 ใน 4 ของผู้ที่อยู่บนเรือ ขณะที่เรือรบชั้นดีจมลงสู่ก้นทะเลอย่างเสียหายหนัก สร้างความสะเทือนใจให้กับครอบครัวผู้สูญเสีย ขวัญกำลังใจพี่น้องทหารเรือ รวมถึง “อดีตครู ทร.” ที่เป็นทหารเรือรุ่นเก่า จึงเกิดปฏิกิริยา “ทนไม่ได้” การส่งต่อข้อมูลต่างๆ จึงหลั่งไหลยิ่งกว่าสายน้ำ
แน่นอนว่า บางข้อมูลอาจจะเป็นเพียงการวิเคราะห์ คาดการณ์ ผสมปนเปเข้ากับอคติของผู้เสียประโยชน์ รวมไปถึงความขัดแย้งภายใน จากปัญหาการแต่งตั้งโยกย้าย แต่ก็มีข้อเท็จจริงบางส่วนที่ ทร.ก็คงตระหนักดีว่า มีปัญหาเกิดขึ้นจริง และต้องเร่งแก้ไข โดยสังคมก็คาดหวังว่า ผบ.ทร.จะสร้างความกระจ่างให้กับสังคมโดยเร็วก่อนที่ตนเองจะเกษียณอายุราชการ
อย่างน้อยก็เป็นการเรียกความศรัทธาคืนให้กับองค์กรที่เคยเป็นที่เชื่อมั่นของประชาชนคนไทยมาอย่างยาวนาน!!.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ลุยเปิดกาสิโนส่อสะดุด กฤษฎีกาโดดขวางเต็มสูบ
แนวคิดการทำให้ พนันออนไลน์ ขึ้นมาอยู่บนดิน ตามที่ทักษิณ ชินวัตร ผู้นำรัฐบาลเพื่อไทยตัวจริงส่งสัญญาณมา หลายคนยังมองโมเดลนี้ไม่ออกว่าจะทำได้อย่างไร เพราะน่าจะติดล็อกข้อกฎหมายหลายอย่าง รวมถึงต้องเจอแรงต้านในส่วนของภาคประชาสังคม
1ประเทศ2นายกฯ ระวังจบซ้ำรอยเดิม?
มีหลายส่วนในสังคม คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกอึดอัดกับท่าทีของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่พ้นโทษออกมาโดยไม่ติดคุกแม้แต่วันเดียว แต่ทำตัวเปรียบเหมือนเป็นเจ้าของรัฐบาล
เหลี่ยม"ทักษิณ"หาเสียงนายกอบจ. ก้ำกึ่ง สุ่มเสี่ยง ผิดกฎหมายเลือกตั้ง
การปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.ของ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯ กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง ทั้งสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายเลือกตั้ง และพาดพิงคู่ปรับทางการเมืองอย่างดุเดือด
'คุมขังนอกเรือนจำ'ความหวังใหม่ ระบบยุติธรรมหรือประตูสู่ความลำเอียง
ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในระบบยุติธรรม โดยในปี 2568 กรมราชทัณฑ์จะเริ่มใช้ ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ ซึ่งเป็นนโยบายใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อลดความแออัดในเรือนจำ
‘แม้ว’ห้าว!ผ่านสนาม อบจ. ท่าทีมั่นใจ‘ความปลอดภัย’
ห้าวทุกเวที! 4 จังหวัด อุดรธานี อุบลราชธานี เชียงใหม่ เชียงราย ที่ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี ไปช่วยผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือนายก อบจ.หาเสียง
ก้าวต่อไป ‘รทสช.’ ปี 2568 ติดสปีดผลงาน-โกยคะแนน
ต้องฝ่าฟันมรสุมกันระลอกใหญ่ส่งท้ายปี 2567 สำหรับ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จากพรรคน้องใหม่จนถึงปัจจุบันสู่ปีที่ 3 แล้ว ภายใต้การนำของ “พี่ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรค และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรค ซึ่งพรรคได้โควตาร่วมทัพรัฐบาลเพื่อไทย และได้กระทรวงที่หมายปองมาครอบครองสมใจ